สถานการณ์ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและเสรีภาพของบุคคลที่ตกเป็นเป้าสายตาของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังอยู่ในสภาวการณ์ที่น่าหวาดวิตก บุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายอยู่ในบัญชีดำต่างหนาวๆร้อนๆ ตามๆ กัน ไม่รู้ว่าชะตาชีวิตของตนจะเป็นเช่นไร ?
ภายหลังจาก นายมะยีนุง มะเด็ง ถูกปลิดชีพตรงหน้าบ้านอยู่ในตลาดสุขาภิบาลรือเสาะ 7 วัน หัวคะแนนของผู้เขียนอยู่ในอำเภอรือเสาะ ชื่อ นายอับดุลเลาะ แอกูยิ ได้นำชายชาวอำเภอรือเสาะ 2 นาย ชื่อ นายมะยา แดกอ และ นายอาลียะห์ สะโล มาพบผู้เขียนที่บ้านบอกว่าเป็นเพื่อนคนสนิทของนายมะยีนุงฯ ภายหลังนายมะยีนุงฯ เสียชีวิตแล้ว ข่าวออกจากปากเจ้าหน้าที่ที่น่าเชื่อถือได้ออกกระจายเข้าหูของตนว่า ตัวเขาทั้ง 2 คนมีชื่อในบัญชีดำของสถานีตำรวจภูธรอำเภอรือเสาะและจะเป็นรายต่อไปที่มัจจุราชสีกากีจะไปเยือน ทำให้เขาทั้งสองไม่กล้าอยู่บ้านและได้หลบหนีออกจากหมู่บ้านมาอาศัยอยู่กับหัวคะแนนผู้เขียนดังกล่าวในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส
เมื่อได้ฟังคำบอกเล่าในลักษณะร้องเรียนขอความช่วยเหลือจาก 2 หนุ่มนี้แล้ว วันรุ่งขึ้นผู้เขียนและนายอับดุลเลาะ แอกูยิ ได้ไปที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอรือเสาะ เพื่อขอพบกับสารวัตรใหญ่ สภ.อ.รือเสาะ จะได้สอบถามข้อเท็จจริงตามที่ได้รับรู้จาก 2 หนุ่มผู้เสียหาย เมื่อถึง สภ.อ.รือเสาะแล้ว ได้แจ้งกับจ่าตำรวจบนโรงพักว่า จะมาขอพบสารวัตรใหญ่ของสภ.อ. เนื่องจากจ่าตำรวจนายนี้รู้จักผู้เขียนเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส จึงรีบไปเรียนเจ้านายของตนในทันทีทันใด สักครู่นายตำรวจใหญ่ประจำโรงพักซึ่งเป็นไทยมุสลิมได้มาพบที่ผู้เขียนนั่งรอบนโรงพัก ผู้เขียนได้ทักทายตามธรรมเนียมและนั่งพูดคุยกันคำถามแรกผู้เขียนได้เอ่ยปากว่า ชายหนุ่ม 2 รายชื่อที่ให้สารวัตรใหญ่ได้ดูนี้บอกว่าเขามีรายชื่ออยู่ในบัญชีดำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อ. รือเสาะ หากเป็นจริงขอความเป็นธรรมให้กับทั้งสองคนนี้ด้วยสารวัตรใหญ่ได้ฟังแล้ว อมยิ้มอยู่ที่มุมปากไม่ตอบตรงคำถามแต่เป็นที่เข้าใจของคู่สนทนา หลังจากได้พูดคุยกันเรียบร้อยและแยกกันแล้ว หลังจากนั้น 3 วันปรากฎว่าหนุ่มทั้งสองคนนี้ได้กลับไปอยู่ในหมู่บ้านอย่างปกติสุขปลอดภัยตั้งแต่นั้นมา
สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนั้น นอกจากเหตุการณ์ความไม่สงบและความปลอดภัยในชีวิตและเสรีภาพของประชาชนแล้ว ยังมีเหตุการณ์ที่ริดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับศาสนาอีกด้วย เช่น นโยบายเดิมๆ ของทางราชการที่เคยชินกับระเบียบและกฎหมายที่ได้ปฏิบัติมาแต่กาลก่อนยังคงใช้ตามปกติ และบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่เจ้าหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวต่างเกิดอาการขวัญผวาตามๆกัน บางคนไม่อยากเสี่ยงพบกับไข้โป้งก็ได้อพยพโยกย้ายไปอยู่ต่างแดน คนที่มีครอบครัวก็หอบลูกจูงเมียไปตายเอาดาบหน้า ทำเอาให้นักการเมืองต้องทำตัวเป็นคนกลางคอยเชื่อมประสานทำความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับพี่น้องประชาชนที่เกรงกลัวภัยมืด
เรื่องสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติตามหลักความเชื่อถือในเรื่องศาสนาในระดับนโยบายของกระทรวงบางกระทรวงก็ได้ปรับตัวบ้างแล้ว แต่ยังไม่ชัดเจนสร้างความยุ่งยากให้กับฝ่ายราชการที่ปฏิบัตและะประชาชน เช่น การอนุโลมให้สตรีข้าราชการมุสลิมแต่งกายตามประเพณีนิยมไปทำงานในสถานที่ราชการได้ ตามคำสั่งประกาศของกระทรวงมหาดไทย โดย พล.อ. ประจวบ สุนทรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผ่อนปรนข้าราชการมุสลิมไม่ต้องแต่งเครื่องแบบข้าราชการมาทำงานได้ เปิดโอกาสให้แต่งกายตามวัฒนธรรม หากจะแต่งเครื่องแบบราชการขอร้องอย่าใช้ผ้าคลุมศรีษะ ซึ่งเรื่องนี้ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายประกิต อุตตะโมท เปิดเผยถึงกรณีความขัดแย้งเรื่องเครื่องแต่งกายข้าราชการที่จังหวัดภาคใต้ว่า พล.อ. ประจวบ สุนทรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้จังหวัดซึ่งมีชาวไทยมุสลิมเป็นข้าราชการนั้น ผ่อนปรนให้ช้าราชการไม่ต้องแต่งเครื่องแบบข้าราชการมาทำงาน เพื่อข้าราชการชาวมุสลิมจะได้แต่งกายตามวัฒนธรรม แต่หากใครจะแต่งเครื่องแบบข้าราชการแล้วยังคลุมศรีษะทางจังหวัดจะต้องขอร้อง เพราะผิดระเบียบเครื่องแต่งกายซึ่งถือว่าเป็นกฎหมาย
อันแท้จริงแล้วคำสั่งผ่อนปรนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนี้ไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นกฎสำนักนายกรัฐมนตรี ออกตามความในมาตร 7 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พ.ศ. 2478 นายกรัฐมนตรีออกกฎไว้ ดั่งต่อไปนี้ ” เครื่องแบบข้าราชการสตรีนั้น ให้แต่งตามประเพณีนิยมว่าสุภาพ ” กฎให้ไว้ ณ วันที่ 1 เมษายน 2479 โดย พ.อ. พหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตามการผ่อนปรนที่ไม่ชัดเจนของกระทรวงมหาดไทยและแม้กฎสำนักนายกรัฐมนตรีที่ถือว่าเป็นกฎหมายที่ส่วนราชการต่างๆ ต้องถือปฏิบัติ ยังไม่อาจทำให้หัวหน้าส่วนราชการบางส่วนที่ยังมีหัวใจที่อคติต่อการแต่งกายของมุสลิม ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายโดยอ้างเหตุผลอันแสนจะบ้องตื้นอยู่เสมอ ดังเช่นกรณี นางสาวรสนา สมจารี กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งตัวไปรายงานตัว เพื่อเข้ารับราชการในตำแหน่งเภสัชกร 3 ที่โรงพยายาลสุไหงโกลก อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส
เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อนางสาวรสนา สมจารี ได้เข้ารายงานตัวตามระเบียบและเข้าทำงานแล้ว ได้รับการทักท้วงจากผู้บริหารโรงพยาบาลเกี่วยกับเรื่องการแต่งกายที่ตนคลุมฮิญาบ(คลุมผม) ว่า เป็นการแต่งกายผิดระเบียบการแต่งกายข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข และกล่าวหาว่าจะเป็นตัวการทำให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่ข้าราชการเพื่อนร่วมงานไม่ยอมรับ นอกจากนั้นผู้ร่วมงานแสดงอาการดูถูก เหยียดหยาม กระแนะกระแหน ถากถางอย่างหยาบคาย นางสาวรสนาฯได้ทำหนังสือร้องเรียนเขียนด้วยมือมายังผู้เขียนในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส ดังนี้
โรงพยาบาลสุไหงโกลกฯ
14 กันยายน 2530
เรื่อง ร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรม
เรียน คุณอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์
สิ่งที่ส่งมาด้วย สำเนาหนังสือส่งตัวฯ
ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งตัวข้าพเจ้า น.ส. รสนา สมจารี ให้ไปรายงานตัวเพื่อเข้ารับราชการในตำแหน่งเภสัชกร 3 ที่ รพ. สุไหงโกลก อ. สุไหงโกลก จ. นราธิวาส ในวันจันทร์ที่ 7 กันยายน 30 นั้น ข้าพเจ้าได้ไปรายงานตัวเรียบร้อยแล้วตามวัน-เวลา ดังกล่าวและรู้สึกได้ถึงบรรยากาศของความไม่เป็นมิตรตั้งแต่วันแรกของการทำงาน โดยได้มีการทักท้วงเกี่ยวกับเรื่องการแต่งกายคลุมฮิญาบ(คลุมผม)ของข้าพเจ้าว่า ผิดระเบียบการแต่งกายของข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในเรื่องนี้ข้าพเจ้าทราบแล้วว่า ได้มีหนังสือราชการจากกระทรวงมหาดไทยเวียนไปถึงหน่วยราชการต่างๆใน 4 จังหวัดภาคใต้ อนุญาตให้ข้าราชการสตรีมุสลิมสามารถแต่งกายคลุมฮิญาบได้ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าหนังสือดังกล่าว ทางโรงพยาบาลสุไหงโกลกได้รับเป็นทางการหรือยัง หรือไปอยู่ที่ใด เหตุใดจึงอ้างว่าไม่มี
นอกจากนี้ ข้าพเจ้ายังได้รับคำขู่แถมขอร้องให้แต่งกายแบบข้าราชการทั่วไป หากไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ถือว่าขัดขืนคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และกล่าวหาว่าข้าพเจ้าจะเป็นตัวการทำให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่ข้าราชการ เพื่อนร่วมงานไม่ยอมรับ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะมีผลต่อการประเมินผลการทำงานของข้าพเจ้าในระหว่างการทดลองปฏิบัติงาน 6 เดือนก่อนบรรจุ
จากท่าทีที่ไม่ยอมรับข้าพเจ้าของผู้บริหารใน รพ. ทำให้เกิดปฏิกริยามากมายจากบรรดาข้าราชการอื่นๆ ซึ่งมองข้าพเจ้าในแง่ลบและไม่ให้เกียรติกัน ข้าพเจ้าได้รับการดูถูก เหยียดหยาม กระแนะกระแหน ถากถาง เปรียบเปรยอย่างหยาบคายและรุนแรง จากคนบางคนอยู่ตลอดเวลา ข้าพเจ้าได้รับคำพูดแดกดันต่างๆนานา เป็นต้นว่า ” ตัวซวย ตัวจัญไร ตัวเสนียด ตัวเชื้อโรค สัตว์ประหลาด สัตว์โลกล้านปี พวกบ้า-คลั่งศาสนา ” ฯลฯ แม้ไม่เอ่ยชื่อชัดเจนว่าเป็นใคร แต่จากการกระทำ พฤติกรรมและคำพูดของพวกเขา ก็ทำให้ข้าพเจ้าทราบโดยปริยายว่าหมายถึงตัวข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่า การแต่งกายของข้าพเจ้า มันเป็นอุปสรรคต่อการทำงานตรงใหน นอกจากจะทำให้เกะกะนัยน์ตาของพวกอคติบางคน ข้าพเจ้าต้องใช้ความอดทนอดกลั้นเป็นอย่างมาก ที่จะไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรง เพราะมันไม่ใช่วิสัยของคนอย่างข้าพเจ้า เรียกได้ว่าตอนนี้ข้าพเจ้ากำลังถูกคุกคามทางด้านจิตใจและถูกบีบคั้นทุกๆทางที่จะให้ทนทำงานอยู่ไม่ได้ และต้องลาออกจากราชการไปในที่สุด ซึ่งข้าพเจ้ารู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมสำหรับข้าพเจ้าเลย
การกระทำดังกล่าวข้างต้น ทำให้บรรดาพี่น้องข้าราชการมุสลิมอื่นๆพลอยเดือดร้อนไปด้วยและอาจทำให้เกิดความแตกแยกได้ ข้าพเจ้าทราบว่า ยังมีข้าราชการสตรีมุสลิมอีกจำนวนมากที่ต้องการแต่งกายคลุมผม(ฮิญาบ)ทำงาน แต่ถูกบีบบังคับไม่ให้แต่ง และอ้างว่าจะทำให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายและไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย
ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นคนไทยคนหนึ่ง และมีอิสระในการเลือกนับถือศาสนาอิสลาม ต้องการปฏิบัติตนเป็นสตรีมุสลิมที่ดีอย่างเคร่งครัด แต่ถูกรังเกียจและกีดกันในการทำงาน ใครกันแน่ที่ทำให้เรื่องเล็กน้อยเช่นนี้ต้องกลายมาเป็นปัญหา ข้าพเจ้าไม่สามารถจะลบล้างอคติที่มีในจิตใจส่วนลึกของใครๆได้ แต่ก็อยากเปิดเผยข้อเท็จจริงบางอย่างให้ได้รับรู้กัน
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและดำเนินการต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
ลายมือชื่อ
( น.ส. รสนา สมจารี )
อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยของจังหวัดนราธิวาส, ปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ และปริญญาโทสาขาบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์