“บามิยัน” เอกภาพในพหุวัฒนธรรม และผู้ทำลาย

พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดที่หน้าผาบามิยันก่อนถูกทำลาย (ภาพจาก afghanistanembassy.org.uk)

เดือนมีนาคม ปีค.ศ. 2001 เหตุการณ์ที่พระพุทธรูปบามิยัน “พระพุทธรูปประทับยืนหินแกะสลักที่ใหญ่ที่สุดในโลก” ถูกระเบิดทำลายลงด้วยฝีมือของกลุ่มตอลิบาน สร้างความสะเทือนใจให้กับชาวพุทธและผู้คนไปทั่วโลก เนื่องจากพระพุทธรูปบามิยันนับว่าเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่และทรงคุณค่ามากที่สุดแห่งหนึ่งบนโลก

จากเหตุการณ์นี้ประเทศอัฟกานิสถานกลายเป็นจุดสนใจมากขึ้นและต่อมาถูกรู้จัก ในฐานะประเทศที่เป็นที่พำนักของผู้ก่อการร้าย สื่อหลายสำนักต่างก็มุ่งความสนใจไปยังการนำเสนอข่าวประวัติความเป็นมาของพระพุทธรูปบามิยันที่ยืนหยัดอยู่มาได้นับพันปี จนมาถูกทำลายลงด้วยน้ำมือของกลุ่มตอลิบานในท้ายที่สุด

บามิยัน บนเส้นทางสายไหม (Silk Road)

ประเทศอัฟกานิสถานมีที่ตั้งอยู่ในบริเวณรอยต่อระหว่างเอเชียกลาง เอเชียตะวันตก และเอเชียใต้  อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหม (Silk Road) ที่มีความยาวถึง 6,347 กิโลเมตร  เป็นเส้นทางการเดินทางค้าขายทางบกในสมัยโบราณ เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่นของจีนเมื่อประมาณ 100 ปีก่อนคริสต์ศักราช  มีเส้นทางผ่านหลายประเทศเริ่มจากจีนผ่านเอเชียกลางไปจนถึงแอฟริกาและยุโรป  โดยกลุ่มพระพุทธรูปแห่งบามิยัน (Buddhas of Bamiyan)  ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดบามิยัน (Bamiyan Province) เขตฮาซาราจัต (Hazarajat region) ทางตอนกลางของประเทศอัฟกานิสถาน ห่างจากเมืองหลวงกรุงคาบูลไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 230 กิโลเมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 (คริสต์ศตวรรษที่ 6)  นับเป็นศิลปะทางพุทธศาสนาแห่งแรกในโลกที่ได้รับอิทธิพลมาจากอารยธรรมกรีกโบราณ ซึ่งจะมักมีการปั้นและแกะสลักรูปของเทพเจ้าตามสถานที่ต่างๆ

ประวัติศาสตร์อัฟกานิสถานก่อนยุคของศาสนาอิสลาม

กล่าวย้อนไปเมื่อ 1,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช  ดินแดนแห่งนึ้เริ่มด้วยการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวอารยัน (Aryan) จากนั้นจึงเข้าสู่ยุคที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของจักรวรรดิเปอร์เซียอคีเมนิค (Achaemenid Persian Empire 550–330 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ซึ่ง เป็นจักรวรรดิที่ใหญ่ที่สุดในยุคโบราณต่อมาจากจักรวรรดิมีเดีย (รุ่งเรืองที่สุดในรัชสมัยของพระเจ้าดาไรอัสมหาราชและพระเจ้าเซอร์ซิสมหาราช คู่ปรับสำคัญของกรีกโบราณ)  อิทธิพลของจักรวรรดิเปอร์เซียจบสิ้นลงในที่สุดเมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชกษัตริย์แห่งมาซิโดเนียของราชวงศ์อาร์กีด (Alexander III of Macedon or Alexander the Great, 356-323 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นผู้ที่ปราบจักรวรรดิเปอร์เซียลงได้  หลังพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชสวรรคต ประมาณ 321-184 ปีก่อนคริสต์ศักราชราชวงศ์เมารยะ (Maurya)ในอินเดียแผ่อำนาจเข้าควบคุมอัฟกานิสถานตอนใต้รวมทั้งกรุงคาบูลและกันดะฮาร์  ในยุคการปกครองของราชวงศ์นี้พระพุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์ให้เจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช (Asoka) ได้มีการเผยแพร่พระพุทธศาสนาไปยังดินแดนทั้งใกล้และไกลรวมทั้งในอัฟกานิสถานด้วย

การเผยแพร่และอิทธิพลของศาสนาอิสลามในอัฟกานิสถาน

หลังจากที่ท่านศาสดามุฮัมมัดเสียชีวิตลง (ฮ.ศ.10 ค.ศ.632) มีการขยายอำนาจและอิทธิพลไปยังดินแดนต่างๆอย่างต่อเนื่อง  ในยุคการปกครองของราชวงค์อุมัยยะฮ์ที่มีศูนย์กลางอยู่ในดามัสกัส ซีเรีย (ฮ.ศ.41-132 หรือ ค.ศ 661- ค.ศ.750) ในยุคนี้อาณาจักรอิสลามมีการขยายตัวของอาณาจักรออกไปอย่างกว้างขวาง  มีอาณาเขตการปกครองครอบคลุมทั้ง 3 ทวีป คือ ทวีปเอเชียไปถึงเมืองจีน  ทวีปยุโรปไปถึงเมืองอันดาลุส (ประเทศสเปนในปัจจุบัน) ทวีปแอฟริกาจรดทะเลแอตแลนติก โดยในอัฟกานิสถานเองมีการขยายอิทธิพลเข้าไปถึงเมืองบัลค์ (Balkh) เป็นที่รู้จักในนาม”แบกเทรีย Bactria”ในยุคกรีกโบราณ  ซึ่งถือเป็น 1 ในเมืองศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของอัฟกานิสถานในอดีต ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองหลวงกรุงคาบูล

ในช่วงสมัยการปกครองของราชวงศ์อุมัยยะฮ์มิได้มีการทำลายศาสนสถานและมิได้บังคับให้ประชาชนต่างศาสนาต้องเข้ารับอิสลามแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องทำการจ่ายส่วยให้กับรัฐ ซึ่งก็ได้มีชนพื้นเมืองชาวพุทธและนักบวชบางรูปเข้ารับอิสลาม หลังการล่มสลายของราชวงศ์อุมัยยะฮ์นโยบายการจ่ายส่วยของคนต่างศาสนิกก็ถูกนำมาใช้ในยุคต่อมาเช่นเดียวกัน คือในยุคการปกครองของราชวงค์อับบาซียะฮ์ มีศูนย์กลางอยู่ที่แบกแดด ประเทศอิรัก (ฮ.ศ. 132-656  ค.ศ 750 – 1258)  ซึ่งในยุคนี้ถือเป็นยุคแห่งความรุ่งเรืองในประวัติศาสตร์อิสลามและประวัติศาสตร์มนุษยชาติเพราะเป็นยุคที่ศิลปวิทยาการ อารยธรรม การค้าและอุตสาหกรรม มีความเจริญรุ่งเรืองมาก  ทำให้เมืองแบกแดดเป็นเมืองที่มีความมั่งคั่งที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในสมัยนั้น

ภาพมุมกว้างของหุบเขาบามิยัน (Bamiyan Valley) ในอัฟกานิสถานก่อนถูกตาลิบันบุกยึด บามิยันตั้งอยู่บนเส้นทางสายไหมในพื้นที่แถบภูเขาฮินดูกูช (ภาพจาก afghanistanembassy.org.uk)
ภาพมุมกว้างของหุบเขาบามิยัน (Bamiyan Valley) ในอัฟกานิสถานก่อนถูกตาลิบันบุกยึด บามิยันตั้งอยู่บนเส้นทางสายไหมในพื้นที่แถบภูเขาฮินดูกูช (ภาพจาก afghanistanembassy.org.uk)

ภายหลังจากที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้ารับอิสลามในดินแดนอัฟกานิสถานได้ผลิตนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียง ที่สามารถนำเสนอวิทยาการความรู้ใหม่ๆให้กับโลก  มุมมองทางวิชาการในด้านต่างๆ ได้ถ่ายทอดไปสู่ยุโรปในยุคกลาง (Medieval Age) และส่งต่อไปถึงยุคเรเนซองส์ (Renaissance) อีกทั้งยังพัฒนาต่อยอดวิทยาการความรู้มาจนถึงปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น อิบนุซีนา (ibn Sina) หรือที่ชาวยุโรปเรียกกันว่า อะวิเซ็นนา (Avicenna) เกิดเมื่อปีฮ.ศ.370 (ค.ศ.980 – ค.ศ.1037) บิดาชื่อ Abd-Allah เป็นชาวเมืองบัลค์ (Balkh ปัจจุบันอยู่ในอัฟกานิสถาน) โลกมุสลิมยกย่องเขาว่าเป็นสุดยอดของนักปราชญ์ในหมู่ปราชญ์ด้วยกันเอง ด้านโลกตะวันตกก็ต่างยกย่องว่าเขาเป็นมนุษย์ที่ฉลาดที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก เพราะเป็นนักปรัชญาที่มีความรู้มากมาย อะวิเซ็นนาเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักดาราศาสตร์ นักเคมี นักฟิสิกส์ นักคณิตศาสตร์ นักธรณีวิทยา นักตรรกศาสตร์  นักจิตวิทยา นักกวี และเป็นแพทย์ผู้มีชื่อเสียงในการรักษาคนไข้  รวมไปถึงเป็นผู้ที่ได้เรียบเรียงตำราความรู้แทบทุกแขนงที่มีอยู่บนโลก หนังสือและตำราของอิบนุซีนา มีมากกว่า 450 เรื่อง หนังสือแนวฟิสิก ตรรกศาสตร์ และอภิปรัชญาที่มีชื่อเสียงมากเล่มหนึ่งคือ “อัช- ชิฟาอ์” ส่วนตำราทางการแพทย์และเภสัชที่มีชื่อเสียงคือ The Canon of Medicine “The Law of Medicine”) เป็นตำราทางแพทย์ที่ชาวยุโรปใช้มาอย่างยาวนาน พอมีการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ ในปี 1448 ความนิยมของ “The Canon of Medicine”  ก็ทำให้ตำราเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์มากเป็นอันดับสองรองจากคัมภีร์ไบเบิล (Holy Bible)

และอีกท่านหนึ่งที่มีชื่อเสียงก็คือ เมาลานา ญะลาลุดดิน มุฮัมมัด รูมี (Jalal ad-Din Muhammad Rumi ค.ศ.1207-ค.ศ.1273) นักกวีและนักรหัสยนิยมสายซูฟี เกิดที่เมืองบัลค์ (Balkh) ศึกษาลัทธิซูฟีจนได้เป็นนักการศาสนาผู้มากไปด้วยความรู้  อีกทั้งยังเป็นยอดนักกวีเอก มีผลงานชิ้นเอกคือ “มัษนาวี” ที่ใช้เวลาในการประพันธ์นานถึง 43 ปี  ซึ่งเนื้อหาเป็นคำสอนที่สำคัญในลัทธิซูฟีประกอบด้วยหนังสือ 6 เล่มใหญ่ แต่ละเล่มจะมีเรื่องย่อยๆ ที่อธิบายถึงความหมายทางจิตวิญญาณที่เป็นความผูกพันระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า มีการแปลออกเป็นภาษาอื่นๆมากมายเช่น ภาษาอังกฤษ ภาษารัสเซีย และภาษาอูรดู  และยังมีนักปราชญ์ในช่วงยุคทองของอิสลามอีกมากมายที่ไม่สามารถกล่าวถึงได้หมดในที่นี้

อัฟกานิสถานในศตวรรษที่ 19

เนื่องจากการที่อัฟกานิสถานได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมต่างๆ และการเผยแผ่ศาสนาที่ผ่านเข้ามาในบริเวณนี้  จึง กล่าวได้ว่าอัฟกานิสถานถือเป็นศูนย์รวมของคนหลายชนชาติ การผสมผสานทางเผ่าพันธุ์และวัฒนธรรมในอดีตก่อให้เกิดชาติพันธุ์ต่างๆ ขึ้นบน โลก จะเห็นได้จากเชื้อชาติที่มีอยู่ปัจจุบันในอัฟกานิสถาน  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าพัชตุน (Pashtun) 42% (ถูกรู้จักในอีกชื่อหนึ่งคือแขกปาทาน)  ทาจิก (Tajiks) 27%  ฮาซาร่า (Hazara) 9% อุซเบค (Uzbek) 9%  เติร์กเมน (Turkmen) 3%  บาโลช (Baloch) 2% และ ชนชาติอื่นๆ อีกประมาณ 4% ซึ่งในความหลากหลายนี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สภาพการเมืองของอัฟกานิสถานมีแต่ความวุ่นวาย โดยมีการแย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มคนและชนเผ่าต่างๆ มาตลอดช่วงทศวรรษที่ 19

เกษตรกร เตรียมความพร้อมสำหับทุ่งข้าวสาลี ด้านหน้าของพระพุทธรูป ภาพถ่ายในปี 1992 (ที่มา BBC)
เกษตรกรเตรียมความพร้อมสำหรับทุ่งข้าวสาลี ด้านหน้าของพระพุทธรูป ภาพถ่ายในปี 1992 (ที่มา BBC)

ในพื้นที่จังหวัดบามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน อันเป็นที่ตั้งของพระพุทธรูปบามิยันนั้นมีชนเผ่าฮาซาร่า (Hazara) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮ์ และมีบางส่วนที่เป็นนิกายซุนนี่ ใช้ภาษาเปอร์เซียเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร มีการตั้งบ้านเรือนและดำรงชีวิตอยู่ในแถบหุบเขาบามิยันมาหลายชั่วอายุคน โดยมีการกล่าวถึงการตั้งถิ่นฐานของชนเผ่าฮาซาร่าในบันทึกช่วงสมัยราชวงศ์ซาฟาวิด (Safavid dynasty) ช่วงศตวรรษที่ 16-17

ในปี ค.ศ.2001 ที่กลุ่มตอลิบานเข้ายึดครองอัฟกานิสถาน  ชนพื้นเมืองฮาซาร่าต้องอยู่กันด้วยความยากลำบาก เพราะกลุ่มตอลิบานบุกเข้ามาในพื้นที่จังหวัดบามียันเข้าคุกคาม ทำร้ายร่างกาย ลักพาตัว และสังหารชนเผ่าฮาซาร่าอย่างโหดเหี้ยม บางครอบครัวต้องทิ้งบ้านเรือนอพยพหนีตายเพื่อความปลอดภัย  เนื่องจากกลุ่มตอลิบานส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าพัชตุน เริ่มแรกเป็นการรวมตัวกันของนักเรียนศาสนาที่อยู่ในปากีสถานโดยส่วนใหญ่เป็นแนวทางฮานาฟีที่ได้รับอิทธิพลแนวคิดมาจากวะฮาบีที่มีประเทศซาอุดิอาระเบียให้การสนับสนุนด้านการเงิน (สิ่งที่ทำให้เห็นถึงเบื้องหลังของรัฐบาลตอลิบานได้อย่างชัดเจนคือ รัฐบาลตอลิบานได้รับการรับรองจาก 3 ประเทศด้วยกันคือ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และปากีสถาน)

( อนึ่ง : แนวคิดวะฮาบีถูกฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งจากนักการศาสนาอิสลามที่มีชื่อว่า มุฮัมมัด บินอับดุลวาฮาบ (Muhammad lbn Abdul Wahhab ค.ศ.1703 – ค.ศ.1792) ในคาบสมุทรอาหรับช่วงศตวรรษที่ 18 ซึ่งมุฮัมมัด บินอับดุลวาฮาบ ผู้นี้เองที่ร่วมมือกับ มุฮัมมัด บินซาอูด (Muhammad Ibn Saud) ผู้นำท้องถิ่นในคาบสมุทรอาหรับ ทำการแยกตัวออกจากจักรวรรดิออตโตมาน และก่อตั้งอาณาจักรใหม่ขึ้นมาเรียกว่าราชอาณาจักรซาอุดีแรก ในปีค.ศ.1850  ต่อมากษัตริย์อับดุลอะซีซ อาลิซะอูด (ซึ่งรู้จักกันดีในชื่อของ อิบนุซะอูด) สามารถยึดฮิญาซได้สำเร็จในปีค.ศ.1902  จากนั้นจึงเริ่มแผ่ขยายอาณาเขตออกไป  ต่อมาได้ทำการสถาปนาเป็นครั้งที่สอง ก่อตั้งราชวงศ์ซาอูดและจัดตั้งเป็นประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1932   แนวคิดวะฮาบีคือแนวความคิดอนุรักษ์นิยมแบบสุดโต่ง มองคนที่มีแนวความคิดต่างจากพวกเขาเป็นพวกที่หลงทาง และในบางครั้งก็หนักถึงขั้นมองเป็นคนนอกศาสนา (แม้กระทั่งเชื่อในพระเจ้า ศาสดามุฮัมมัด และคัมภีร์อัลกุรอานเหมือนกับพวกเขาก็ตาม) ทำให้บุคคลที่มีแนวความคิดวะฮาบีที่กล่าวมาข้างต้นนี้พร้อมที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อต่อต้านคนที่มีความคิดที่แตกต่างจากพวกตน โดยมองข้ามหลักของสติปัญญา และมองข้ามมุมมองของเหตุและผล)

ห้วงตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์ในแผ่นดินอัฟกานิสถาน  พระพุทธรูปบามิยันผ่านเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆมามากมาย ผ่านสงครามและความวุ่นวายทางการเมืองมานับไม่ถ้วน แต่กระนั้นก็ยังคงดำรงอยู่มาได้เป็นระยะเวลานับพันปี (แม้ในพื้นที่หุบเขาบามิยันจะมีชนพื้นเมืองชาวมุสลิมเผ่าฮาซาร่าที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนิกายชีอะฮ์ตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณนั้น รวมทั้งยังมีมุสลิมนิกายซุนนี่บางส่วนอยู่ในจังหวัดบามียันและบริเวณรอบนอกของเมือง) แต่พระพุทธรูปบามิยันก็มิได้ถูกแตะต้องหรือถูกทำลายลงแต่อย่างใด ในแง่มุมการนำเสนอข่าวของสื่อกระแสหลักก็กล่าวเพียงภาพรวมแค่ว่าชาวมุสลิมเป็นผู้ทำลายพระพุทธรูปบามิยัน แต่มิได้ลงลึกไปในรายละเอียดว่าการทำลายพระพุทธรูปบามิยันเป็นพฤติกรรมของชาวมุสลิมเพียงบางส่วนเท่านั้น  หากแต่ในอีกด้านมุมหนึ่งยังมีชาวมุสลิมพื้นเมืองฮาซาร่าที่เป็นชนกลุ่มน้อยในอัฟกานิสถานที่อยู่ร่วมกับพระพุทธรูปแกะสลักขนาดใหญ่องค์นี้มาอย่างยาวนาน  จนกระทั่งกลุ่มตาลีบันเข้ามามีอำนาจและเข้าไประเบิดทำลายลงในที่สุด  อาจกล่าวได้ว่าทั้งพระพุทธรูปบามิยันและชนพื้นเมืองชาวฮาซาร่าล้วนต่างถูกคุกคามจากกลุ่มตาลีบันด้วยกันทั้งสิ้น 

เมื่อธรรมชาติของมนุษย์คือการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงระดับโลก การยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคมนั้นขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี อาจกล่าวได้ว่าสิ่งสำคัญต่อการสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นคือคนที่อยู่ร่วมกันในสังคมนั่นเอง ที่จำเป็นจะต้องรู้จักตระหนักคิดและทำความเข้าใจ รู้เท่าทัน ใช้วิจารณญานแยกแยะกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมต่อต้านคนที่เห็นต่างจากตน และมีแนวความคิดที่พร้อมจะใช้ความรุนแรงกับผู้ที่เห็นต่างนั้นไม่ให้เติบโตขยายวง กว้างในสังคม

เชื่อว่าแท้ที่จริงแล้วสังคมพหุที่มีความหลากหลายทั้งชาติพันธุ์ ความเชื่อ วัฒนธรรม สามารถอยู่ร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย พึ่งพาซึ่งกันและกันได้ โดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ความรุนแรงคุกคาม ไล่เข่นฆ่าคนที่คิดต่างจากเราแต่อย่างใด  ด้วยเหตุนี้เองเราทุกคนจึงล้วนมีส่วนอย่างสำคัญที่จะร่วมกันสร้างสังคมที่สงบสุข บนพื้นฐานของความแตกต่างหลากหลายด้วยการใช้สติปัญญาหรือการใช้ความรุนแรง….อยู่ที่เราทุกคนจะเลือก !!!