โดย : สมพร หลงจิ
ภาพการแถลงข่าวกรณีมูฮัมหมัด อัลรูไวรี่ ของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย(กอท.) มีนัยที่บ่งบอกว่า ดุลยอำนาจภายใน กอท.ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าสนใจ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต
การเข้ามาของ คณะกรรมการการกลางฯชุดใหม่ เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ แม้จะส่วนใหญ่จะเป็นคนเดิมที่การสอดแทรกเข้ามาของคนใหม่หลายคนนำไปสู่บริบท ใหม่ในการบริหาร กอท. องค์กรที่เป็นความหวังของสังคมมุสลิม แต่ไม่ได้เคยทำได้เลย เป็นเพียงองค์กรที่คนภายนอกมองว่า เข้าไปเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องมากกว่าเพื่อสังคมอย่างแท้จริง
การเข้ามาของจุฬาราชมนตรี อาศิส พิทักษ์คุมพล เมื่อปี 2553 ภายใต้บทบาทของถาวร เสนเนียม ที่ตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นคนสงขลาบ้านเดียวกับ นายอาศิส ทำให้ดูเหมือนว่า “นายอาศิส” เหมือนเป็นคนของประชาธิปัตย์ ขณะเดียวกันก็มี พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลาของประชาธิปัตย์ติดตามเข้ามาด้วย เมื่อผนึกกำลังกับ กรรมการกลางฯ ที่อยู่เดิม อาทิ สมัย เจริญช่าง ทำให้สามารถโค่นขั้วอำนาจ “เพื่อไทย” นายพิเชษฐ์ สถิรชวาล จากตำแหน่งเลขาธิการกอท. ได้สำเร็จ ชนิด “ตายไม่ไปฝัง” กันเลยทีเดียว
นายพิเชษฐ์ ตอนเป็นเลขาธกอท. มีบทบาทมาก เนื่องจากจุฬาฯสวาส สุมานยศักดิ์ รักษาอาการป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน นายพิเชษฐ์จึงทำงานแทนทั้งหมด สามารถคอนโทรล กอท.ได้เกือบทั้งหมด แต่โดยธรรมชาติของ กอท.ส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญกับ “ผลประโยชน์” ของตัวเองเป็นหลัก ใครมีอำนาจที่ให้ประโยชน์กับตนเอง ก็จะเดินตามคนๆ นั้น ไม่มีหลักยึด ทั้งที่คนในองค์กรศาสนาควรยึดหลักศาสนาเป็นสำคัญ ทำให้ “มติ” ที่เห็นชอบในสมัยนายพิเชษฐ์ สามารถกลับมติได้ ในยุค “พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่” ด้วยเหตุผลว่า “เกรงใจ”
พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ไม่ถนัดเรื่องการบริหารและไม่รู้เส้นสนกลในของคณะกรรมการกลางฯ การเดินเกมส่วนใหญ่ มาจากคนที่อยู่เดิม ซึ่งเพิ่งพ้นจาก “กรรมการกลางฯ” ไปไม่นาน ความจริงคนนี้ ตอนที่ นายพิเชษฐ์ เป็นเลขาฯกอท. และเป็นรัฐบาล ก็เคยพึ่งพากัน ฝากลูกเข้ามา เป็นคนประสานให้ ส.ส.ภาคใต้ย้ายไปอยู่เพื่อไทย ได้เงินได้ทองเข้ากระเป๋า ในคณะกรรมการกลางฯ ชุดนาย ก็มีบทบาทในระดับหนึ่ง แต่เมื่อสาย ประชาธิปัตย์ยกทีมเข้ามา ก็เกิดความฮึกเหิม ต้องการจะยึดครองอำนาจไว้ทั้งหมด จึงล้มนายพิเชษฐ์ และดันพล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ขึ้นมาแทน
พล.ต.ต.สุรินทร์ ความเป็นตำรวจ อาจจะแข็งกร้าวบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการประนีประนอมมากกว่าที่จะแตกหัก แต่การขาดความลึกซึ้งในการบริหาร ฟังข้อมูลจากคนที่ใกล้ชิด จึงตกกระไดพลอยโจนไปด้วย มีหลายเรื่องที่ก่อให้เกิดปัญหายืดเยื้อมาจนถึงวันนี้ อาทิ กรณีการปลด “นายพัฒนา หลังปูเต๊ะ” ที่ศาลสั่งว่า กระทำโดยมิชอบ กรณีอินเจอร์เทค ที่เพิ่งยอมความกันได้ หรือกรณีการจับกุม สินค้าจากอิหร่านที่ใช้เครื่องหมายฮาลาลของ “อิหร่าน” จนมีคดีกันในศาล
ที่สำคัญการเดินเกม เพื่อเล่นงานฝ่ายตรงกันข้าม ทำให้องค์กรศาสนาแตกแยกอย่างรุนแรง มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจน อยู่ด้วยกันแบบต้องเผชิญหน้ากันตลอดเวลา ผลงานก็ไม่ออก การทำงานก็ติดๆขัดๆ องค์กรก็เสียหายอย่างรุนแรงในหลายๆเรื่อง
ประกอบกับในอีกด้านหนึ่ง การเมือง มีฝ่ายตรงกันข้ามได้อำนาจ ผู้นำระดับสูงและเครือข่าย ก็ฉีกตัวออกจากประชาธิปัตย์ไปอิงอยู่กับรัฐบาลถึงกับไปร้องห่มร้องไห้กับ ทักษิณที่ดูไบมาแล้ว หลังมีกอท.ชุดใหม่ พล.ต.ต.สุรินทร์ จึงเหมือนโดดเดี่ยว ต้องลงมาประหนีประนอมในการจัดสรรตำแหน่งภายใน ดึงคนที่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างกันมารับตำแหน่ง มาทำงานร่วมกัน ออกแนวประนีประนอมมากกว่าแตกหัก เหมือนเมื่อครั้งมีคนชักใยอยู่เบื้องหลัง การจัดสรรตำแหน่งลงตัว มีปัญหาน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย เพราะต้องการประนีประนอมไม่ต้องการให้องค์กรมีปัญหาอีกต่อไป
ภาพที่ออกมาในการแถลง กรณีอัลรูไวรี ไม่มีกรรมการกลางฯ สายประชาธิปัตย์อยู่เลย พล.ต.ต.สุรินทร์ ขอที่จะไม่เข้าร่วม เพราะเกรงใจกปปส. เพราะแนวทางของมุสลิมสายประชาธิปัตย์ เห็นไปตามคำพิพากษาของศาล และขึ้นเวลากปปส.วิจารณ์ฝ่ายที่เห็นต่าง ซึ่งผลจากการแถลงของจุฬาฯ ซาอุดิอารเบียให้ทุนการศึกษามาให้องค์กรในประเทศไทยทันที 30 ล้านบาท ฝ่ายที่ด่า อาจจะต้องเงียบเสียงหากรู้เรื่องนี้
ภาพที่เห็นของการแถลงกรณีอัลรูไวรี่ ฉายให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในกอท. เมื่อฝ่ายที่ถูกไล่บี้ในอดีต กลับมามีบทบาทอีกครั้ง แต่ยังไม่ต่อไปไม่ออกว่า หลังสิ้นรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์แล้ว บทบาทจะต่อเนื่องหรือไม่ แต่หาก ประชาธิปัตย์ยังไม่กลับมา การพลิกขั้วก็จะดำรงอยู่เนิ่นนาน