มูลนิธิมิตซูบิชิ อิเล็คทริคไทย มุ่งมั่นร่วมสร้างจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม ชวนคณะผู้บริหารและพนักงานกว่า 500 คน จาก 11 กลุ่มบริษัท Mitsubishi Electric ในประเทศไทย สานต่อกิจกรรมจิตอาสาปลูกป่าและสร้างเส้นทางศึกษาธรรมชาติอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสังคมไทยให้ที่ดียิ่งขึ้นต่อไป ณ ป่าชุมชนบ้านอินทร์ไตรย์ อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี
กิจกรรมจิตอาสาปลูกป่าและสร้างเส้นทางศึกษาธรรมชาติของมูลนิธิมิตซูบิชิ อิเล็คทริคไทย ประจำปี 2567 นั้น ได้จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก “โครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน” โดยกรมป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 สาขาปราจีนบุรี, องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) และ สมาชิกป่าชุมชนบ้านอินทร์ไตรย์ ที่ร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมลดโลกร้อนให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยปีนี้มีพนักงานจิตอาสา จำนวน 500 คนที่สละเวลาในวันหยุดมาร่วมใจปลูกต้นไม้ ซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ด้วยต้นกล้าพืชไม้ที่สำคัญคือ ไผ่ซางหม่น สะเดา ขี้เหล็ก มะค่าโมง เพกา สมอภิเภก และพืชสมุนไพร (ขมิ้นชัน ไพล) จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ และทำพิธีบวชต้นไม้ ซึ่งถือเป็นกุศโลบายในการรักษาป่าของชาวบ้านไม่ให้ใครมารุกล้ำทำลายป่าไม้ ด้วยการนำจีวรมาห่มให้กับต้นไม้ ณ ป่าชุมชนบ้านอินทร์ไตรย์ อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี
นางนันทนา บุณยานันต์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ กล่าวว่า
“กรมป่าไม้ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ของชาติ ซึ่งได้ให้ความสำคัญด้านการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนและองค์กรทุกภาคส่วน ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยชุมชนมีหน้าที่และสิทธิในการดูแลรักษา และได้ประโยชน์จากป่าชุมชนสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ในปัจจุบันมีป่าชุมชนทั่วประเทศ 12,430 ป่าชุมชน เนื้อที่ 6.89 ล้านไร่ ซึ่งป่าชุมชนบ้านอินทร์ไตรย์ ก็เป็นหนึ่งในนั้น และป่าชุมชนบ้านอินทร์ไตรย์ จังหวัดปราจีนบุรี มีเนื้อที่ 113 ไร่ ปริมาณการกักเก็บก๊าซคาร์บอนประมาณ 720 tonCO2e และปริมาณการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 61 tonCO2e/y หรือ 610 tonCO2e/10y ซึ่งเป็นคลังอาหารและเป็นแหล่งสร้างรายให้กับชุมชนรอบข้างป่าชุมชนผืนนี้ สร้างเศรษฐกิจชุมชนเชื่อมโยง BCG โมเดล และป่าชุมชนผืนนี้จะทำหน้าที่รักษาสมดุลของระบบนิเวศ เพื่อส่งต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ให้เป็นมรดกทางธรรมชาติให้กับลูกหลานสืบต่อไป”
นายคุนิฮิโกะ เซะกิ รองประธานกรรมการมูลนิธิมิตซูบิชิ อิเล็คทริคไทย และผู้แทนภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค เผยว่า “พวกเรา กลุ่มบริษัท Mitsubishi Electric ตระหนักว่าความยั่งยืนเป็นหลักสำคัญในนโยบายบริหารงาน และเพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย เราจึงมุ่งเน้นใน 4 ประเด็น คือ การมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมยั่งยืนผ่านการดำเนินงานทางธุรกิจ ความรับผิดชอบต่อสังคมที่ยั่งยืน การจัดการความเสี่ยงเพื่อตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาว และสุดท้ายคือ การสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสีย พวกเราไม่เพียงมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมยั่งยืนผ่านการดำเนินงานทางธุรกิจ แต่เราแก้ไขประเด็นปัญหาทางสังคมด้วยการประยุกต์ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบ เพื่อมุ่งมั่นสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า ที่สำคัญพนักงานจิตอาสาที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ไม่ได้มาทำกิจกรรมในฐานะของบรรษัทพลเมืองที่ดี แต่มาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยที่ไม่จำกัดสัญชาติ เพศสภาพ และทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมที่อยู่อาศัย เมื่อคุณค่าที่เรายึดถือกับคุณค่าขององค์กรสอดคล้องกัน จะทำให้พนักงานจิตอาสาทุกคนได้เติมเต็มและมีพลังในการมุ่งมั่นเพื่อบรรลุความสำเร็จในจุดมุ่งหมายทั้งในด้านหน้าที่การงานและด้านส่วนตัว”
กิจกรรมปลูกป่าเพื่อลดภาวะโลกร้อนเป็นกิจกรรมที่ Mitsubishi Electric ได้ให้การสนับสนุนต่อเนื่องเป็นเวลา 7 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เพื่อปลูกจิตสำนึกให้พนักงานทุกภาคส่วนได้เห็นความสำคัญ และร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ สอดคล้องตามพันธกิจ และคุณค่าขององค์กรที่ให้ความสำคัญด้าน “สิ่งแวดล้อม” และ “สังคม” นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง