สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ลง หลังจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น แม้เศรษฐกิจจะได้รับแรงหนุนจากภายในประเทศ
ทั้งนี้ สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 2.8-3.8% และมีค่าเฉลี่ยตรงกลางอยู่ที่ 3.3% ลดลงจากประมาณการเดิมเมื่อเดือน พ.ย.2558 ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2559 จะขยายตัวได้ 3-4% และมีค่าเฉลี่ยกลางที่ 3.5% ซึ่งการปรับลดคาดการณ์ดังกล่าว มาจากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยหลัก โดยเฉพาะภาคส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 1.2%
ก่อน หน้านั้น หน่วยงานด้านเศรษฐกิจประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัว และช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยปีนี้ดีขึ้น แต่จากสถานการณ์ความปั่นป่วนจากราคาน้ำมัน และตลาดเงินตลาดทุนตั้งแต่ต้นปี ทำให้มีการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกใหม่ว่าอาจชะลอตัวต่อไปอีกปี
สศช.เห็นว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องติดตามดูใกล้ชิด โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาความเชื่อมั่น โดยเฉพาะในภาคการเงิน เพราะที่ผ่านมาค่าเงินหยวน ยังมีความผันผวนที่ค่อนข้างมาก และดูเหมือนคนจะขาดความมั่นใจ อีกทั้งช่วงที่ผ่านมา ยังมีการโจมตีค่าเงินหยวน
ส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีน แม้จะอยู่ในระดับสูง แต่ก็ลดลงค่อนข้างเร็ว โดยลดลงจากระดับ 4 ล้านล้านดอลลาร์ มาอยู่ที่ 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล และประเทศไทยก็จำเป็นต้องติดตามดูสถานการณ์ดังกล่าว
นอกจากนี้ ปัญหาภาคสถาบันการเงินในยุโรป แม้จะมีความน่าเป็นห่วงอยู่บ้างแต่ก็น้อยกว่าเศรษฐกิจจีน เพราะเศรษฐกิจยุโรปช่วงหลังที่อ่อนแอ ได้ส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจไทยอยู่หลายครั้ง แต่เศรษฐกิจไทยก็สามารถผ่านพ้นมาได้อย่างดี จึงนับว่าประเทศไทย มีการปรับตัวจากปัญหาในยุโรปมาระยะหนึ่งแล้ว
ปัญหาดังกล่าว สศช. คาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนมากกว่า เพราะผูกพันกับไทยมากกว่า ทั้งเรื่องการส่งออกและท่องเที่ยว โดยรวมๆ ถ้าเศรษฐกิจจีนโตในระดับ 6.5% ก็ยังไม่น่ามีปัญหา แต่หากต่ำกว่านี้ คงต้องมาทบทวนประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยใหม่เช่นกัน
ขณะ ที่ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่าแม้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่คงไม่ถึงขั้นวิกฤติแบบปี 2551 เพราะวิกฤติเศรษฐกิจในคราวนั้น เป็นผลจากความเสี่ยงของระบบที่เกิดกับระบบสถาบันการเงิน และปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ
สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินในยุโรปเป็นการเกิดขึ้นกับสถาบันการ เงินเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น และสถาบันการเงินเหล่านี้เข้าใจว่าส่วนใหญ่ได้ตั้งค่าเผื่อการสูญเสียไปแล้ว โดยภาพรวมจึงไม่น่าจะถึงขั้นเป็นความเสี่ยงเชิงระบบ
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ยัง มีความเสี่ยงบางเรื่องที่ต้องจับตา เพราะเกรงว่าอาจจะพัฒนาไปเป็นความเสี่ยงเชิงระบบได้ คือ ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก คงมาจาก 2 ด้านหลักๆ คือ ผลกระทบจากเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะถ้าธนาคารกลางประเทศต่างๆ ต้องผ่อนคลายนโยบายการเงิน เพื่อดูแลเศรษฐกิจของประเทศตัวเอง กับผลกระทบด้านการส่งออก จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ตกต่ำ
เช่นเดียวกันกับที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ(ชพ.) ระบุว่า ปัญหา อุปทานน้ำมันยังล้นตลาดโลกยังกดดันราคาอยู่ในระดับ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยหากราคาน้ำมันร่วงไปแตะระดับ 260 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และเริ่มมองกันไปที่ระดับ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลว่ามีความเป็นไปได้มากขึ้น
หากราคาร่วงลงสู่ระดับ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตปิโตรเลียมมากยิ่งขึ้น โดยล่าสุดบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) เตรียมประเมินผลกระทบหากราคาร่วงไปแตะรับ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
“กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เตรียมรับผลกระทบที่เกิดขึ้นเช่นกัน ซึ่งหากน้ำมันร่วงแตะ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และทรงตัวนาน จะส่งผลกระทบผู้รับสัมปทานในไทยทั้งหมด และเชื่อว่าแท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทยทั้งหมดจะหยุดผลิตชั่วคราว”
แต่ทางฝ่ายวิจัยกสิกรไทย ยังคงประเมินการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ที่ 3% และประเมินการส่งออกไว้ว่าจะขยายตัว 2%
ทางด้านสายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่าเป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่เศรษฐกิจโลกดูมีแนวโน้มแย่ลง แต่กลายเป็นว่าเงินไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งไทย ทำให้ค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่าขึ้นถ้วนหน้า โดยเฉพาะการแข็งค่าของเงินเยน แม้ว่าที่ผ่านมาธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) จะผ่อนคลายนโยบายการเงิน ด้วยการใช้ดอกเบี้ยติดลบครั้งแรกก็ตาม
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ คนคาดการณ์ว่าปัญหาเศรษฐกิจโลกจะมีมากขึ้น และทั้งๆ ที่บีโอเจ ใช้ดอกเบี้ยติดลบ แต่เงินเยนยังแข็งค่าขึ้นถึง 6% เมื่อเทียบกับช่วงปลายปีที่ผ่านมา มันเป็นภาวะ ที่ออกนโยบายโดยหวังผลอย่างหนึ่ง แต่ผลที่ออกมาจริงกลับเป็นตรงกันข้าม
ประเด็นที่ต้องจับตาดูขณะนี้ คือ การตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ว่าจะปรับขึ้นหรือ ไม่ ซึ่งตอนนี้ตลาดการเงินเกือบทั้งหมดเริ่มมองว่า”เฟด” อาจจะยังไม่ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งหมายความว่า ทั้งปีอาจจะไม่ปรับขึ้นด้วย
เพราะคนมองว่า เศรษฐกิจโลกมีปัญหามากขึ้น เพราะหากเฟดขึ้นดอกเบี้ยเงินดอลลาร์จะแข็ง ยิ่งกระทบต่อเศรษฐกิจของเขา แต่จริงๆ แล้วเศรษฐกิจสหรัฐ ไม่ได้พึ่งพาการส่งออกมากนัก และตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ก็ดูดีขึ้น จะมีเพียงการจ้างงานที่ยังต่ำกว่าคาดอยู่บ้าง ซึ่งถ้า”เฟด” ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.จริง คิดว่าความผันผวนในตลาดการเงินคงเกิดขึ้นอีกรอบ
แต่สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่า คือ หาก”เฟด” ตัดสินใจยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบนี้ และคนมองว่าในปีนี้ทั้งปีอาจไม่ปรับขึ้นเลย เท่ากับว่า สหรัฐ กำลังกระโดดเข้าสู่”สงครามค่าเงิน” ซึ่งจะทำให้ตลาดการเงินโลกมีความปั่นป่วนยิ่งกว่าการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย ด้วยซ้ำ
ทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่า ถ้าเขาขึ้นดอกเบี้ยจะน่ากลัว เพราะเงินทุนจะไหลออก แต่จริงๆน่าจะเป็นเรื่องดี กับเศรษฐกิจในภูมิภาค และยังเป็นการทำให้สงครามค่าเงินระหว่าง”บีโอเจ” กับ”อีซีบี”(ธนาคารกลางยุโรป) ไม่จำเป็นแล้วก็ได้ แต่ถ้าสหรัฐตัดสินใจไม่ขึ้นดอกเบี้ย ทั้งที่ตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัว ยังออกมาดี ตรงนี้อาจทำให้สงครามค่าเงินรุนแรงขึ้น ความผันผวนในตลาดการเงินก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย
จึงเห็นว่าเศรษฐกิจโลก ยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงรอบด้านในปีนี้