สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ในช่วงนี้ผันผวนหนัก นักวิเคราะห์ระดับโลกพากันงุนงงและจับทางไม่ถูก ทั้งตลาดหุ้น น้ำมัน และทองคำ โดยไม่มีใครรู้ว่าทิศทางต่อไปของระบบเศรษฐกิจจะเป็นยังไงต่อไป? แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
หากจับตาสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน จะเห็นว่าในขณะนี้เกิด “ภาวะเงินล้นโลก”ที่ประเทศใหญ่พากันพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม ทั้ง สหรัฐฯยุโรป จีน ญี่ปุ่น ทำให้โลกถูกครอบงำด้วย“ทุนส่วนเกิน”จำนวน มากมายมหาศาล ซึ่งทุนเหล่านี้พร้อมจะเทไหลไปยังแหล่งที่ยังมีโอกาสทางธุรกิจที่ดีกว่าได้ อยู่ตลอดเวลา เพราะระบบการโอนเงินเป็นวินาทีด้วยอินเตอร์เน็ต ทำให้เกิดภาวะ“ทุนไร้พรมแดน”
สินทรัพย์ที่ทุนส่วนเกินเหล่านี้ จะบุกไปหาส่วนต่างในปัจจุบัน ไม่ได้มองไปที่การลงทุนระยะยาว แต่จะเป็นการ“เก็บกำไรสั้นๆ” หา ส่วนต่าง ตรงไหนมีเงินก็พร้อมจะเข้าไปถล่มโจมตี และหากำไร โดยไม่คำนึงว่า หลังสงครามเงินทุนผ่านไป เศรษฐกิจของประเทศที่โดนถล่ม จะตกอยู่ในสภาพอย่างไร
ประเทศที่มี “หน้าตัก”หรือทุนสำรองมากที่สุดในโลกตอนนี้คงหนีไม่พ้น “จีน” ที่ มีทุนสำรองสูงมากถึง 3.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯซึ่งเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ถูกทุนโลกถล่ม กินเงินไป 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ค่าเงินหยวน และตลาดหุ้นจีนตกลงอย่างหนักกว่าจะรับมือได้ต้องออกมาตรการถี่ยิบ เพื่อปกป้องตนเอง แต่ยังไงเสียด้วย “หน้าตัก”จำนวนมหึมา ก็ยังคงมีแรงดึงดูดให้ทุนส่วนเกิน เข้าไปถล่มเก็งกำไรได้ตลอดเวลา “จีน” เลยกลายเป็น “บ่อนใหญ่ที่สุดในโลก”ที่ทั่วโลกพากันจับตามองว่า จะจบลงอย่างไร?
อีกตลาดหนึ่งที่เคย “อู้ฟู่”มานับศตวรรษ คือ “ตลาดน้ำมัน”ที่ ตอนนี้แทบไม่มีค่าอะไรให้น่าสนใจ จากที่ราคาน้ำมันเคยไปแตะจุดสูงสุดที่ระดับ 147เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจุบันซื้อขายกันที่ระดับต่ำกว่าบาร์เรลละ 30 เหรียญ เพราะ “ซัพพลาย” น้ำมัน ยัง “ล้นโลก” เนื่องจาก มีหลายประเทศนอกกลุ่มโอเปคต่างดูดขึ้นมาใช้ได้ด้วยเทคโนโลยีใหม่ “เชลส์ก๊าซ” ที่ส่งแรงสั้นสะเทือนเข้าไปในหินดินดานแล้วจะได้น้ำมันออกมา ทำให้สำรองน้ำมันโลกที่เคยบ่นกันว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะหมดไป กลับกลายเป็นใช้ไม่มีวันหมด!
ข้อสำคัญ “เทรนด์พลังงานทดแทน”กำลัง มาแรง นวัตกรรมใหม่ๆ ทางด้านพลังงานผุดขึ้นมาทั้งน้ำ สายลมแสงแดด ล้วนแล้วแต่เอามาเป็นพลังงานได้เมื่อโลกมีนวัตกรรมพลังงานใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วพลังงานเดิมที่มาจาก “ฟอสซิล” อย่างน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ จึงกลายเป็น “ของโบราณ” ที่ทุนโลกไม่ให้ความสนใจเหมือนในอดีต และเริ่มค่อยๆ ตายซาก กลายเป็นของไม่มีราคา
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิ่งลงมาอยู่ที่ระดับบาร์เรลละ26.21 เหรียญ ทำ “นิวโลว์” ไป เรื่อยๆ ซึ่งสะท้อนจากภาวะน้ำมันล้นโลก และการค้นพบพลังงานใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี จนถึงกับทำให้นักวิเคราะห์ในตลาดน้ำมันประกาศว่า ราคาน้ำมันจะตกต่ำไปอย่างนี้อีก 10 ปี เป็นอย่างน้อย
ที่แย่หนักก็คือ “กลุ่มโอเปค”ที่เคยร่ำรวยจากดูดน้ำมันมาขายจนเป็นเศรษฐี ตอนนี้ฐานะของประเทศเหล่านั้น “เหลือไม่เท่าเก่า”ขาใหญ่ระดับ “ซาอุดีอาระเบีย” ฐานะ การคลังเริ่มย่ำแย่ จนกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ระบุว่าซาอุดีอาระเบียกำลังจะล้ม ละลายภายใน 5 ปี หลังจากประเมินออกมาว่างบประมาณรายจ่ายของซาอุฯปี 2015 ติดลบ 21.6%และ ปี2016 จะติดลบ 19.4%จากรายได้น้ำมันที่ลดลงและปัญหาสำคัญของซาอุฯ ก็คือ “คนว่างงาน”มีจำนวนมากเกินไปถึง 30%ของวัยทำงาน
อีกมุมหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมากในขณะนี้ก็คือ ฐานะการเงินของแบงก์ขนาดใหญ่ในยุโรป ที่เริ่มมี “อาการ” ที่อาการหนักสุดตอนนี้ น่าจะเป็น “ดอยช์แบงก์” (Deutsche Bank)ธนาคารใหญ่ที่สุดในเยอรมนีที่มีโอกาส “ล้มหงาย”ลงมาดื้อๆ หลังจากที่ธนาคารประกาศผลประกอบการในปี 2558 ออกมาขาดทุนสูงถึง 6.8 พันล้านยูโร ส่งผลให้หุ้นดอยช์แบงก์ ตกรูดลงไปถึง 40%
ส่องดูอาการแล้ว สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในแบงก์ยุโรปใกล้เคียง กับที่เกิด “วิกฤติซับไพร์ม”ในสหรัฐฯ เมื่อปี 2550 ที่หุ้นของแบงก์ใหญ่ในสหรัฐฯอย่าง เมอร์ริลลินช์ และซิตี้กรุ๊ป ตก รูดวันเดียวกว่า 40% จนสะเทือนไปทั้งโลก แม้หุ้นแบงก์ในยุโรปจะไม่ตกเร็วเหมือนวิกฤติซับไพร์ม แต่การที่หุ้นตกลึกลงขนาดนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอนก็คือ แบงก์เจ๊งและธนาคารกลางยุโรป คงต้องเข้าไปอุ้ม เพื่อพยุงฐานะแบงก์เอาไว้ ไม่ให้ก่อวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นมาอีก
แบงก์ยุโรปฐานะทรุด ส่งผลให้ประธานธนาคารกลางยุโรป ต้องเข้าไปแทรกแซงค่าเงินยูโร ที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ธนาคารกลางยุโรปยังคงพิมพ์แบงก์เพิ่มอย่างต่อเนื่อง เพื่ออัดฉีดเงินเข้าเยียวยาระบบเศรษฐกิจ และเชื่อว่าคงต้องทำไปเรื่อยๆ จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เหมือนดังที่ สหรัฐฯ พิมพ์เงินจนคนอเมริกา กลับมาร่ำรวยอีกครั้งในขณะนี้
อีกด้านหนึ่ง สหรัฐฯ เองก็กำลังมองหาวิธีว่าทำอย่างไรจะปั่นระบบเศรษฐกิจโลกให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ด้วยการใช้กลไกทางการเงินของ “เฟด” ที่จะส่งสัญญานปรับทิศทางเศรษฐกิจโลก ให้เป็นไปในทิศทางใด
ย้อนกลับมาในประเทศไทย ก็ยังอยู่ในฐานะ “ดิ้นรน” เอาตัวรอด เนื่องจากถูกตีกรอบจาก โลกตะวันตก ด้วยการกีดกันทางการค้า ตัด GSP สินค้าไปกว่า 6,200 รายการ จน “ภาคการส่งออก”ของประเทศไทย ในปี 2558 ติดลบมากกว่า5% ระบบเศรษฐกิจทำท่าจะไปไม่ไหวถ้าสถานการณ์ยัง“อึมครึม” อย่างนี้ต่อไป
หากดูตัวเลขทางเศรษฐกิจที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างทยอยกันรายงานออกมาจะเห็นว่าเป็นไปในทิศ
ทางเดียวกันคือเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้อย่างยากลำบาก ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งขาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 4/58 ขยายตัวราว 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเศรษฐกิจไทยยัง“ขยายตัวเกณฑ์ดี”แม้ว่าด้านอุปสงค์การส่งออกยังลดลงอย่างต่อเนื่อง และเป็น “ข้อจำกัด”การ ขยายตัว สอดคล้องกับการหดตัวที่เร่งขึ้นของการส่งออกของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค อุปสงค์ในประเทศเร่งตัวขึ้นทั้งการลงทุนภาครัฐ และการใช้จ่ายภาคครัวเรือน
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองภาพรวมเศรษฐกิจปี 2559 ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี 2559 ยังคงมี “ภาพลบ” และ “บวก”ปะปนกัน ไม่แตกต่างไปจากทิศทางของเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก แม้จะมีอานิสงส์ต่อ
เนื่องจากการผลักดัน“เม็ดเงิน”ของ ภาครัฐในหลายๆ ช่องทาง แต่ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2559อาจชะลอลง โดยมีโจทย์ที่สำคัญอยู่ที่การประคองตัวให้สถานการณ์ภาพรวมทางเศรษฐกิจได้รับ ผลกระทบโดยตรงน้อยที่สุดจาก“ปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม”ทั้ง ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่จะมีผลกระทบต่อเนื่องมายังภาคการส่งออก และความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศที่จะกดดันภาคการเกษตร/ธุรกิจที่เกี่ยว เนื่อง ขณะที่คงต้องยอมรับว่า ทั้งสัญญาณอ่อนแอของภาคการส่งออกและภาคการเกษตร(ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีความ สำคัญต่อการจ้างงาน และรายได้ของครัวเรือน) อาจมีผลจำกัดการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนด้วยเช่นกัน
ขณะ เดียวกันทางรัฐบาลก็รู้สถานการณ์ดี พยายามหาตลาดใหม่ หันไปหา จีน รัสเซีย และตลาดอาเซียน ซึ่งก็ถือว่าเป็นตลาดใกล้ตัว แต่จะได้ผลมากหรือน้อยนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการขับเคลื่อนของรัฐบาลเป็นสำคัญ และยังคงต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ภาคส่งออก ที่เคยหากินร่ำรวยจากสหรัฐฯ ยุโรป ตะวันออกกลาง กลับมาหากินใกล้บ้าน กว่าจะปรับเปลี่ยนได้ก็คงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่
ที่น่ากังวลก็คือ ประเทศไทย เริ่มตามเพื่อนบ้านไม่ทันขณะที่ เขมร ลาว พม่า เวียดนาม หันไปเกาะมือกันแน่นในนามกลุ่ม CLMV ที่นักลงทุนทั่วโลกกำลังหลั่งไหลเข้าไป ในประเทศเหล่านี้ และมองเมินประเทศไทย ที่เคยเป็นประเทศที่ต่างชาตินิยมเข้ามาลงทุนมากที่สุดในภูมิภาค จึงเป็นปัญหาว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้กลุ่มนี้ เติมตัว T เข้าไปด้วย และให้กลายเป็นกลุ่ม CLMVT
เรื่องนี้ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์”รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า รัฐบาลกำลังเดินหน้า“เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน”ผ่าน การพัฒนาสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ เช่น นำความรู้ทางการเกษตรผ่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ช่วยดูแล การนำบทวิจัยมารวมเป็นศูนย์ทางวิชาการ เพื่อสร้าง“นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต”และการสร้างอุตสาหกรรมตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้านผ่านการพัฒนา 10 เขตเศรษฐกิจที่สำคัญ ความร่วมมือแบบ “คลัสเตอร์”และ สร้างสิ่งจูงใจนักลงทุนเข้ามาลงทุนนอกจากนี้ยังต้องดึงประเทศเพื่อน บ้าน CLMV+T เพื่อรวม ประเทศไทย เข้าไปด้วย จึงเสนอให้จัดประชุมนานาชาติในช่วงกลางปีนี้ เพื่อดูสภาพตลาดร่วมกัน ทั้งลาว กัมพูชาเวียดนาม เพื่อรอโอกาสเหมาะบุกตลาดร่วมกัน
ทั้งนี้ เพื่อสอดรับกับการพัฒนา จึงมีการอัดฉีดเงินทุนให้ “กองทุนหมู่บ้าน”ทุก แห่งวงเงิน 35,000 ล้านบาท โดย นายกรัฐมนตรีเตรียมกดปุ่มเงินให้กองทุนหมู่บ้านวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ รวมทั้งยังต้องการส่งเสริม 1 ตำบล 1 แหล่งท่องเที่ยว การสนับสนุนปั๊มน้ำมันของ ปตท.เปิดให้สินค้าโอท็อป นำสินค้าออกมาวางจำหน่ายตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เพื่อเป็นช่องทางตลาดให้กับชุมชน
จากนโยบาย“เติมความสามารถ” ให้ “รากหญ้า”เท่ากับ เป็นการเพิ่มภูมิต้านทานทางเศรษฐกิจ ให้กับประเทศไทย และการแสวงหาความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแน่นอนว่า เพื่อนบ้านเองก็อยากให้ภูมิภาคนี้เติบโตไปด้วยกัน และไทยเองยังมีภูมิศาสตร์ที่ถือว่าเป็น “ศูนย์กลาง”ของภูมิภาคนี้คงต้องเร่งพัฒนาตัวเองในหลายๆ ด้าน เพื่อผลักดันตัวเองให้ยืนอยู่บนเวทีการค้าโลกได้อย่างสง่างาม
การแสวงหาความร่วมมือ และยืนบนลำแข้งตัวเองนั่นแหละจะทำเศรษฐกิจไทยพอมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์!!