สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จัดการอบรมหลักสูตร “การเป็นผู้ตรวจประเมินเครื่องหมายรับรอง B MARK สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการจากความหลากหลายทางชีวภาพ”
นายสุวีร์ งานดี รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ เป็นประธานในการเปิดการอบรมหลักสูตร “การเป็นผู้ตรวจประเมินเครื่องหมายรับรอง B MARK สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการจากความหลากหลายทางชีวภาพ” โดยมี ผศ.ดร.รุ่งทิพย์ ลุยเลา ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการวัสดุเหลือใช้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะทำงานตรวจประเมินเครื่องหมายรับรอง B MARK ทยากรจาก BEDO และผู้สนใจเข้าร่วมอบรม ณ ห้องประชุมลาเวนเดอร์ 2 โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น
นายสุวีร์ งานดี รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ กล่าวกว่า สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. เล็งเห็นถึงความมั่นคงของฐานทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ อันจะนำมาซึ่งรายได้ของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นห่วงโซ่ขั้นต้นของเศรษฐกิจระดับประเทศ จึงได้นำหลักการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพมาดำเนินงานให้ชุมชนท้องถิ่นมีรายได้จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ให้ “การสร้างรายได้เป็นเครื่องมือการอนุรักษ์” ด้วยการดำเนินงานตามหลักการ สพภ. 3 ประการ ได้แก่ การใช้ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพที่มีในชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น การผลิตที่เป็นมิตรกับความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม และการปันรายได้ไปอนุรักษ์ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ
นายสุวีร์ กล่าวต่อว่า การส่งเสริมให้ชุมชนนำทรัพยากรชีวภาพมาผลิตเป็นสินค้าที่มีมูลค่าทางการตลาดอย่างยั่งยืน สนับสนุนให้มีการพัฒนาสินค้าและบริการบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ และ สพภ. มีการให้การรับรองผลิตภัณฑ์และบริการจากความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเดิมเรียก ตรา BioEconomy ตั้งแต่ปี 2556 และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2567 มีการปรับเปลี่ยนสัญลักษณ์จากตรา BioEconomy มาเป็นเครื่องหมาย B MARK เพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือและเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในตัวสินค้าว่าผู้ซื้อได้สนับสนุนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
“การอบรมการเป็นผู้ตรวจประเมินเครื่องหมายรับรอง B MARK สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการจากความหลากหลายทางชีวภาพในครั้งนี้มีเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพผู้ตรวจประเมินให้การรับรองเครื่องหมาย B MARK ผู้เข้าอบรมจะได้รับความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และกระบวนการตรวจประเมินเพื่อให้การรับรองเครื่องหมาย B MARK ทั้งในเรื่องของการตรวจเอกสาร และการตรวจประเมิน ณ สถานประกอบการ ซึ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้นำความรู้หรือประสบการณ์ดีๆ ที่ได้จากการเข้าร่วมอบรม ไปปรับใช้ในการดำเนินงานตรวจประเมินเพื่อให้การรับรองเครื่องหมาย B MARK ต่อไปในอนาคต” รองผู้อำนวยการ BEDO กล่าวย้ำ