หลังมหาอำนาจประกาศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรตามข้อตกลงนิวเคลียร์ อิหร่านตอนนี้กลายเป็นประเทศเนื้อหอมที่หลายชาติรวมถึงไทยหมายตาที่จะเข้าไปมีโอกาสในด้านการค้าและการลงทุน
“มุห์เซน โมฮัมมาดี” (Mr.Mohsen Mohammadi) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทยคนใหม่ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “เดอะพับลิกโพสต์” ถึงทิศทางของอิหร่านหลังผ่านพ้นวันเวลาแห่งความยากลำบาก โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางด้านการค้าการลงทุนระหว่างอิหร่านกับประเทศไทย รวมทั้งมุมมองต่อไอซิส สถานการณ์ในซีเรีย และความขัดแย้งของโลกอิสลามในห้วงเวลานี้
ย้ำนิวเคลียร์อิหร่านเพื่อพลังงานในทางสันติเท่านั้น
“มุห์เซน โมฮัมมาดี” เอกอัครราชทูตอิหร่าน เปิดเผยว่า หลังอิหร่านปฏิวัติอิสลามสำเร็จ กลุ่มชาติตะวันตกรวมทั้งชาติตะวันออกกลางที่เสียผลประโยชน์ในอิหร่าน และกังวลว่าอิหร่านจะเป็นต้นแบบให้กับชาติอื่นๆ ได้สร้างข้ออ้างต่างๆ เพื่อบอยคอตอิหร่านมาโดยตลอด ซึ่งก็ไม่ใช่ประเด็นนิวเคลียร์อย่างเดียว ก่อนหน้านั้นก็มีประเด็นอื่นๆ ที่ทำให้อิหร่านถูกบอยคอต
“สำหรับในประเด็นโครงการนิวเคลียร์นั้น เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ศัตรูของอิหร่านสามารถสร้างความเชื่อให้กับชาวโลกได้ว่า อิหร่านพยายามจะสร้างอาวุธนิวเคลียร์ วงจรนี้ยาวนานถึง 12 ปี”
“แต่หลังจากความพยายามอย่างยาวนาน อิหร่านก็สามารถสร้างความเชื่อถือให้กับชาวโลกได้ว่า นิวเคลียร์ของอิหร่านนั้นมีไว้เพื่อผลิตพลังงานด้านสันติเท่านั้น” โมฮัมมาดี กล่าว
ทูตอิหร่านประจำประเทศไทย อธิบายต่อว่า “ประเทศอิหร่านมีประชากรมากถึง 70 ล้านคน เราต้องการใช้พลังงานสะอาดที่สร้างความสมดุลให้กับโลกนี้ด้วย ซึ่งการใช้น้ำมันและก๊าซนั้นก่อมลภาวะให้โลกอย่างมาก เราต้องการใช้น้ำมันและก้าซสำหรับประโยชน์อย่างอื่น ไม่ใช่เพื่อเอามาเผาผลาญเป็นพลังงาน”
ดังนั้น “การใช้พลังงานนิวเคลียร์ของอิหร่านจึงไม่ใช่เพื่อผลิตอาวุธ แต่เพื่อนำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศเท่านั้น” ทูตอิหร่านระบุ และทั้งย้ำว่าเป็นไปไม่ได้ที่อิหร่านจะผลิตอาวุธนิวเคลียร์ เหตุเพราะผู้นำสูงสุดและผู้นำจิตวิญญาณของอิหร่านนั้นได้ออกคำฟัตวา (คำวินิจฉัยทางศาสนา) แล้วว่า การใช้อาวุธนิวเคลียร์นั้นเป็นเรื่องต้องห้ามในทางศาสนา
“คำสั่งทางศาสนามีความสำคัญสำหรับประชาชนในประเทศอิหร่านมากกว่ากฎหมายในประเทศเสียอีก บรรดามุสลิมคุ้นเคยกับคำว่าฟัตวา ถ้ามัรญิอ์ (ผู้นำศาสนาระดับสูง) ออกคำฟัตวามา มุสลิมจะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ฝ่าฝืนไมได้”
“และอายะตุลเลาะห์ อะลี คอเมนเอี ผู้นำสูงสุดและผู้นำจิตวิญญาณของอิหร่านก็ได้ออกฟัตวามาแล้วว่า การใช้อาวุธนิวเคลียร์ นั้นเป็นสิ่งต้องห้าม” เอกอัครราชทูตอิหร่านกล่าวกับเดอะพับลิกโพสต์
ไม่หอบเงินไปต่างประเทศ เน้นเปิดประเทศดึงนักลงทุน
สำหรับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจอิหร่านหลังพ้นบอยคอตนั้น “มุห์เซน โมฮัมมาดี” ทูตอิหร่าน เปิดเผยว่า ฮาซัน โรฮานี ประธานาธิบดีอิหร่าน เน้นย้ำในเรื่องเศรษฐกิจและการค้าอย่างมาก ซึ่งอิหร่านก็มีพื้นฐานและศักยภาพรองรับนักลงทุน ทำให้ในห้วงเวลาที่ผ่านมานี้มีประเทศต่างๆ เดินทางไปยังอิหร่านเพื่อที่จะเจรจาด้านการค้าการลงทุน
“เราต้องการที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางด้านการค้ากับโลกในมิติใหม่ๆ โดยเราไม่ต้องการให้อิหร่านกลายเป็นแหล่งรองรับสินค้าต่างๆ จากทั่วโลก แต่เราต้องการให้อิหร่านเป็นแหล่งการลงทุนในด้านต่างๆ และเราต้องการให้มีการพัฒนาด้านการค้าให้เพิ่มยิ่งขึ้น”
“อิหร่านต้องการให้ประเทศอื่นๆ มาลงทุนในอิหร่าน มากกว่าที่เราจะออกไปลงทุนในประเทศอื่นๆ” เอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศไทย ระบุ
ชี้ช่องนักลงทุนไทย “การท่องเที่ยว-โรงแรม” และฮับสู่ภูมิภาค
และถึงแม้อิหร่านนั้นมีจุดเด่นเรื่องน้ำมันและปริโตรเคมี ซึ่งอิหร่านก็ต้องการให้มีการพัฒนาและสร้างมูลค่าการค้าในด้านนี้ให้เพิ่มยิ่งขึ้น แต่นอกจากน้ำมันและปิโตรเคมีแล้ว ทูตอิหร่านได้ชี้ช่องการลงทุนว่า อิหร่านยังมีความน่าสนใจและเหมาะในการลงทุนในด้านอื่นๆ อีก ทั้งเรื่องเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ยานยนต์ นาโนเทคโนโลยี รวมทั้งด้านการศึกษา และยาเวชภัณฑ์ และที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนชาวไทยคือด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม
“ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางด้านการท่องเที่ยวอย่างมาก และมากไปกว่านั้นประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการจัดการด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม เราต้องการนักลงทุนไทยที่จะไปลงทุนด้านนี้ในอิหร่าน” ทูตอิหร่านกล่าว
นอกจากนั้นนักการทูตอิหร่านยังบอกด้วยว่า อิหร่านเหมาะสำหรับการเป็นฮับในการกระจายสินค้าไปยังประเทศต่างๆในภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชียกลาง และประเทศโดยรอบอิหร่าน
“หากคำนึงถึงทางภูมิศาสตร์ของอิหร่านก็จะพบว่า อิหร่านสามารถเป็นจุดเชื่อมของไทยในการส่งสินค้าไปยังประเทศยุโรปและเอเชียโดยรอบ ขณะที่ทางประเทศไทยเองมีความสำคัญสำหรับอิหร่านเป็นอย่างมากในแง่ของการเป็นศูนย์กลางของอิหร่านในการกระจายน้ำมันและปิโตรเคมีสู่อาเซียน”
“หนึ่งในประเด็นสำคัญที่เราอยากให้นักลงทุนจากไทยไปลงทุนยังประเทศอิหร่าน คือการลงทุนที่เชื่อมต่อไปยังประเทศที่สามซึ่งอิหร่านสามารถเป็นฮับในเรื่องนี้ได้” เอกอัครราชทูต โมฮัมมาดี กล่าว
ให้ความสำคัญกับมิตรยามลำบากในลำดับต้นๆ ไทยได้รับโอกาสนี้!
ทูตอิหร่านอธิบายสถานการณ์การค้าระหว่างไทย-อิหร่านในห้วงที่ผ่านมาว่า “การค้าระหว่างอิหร่านกับไทยก่อนหน้านี้อยู่ที่ 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท) และเป็นที่น่าเสียดายว่าในไม่กี่ปีที่ผ่านมามูลค่าการค้าระหว่างไทย-อิหร่านลดลงเหลือเพียง 370 ล้านเหรียญ”
“แต่ผมเชื่อมั่นว่าเราสามารถที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางด้านการค้าระหว่างสองชาติไปสู่จุดที่เคยเป็นได้” ทูตอิหร่านกล่าว และคาดการณ์ว่า หลังพ้นจากการคว่ำบาตร อิหร่าน-ไทยจะสามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์ด้านการค้าจนกลับมาเท่ากับหรือมากกว่า 1,200 ล้านเหรียญได้ในปีนี้หรือปีหน้า
“ในทางปฏิบัติผมคิดว่า ไทยสมควรที่จะไปลงทุนที่ประเทศอิหร่าน เพราะหลังจากอิหร่านหลุดพ้นบอยคอตแล้ว เรามีศักยภาพรองรับการลงทุนมากขึ้น และเราเล็งเห็นว่า มีโปรเจคต์ใหญ่ๆ อีกหลายโปรเจกต์ที่ยังค้างคาอยู่ ซึ่งเราต้องการให้นักลงทุนมาลงทุนที่ประเทศของเรามากยิ่งขึ้น” เอกอัครราชทูต โมฮัมมาดี กล่าว
ทูตอิหร่านยังกล่าวด้วยว่า “ระยะหลังมานี้มีหลายประเทศที่พยายามแข่งขันเพื่อจะเปิดตลาดในประเทศอิหร่าน ซึ่งแต่ละประเทศก็ต้องการให้ประเทศของตนประสบความสำเร็จในการเจรจา แต่อิหร่านจะให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ แก่ประเทศที่เป็นเพื่อนอยู่เคียงข้างเรา และให้ความช่วยเหลือเราในยามที่เราลำบากจากการถูกบอยคอต” โดยทูตได้เน้นย้ำว่า “และประเทศไทยมีโอกาสนี้”
ยกเลิกการควบคุมปริมาณการนำเข้า “ข้าว”
ทูตอิหร่านบอกด้วยว่า ก่อนหน้านี้ข้าวเป็นสินค้าควบคุมปริมาณการนำเข้าโดยรัฐบาลอิหร่าน แต่ตอนนี้อิหร่านได้ยกเลิกมาตรการควบคุมดังกล่าว และเปิดเสรีการนำเข้าโดยไม่จำกัดปริมาณหรือผู้นำเข้า แต่ใช้มาตรการด้านภาษีเข้ามาช่วยเพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศอิหร่านแทน
“อิหร่านสามารถผลิตข้าวได้สองในสามของความต้องการของประเทศ ก่อนหน้าจะมีการยกเลิกบอยคอตประเทศอิหร่านควบคุมการนำเข้าข้าว แต่ตอนนี้ได้เปิดเสรี โดยใช้มาตรการด้านภาษีนำเข้าเพื่อช่วยปกป้องดูแลชาวนาในประเทศ” เอกอัครราชทูต โมฮัมมาดี กล่าว
ขอสายการบินไทยเปิดเที่ยวบินสู่อิหร่าน
สำหรับการเยือนประเทศอิหร่านเพื่อเจรจาการค้าของรัฐบาลไทย ซึ่งนำทีมโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งในโอกาสดังกล่าวฝ่ายอิหร่านได้ขอให้การบินไทยเพิ่มเที่ยวบินไปอิหร่านด้วยนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ผู้สื่อข่าวได้ถามเหตุผลดังกล่าว ซึ่งเอกอัครราชทูต โมฮัมมาดี กล่าวว่า “ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับอิหร่านเป็นไปทางเดียว คือ ชาวอิหร่านมาไทยเป็นจำนวนมาก โดยต่อหนึ่งสัปดาห์ เฉพาะสายการบินมาฮานของอิหร่านบินมาไทย 5 ไฟล์ต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นคนอิหร่านมาเที่ยวไทย แต่จะไม่ค่อยเห็นคนไทยไปอิหร่าน”
“การสร้างความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองเศรษฐกิจของสองประเทศ วางอยู่บนพื้นฐานของการที่ประชาชนของสองประเทศมีความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรม มีความรู้จักกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งตอนนี้ชาวอิหร่านรู้จักวัฒนธรรมไทยดียิ่งขึ้นแล้ว เพราะมีชาวอิหร่านเดินทางมาไทยเป็นจำนวนมากในแต่ละปี แต่คนไทยรู้จักเกี่ยวกับประเทศอิหร่านน้อยมากเพราะไม่ค่อยมีคนเดินทางไปอิหร่าน ดังนั้นการที่อิหร่านขอให้ไทยเปิดสายการบินตรงไปยังอิหร่านก็เพื่อให้คนสองชาติได้รู้วัฒนธรรมของสองชาติดีมากยิ่งขึ้น และต้องการให้มีความสัมพันธ์ที่สมดุลมากยิ่งขึ้นระหว่างไทยกับอิหร่าน”
“ในอดีตมีบุคคลธรรมดาๆ เป็นพ่อค้าคนหนึ่ง ที่ไม่ได้มีตำแหน่งใดๆ ในด้านการเมือง คือ “ท่านเฉก อะหมัด” ชาวอิหร่านที่ได้เดินทางมาไทย ซึ่งต่อมาได้สร้างความเปลี่ยนแปลงและความสัมพันธ์ที่ยิ่งใหญ่ระหว่าง 2 ชาติ สิ่งนี้เองที่ผมเชื่อว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติสามารถเริ่มต้นด้วยบุคคลธรรมดา ซึ่งตรงนี้ควรที่จะส่งเสริมให้มากยิ่งขึ้นในระดับประชาชนทั่วไปของ 2 ประเทศ” เอกอัครราชทูตอิหร่าน กล่าว
ส่งนักโทษอิหร่านกลับไปรับโทษที่อิหร่าน
สำหรับกรณีอิหร่านขอให้ไทยแลกเปลี่ยนนักโทษและส่งนักโทษชาวอิหร่านในไทยกลับไปรับโทษต่อที่อิหร่าน ซึ่งบางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่ามีนัยยะอะไรพิเศษหรือไม่นั้น เอกอัครราชทูตอิหร่านเปิดเผยว่า นักท่องเที่ยวอิหร่านที่เดินทางมาไทยประมาณ 1 แสนคนต่อปี และมาในปีหลังๆ ยิ่งเพิ่มมากถึง 1.5 แสนคน
“เป็นธรรมดาที่นักท่องเที่ยวในจำนวนมากนั้น อาจมีส่วนหนึ่งที่ได้ก่อปัญหาขึ้น”
“ครั้งล่าสุดไทยส่งนักโทษให้อิหร่าน 12 คน จากจำนวน 190 คนที่ติดคุกในเมืองไทย และเท่าที่ทราบมีคนไทยติดคุกอยู่ที่อิหร่าน 1 คน”
“พลเมืองอิหร่าน 190 คนที่ติดคุกในประเทศไทย ส่วนหนึ่งไม่ทราบกฎหมายไทย บางส่วนถูกใช้เป็นเครื่องมือขนยาเสพติดโดยเจ้าตัวไม่รู้ และบางส่วนทำผิดกฎหมายร้ายแรงก่อความวุ่นวายในสังคมไทย”
“ซึ่งถ้าคำนวนเทียบกับชาวอิหร่านที่เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยในแต่ละปี จำนวนดังกล่าวถือว่าไม่มาก”
“การแลกเปลี่ยนนักโทษเป็นกฎสากลที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน และนักโทษที่ถูกส่งตัวไปอิหร่านก็จะต้องรับโทษตามจำนวนที่กฎหมายไทยตัดสิน” เอกอัครราชทูต โมฮัมมาดี ระบุ
ต้องก้าวข้ามความขัดเแย้งทางศาสนา
ในส่วนความขัดแย้งทางนิกายของมุสลิมที่ถูกโหมกระพือในตะวันออกกลางและกำลังลามไปทั่วโลกนั้น ทูตอิหร่านกล่าวว่า เราจะต้องก้าวข้ามประเด็นความขัดแย้งและปัญหาศาสนานี้ไปให้ได้
“ในทัศนะของผมต้นไม้แห่งอิสลามมีแค่ต้นเดียว ไม่ได้มีสองต้น แต่ทว่ามีกิ่งก้านที่มากมาย และเราจะต้องไม่นำเอกภาพในอิสลามไปพลีให้กับการเมือง”
“นับตั้งแต่อิหร่านมีชัยชนะในการปฏิวัติอิสลามก็ได้ประกาศสัปดาห์เอกภาพเพื่อที่จะสร้างความสมานฉันท์และสร้างเอกภาพให้กับกลุ่มต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยสืบเนื่องจากที่ระหว่างซุนนีกับชีอะห์มีความเห็นที่แตกต่างเรื่องวันประสูติของท่านศาสดา ซึ่งต่างกัน 7 วัน อีหม่ามโคมัยนีจึงได้ประกาศช่วงวันเวลาดังกล่าวให้เป็นสัปดาห์เอกภาพ เพื่อที่จะสร้างความสมานฉันท์ระหว่างมุสลิมทั่วโลก”
“อิสลามที่แท้จริงเป็นอิสลามที่รักความสันติไม่ว่าจะอยู่ในสำนักคิดใดก็ตาม สิ่งสำคัญคือการมีเอกภาพซึ่งกันและกัน” ทูตโมฮัมมาดี กล่าว
หนุนบาชาร์สู้ไอซิส
ส่วนประเด็นการปราบปรามกลุ่มไอซิส เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านยืนยันว่า อิหร่านจะให้การสนับสนุนประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาดแห่งซีเรียในการต่อสู้กับกลุ่มไอซิสต่อไป
“เรามีความกังวลใจต่อการที่ผู้ก่อการร้ายใช้การก่อการร้ายบังหน้า เพราะเราเชื่อว่าอิสลามรักสันติ รักมนุษยชาติ และยึดมั่นในเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ”
“ในสมัยศาสดาของอิสลาม ชนกลุ่มน้อยได้รับความเท่าเทียมและอิสลามให้ความสำคัญเรื่องสิทธิของพวกเขา อิสลามเชื่อว่าการให้ความยอมรับในความคิด นิกาย สำนักคิด เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีอยู่ในไอซิสเลย”
“สิ่งสำคัญสำหรับอิหร่าน เราไม่ต้องการให้ไอซิสสามารถไปถึงจุดหมายของตนได้ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะไม่เหลือประชาธิปไตยหรือประชนชนอยู่เลย เพราะกลุ่มใดก็สามารถใช้ความรุนแรงไปสู่เป้าหมายของตนได้”
“สำหรับจุดยืนต่อประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอะซัด นั้น ในเมื่อยังไม่มีการเลือกตั้งเราก็ยอมรับผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง ส่วนอนาคตของซีเรีย ด้วยการเลือกตั้งตามครรลองที่ถูกต้อง ประชาชนของซีเรียจะเป็นผู้กำหนดอนาคตของตนเอง” มุห์เซน โมฮัมมาดี เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย กล่าว