แกร็บ ประเทศไทย ประกาศปรับพอร์ตฯ สินเชื่อเงินสดเพื่อพาร์ทเนอร์ร้านค้า นำเสนอ 3 ผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการร้านค้าและร้านอาหารให้ครอบคลุมทุกขนาดธุรกิจ พร้อมขยายวงเงินสินเชื่อสูงสุดถึง 10 ล้านบาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 1% ต่อเดือนสำหรับร้านขนาดใหญ่ หวังช่วยเพิ่มทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่องและให้ผู้ประกอบการสามารถต่อยอดธุรกิจท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ท้าทาย โดยยังชูจุดเด่น ขั้นตอนที่สะดวกไม่ต้องยื่นเอกสาร อนุมัติไวภายใน 1 วัน และผ่อนจ่ายสบายแบบรายวัน
นางสาวจันต์สุดา ธนานิตยะอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพาณิชย์และการตลาด แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า “ด้วยสภาพเศรฐกิจในปัจจุบันที่ชะลอตัว จากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ประกอบกับอัตราหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับที่สูงส่งผลต่อการเบิกใช้สินเชื่อใหม่ อีกทั้งในช่วงไตรมาสที่สองยังคงมีแรงกดดันจากการทยอยชำระคืนสินเชื่อโดยเฉพาะสินเชื่อภาครัฐและภาคธุรกิจ ทำให้ภาพรวมตลาดสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวชะลอลงราว 0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว1 โดยเป็นที่คาดการณ์ว่าตลาดสินเชื่อในปี 2567 จะมีอัตราการเติบโตเพียง 1.5% ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ 3%2 แม้ภาพรวมตลาดสินเชื่อของประเทศจะอยู่ในช่วงชะลอตัว แต่ธุรกิจสินเชื่อของแกร็บยังคงมีผลประกอบการที่ดีและเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการให้สินเชื่อกับกลุ่มพาร์ทเนอร์ร้านค้า ซึ่งในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมามีจำนวนผู้
ได้รับสินเชื่อเงินสดจากแกร็บเพิ่มขึ้นมากกว่า 15% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และมีอัตราหนี้เสีย (NPL) อยู่ที่ 2.35% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอัตราหนี้เสียของประเทศ3 สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของกลุ่มผู้ขอสินเชื่อเงินสดจากแกร็บ”
แกร็บได้นำเทคโนโลยี AI และ Big Data เข้ามาใช้เป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนการประเมินความเสี่ยง โดยพิจารณาจากพฤติกรรมและข้อมูลการทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชันของพาร์ทเนอร์ร้านค้า (Behavioural Scorecard) เพื่อการอนุมัติสินเชื่อและลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ขอสินเชื่อจากแกร็บมีความต้องการสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ เช่น การซื้อวัตถุดิบและบริหารสต็อกสินค้า การบริหารลูกจ้างและพนักงาน การจัดการกระแสเงินสด การปรับปรุงหน้าร้าน รวมไปถึงการอัพเกรดเทคโนโลยีและการขยายธุรกิจ เป็นต้น
“เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและสนับสนุนผู้ประกอบการร้านอาหาร ทั้งรายย่อยและ SME อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด แกร็บได้ปรับพอร์ตฯ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อสำหรับพาร์ทเนอร์ร้านค้าเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายตามขนาดและรูปแบบธุรกิจ พร้อมขยายวงเงินสูงสุดถึง 10 ล้านบาท โดยยังคงจุดเด่นในเรื่องของขั้นตอนการขอรับสินเชื่อที่ไม่ยุ่งยาก (ไม่ต้องยื่นเอกสาร) อนุมัติไวภายใน 1 วัน และสามารถผ่อนชำระคืนแบบรายวัน” นางสาวจันต์สุดา กล่าวเสริม
สำหรับผลิตภัณฑ์สินเชื่อเงินสดเพื่อพาร์ทเนอร์ร้านค้าของแกร็บถูกออกแบบมาเพื่อเป็นตัวช่วยในการประกอบอาชีพและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยมีการกำหนดวงเงินสินเชื่อเพื่อให้สอดคล้องไปกับขนาดและรูปแบบของธุรกิจที่ต่างกันไป ซึ่งประกอบไปด้วย
- สินเชื่อเงินสดทันใจ: เจาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย (ดำเนินธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา) ซึ่งเป็นเจ้าของร้านค้า ร้านอาหารขนาดเล็กหรือสตรีทฟู้ด โดยให้วงเงินสูงสุด 1 แสนบาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 75% ต่อเดือน4 และมีระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 9 เดือน
- สินเชื่อเงินสดทันใจ พลัส: เจาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย (ดำเนินธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา) ซึ่งเป็นเจ้าของร้านค้า ร้านอาหารที่มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือมีหลายสาขา โดยให้วงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 08% ต่อเดือน5 และมีระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 12 เดือน
- สินเชื่อเงินสดทันใจ เอ็กซ์ตร้า: เจาะกลุ่มเจ้าของธุรกิจ SME หรือแฟรนไชส์ ดำเนินธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล โดยให้วงเงินสูงสุด 10 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 1% ต่อเดือน และมีระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 12 เดือน
“นอกจากบริการสินเชื่อแล้ว ล่าสุด แกร็บยังได้ร่วมกับ บริษัท ชับบ์สามัคคีประกันภัย จำกัด (มหาชน) พัฒนาบริการประกันภัยสำหรับพาร์ทเนอร์ร้านค้าแกร็บในชื่อ ‘ประกันค้าขายหายห่วง’ เพื่อให้ความคุ้มครองผู้ประกอบการธุรกิจจากเหตุไม่คาดฝันอย่างอุบัติภัยหรือภัยธรรมชาติ เช่น ไฟไหม้หรือน้ำท่วม ด้วยวงเงินคุ้มครองสูงสุดถึง 5 ล้านบาท โดยมีค่าเบี้ยประกันเริ่มต้นเพียงวันละ 14 บาทเท่านั้น ทั้งนี้ แกร็บจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ สินเชื่อ รวมถึงประกัน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสทางการเงินให้กับทุกคนในอีโคซิสเต็ม ทั้งผู้ใช้บริการ พาร์ทเนอร์ร้านค้าและคนขับ เพื่ออำนวยความสะดวกและเสริมศักยภาพในการสร้างรายได้และเติบโตทางธุรกิจได้อย่างมั่นคง” นางสาวจันต์สุดา กล่าวทิ้งท้าย
1, 3 อ้างอิงข้อมูล ธนาคารแห่งประเทศไทย
2 อ้างอิงบทวิเคราะห์ Econ Digest “แนวโน้มสินเชื่อช่วงที่เหลือปี 2567 เติบโตต่ำ ถูกกดดันตามภาวะเศรษฐกิจ” โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย
4 คำนวณตามอัตราดอกเบี้ย 33% ต่อปี (ลดต้นลดดอก) ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด และมีการหักชำระเป็นรายวัน
5 คำนวณตามอัตราดอกเบี้ย 25% ต่อปี (ลดต้นลดดอก) ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด และมีการหักชำระเป็นรายวัน