“สามารถ มะลูลีม” ประธาน “มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย” ย้ำ พันธกิจเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับคนในชาติ จัดงานยิ่งใหญ่ครบรอบ “60 ปีศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย” 2-4 เมษายนนี้
“นายสามารถ มะลูลีม” ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานคนใหม่ของ “มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย” จากการเลือกตั้งเมื่อเร็วๆ นี้
จากนักการเมืองชื่อดังของพรรคประชาธิปัตย์ บทบาทของเขาในวันนี้คือผู้บริหารของมูลนิธิฯ ที่ใหญ่ที่สุดในระดับต้นๆ ของมุสลิม
“มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย” ตั้งอยู่ ซอยรามคำแหง 2 ย่านคลองตัน มีประวัติศาสตร์ที่อยู่คู่สังคมมุสลิมไทยมานานกว่า 60 ปี โดยปัจจุบันในทุกวันศุกร์จะมีมุสลิมมาร่วมละหมาดหลายพันคน นอกจากนั้นยังเป็นศูนย์รวมการจัดกิจกรรมต่างๆ ของมุสลิมไทย
นายสามารถกล่าวถึงพันธกิจของมูลนิธิฯ ว่า “ศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย เราต้องเป็นกลาง เราจะต้องรวบรวมหัวใจดวงใจของชาวมุสลิมและพี่น้องชาวไทยในชาติให้เป็นหนึ่งเดียว เราจะต้องสมัครสมานสามัคคีกัน ”
“ถึงแม้หลายคนอาจจจะมองว่าผมมาจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่ในการบริหารจัดการศูนย์กลางฯ นั้นผมมองข้ามจุดนี้ ผมได้แต่งตั้งที่ปรึกษาที่มาจากนักการเมืองจากทุกพรรค เพื่อที่ เราจะร่วมมือผสานกันทุกฝ่ายในการทำให้มูลนิธิแห่งนี้เป็นองค์กรที่มุสลิมเชื่อมั่นศรัทธา” นายสามารถ กล่าว
ส่วนกรณีความขัดแย้งในสังคมที่เกิดขึ้น โดยมุสลิมบางฝ่ายพยายามดึงศูนย์กลางอิสลามฯ เข้าไปสู่วังวนความขัดแย้งนั้น โดยเฉพาะความพยายามสร้างความแตกแยกระหว่างสำนักคิด “ซุนนี-ชีอะห์” นั้น ซึ่งเพิ่งเป็นประเด็นเมื่อไม่นานมานี้ นายสามารถ มะลูลีม กล่าวเตือนว่า “ในการทำงาน ของบางฝ่ายซึ่งคงต้องเรียกว่าสุดโต่งก็ได้ ผมอยากบอกว่า เราต้องคิดให้ได้ว่าสังคมของเราในอดีตที่ผ่านมานั้นเป็นอย่างไร แล้วปัจจุบันนี่เป็นอย่างไร”
“ถ้าเรามาคิดถาม เอาเรื่องความเชื่อของแต่ละฝ่าย ไม่ว่าจะเรียกว่าชีอะห์หรือซุนนีก็ตาม ก็ต้องบอกว่าประเทศไทยของเรามีจุฬาราชมนตรีที่เป็นชีอะห์ถึง 13 ท่านนับแต่อดีต จนมาเริ่มจากนายแช่ม พรมยงค์ ถึงท่านอาซิส พิทักษ์คมพล จุฬาราชมนตรีในปัจจุบันที่เป็นซุนนี”
“หรือแม้กระทั่งศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทยแห่งนี้ คนที่เป็นประธานมูลนิธิคนแรกก็นับถือพุทธศาสนาด้วยซ้ำไป คือ ร.อ.ฉัตร ศรียานนท์ ซึ่งเป็นน้องชายของท่านพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์”
“หรือผู้ร่วมก่อตั้ง อย่างอาจารย์ บาระกัต สยามวาลา เขาก็ยืนยันว่าตัวเองเป็นชีอะห์”
“เหล่านี้นี้คือคนก่อตั้งศูนย์กลางในรุ่นแรกๆ” สามารถย้ำและว่า “เพราะฉะนั้นเราต้องคิดในกรอบว่า เราจะทำอย่างไรที่จะสร้างความสัมพันธ์กับคนในชาติ ไม่ใช่ไปตัดสินคนนั้นคนนี้ ผมว่าไม่ได้หรอกครับ เพราะทุกอย่างอยู่ที่อัลเลาะห์ (ซบ.) เป็นผู้ตัดสิน ประชาชนอย่างพวกเราไม่มีสิทธิไปตัดสินเอง”
“ทำความดีไว้ ทำประโยชน์ให้ส่วนรวมไว้ ทำชื่อเสียงให้หมูคณะ อันนี้ผมว่ามันสุดยอดในชีวิตของคนแล้วครับ ไม่ต้องดีเลิศประเสริฐศรี เราทำในสิ่งที่เป็นไปได้ ทำในสิ่งที่เรารู้ในสิ่งที่เราเห็น และเราทำได้” ประธานมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามฯ กล่าว
จัดงานยิ่งใหญ่ใหญ่ “60 ปี ศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย”
นายสามารถ มะลูลีม ประธาน “มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย” เปิดเผยกับเดอะพับลิกโพสต์ด้วยว่า เนื่องในวาระครบรอบ 6 ทศวรรษ ของศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ทางคณะกรรมการมูลนิธิจึงได้จัดงาน “60 ปี ศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย” ขึ้นมา ในช่วงระหว่างวันที่ 2-4 เมษายนนี้ ณ ศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย รามคำแหงซอย 2 คลองตัน ตั้งแต่เวลา 10.00 น. จนถึง 22.30 น.

“ในงานมีการแสดงสินค้า ในรูปแบบ Street Art Market ที่ให้ผู้มาร่วมงานได้ช้อบปิ้ง ชม ชิม จากร้านอาหารชื่อดัง เสื้อผ้า เครื่องประดับ จากทั่วทุกมุมในกรุงเทพฯ นอกจากนั้นยังมีนิทรรศการ เกี่ยวกับมุสลิม และประวัติความเป็นมาของศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ที่คุณไม่เคยรู้ และภาพความประทับใจต่าง ๆ ที่คุณไม่เคยเห็น”
“ตอนนี้ได้ทำหนังสือเชิญ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ซึ่งในอดีต เมื่อปี 2524 ที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ท่านก็ได้ให้งบประมาณกับศูนย์กลางอิสลามฯ 17.9 ล้านบาท”
“เราจะมีหนังสืออนุสรณ์ที่บอกเล่าประวัติต่างๆ เกี่ยวกับการก่อตั้งมุลนิธิฯ เพื่อจะได้ให้อนุชนรุ่นหลังได้รู้ว่าผู้หลักผู้ใหญ่ดำเนินการมาอย่างไรจนมีศูนย์กลางอิสลามฯ ในวันนี้” นายสามารถกล่าว
นายสามารถกล่าวด้วยว่า “ที่สำคัญสำหรับวันที่ 2 เมษายน ซึ่งตรงกับวันครบรอบพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 61 พรรษา เราก็จะรวมใจของคนไทยในชาติ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นมุสลิมเท่านั้น แต่ทั้งพุทธ คริสต์และทุกศาสนิก จัดกิจกรรมเดินเทิดพระเกียรติ เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์”
“ส่วนวันที่ 3 เมษายน นั้นเราก็จะมีกิจกรรม “ปั่นเพื่อศูนย์กลางอิสลามฯ” (Bike for Anniversary โดยจะปั่นจักรยานจากศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทยไปยังศูนย์กีฬาบึงหนองบอน ระยะทางไปกลับ 30 กม. ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ปั่นจักรยานที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ” นายสามารถกล่าว