หลาดชุมทางทุ่งสง เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (29 ก.ย. 67) ณ นอกเหนือจากการเป็นพื้นที่ให้คนทั้งในและนอกในจังหวัดนครศรีธรรมราชและใกล้เคียง รวมถึงนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศ ได้มาเลือกซื้อของกิน ของใช้ เสื้อผ้าและเครื่องประดับต่างๆ เหมือนเช่นทุกอาทิตย์ที่ผ่านมาแล้ว ยังได้มีการจัดงานเฉลิมฉลอง “วิถีหลาดชุมทาง ครั้งที่ 300” เพื่อประกาศความสำเร็จของการสร้างพื้นที่ทางวัฒนธรรม ในรูปแบบตลาดนัด ที่ช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่องกว่า 6 ปี ภายใต้โครงการวิจัยการพัฒนาเมืองแห่งทุนวัฒนธรรมที่ยั่งยืนและเครือข่ายย่านวัฒนธรรมชุมชน ที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยศิลปา โดยการสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ในฐานะประธานเปิดงานระบุว่า หัวใจสำคัญของหลาดชุมทางทุ่งสงคือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ โดยใช้งานวิจัยเข้ามาหนุนเสริมฐานทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่ทุ่งสง ที่มีความแข็งแกร่งอยู่เป็นทุนเดิมให้เกิดการสร้างรายได้และประสบผลสำเร็จ
ด้าน ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวว่า ความสำเร็จของทุ่งสงในวันนี้ เกิดจากการใช้กระบวนการวิจัยเข้ามาสร้างกลไกความร่วมมือแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จนเกิดเป็นธรรมนูญร่วมกัน จากตลาดวัฒนธรรม ก็ขยายเป็นย่านวัฒนธรรม และขยายต่อจนกลายเป็นเมืองวัฒนธรรมทุ่งสง เป็นการขยายแนวกว้าง ซึ่งนอกจากที่ทุ่งสงแล้วกระบวนการเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ที่จะสามารถเป็นต้นแบบให้หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรในพื้นที่ต่างๆ นำไปใช้เพื่อขับเคลื่อนชุมชนของตนเองได้ต่อไป
นายถิรนาถ เอสะนาชาตัง นายอำเภอทุ่งสง ในฐานะตัวแทนของคนทุ่งสง ได้กล่าวว่า หลาดชุมทางทุ่งสงไม่ใช่แค่ตลาดนัดหรือกลไกการสร้างเศรษฐกิจฐานรากเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่แห่งการสร้างความร่วมมือ การนำเรื่องราวของเมือง การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการพัฒนาทุนวัฒนธรรมแล้วยกระดับไปสู่การพัฒนาเมือง โดยมีเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งมาจากความร่วมมือของประชาคมวัฒนธรรมทุ่งสงและภาคส่วนต่างๆ ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับกิจกรรมเปิดพื้นที่วัฒนธรรมทุ่งสงที่จัดมาอย่างต่อเนื่อง จำนวน 300 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน พบว่า เกิดการจ้างงานและสร้างอาชีพตลอดห่วงโซ่ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เกิดรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจสะสมในพื้นที่แล้วกว่า 164 ล้านบาท ผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) เฉลี่ยเท่ากับ 29.26 (ข้อมูล ณ วันที่ 19 กันยายน 2567) การเปิดพื้นที่ศิลปะวัฒนธรรมของชุมชนมีรายได้รวมต่อครั้งกว่า 500,000 บาท และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง