จับตา…โหวตจุฬาราชมนตรีคนใหม่ เดิมพันเกียรติยศมุสลิมไทย ฝากไว้กับต่อม ‘จริยธรรม’ ของกรรมการ 740 เสียง!

การ ถึงแก่อนิจกรรมของ ‘นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์’ จุฬาราชมนตรีคนที่ 17 นำไปสู่การสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง ‘ประมุข’ คนใหม่ของพี่น้องชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม

กระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดวันสรรหาในวันที่ 16 พฤษภาคม 2553 นี้ ภายใต้กระบวนการและขั้นตอนที่แล้วเสร็จภายในหนึ่งวัน จุฬาราชมนตรี ‘คนใหม่’ ก็จะปรากฎโฉมสู่สายตาคนไทยทั้งประเทศโดยทันที

–1–

นิยาม ‘จุฬาราชมนตรี’ ตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 มาตรา 6 วรรค 1 คือ ‘ผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย’

หากแต่เมื่อ ‘มาตรา 8’ ของพรบ.ฉบับนี้ ระบุ ‘อำนาจหน้าที่’ ของจุฬาราชมนตรีอยู่แค่เพียง 4 ข้อ  คือ

1. ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นต่อทางราชการเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลาม
2. แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม
3. ออกประกาศแจ้งผลการดูเดือน เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา
4. ออกประกาศเกี่ยวกับข้อวินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม

ดังนั้น ในทาง ‘กฎหมาย’ ตำแหน่งนี้จึงไม่ได้มี ‘อิทธิฤทธิ์’ หรือ ‘อาญาสิทธิ์’ อะไรมากมาย…
ว่ากันตามจริงแล้ว…แทบจะไร้ความหมายเสียด้วยซ้ำ!!

กระนั้น ด้วยมุสลิมในประเทศไทยให้เกียรติ เทิดทูน ทั้งถือ ‘จุฬาราชมนตรี’ เป็น ‘ประมุขทางศาสนา’ และ ‘ผู้นำจิตวิญญาณ’

ในทางปฏิบัติ ‘จุฬาราชมนตรี’ จึงเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ ทรงเกียรติ และมีอิทธิพลสูงสุดต่อสังคมมุสลิม!!

อีก ทั้งด้วยเกียรติภูมิของจุฬาราชมนตรีคนก่อนๆ ในอดีต ที่มีประวัติยาวนานนับตั้งแต่สมัย ‘กรุงศรีอยุธยา’ โดยเฉพาะ ‘เฉกอะหมัด กุมมี’ ปฐมจุฬาราชมนตรี ที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมสร้างและปกป้องสยามประเทศ กระทั่งได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยเป็น ‘ที่ปรึกษาราชการ’ องค์พระมหากษัตริย์ ทั้งยังดำรงตำแหน่งสำคัญของบ้านเมืองควบคู่ไปอีกด้วย

จึงยิ่งขับให้จุฬาราชมนตรีเป็นตำแหน่งที่มีความ ‘ศักดิ์สิทธิ์’ และมีฐานะภาพ ‘สูงยิ่ง’ ในสังคมไทย…

แม้น ว่า บางยุคบางสมัยตำแหน่งจุฬาราชมนตรีจะตกต่ำอย่างสุดขีด กฎหมายไทยได้ ‘ลดชั้น’ เหลือเพียงแค่เป็นที่ปรึกษา ‘กรมศาสนา’ ก็ตาม แต่ในสายตามุสลิมไทยทั้งประเทศแล้ว บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งนี้ก็ยังคงได้รับเกียรติและการเทิดทูนเรื่อยมา…

–2–

หลัง การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ.2475 ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคย ‘แต่งตั้ง’ โดย ‘พระมหากษัตริย์’ และเป็นคนในสายสกุลเฉกอะหมัด กุมมี ที่นับถือ ‘นิกายชีอะฮ์’ เปลี่ยนมาเป็นการ ‘เลือกตั้ง’ โดยตัวแทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และผู้ได้รับเลือกเป็นผู้นับถือ ‘นิกายซุนนี’ ซึ่งเป็นมุสลิมส่วนใหญ่ในประเทศไทย

หากแต่การ ‘เลือกผู้นำด้วยตนเอง’ ก็เป็นประหนึ่งศาสตราวุธที่กลับมาทิ่มแทงสังคมมุสลิมอย่างรุนแรง เมื่อพบภายหลังว่าการเลือกตั้งประมุขทางศาสนาไม่ได้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม อย่างที่ควรจะเป็น!!

โดยเฉพาะหนหลังสุด เมื่อ 13 ปีที่แล้ว ในการเลือกตั้งจุฬาราชมนตรีเพื่อมาทำหน้าที่แทน ‘นายประเสริฐ  มะหะหมัด’ จุฬาราชมนตรีคนที่ 16 ซึ่งถึงแก่อนิจกรรม ได้ปรากฎชัดแก่สายตาประชาชนว่าการเลือกตั้งไร้ความโปร่งใส และได้ทำลายความ ‘สง่างาม’ ของตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเสียจนหมดสิ้น…

ครั้งนั้นมีบุคคล หลายกลุ่มวิ่งเต้น ล็อบบี้ ใช้อิทธิพล ซื้อเสียง เล่ห์เพทุบายต่างๆ ไปจนหักหลัง และฉีกสัตยาบัน กล่าวได้ว่าทำทุกวิถีทางเพื่อผลักดันให้คนที่ตนเองสนับสนุนได้ขึ้นสู่ ตำแหน่ง อย่างแทบไม่น่าเชื่อว่าเป็นการเลือกตั้ง ‘ประมุขสูงสุดของศาสนาอิสลาม’!!

ผู้อยู่ในเหตุการณ์บางคนซึ่งรับรู้ข้อมูลเชิงลึกของการเลือกตั้งครั้งนั้นถึงกับเอ่ยปากว่า ‘น่าสะอิดสะเอียน’!!

ว่าไปแล้ว แทบไม่แตกต่างไปจากระบบที่เละตุ้มเป๊ะของ ‘การเมืองไทย’…

แม้ เวลาจะล่วงเลยมากว่า 13 ปี แต่ความฉาวโฉ่ และรอยด่างพร้อยในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งจุฬาราชมนตรีครั้งนั้น ได้กลายเป็นตำนานแห่งความอัปยศที่ถูกผู้คนมากมายจดจำ และเล่าประจานมาจนถึงทุกวันนี้!!

–3–

อัน ที่จริง ความเสียหายอย่างใหญ่หลวงที่ส่งผลกระทบต่อ ‘เกียรติยศ-ศักดิ์ศรี’ ของ ‘ผู้นำ’ และ ‘สังคม’ มุสลิมไทยโดยรวม ควรจะถูกจดจารึกไว้เป็นบทเรียนอันล้ำค่า

หากแต่การณ์กลับตาลปัตร…เสมือนว่าต่อมจริยธรรม-คุณธรรมของมุสลิมบางกลุ่มไม่ทำงาน!!

เมื่อ มีนัยหลายประการที่บ่งบอกว่า การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 16 พฤษภาคม 2553 นี้ กงเกวียนแห่งความอัปยศเมื่อ 13 ปีก่อนกำลังจะย้อนกลับมาหลอกหลอนสังคมมุสลิมอีกครั้ง…

และทำท่าว่าจะ ‘หนักหน่วงรุนแรง’ กว่าเดิมหลายเท่านัก!

ล่าสุดรายชื่อแคนดิเดตจุฬาราชมนตรีทั้งตัวจริงตัวหลอกมีมากกว่า 10 คนเข้าไปแล้ว ซึ่งต่างล้วนมีแบ็คอัพหนุนหลังแทบจะทุกคน

อัน ที่จริง เมื่อสแกนไปยังรายชื่อแคนดิเดต แทบจะกล่าวได้ว่าเกือบทุกคนล้วนเป็นคนดี มีความรู้ความสามารถ และสังคมก็ยอมรับกันได้ มีคุณสมบัติเหมาะเป็นจุฬาราชมนตรีด้วยกันทั้งสิ้น

หากแต่ที่น่าจับตา คือ บรรดา ‘คนเบื้องหลัง’ หรือ ‘โปรโมเตอร์’ หลายคนที่มีวาระซ่อนเร้น มากมาย

และที่น่ากังวลไปกว่านั้น ก็ตรงมีบางคนที่ต้องการไปให้ถึง ‘เป้าหมาย’ โดยไม่ได้สนใจ ‘วิธีการ’!!

แล้ว ในปัจจุบันเมื่อ ‘การเมือง’ ได้เข้ามาแทรกและมีอิทธิพลต่อ ‘วงการศาสนา’ จากนักการเมืองมุสลิม 2 ขั้ว ที่แย่งชิงการนำในองค์กรบริหารกิจการอิสลามอย่างไม่ลดละ ทั้งเพื่อประโยชน์ต่อ ‘ตนเอง’ และ ‘ขั้วการเมือง’ ที่ตนสังกัด!!

ยิ่ง การฟาดฟันในทางการเมืองระดับประเทศรุนแรงมากเพียงใด การต่อสู้เพื่อสนับสนุนและผลักดันให้จุฬาราชมนตรีเป็นคนในสายของตนเอง ก็หนักหน่วงเป็นเงาตามตัว

เพราะการศึกในห้วงพลิกคว่ำพลิกหงาย แม้เบี้ยหนึ่งตัวก็มีคุณค่าชี้เป็นชี้ตาย นับประสาอะไรกับตำแหน่งจุฬาราชมนตรีที่ทรงอิทธิพลเหนือมุสลิมกว่า 8 ล้านคน!!

อีกทั้งปฏิเสธไม่ได้ว่า ยุทธวิธีต่างๆ ซึ่งนักการเมืองเคยใช้ในสนามเลือกตั้ง กำลังถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการสรรหาผู้นำศาสนาอิสลามครั้งนี้

โดยเฉพาะการใช้เงิน ‘ฟาดหัว’ ซื้อผู้มีสิทธิออกเสียง ที่ถือเป็นวิธีเบสิกแต่ได้ผลมาทุกยุคทุกสมัย

‘มีเงินใช้ผีโม่แป้งได้’ จึงเป็นภาษิตที่ยังคง ‘อินเทรนด์’…ไม่เว้นแม้แต่การเลือกตั้งผู้นำครั้งนี้!!
ขณะ เดียวกันก็ยังมีบางคนบางกลุ่มที่ไม่ได้มีรายชื่อเป็นแคนดิเดตจุฬาราชมนตรี แต่ต้องการเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลใน ‘สำนักจุฬาราชมนตรี’ ได้เดินสายต่อรอง ‘ตำแหน่ง’ รวมทั้ง ‘กระสุนเงิน’ จากผู้มีรายชื่อเป็นแคนดิเดต เพื่อแลกกับเสียงโหวตสนับสนุน ที่พวกเขาอ้างว่ามีอยู่ในคอนโทรล

เป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่ถูกคาดการณ์ว่าจะมาทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ ‘เละ’ ยิ่งขึ้นไปอีก!!

แต่ ที่แน่ๆ ถึงตอนนี้สปอร์ตไลท์ทุกดวงก็ฉายจับไปยังผู้มีสิทธิออกเสียงสรรหา จุฬาราชมนตรีว่า ยามที่เงินสดเพียงไม่กี่หมื่นถูกนำมากองตรงหน้า ต่อมสำนึกในคุณธรรมจริยธรรม และหลักการศาสนาที่เคยเรียนรู้มาจะยังคงทำงานกันอยู่อีกหรือไม่!!

–4–

ตาม กฎกระทรวง พ.ศ.2542 ที่ออกตามความในพรบ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลามพ.ศ.2540 นั้น ผู้มีสิทธิออกเสียงสรรหาจุฬาราชมนตรี คือ คณะกรรมการอิสลามจาก 38 จังหวัด ทั่วประเทศ

รวมจำนวน 740 คน!!

หลังแคนดิเดต จุฬาราชมนตรีถูกคัดเหลือเพียง 3 คน ในการสรรหาขั้นตอนสุดท้าย 740 คนจะเป็นผู้โหวต เสียงส่วนใหญ่เทไปทางไหน หมายถึงการขึ้นแท่นตำแหน่งจุฬาราชมนตรีคนที่ 18

เป็น ‘ประมุขคนใหม่’ ของมุสลิมไทยโดยทันที

ซึ่ง หากกรรมการผู้มีสิทธิลงคะแนน เข้าใจถึงข้อดีข้อเสียของการได้มาซึ่งผู้นำมุสลิม และรู้ถึงความคาดหวังของสังคมที่มีต่อพวกเขา มุสลิมไทยก็จะได้ผู้นำที่มีความสง่างาม ถูกยอมรับ ควรแก่การเคารพนับถือ

แต่ หากปรากฎภายหลังว่า ได้รับการเลือกตั้งมาเพราะอำนาจเงินหรืออิทธิพล ความสง่างามของจุฬาราชมนตรีคนใหม่ก็จะหมดไป แล้วการยอมรับของสังคมก็จะไม่มี ผลสุดท้ายย่อมส่งผลต่อศักดิ์ศรีและเกียรติยศของมุสลิมไทยทั้งประเทศอย่าง หลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยผู้นำที่มาจากการทุจริตซื้อเสียงนั้นจะถูก นินทา ประนาม มิหนำซ้ำอาจมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นภายหลังที่จะยิ่งทำให้เสื่อมเสียมาถึง ศาสนาอิสลามหนักเข้าไปอีก

ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่หนีไม่พ้น ความรับผิดชอบของผู้ลงคะแนน อนาคตมุสลิมไทยจึงฝากไว้ที่จิตสำนึกและต่อมจริยธรรมของกรรมการทั้ง 740 เสียง

และหากครั้งนี้มุสลิมไทยได้ผู้นำที่ไม่สง่างาม ก็จะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ ‘สังคมมุสลิมอยู่ภายใต้เงามืด’ จนกว่าไม่ใครก็ใครจะตายกันไปข้างหนึ่ง!!

กองบรรณาธิการพับลิกโพสต์ : รายงาน
แหล่งที่มา : นสพ.พับลิกโพสต์ ฉ.28 ประจำเดือนพฤษภาคม 2553