‘ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ’ กับ ‘การทูตรอมฎอน’ เบื้องลึก ‘เลขาฯ อาเซียน’ (แอบ) ช่วยชาติ ยุติ ‘ขัดแย้ง’ ไทย-กัมพูชา!

ก่อนหน้านี้ กรณีข้อพิพาทระหว่าง ‘ไทย-กัมพูชา’ อันเนื่องมาจากปัญหาเขตแดน  ทับซ้อนและปราสาทเขาพระวิหาร อยู่ในภาวะร้อนระอุใกล้องศาเดือดมะรอมมะร่อ สองฝ่ายเสมือนเพียงรอฤกษ์ที่จะเปิดฉากลากอาวุธออกมาถล่มใส่กัน แต่อย่างไม่คาดคิด จู่ๆ หันมาอีกทีสถานการณ์ความตึงเครียดก็ปลาสนาการไปหมดสิ้น!!

เรื่อง จบลงแบบง่ายๆ เมื่อรัฐบาลกัมพูชาออกแถลงการณ์ ระบุว่า ‘พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาเศรษฐกิจ การคลัง และที่ปรึกษาของ ‘สมเด็จ ฮุน เซน’ นายกรัฐมนตรีแห่งกัมพูชา

เป็นการ ลาออกอันส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชาที่อึมครึมกลับมาสู่เวที เจรจาและการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตอีกครั้ง จากที่เคยสะบั้นความสัมพันธ์ด้วยการเรียกทูตกลับประเทศมาเกือบ 1 ปี

หลังทราบข่าวถ้อยแถลงจากกัมพูชาที่ออกมาในวันที่ 23 สิงหาคม 2553 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้สั่งการให้เอกอัครราชทูตไทยเดินทางกลับไปปฏิบัติหน้าที่ที่กัมพูชาในวัน ถัดมาทันที ขณะที่กัมพูชาก็จะส่งเอกอัครราชทูตกลับมาปฏิบัติหน้าที่ในไทยเช่นกัน

สมดุลทางการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีทีท่าว่าจะกลับมาชื่นมื่นอีกครั้ง หากแต่สรรพปัญหาที่คลี่คลาย เบื้องลึกเบื้องหลังคือเรื่องราวประการใด…เป็นคำถามที่หลายฝ่ายพยายาม ไขข้อกระจ่างและคาดเดากันไปต่างๆ นานา ??


ทั้งนี้ หากย้อนกลับไป สถานการณ์ระหว่าง ‘ไทย-กัมพูชา’ อยู่ในภาวะ ‘บาดหมาง’ ครั้งใหญ่ จนมองหน้ากันแทบไม่ติดอันเนื่องจากกรณี ‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ ที่กัมพูชามองว่า ‘พรรคประชาธิปัตย์’ เป็นแนวร่วมสำคัญในการทวงคืนเขาพระวิหาร ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อครั้งเป็นฝ่ายค้าน

อีกทั้งเมื่อขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็ยังคงเล่น ‘เกม’ ทวงคืนเขาพระวิหาร เกาะกระแสพันธมิตรฯ และกลุ่มเสื้อเหลืองมาอย่างต่อเนื่อง

แล้ว ยิ่งนายกษิต ภิรมย์ โจทย์เก่าที่เคยด่า ฮุนเซน ว่าเป็น ‘กุ๊ยและนักเลงข้างถนน’ ได้มานั่งแท่นที่กระทรวงบัวแก้ว แถมยังเดินเกมการทูต ที่สื่อสวดอวยพรและให้ฉายาว่า ‘สไตล์นักเลงโบราณ’

นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายกษิต ภิรมย์ จึงถูก สมเด็จ ฮุน เซน จองกฐิน วันดีคืนดีนึกครึ้มๆ ขึ้นมา ฮุน เซน ก็ด่ากราดนายกรัฐมนตรีของไทยออกอากาศข้ามรั้วประเทศมาอย่างไม่ไว้หน้า…! แถมประกาศยืนเคียงข้าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วยการเอ่ยวลีเด็ดให้ฝ่ายตรงข้ามทักษิณเจ็บปวดกันทั้งบางว่า “พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเพื่อนตลอดกาล”

ใน เดือนพฤศจิกายน 2553 ฮุน เซน ยังตบหน้ารัฐบาลไทยด้วยการเชิญ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาส่วนตัว และทางเศรษฐกิจ การคลังของรัฐบาลกัมพูชา ผลสืบเนื่องจากการแต่งตั้งดังกล่าวส่งให้ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาร้าวลึก ถึงกับประกาศลดความสัมพันธ์ ด้วยการเรียกเอกอัครราชทูตกลับประเทศในทันที ขณะที่กัมพูชาก็ตอบโต้ด้วยการเรียกกลับเช่นกัน

จาก นั้นสถานการณ์ของสองประเทศก็อยู่ในภาวะเลวร้ายลงตามลำดับ ปริ่มๆ จะเปิดฉากทำสงครามอยู่หลายหน โดยไม่มีใครสามารถไกล่เกลี่ยให้สถานการณ์ดีขึ้น แม้บางประเทศในอาเซียนประสงค์เข้ามาเป็นคนกลางแต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจาก ไทย เนื่องด้วยต้องการจำกัดวงการเจรจาให้อยู่ในระดับ ‘ทวิภาคี’ แถมยังหาหนทางไม่พบว่าจะเริ่มต้นเจรจากับ ฮุน เซน อย่างไรที่ไม่ให้ตนเองเสียหน้า

ด้วยความจริงปฏิเสธไม่ได้ว่า ไทยเป็นฝ่ายเริ่มต้นตั้งแง่กับกัมพูชาด้วยกรณีการเมือง ‘ภายใน’ ของไทยเองแท้ๆ!!

เมื่อ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศถูกละเลงด้วยเกมการเมืองที่เตลิดสุดกู่ การจะรื้อฟื้นให้ไทย-กัมพูชาหวนกลับมาดีดังเดิม จึงเป็นเรื่องเกินวิสัยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาวะ นายกรัฐมนตรี และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะทำได้ ด้วยสองคนเป็น ‘โจทย์’ โดยตรงของ สมเด็จ ฮุน เซน ส่งผลให้สถานการณ์อยู่ในภาวะชะงักงัน

เรียกว่า…เดินหน้าต่อไปก็ไม่ไหว ถอยหลังกลับไปก็ไม่ได้!!.


ส่วน อีกฟากหนึ่งก็อึดอัดไม่แพ้กัน สมเด็จ ฮุน เซน ที่มีความเจนจัดในเวทีโลกด้วยประสบการณ์แห่งการเป็นนายกรัฐมนตรีมายาวนาน แม้จะใช้ความเก๋าเกมตีกินไทยไปเรื่อย แต่การมีความบาดหมางกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกันด้วยเหตุแค่เลือก ยืนข้างอดีตนายกฯ ของไทยที่ยังไม่รู้ชะตาว่าอนาคตจะมีโอกาสหวนคืนกลับมามีอำนาจอีกหรือไม่ นานๆ ไปก็เป็นเรื่องสาหัสสกรรจ์สำหรับประเทศเล็กๆ อย่างกัมพูชา ที่ต้องการพัฒนาประเทศเป็นลำดับสำคัญ

ดังนั้น การที่จู่ๆ พ.ต.ท.ทักษิณ ยินยอมลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษากัมพูชาครั้งนี้ จึงเสมือนเป็นการเปิดช่องหายใจให้ทั้ง ฮุน เซน และนายอภิสิทธิ์ อีกการที่กัมพูชายอมลดทิฐิตัวเองลง ทั้งเรื่องปราสาทพระวิหาร หรือ เรื่องยอมปล่อยตัวคนไทย ทำให้มีรูระบายสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

ช่อง ทางในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นอย่างแยบคาย โดยที่ไม่ได้ทำให้ สมเด็จ ฮุน เซน ‘เสียเพื่อน’ และ ‘เสียหน้า’ อีกทั้งไทยก็ไม่ต้อง ‘กลืนน้ำลาย’ ตัวเองจากการมุทะลุเรียกทูตกลับครานั้น เบื้องลึกของเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้มาจากเหตุบังเอิญ ทว่าคำตอบของ ‘ดีล’ อยู่ที่มือการทูต ‘ชั้นเซียน’ ซึ่งแอบบินไปเจรจากับ ฮุน เซน จนยินยอมไต่บันไดลงมา

หากแต่ใครคือ ‘ฮีโร่’ คนนั้นที่สามารถกล่อม สมเด็จ ฮุน เซน เสียอยู่หมัด??

หาก ย้อนไปไล่เลียงเวลาก่อนที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะหวนกลับมาชื่นมื่น เพียงชั่วข้ามคืน คำตอบน่าจะอยู่ที่คณะคนไทยซึ่งเดินทางไปเยือนกัมพูชา ระหว่างวันที่ 16-17 สิงหาคม 2553 เพียงกรณีเดียว!!

เป็นคณะมุสลิม ไทยรวม 30 คน ที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากสำนักจุฬาราชมนตรี นักวิชาการ นักกิจกรรม และสื่อมวลชนมุสลิมจำนวนหนึ่ง ที่เป็นเสมือนทูตสันถวไมตรีเดินทางไปเยี่ยมและร่วมละศีลอดกับมุสลิมกัมพูชา ราว 500 คน ณ กรุงพนมเปญ โดยมีมุฟตีผู้ทรง   คุณวุฒิของกัมพูชา และนายอุสมาน ฮัสซัน ปลัดกระทรวงแรงงานกัมพูชาและที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฮุน เซน คอยต้อนรับ

ทว่าสำคัญสุดของการเดินทางครั้งนี้อยู่ตรงที่มีชื่อ ‘ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ’ เลขาธิการอาเซียน เป็นโต้โผและร่วมคณะไปด้วย!!

แต่ เดิม แพลนการเดินทางนี้ถึงขนาดจะเหมาลำเครื่องบินเข้ากรุงพนมเปญกันเลยทีเดียว โดยเป็นคณะชุดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยผู้ร่วมเดินทางกว่า 140 คน มี ‘นายอาศิส พิทักษ์คุมพล’ จุฬาราชมนตรี ของไทยเป็นผู้นำคณะไปด้วยตนเอง แต่ด้วยจุฬาราชมนตรีป่วยกระทันหัน และต้องอยู่ในระยะพักฟื้นจากการผ่าตัด โครงการดังกล่าวจึงเปลี่ยนมาเป็นคณะเล็กในที่สุด

แม้นตลอด 2 วัน1 คืน ตามโปรแกรมของคณะจะมีแค่เดินทางไปละศีลอดกับเยี่ยมเยียนมัสยิดและชุมชนมุสลิมกัมพูชาที่อยู่ในกรุงพนมเปญ

แต่ ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ซึ่งได้แอบเดินทางไปล่วงหน้า และอาศัยช่วงเวลาระหว่างนั้นเข้าเจรจาพูดคุยกับนายกรัฐมนตรี  ฮุน เซน!! โดยมีภาพข่าวจากทีวีกัมพูชายืนยันในเรื่องนี้

ดังนั้น การเดินทางไปกรุงพนมเปญครั้งนี้ จึงไม่ใช่เพียงไปละศีลอดธรรมดาๆ เท่านั้น หากแต่ที่จริงแล้วเป็น Ramadan Diplomacy หรือ ‘การทูตรอมฎอน’ เพื่อเปิดช่องให้ ‘เลขาธิการอาเซียน’ มีเหตุเข้ากรุงพนมเปญ และได้ใช้ช่วงเวลาดังกล่าวทำหน้าไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา นั่นเอง!!

การทูตทำนองเดียวกันนี้เคยโด่งดังจากกรณีที่ ริชาร์ด นิกสัน ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น ได้ตอบสนองคำเชิญของจีนด้วยการส่งทีมปิงปองเดินทางไปปักกิ่ง อันเป็นการเปิดทางไปสู่การเดินทางเยือนจีนครั้งแรกของผู้นำสหรัฐฯ ในเวลาต่อมา รวมถึงการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตของประเทศทั้งสองในวันที่ 1 มกราคม 2522 ในสมัยของประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์ และ นายกรัฐมนตรี เติ้ง เสี่ยวผิง หลังจากที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมายาวนานนับเป็นเวลาถึง30 ปี

การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตโดยมีกีฬาปิงปองเชื่อมความสัมพันธ์นี้ ถูกรู้จักดีในนาม ‘การทูตปิงปอง’ (Pingpong Diplomacy)

ท่วงทำนอง เดียวกับ ‘การทูตปิงปอง’ ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ‘การทูตรอมฎอน’ อันถูกค้นคิดจากมันสมองอันเฉียบคมของนักการทูตชั้นเซียนอย่าง ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ก็สัมฤทธิผล!!

วันนั้นต่อหน้าผู้มาร่วม ละศีลอด ณ อาคาร MODERN CENTER กลางกรุงพนมเปญ อันประกอบไปด้วยคณะมุสลิมไทย มุสลิมกัมพูชา เจ้าหน้าที่จากสถานทูตไทย และนักการทูตมุสลิมจากหลายประเทศ ร่วม 500 คน ดร.สุรินทร์   พิศสุวรรณ ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ด้วยท่าทียิ้มแย้มแจ่มใส พร้อมบอกว่า เพิ่งไปพบปะกับ สมเด็จ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และมีการพูดคุยกันนานกว่า 2 ชั่วโมง!!

“ผม มีความหวังว่าความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศจะเป็นปกติ คณะทูตสันถวไมตรีในเดือนรอมฎอนทำให้เกิดผลดีต่อ 2 ประเทศ ที่มีมุสลิมเป็นตัวกลางเพื่อผลประโยชน์และความสำเร็จของ 2 ประเทศ” แม้นจะเป็นการพูดตามสไตล์นักการทูต แต่จับน้ำเสียงเลขาธิการอาเซียนแล้วดูมีความมั่นใจว่าความสัมพันธ์ที่ดี ระหว่างสองประเทศจักเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

ตอนหนึ่งของสุนทรพจน์ ดร.สุรินทร์ เลขาธิการอาเซียน ได้กล่าวเสมือนจงใจจะเตือนสติคนสองชาติ เป็นตลกร้ายที่คนฟังต้องสะอึก แต่ก็เรียกเสียงปรบมือได้กึกก้อง ว่า “วันนี้สองราชอาณาจักรซึ่งเป็นเมืองพุทธศาสนา กำลังจะเปิดศึกเพื่อแย่งชิงซากวิหารของฮินดู โดยมีมุสลิมกำลังทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย!!”

แหล่ง ข่าวระดับสูงเปิดเผยว่า ในการพูดคุยระหว่าง เลขาธิการอาเซียน และ สมเด็จ ฮุน เซน ในประเด็นหลักว่าด้วยความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชานั้น ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ได้นำเสนอ 4 ข้อหลักให้แก่นายกรัฐมนตรีกัมพูชาพิจารณา และจะนำผลการพูดคุยมาหารือกับนายกรัฐมนตรีของไทยด้วยเช่นกัน 4 ข้อหลักนั้นได้แก่

1. ขอให้สองประเทศมีการเจรจาระดับทวิภาคีเรื่องปักปันเขตแดน
2.    ให้สองประเทศอดทนอดกลั้น โดยหยุดการเคลื่อนไหวกำลังทหารในบริเวณชายแดน
3.    ให้พิจารณาหาข้อยุติกรณีของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่ฝ่ายหนึ่งถือเป็นนักโทษ แต่อีกฝ่ายถือเป็นที่ปรึกษา
4.    เร่งให้มีการแลกเปลี่ยนทูตกลับไปปฏิบัติหน้าที่ในสองประเทศ

แม้ ตอนนั้นไม่มีใครทราบได้ว่าอนาคตความสัมพันธ์ของสองประเทศเพื่อนบ้านจะเดินไป ในทิศทางใด การทูตรอมฎอนจะประสพความสำเร็จหรือไม่ แต่คล้อยหลัง ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ และคณะเดินทางกลับเมืองไทยเพียงไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ข่าวดีก็บังเกิดขึ้น

‘นายเขียว กันหะริด’ โฆษกรัฐบาลกัมพูชา ออกแถลงการณ์ใน วันที่ 23 สิงหาคม 2553 ระบุว่า ‘พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร’ ได้ขอยุติการปฏิบัติหน้าทีในฐานะที่ปรึกษาส่วนตัว ‘สมเด็จ ฮุน เซน’ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง โดยได้นำกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดมสีหมุนี เพื่อลงพระนามในพระราชกฤษฎีกาให้ ‘พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร’ พ้นจากตำแหน่งแล้ว

อัน นำไปสู่การสั่งการให้เอกอัครราชทูตทั้งสองประเทศได้เดินทางกลับไปปฏิบัติ หน้าที สถานการณ์ที่ตึงเครียดและอึมครึมมานานเกือบปีพลันดีขึ้นทันตาเห็น!!

การ เข้าไปเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 2 ประเทศเป็นการส่วนตัวของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ครั้งนี้  นอกเหนือจากบทบาทและหน้าที่โดยตรงในฐานะ ‘เลขาธิการอาเซียน’ ที่เจ้าตัวได้เปรยกับคนใกล้ชิดว่า  “บทบาทเลขาธิการอาเซียนนั้นกว้างกว่าตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ…กว้าง พอที่จะแก้ไขปัญหาระหว่างสองประเทศนี้ได้”

ประการสำคัญน่าจะเพราะ เลือดความเป็น ‘ไทย’ ที่ ‘เข้มข้น’ อีกทั้งให้เผอิญว่า ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ คือ ‘อดีต’ ผู้หลักผู้ใหญ่คนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์  จึงคงไม่อาจทนเห็นทั้ง ‘ชาติ’ และ ‘พรรค’ เดิมที่ตนเคยสังกัดพังพินาศไปต่อหน้าต่อตา จึงได้เสนอตัวเข้ามารับหน้าเสื่อ

หาก แต่คำถาม ‘สำคัญ’ ที่คนไทยทั้งประเทศใคร่รู้ก็คือ หลังวิกฤติไทย-กัมพูชาคลี่คลายลงไปเพราะมี ‘ผู้ใหญ่’ ยอมเปลืองตัวกระโดดลงมาช่วย จากนี้ต่อไป นายอภิสิทธิ์    เวชชาชีวะ ในฐานะผู้นำรัฐนาวาไทย และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะเดินหน้าต่ออย่างไรกับเกมการเมืองระหว่างประเทศ ที่หลายฝ่ายมองว่าควรเน้นสร้างความสัมพันธ์เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ มากกว่าที่จะมาเผาบ้านเผาสวนและตีรวนเพื่อนบ้านเพียงต้องการไล่ล่า ‘หนู’ ตัวเดียว

ถึงที่ สุด ถ้ายังคงมุทะลุ ห้าวเป้ง และติดสไตล์การทูต ‘นักเลงโบราณ’ ไม่เลิก อีกไม่ช้าก็คงมีปัญหาให้ตามล้างตามเช็ดไม่มีวันจบสิ้น ถึงตอนนั้น ‘ตัวช่วย’ ดีๆ คงไม่ได้มีมาบ่อยนัก!!

ที่มา: พับลิกโพสต์ ฉ.32 กันยายน 2553