สถานการณ์ ความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปะทุรุนแรงขึ้นมาอีกคำรบนับจากปลายปี 53 จนถึงต้นปี 54 ก่อให้เกิดคำถามว่าแนวนโยบายการแก้ไขปัญหา ยุทธศาสตร์ ยุทธการของรัฐมาถูกทางแล้วหรือยัง?
นัยคำถามที่พุ่งตรงไปยังรัฐบาลตลอดจนฝ่ายความมั่นคง แต่ที่หนักหน่วงสุดคงเป็น ‘กองทัพบก’ โดยเฉพาะ ‘บิ๊กเมา-พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์’ นั้นถูกพุ่งเป้าเป็นพิเศษ ในฐานะแม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4
‘พล.ท.อุดมชัย’ นายทหารพื้นเพจาก ‘นครปฐม’ เติบโตมาในภาค 4 ตลอดระยะเวลา 33 ปีเต็ม หลังจากจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเมื่อปี 2520 ก็ได้ลงมาปฏิบัติงานในภาคใต้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้ย้ายไปไหน โตในภาค 4 มาโดยตลอด
เรียกว่ารู้ปัญหาเป็นอย่างดี อีกยังมีความสนิทสนมกับผู้นำในพื้นที่ ทั้งยังจัดเป็นนายทหารสายพิราบที่มุ่งเน้นการพัฒนาเป็นแกนในการแก้ไขปัญหา ไม่ต่างกับแม่ทัพคนก่อน
การ ก้าว สู่ตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ของ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ จึงถูกคาดหวังว่า น่าจะทำให้ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ต้นปี 2547 ทุเลาเบาบางลงได้
3 เดือนแห่งการนั่งในตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ของ ‘พล.ท.อุดมชัย’ ได้ทำให้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ใจชื้นและเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
สถิติการก่อเหตุร้ายก็ลดลงไปเมื่อเทียบกับปีที่ก่อนๆ ก่อประกายให้มีความหวังว่าชายแดนภาคใต้มีโอกาสจะสงบขึ้น
อันเป็นผลจากแนวนโยบายที่ปรากฎออกสู่สาธารณะที่ยึดหลักการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน การสื่อสารระหว่างกันและกัน
แนว นโยบายที่ยอมรับ ‘ความเห็นต่าง’ และ ให้ความสำคัญต่อการสร้าง ‘ความมีส่วนร่วม’ ในทุกภาคส่วน ไม่สร้างเงื่อนไขความขัดแย้งเพิ่ม และใช้เงื่อนไขทางศาสนาและวิถีชีวิตเข้ามาช่วยแก้ปัญหา
โดยเฉพาะ นโยบาย ‘การนำพาคนกลับภูมิลำเนา’ ที่เป็นหัวใจของนโยบายเฉพาะหน้าของแม่ทัพอุดมชัย นั่นคือการเอาคนกลับบ้าน ทั้งพี่น้องไทยพุทธและมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นคนที่อพยพออกนอกพื้นที่จากความหวาดกลัว หวาดระแวง
…ทั้งหมายรวม ‘คนที่ก่อเหตุ’ ด้วย!!
“เรา ต้องเอาคนเหล่านี้กลับบ้าน มาอยู่กับครอบครัว มีความสุขกับครอบครัว โดยเฉพาะคนที่หลบหนีไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแนวทางที่จะนำมาใช้ก็คือเปิดให้คนที่มีความเห็นแตกต่างได้มาร่วมกันแก้ ปัญหา” พล.ท.อุดมชัย กล่าวไว้ชัดเจน
อันที่จริง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นแนวนโยบายที่หลายฝ่ายเรียกร้องมาเนิ่นนาน แต่ก็เป็นฝ่ายรัฐเองที่ไม่ได้ปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
เมื่อ ‘พล.ท.อุดมชัย’ ได้เดินหน้าขับเคลื่อนและพิสูจน์ตัวเองอย่างจริงจัง จึงทำให้ประชาชนเห็นถึงความจริงใจของรัฐในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และลดความหวาดระแวง หันกลับมาให้ความร่วมมือกับรัฐมากขึ้น
แม้ กระทั่งผู้ที่อยู่ในขบวนการเอง หลังจากได้ “พูดคุย รับฟัง” ทั้งในทางเปิดเผยและทางลับ และได้รับการช่วยเหลืออย่างจริงใจ ก็พบว่าสามารถทำให้แนวร่วมจำนวนมากกลับตัวมาให้ความร่วมมือกับรัฐ และมีผู้ถอนตัวออกมาจำนวนหลายร้อยคน!!
หากแต่การนำพากอง ทัพภาค 4 เพื่อสร้าง ‘สันติสุข’ ให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ ‘บิ๊กเมา’ ก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด เพราะเพียงไม่กี่วันก่อนสิ้นปี 2553 และลากยาวต่อเนื่องมาจนถึงกุมภาพันธ์ 2554 การก่อวินาศกรรมที่หาย ไปในช่วงแรกก็หวนกลับมาทวีความรุนแรงอีกคำรบ
ทั้งเข้าถล่มฐานปฏิบัติ การทหาร ทั้งฆ่าไทยพุทธรายวัน และหนักสุดคือคาร์บอมบ์ 3 จุดที่ยะลาและนราธิวาส สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่ามีความต้องการยกระดับความรุนแรงในจังหวัด ชายแดนภาคใต้
ก่อให้เกิดคำถามว่า ทำไมสถานการณ์จึงเปลี่ยนไปเป็นพลิกฝ่ามือ??
กล่าว สำหรับเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นประกอบไปด้วยหลาย ปัจจัย นอกจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มักตกเป็นจำเลยอันดับหนึ่งทุกครั้งแล้ว ยังมีพวกได้ที่ผลประโยชน์จากสถานการณ์ความไม่สงบ คอยผสมโรง หลักๆ คือ ผู้มีอิทธิพล พ่อค้ายาเสพติด นักค้าของเถื่อน หรือแม้กระทั่งนักการเมืองบางกลุ่ม
กระทั่งบางทีเมื่อสูญเสียผลประโย ชน์มากๆ จากการรุกหนักของฝ่ายรัฐ ก็มีการร่วมด้วยช่วยกันระหว่างคนเหล่านี้ เหมือนที่หน่วยงานความมั่นคงบางหน่วยเรียกว่า ‘รวมดาวเฉพาะกิจ’ !!
กระนั้น เหตุรุนแรงล่าสุดที่เกิดขึ้น ทุกสายตาก็ยังโฟกัสไปยัง ‘ขบวนการ’ เป็นลำดับแรก
โดย เหตุผลหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงเป็นอย่างมากว่าน่าจะเป็นสาเหตุให้กลุ่มก่อ ความไม่สงบได้เพิ่มความรุนแรงและความถี่อย่างมากในช่วงนี้ ก็เพราะต้องการให้ที่ประชุมขององค์การการประชุมอิสลาม หรือ ‘โอไอซี’ เห็นถึงความขัดแย้งรุนแรงในจังหวัดชายแดนแดนภาคใต้ จะได้นำปัญหาเข้าสู่วาระการประชุม
หากแต่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายก็ไม่ ได้ให้น้ำหนักประเด็นนี้เท่าใดนัก ทั้งค่อนข้างประเมินตรงกันว่า ความพยายามยกระดับปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการก่อเหตุรุนแรงในรูปแบบ ต่างๆ นั้น ส่งผลไม่มากนักต่อท่าทีของโลกมุสลิมรวมถึงองค์การสหประชาชาติ
เหตุ เพราะการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ส่งผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้อง เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก หลายเหตุการณ์ยังกระทำต่อโรงเรียนและสถานพยาบาลนั้น ขัดแย้งกับจุดยืนของโอไอซีที่ค่อนข้างชัดเจนว่าไม่ (อาจ) สนับสนุนการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ได้
อีกทั้งการประชุมของโอไอซีซึ่งมีกำหนดในเดือนมีนาคมนี้ก็ได้เลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดหลังสถานการณ์ความวุ่นวายในประเทศอียิปต์
แต่ ที่ถูกจับตาและหลายฝ่ายโดยเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ให้น้ำหนักมากเป็น พิเศษคือ มุ่งไปที่ประเด็นปฏิบัติการของขบวนการเพื่อตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐที่ทั้ง จับกุมและวิสามัญฆาตกรรมฝ่ายขบวนการได้จำนวนหนึ่ง
โดยเฉพาะการ ‘รุกทางการเมือง’ ด้วยการใช้มาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เพื่อให้ ‘แนวร่วม’ ที่ต้องการกลับใจเข้ารายงานตัวต่อรัฐ โดยจะไม่เอาผิดดำเนินคดีตามกฎหมายอีกด้วย
น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กลุ่มขบวนการต้องออกมาแสดงศักยภาพอย่างหนักหน่วงในช่วงนี้!!
ซึ่ง นั่นหมายความว่า แนวรบ ‘ทางการเมือง’ ของรัฐกำลังไปถูกทาง ในระดับที่ฝ่ายขบวนการไม่อาจนิ่งเฉยได้ จึงต้องเปิดแนวรบ ‘ทางการทหาร’ ในระดับที่รุนแรงสะเทือนขวัญ อย่างที่กำลังเกิดขึ้น
เหตุผลสำคัญ เพื่อข่มขวัญและปรามไม่ให้มวลชนออกมาร่วมมือกับฝ่ายรัฐ และอีกประการหนึ่งเพื่อโชว์ให้คนในขบวนการเองที่ลังเล และเบื่อหน่ายกับการต่อสู้ที่ต้องหลบๆซ่อนๆ ที่คิดจะออกมามอบตัวตามที่รัฐให้โอกาส
‘พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์’ เองก็ระบุว่า เป็นความพยายามของกลุ่มขบวนการที่ต้องการสร้างความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน เนื่องจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในช่วงที่ผ่านมา สามารถทำให้แนวร่วมจำนวนมากกลับตัวเข้ามาให้ความร่วมมือกับทางการ
“ใน สงครามประชาชน ถ้าใครสูญเสียประชาชน หมายถึงโอกาสแห่งความพ่ายแพ้นั้นมีสูง สิ่งที่ฝ่ายตรงกันข้ามหรือคนที่สู้กับรัฐทำได้ขณะนี้คือสร้างสภาวะที่คุม มวลชนไม่ให้ออกมา และยังคงให้ความร่วมมือกับเขา” (ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทย วันศุกร์ ที่ 25 ก.พ. 2554)
ซึ่งสอดคล้องกับผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DeepSouthWatch) และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่เข้าใจปัญหาชายแดนภาคใต้อย่างลึกซึ้ง กล่าวหลังกรณีคาร์บอบมบ์ว่า
“การ จัดการความรุนแรงของรัฐในช่วงที่ผ่านมาจะเน้นเรื่อง การเมืองนำการทหาร เน้นความพยายามในการแก้ปัญหาในเรื่องของการใช้เรื่องนโยบาย กฎหมายใหม่ๆของ ศอ.บต. รวมถึงความพยายามที่จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน”
“ใน ทางการเมือง…ฝ่ายรัฐจะได้เปรียบมากขึ้น ตรงกันข้ามฝ่ายขบวนการก็พยายามที่จะรุกทางการทหาร เพื่อที่จะเปิดแนวรุกตอบโต้ความสมดุลที่เสียไปในทางการเมือง…ถ้าหากว่า ทางการเมืองตันก็จะใช้แนวทางการทหารเพื่อให้เกิด… สถานการณ์ใหม่” (สกู๊ปไทยรัฐ หน้า 5 ฉบับวันที่ 24 มกราคม 2554)
ทว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วง ในภาวะที่รัฐ ‘ได้เปรียบทางการเมือง แต่ถูกรุกหนักทางการทหาร’ คือ ‘แรงกดดันจากสังคม’ ที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐในสามจังหวัด จนเกิดกระแสชี้นำ อันนำไปสู่การตอบโต้กลับด้วยความรุนแรง ซึ่งจะไปเข้าทางฝ่ายขบวนการในที่สุด
ดังนั้น จุดพลิกคว่ำพลิกหงายของชัยชนะและความพ่ายแพ้ จึงอยู่ที่ความนิ่ง และอดกลั้นของเจ้าหน้าที่รัฐ
โดย เรื่องนี้อาจารย์ศรีสมภพ ย้ำว่า ภาครัฐจะต้องใช้เวลา ฉะนั้นการตอบโต้ฝ่ายรัฐที่ยังต้องเป็นฝ่ายรับ ถ้าตอบโต้แรงก็จะต้องเสียต้นทุนไปอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวัง
“การเมือง นำการทหารยังต้องเป็นแนวนโยบายหลัก ไม่ใช่แก้แค้น…ตอบโต้ ถ้าตอบโต้แรงก็เข้าทางฝ่ายกลุ่มผู้ก่อการที่ต้องการให้เป็นเช่น นั้น…ต้องการให้รัฐหันมาใช้วิธีการทางการทหารอย่างรุนแรง” (สกู๊ปไทยรัฐ หน้า 5 ฉบับวันที่ 24 มกราคม 2554)
สถานการณ์ชายแดนภาคใต้ในอดีต รัฐเคยชนะทางการทหารจึงต้องพ่ายทางการเมืองแบบหมดท่า แต่วันที่แนวนโยบายการเมืองนำการทหารกำลังรุดหน้า ในทางเดียวกัน วันนี้ยิ่งขบวนการชนะทางการทหารมากเพียงใด ก็จะยิ่งพ่ายทางการเมืองมากขึ้น
‘บู๊’ จะพ่าย ‘บุ๋น’ ตลอดไป เป็นคำตอบสุดท้ายของปลายด้ามขวาน ที่ใครต่อใครน่าจะเข้าใจได้เสียที!!