เมื่อวันอาทิตย์ 1 สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา สังคมมุสลิมไทยต้องประสบกับการสูญเสียบุคลากรด้านสื่อสารมวลชนคนสำคัญ เมื่อได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของ ‘นางบีบี โซเรดา ฟินดี้’ เจ้าของและบรรณาธิการบริหารนิตยสาร ‘นิสาวาไรตี้’ ทั้งเป็นอดีต ผู้ร่วมก่อตั้งและบุกเบิก หนังสือพิมพ์ทางนำ นสพ.มุสลิมที่เคยโด่งดังในอดีต
‘บีบี โซไรดา ฟินดี้ (เซลามัน)’ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2500 อายุ 53 ปี เป็นคนจากดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ จบการศึกษาคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่งงานกับ เช็ค ซัยนุลอาบีดีน (ปริญญา) ฟินดี้ นักการศาสนา อุปนายกสมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน และอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร มีบุตร 3 คน เป็นหญิง 1 คน และชาย 2 คน ช่วงหนึ่งได้ติดตามสามีซึ่งไปเรียนต่อ ณ ประเทศอิหร่าน ที่นั่นในช่วงที่ว่างจากภารกิจงานบ้าน และดูแลลูกๆ นางก็ได้ศึกษาด้านศาสนาเพิ่มเติมอีกด้วย
สาเหตุการเสียชีวิตนั้น สามีของนางเล่าว่า คืนวันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม ได้เข้านอนตามปกติ จนกระทั่งเช้าวันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม เมื่อสามีปลุกละหมาดซุบฮิ ปรากฏว่าร่างกายเย็น และไม่มีลมหายใจแล้ว ศพของนางถูกนำไปละหมาดญานาซะห์ ที่มัสยิดสีลม ซ.13 (ตรอกวัยตี) เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 53 เวลา 10.00 น. ก่อนจะไปทำพิธีฝัง ณ สุสานมัสยิดฮารูน บางรัก โดยมีญาติๆ เพื่อนฝูง และพี่ๆ น้องๆ ที่รักเคารพในตัวนางจากหลายวงการต่างพากันมาร่วมพิธีครั้งสุดท้ายเป็นจำนวน มาก
‘ตำนาน’ นักสื่อสารมวลชนมุสลิม
โดย ทั่วไปแล้วเมื่อสังคมมุสลิมคิดถึงนักกิจกรรมสตรี ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านสื่อสารมวลชน ชื่อของ ‘บีบี โซไรดา ฟินดี้’ ย่อมจะถูกนึกถึงเป็นลำดับแรก นับตั้งแต่ ‘บีบี โซไรดา’ จบจากมหาวิทยาลัย ก็เริ่มต้นทำงานในด้านสิ่งพิมพ์มาโดยตลอด ช่วงที่จบใหม่ๆ ได้ไปทำงานที่หนังสือพิม์มาตุภูมิอยู่ระยะหนึ่ง หลังจากนั้นนางและเพื่อนๆ ก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ให้แก่วงการสื่อมวลชนมุสลิมด้วยการรวมกลุ่มผลักดัน หนังสือพิมพ์มุสลิม ฉบับแรกออกสู่สังคม ในชื่อ ‘ประชาชาติมุสลิม’ ขนาดใหญ่เท่าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในปัจจุบัน
แต่เนื่องจากสันติบาลใน ฐานะเจ้า พนักงานการพิมพ์ขณะนั้นไม่อนุญาตให้จดหัวหนังสือพิมพ์ในชื่อดังกล่าว จึงได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ ‘หนังสือพิมพ์ทางนำ’ ขนาดแท็บลอยด์ในเวลาต่อมา
หนังสือพิมพ์ ทางนำนับเป็นตำนานแห่งหนังสือพิมพ์มุสลิมที่ยืนระยะอยู่ 20 กว่าปี โดยมี บีบี โซไรดา นั่งแท่นเป็นหัวเรือหลัก บริหารทั้งงานข่าวและการผลิตทุกขั้นตอน
จวบจนเมื่อถึงวันเวลาที่ ‘หนังสือพิมพ์ทางนำ’ ถึงกาลแห่งอัสดง ด้วยประสบอุปสรรคและปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องเงินทุน และความไม่ลงตัวในการบริหารจัดการระหว่างผู้ร่วมก่อตั้งมาด้วยกัน
บีบี โซไรดา ก็ได้ออกมาสร้างตำนานอีกครั้ง ด้วยการเปิดตัว ‘นิสา วาไรตี้’ นิตยสารสำหรับสตรีมุสลิม ‘เล่มแรก’ ที่วางแผงอย่างเป็นระบบ สร้างความฮือฮาและได้รับเสียงตอบรับจากสังคมอย่างอื้ออึง เป็นนิตยสารสำหรับสตรีมุสลิมที่มีชื่อเสียงมากที่สุด
แม้ว่าตลอดระยะเวลา นั้น โดยภาวการณ์หลายอย่างทำให้ ‘นิสา’ ต้องประสบปัญหาทางการเงินอยู่เนืองๆ โดยมีสาเหตุหลักอันเนื่องจากการทำหนังสือเฉพาะกลุ่มมักไม่ค่อยได้รับการตอบ รับจากเอเยนซี่โฆษณา แต่ด้วยความรัก ในงานสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะความต้องการของนางที่จะให้ ‘นิสา วาไรตี้’ เป็นปากเสียงเฉพาะของสตรีมุสลิมในประเทศไทย บีบี โซไรดา ก็ยังเดินหน้าและทุ่มเทให้กับนิตยสารผู้หญิงเล่มนี้อย่างไม่ย่อท้อ นับเป็นระยะเกือบ 10 ปี ที่ นิสา วาไรตี้ ได้ยืนหยัดรับใช้สังคมมุสลิม จวบจนวันที่นางลาจากโลกนี้ไป
สุวัตน์ จามจุรี เพื่อนสมัยเรียนธรรมศาสตร์และร่วมก่อตั้ง นสพ.ทางนำด้วยกัน ได้เขียนถ่ายทอดคำพูดที่ บีบี โซไรดา ย้ำอยู่เสมอๆ ให้เห็นความสำคัญของสื่อมุสลิมว่า “สังคมไทยจำเป็นต้องมีสื่อของมุสลิมเอง เพราะจะได้ เป็นกระบอกเสียงรับใช้พี่น้องของเรา และ สร้างความเข้าใจกับคนไทยทั่วไปทั้งประเทศ ทั้งจะได้เผยแพร่ศาสนาของเราด้วย” นี่คืออุดมการณ์แห่งการรับใช้สังคมที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจสตรีนักสู้นางนี้
‘ตักศิลา’ แห่งวงการสิ่งพิมพ์
บีบี โซไรดา เป็นนักสื่อสารมวลชนที่มีความรู้ความสามารถรอบด้าน โดยเฉพาะงานด้านสิ่งพิมพ์นั้น กล่าวได้ว่า บีบี โซไรดา นับเป็น ‘คนเดียว’ ของวงการสิ่งพิมพ์มุสลิมในปัจจุบันที่มีความรอบรู้และสามารถทำได้ ทุกอย่างของกระบวนการผลิตสิ่งพิมพ์ทั้ง ระบบ ไม่ว่าจะทำข่าว ถ่ายรูป จัดอาร์ตเวิร์ก ไปจนงานโรงพิมพ์ นับตั้งแต่จบจาก คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กว่า 30 ปี ที่นางได้ทุ่มเทชีวิตให้กับผลิตงานหนังสือ หากย้อนไปดูบนแผงหนังสือมุสลิม นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะพบว่า มีหนังสือจำนวนมากจากหลายๆ สำนักพิมพ์ ไม่ว่า จะเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ค หนังสืออนุสรณ์ หรือหนังสือประเภทต่างๆ ล้วนเป็นผลงานผลิต จากหญิงเหล็กที่ชื่อ บีบี โซไรดา ฟินดี้
ขณะ เดียวกัน ด้วยความที่นางเป็นคน ไม่หวงความรู้ น้องๆ สื่อมวลชนรุ่นใหม่ๆ จึงได้รับความรู้จากที่นางถ่ายทอด หลายคนออกไปเติบโตกับสื่อกระแสหลัก โดยผ่านการปั้นและได้รับพื้นฐานงานสื่อสารมวลชนจาก บีบี โซไรดา
อีก ทั้งเมื่อมีปัญหาใดๆ เกี่ยวกับงานผลิตสิ่งพิมพ์หรืองานข่าว หลายๆ คนมักจะย้อนไปหา บีบี โซไรดา ซึ่งโดยมากมักได้รับการคลี่คลายและคำตอบที่ต้องการจากความรู้ความสามารถของ นางเสมอ
จึงไม่มากเกินไปที่จะกล่าวว่า นางคือ ‘ตักศิลา’ แห่งวงการสิ่งพิมพ์มุสลิมเลยทีเดียว!! การจากไปของ บีบี โซไรดา ฟินดี้ อย่างไม่มีวันกลับ สำหรับวงการสื่อสารมวลชนมุสลิมแล้วถือว่าได้สูญเสียนักสื่อสารมวลชนหญิงมือ หนึ่ง จนแทบจะกล่าวได้ว่า ไม่อาจหาใครมาแทนที่ ‘บีบี โซไรดา’ ได้อีกแล้ว!
ผล งานที่นางฝากไว้ในสังคมมุสลิมนั้นจะเป็นอนุสรณ์ให้ชนรุ่นหลังได้หวนระลึกถึง และจักเป็นตำนานของ ‘หญิงเหล็ก’ แห่งวงการสื่อสารมวลชนมุสลิมที่จะไม่มีวันถูกลบเลือนไปจากความทรงจำ
…ตราบนานเท่านาน!!