มุสลิมสิ้นศรัทธา ธนาคารอิสลามฯ ในเงามืด!!

“ไอแบงก์” หรือ “ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย” เบื้องต้นก่อกำเนิดจากการเป็นวินโดว์ หรือแผนกหนึ่งของธนาคารกรุงไทย จากนั้นภายใต้การผลักดันของหลายฝ่าย ก็สามารถแยกตัวออกมาก่อตั้งเป็นสถาบันการเงินในสังกัดรัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการด้านการเงินตามหลักศาสนาอิสลาม (ชารีอะห์)

พระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 มาตรา 12 ระบุว่า ให้ธนาคารมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจทางการเงินที่ไม่ผูกพันกับ ดอกเบี้ยและประกอบกิจการอื่น และระบุในวรรคท้ายของมาตราดังกล่าวว่า “การดำเนินกิจการของธนาคารตามวรรค หนึ่งจะต้องไม่ขัดกับหลักการของศาสนาอิสลาม”

แต่ตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมา เส้นทางของ “ธนาคารอิสลาม” แห่งนี้ ก็ยังคงล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด โดยเฉพาะตำแหน่ง “ผู้จัดการธนาคาร” ที่กลายเป็นเก้าอี้อาถรรพ์ ผู้บริหารที่เข้ามารับผิดชอบต้องเปลี่ยนหน้าไปคนแล้วคนเล่า
รายล่าสุดก็มาถึงคราวของ “นายธงรบ ด่านอำไพ” รักษาการผู้จัดการธนาคารอิสลามฯ ที่ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งกรรมการและรักษาการผู้จัดการ ไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา

ทั้งที่ “นายธงรบ” เพิ่งเข้ามานั่งทำงานเมื่อมิถุนายน 2556 หรือเพียง 3 เดือนเศษนี้เอง !!

โดยเข้ามาภายหลังจากที่ “ธานินทร์ อังสุวรังษี” ผู้จัดการธนาคารคนก่อน ตัดสินใจยื่นหนังสือลาออก โดยนาย “ธานินทร์” เองก็เพิ่งทำงานได้เพียง 7 เดือนเศษเท่านั้น แต่จำต้องถอนยวงเนื่องจากถูกเคลื่อนไหวกดดันอย่างหนักจากพนักงานไอแบงก์ที่ ถึงขั้นแต่งดำประท้วงหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารอิสลามฯ กันเลยทีเดียว

เบื้องลึกการ “ไขก๊อก” ของนายธงรบ ด่านอำไพ จากทุกตำแหน่งในธนาคารอิสลามฯ เกิดขึ้นพร้อมกับกระแสหนาหูว่า “ถูกการเมืองแทรกแซง” !!

คู่กรณีที่ทำให้นายธงรบ ต้องยอมยกธงขาวลาออก ก็คือ “เสี่ยโต้ง-กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อันเนื่องมาจาก “ความเห็นที่ไม่ตรงกัน” ทั้งๆ “เสี่ยโต้ง” ก็เป็นคนที่ชวน “นาย ธงรบ” ให้เข้ามาช่วยสางปัญหาใน “ธนาคารอิสลาม” แห่งนี้
ในหนังสือลาออกจากกรรมการ และรักษาการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ของ “ธงรบ” ลงวัน 1 ต.ค. 2556 มีเนื้อหาแฉถึงความล้มเหลวการบริหารของธนาคาร อย่างละเอียด

ธงรบระบุว่า ในปลายปี 2555 ธนาคารได้ประสบปัญหาหนี้เน่า 2.4 หมื่นล้านบาท และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี 2556 เดือน ม.ค. – มิ.ย.หนี้เน่าเพิ่มถึง 1.8 หมื่นล้าน ภายในเวลาเพียงแค่ 8 เดือน ยอดหนี้เพิ่มเป็น 42,000 ล้านบาท แต่ธนาคารได้แก้ปัญหาด้วยกาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้มากกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท

แต่ก็ประสบปัญหาประชาชนถอนเงินออกจากธนาคารอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปื 2555 จนถึงจุดต่ำสุดในเดือนมิ.ย. เหลือเงินฝากในธนาคารไม่ถึง 5,000 ล้านบาท มีเงินหมุนเวียนในแต่ละวันไม่ถึง 6,000 ล้านบาท

แต่ในเดือน ก.ค. – ก.ย.2556 ที่ธงรบเข้ามาแก้ไขผลประกอบการกลับฟื้นขึ้นมาทำให้มีเงินสดมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท ถือว่าอยู่ในภาวะที่ดีขึ้น

หนังสือแจ้งการลาออกของ ธงรบ ยังได้แจกแจงถึงสาเหตุที่ทำให้ธนาคารประสบปัญหาว่า สืบเนื่องจากผู้จัดการธนาคารฯ คนเก่า คือ ธานินทร์ อังสุวรังษี คนที่นายกิตติรัตน์ส่งให้เข้ามาเป็นผู้จัดการธนาคารฯ ได้ระงับการปล่อยสินเชื่อ รวมทั้งรวบอำนาจการอนุมัตสินเชื่อ อำนาจการอนุมัติการเบิกง่ายเงิน การจัดซื้อจัดจ้างไว้กับตัวเอง เป็นเหตุให้การทำธุรกรรมขาดสภาพคล่องได้รับความเสียหาย จนทำให้เกิดลูกหนี้ที่มีปัญหาเพิ่มมากขึ้น รวมถึงบริษัทที่ธนาคารดำเนินธุรกรรมด้วยก็ค้างชำระการจ่ายเงินมากกว่า 300 รายการ

ขณะที่ ธานินทร์ ไม่มีคำสั่งหรือลงนามใดๆ ตามอำนาจหน้าที่ของตัวเอง จนมีเอกสารกว่า 900 แฟ้ม กองรวมกันมากถึง 5 ลัง ทำให้กระบวนการบริหารงานหยุดชะงักเกิดทั้งระบบ ความเชื่อถือธนาคารติดลบ จนนำไปสู่ข่าวลือว่าธนาคารกำลังถูกปิดดำเนินการ เพราะไม่มีเงินจ่ายให้คู่ค้าและลูกค้าสินเชื่อ ทำให้เงินฝากไหลออกเกือบ 3 หมื่นล้านบาท

สถานการณ์ของแบงก์ในช่วงเดือน มิ.ย.จึงเป็นจุดต่ำสุด เป็นเหตุให้พนักงานกว่า 1,400 คน เข้าชื่อขับไล่ธานินทร์ ออกจากตำแหน่งผู้จัดการในขณะนั้น

อีกทั้งการกำกับดูแลของกิตติรัตน์ ยังมีทัศนคติที่ผิดพลาด แทรกแซงการดำเนินธุรกรรมโดยไม่ใช้เหตุผลข้อเท็จจริงในการกำกับดูแล อาศัยความเชื่อและคำบอกเล่าในการตัดสินใจ เช่น เชื่อว่าผู้บริหารและพนักงานโกงและแทรกแซงการบริหารจัดการ มีการสั่งการที่ผิดกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามหลักการธุรกิจธนาคารจนเกิดความแตกแยกในธนาคาร ทั้งๆ ที่ผลประกอบการของธนาคารพลิกฟื้นอย่างรวดเร็วภายใน 3 เดือน เพราะความร่วมมือของพนักงานที่มีคุณภาพแต่กลับไม่สนใจ ทำให้ต้องกลับมามีปัญหาเหมือนในอดีตอีกครั้ง

ธงรบยังระบุด้วยว่า ขณะนั้นได้มีการว่าจ้าง บุคคลภายนอกมาเป็น “ที่ปรึกษา” ดูแลด้านการวิเคราะห์และอนุมัติสินเชื่อ และสั่งด้วยวาจามายังธงรบ และกรรมการบริหารธนาคาร โดยกำชับว่าสินเชื่อทุกรายจะต้องผ่านการพิจารณาของที่ปรึกษาคนนี้ ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการอนุมัติ

ส่งผลให้การบริหารไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล พนักงานมีความโปร่งใสของการกำกับดูแลธนาคาร โดยเห็นว่า รมว.คลัง และที่ปรึกษาเข้าครอบงำเพื่อผลประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม

ที่สำคัญ ที่ปรึกษาคนนี้ ได้รับการเพิ่มเงินเดือน “ที่ปรึกษาพิเศษ” เป็นอัตรา 2 แสนบาทจากเดิมที่ได้รับ 8 หมื่นบาท ทั้งๆที่ที่ปรึกษา ในตำแหน่ง “อธิบดี” รับเงินเดือนในอัตราเพียง 6 หมื่นบาทเท่านั้น!!

นอกจากนี้ มีพฤติกรรมผิดปกติมีการว่าจ้างที่ปรึกษาในรูปบริษัท เพื่อทำแผนฟื้นฟูธนาคาร แต่กลับไปทำหน้าที่เจรจาแก้ไขสินเชื่อ โดยให้บริษัทดังกล่าวเจรจากับลูกค้าโดยตรง แถมมีการเรียกรับเงินค่าตอบแทนพิเศษ ทำให้พนักงานทำหนังสือร้องเรียนเพื่อให้มีการสอบสวนธานินทร์ จนนำไปสู่การขับไล่ออกจากตำแหน่ง

แต่กิตติรัตน์รมว.คลังกลับปกป้องโดยสั่งให้ธงรบชะลอการสอบสวนก่อนจะสั่งให้ยุติการสอบสวน

หนังสือของธงรบ ยังระบุปัญหาสำคัญว่า นอกจากนี้ ธนาคารยังไม่ได้ดำเนินการบริหารตามวัตถุประสงค์ของการตั้งธนาคารอิสลาม ที่เน้นร่วมลงทุนและแบ่งกำไรอย่างยุติธรรม แต่กลับดำเนินการในรูปแบบเดียวกับธนาคารพาณิชย์ ทำให้ชาวมุสลิมขาดความเชื่อถือ ส่งผลให้มีการใช้ชาวมุสลิมใช้บริการเพียง 10% ของลูกค้าทั้งหมด ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ขาดทุนจนต้องเพิ่มทุนทุก 3 ปี และ 5 ปี เพราะไม่มีศักยภาพมากพอที่จะไปแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ได้

“ที่สำคัญ รัฐมนตรีกิตติรัตน์ สั่งด้วยวาจากับผมว่า ไม่ต้องทำให้ธนาคารนี้เป็นธนาคารอิสลาม ไม่ต้องปรึกษาที่ปรึกษาด้านศาสนาทุกเรื่องก็ได้ หากปรึกษาแล้วมีปัญหาให้ทำผิดหลักศาสนาได้ เพื่อให้ธนาคารอยู่รอด ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย จึงทำให้เกิดความขัดแย้งจนเป็นที่มาของการบีบให้ผมยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง กรรมการธนาคาร และรักษาการผู้จัดการธนาคาร ในเวลาต่อมา และใส่ร้ายว่า ผมไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้เสียตามแผนฟื้นฟูได้ ทั้งที่เราสามารถแก้หนี้ได้มากกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 6,500 ล้านบาท สิ่งที่เกิดขึ้นยิ่งเป็นการทำลายภาพลักษณ์ขององค์กรมากขึ้น จึงขอให้ออกมาให้ข้อเท็จจริงกับประชาชนเพื่อปกป้องภาพลักษณ์ของธนาคารด้วย” ธงรบ ระบุไว้ในหนังสือลาออก

ที่สุด กรณีนี้จึงกลายเป็นประเด็นร้อนที่ไม่เพียงแต่ทำให้สถานะของรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลังสั่นคลอนเท่านั้น หากแต่ทำให้ธนาคารอิสลามหมดสิ้นความน่าเชื่อถือในสายตาของชาวมุสลิมลงไป ทันที

โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ / เดอะพับลิกโพสต์