อิสราเอลออกคู่มือทหาร เลี่ยงถูกจับคดีอาชญากรรมสงครามในต่างแดน

สำนักข่าว Ynet ของอิสราเอลได้เผยแพร่คู่มือสำหรับทหารเกี่ยวกับวิธีหลีกเลี่ยงการถูกจับกุมขณะเดินทางไปต่างประเทศ ท่ามกลางแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นต่อหลายประเทศในการจับกุมชาวอิสราเอลที่ถูกสงสัยว่าก่ออาชญากรรมสงคราม

คู่มือชื่อ “ควรปฏิบัติอย่างไรหากถูกจับกุมในต่างประเทศ และสิ่งที่ควรตรวจสอบก่อนเดินทาง” มีคำแนะนำจาก นิค คอฟแมน ทนายฝ่ายจำเลยที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในกรุงเฮก

คอฟแมนระบุว่า “ชาวอิสราเอลทุกคนที่ถูกจับกุม ไม่ว่าจะเป็นพลเรือนหรือทหาร มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากสถานกงสุล” และเตือนว่า “ทหารที่โพสต์วิดีโอออนไลน์อาจให้ข้อมูลที่เป็นหลักฐานสนับสนุนข้อสงสัยต่อพวกเขาแก่กลุ่มองค์กรฝ่ายตรงข้าม”

เขาแนะนำให้หลีกเลี่ยงการโพสต์ภาพหรือวิดีโอจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะเนื้อหาที่แสดงให้เห็นอาคารที่ถูกทำลาย แม้จะมีเหตุผลทางการทหารก็ตาม

คู่มือดังกล่าวยังเตือนให้ทหารและเจ้าหน้าที่กองทัพปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญาระหว่างประเทศก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เนื่องจากแม้แต่ประเทศมิตร เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และสเปน ก็อาจดำเนินการจับกุมได้

นอกจากนี้ยังระบุว่าบริษัทประกันภัยไม่ได้ให้ความคุ้มครองกรณีการจับกุมในต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาอาชญากรรม

อิสราเอลเตรียมช่วยเหลือทหารจากข้อกล่าวหาอาชญากรรมสงครามเมื่อเดินทางต่างประเทศ

หน่วยงานความมั่นคงและกระทรวงต่างๆ ของอิสราเอลกำลังเตรียมมาตรการเพื่อช่วยเหลือทหารและทหารสำรองที่อาจเผชิญการจับกุมขณะเดินทางไปต่างประเทศจากข้อกล่าวหาเกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามในฉนวนกาซา

เมื่อเดือนที่แล้ว กองทัพอิสราเอลได้เตือนทหารหลายสิบคนไม่ให้เดินทางต่างประเทศ หลังติดตามคดีร้องเรียนและการดำเนินคดีทางกฎหมายกว่า 30 กรณีที่พุ่งเป้าไปยังบุคลากรของตนในปฏิบัติการในฉนวนกาซา

ปัจจุบันมีการยื่นฟ้องต่อทหารอิสราเอลในประเทศต่างๆ เช่น แอฟริกาใต้ ศรีลังกา เบลเยียม ฝรั่งเศส และบราซิล

เมื่อวันอาทิตย์ (5 ม.ค.) ที่ผ่านมา มีรายงานว่าทหารอิสราเอลรายหนึ่งที่ถูกกล่าวหาในข้อหาอาชญากรรมสงครามได้หลบหนีจากบราซิล หลังถูกสอบสวนเกี่ยวกับบทบาทของเขาในฉนวนกาซา

มูลนิธิฮินด์ ราจาบ (Hind Rajab Foundation – HRF) ซึ่งสนับสนุนสิทธิของชาวปาเลสไตน์ ได้ยื่นฟ้องทหารรายนี้ โดยระบุว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายบ้านเรือนพลเรือนในฉนวนกาซา

เมื่อวันเสาร์ (4 ม.ค.) ศาลบราซิล ได้สั่งการให้ตำรวจสอบสวนข้อกล่าวหานี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศสมาชิกศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ใช้มาตรการบังคับใช้บทบัญญัติของธรรมนูญกรุงโรม โดยไม่พึ่งพาการดำเนินการจากศาลโดยตรง

“นี่คือช่วงเวลาประวัติศาสตร์” ดิยาบ อาบู จาฮจาฮ ประธาน HRF กล่าว “มันเป็นตัวอย่างที่ทรงพลังที่แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญของประเทศต่างๆ ในการดำเนินการเพื่อเอาผิดผู้ก่ออาชญากรรมสงคราม”

ด้านฟรานเชสกา อัลบาเนเซ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยปาเลสไตน์ ชื่นชมการตัดสินใจของศาลบราซิลในการสอบสวนทหารอิสราเอลที่ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมในฉนวนกาซา และกล่าวว่าการตัดสินใจครั้งนี้เป็นก้าวที่จำเป็นอย่างยิ่งในการนำไปสู่ความยุติธรรม

“อิสราเอลในยุคการแบ่งแยกสีผิวจะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องทหารของตน เนื่องจากการตัดสินว่ามีความผิดในคดีอาญาต่อชาวปาเลสไตน์ถือเป็นบรรทัดฐานที่ไม่อาจยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม ความยุติธรรมนั้นไม่อาจหยุดยั้งได้” เธอเขียนบน X

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา มูลนิธิฮินด์ ราจาบ เปิดเผยว่า ลิดอร์ คันดัลเคอร์ (Lidor Kandalker) ทหารอิสราเอลจากหน่วยวิศวกรรมรบ Volcano Company ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการทำลายบ้านเรือนของชาวปาเลสไตน์ระหว่างการโจมตีในฉนวนกาซา กำลังอยู่ในประเทศไทย

มูลนิธิระบุว่า ได้ส่งคำร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) พร้อมทั้งแจ้งเตือนหน่วยงานของไทย อาทิ ตำรวจ กระทรวงยุติธรรม และสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก เพื่อให้ดำเนินการจับกุมคันดัลเคอร์ ป้องกันการหลบหนี และปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศในการดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยในอาชญากรรมสงคราม นอกจากนี้ มูลนิธิยังร่วมมือกับทนายความในประเทศไทย เพื่อสำรวจแนวทางกฎหมายทั้งหมดในการดำเนินคดีต่อคันดัลเคอร์ตามกฎหมายของไทย

อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการตอบสนองหรือดำเนินการใดที่ชัดเจนจากทางการไทยในเรื่องนี้