เมื่อความ ‘เข้าใจ’ คือ ‘หัวใจ’ การแก้ปัญหา ฤานี่ใช่ ‘สานใจสู่สันติ’ ?? สัมภาษณ์พิเศษ : พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์

เมื่อ นโยบายแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ ‘พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์’ แม่ทัพภาคที่ 4   คนใหม่ ได้ปรากฎออกสู่สาธารณะ ดูประหนึ่งว่า ภายใต้การนำของแม่ทัพคนนี้  การเปลี่ยนแปลงแนวทางการแก้ปัญหา ‘ครั้งใหญ่’ กำลังจะเกิดขึ้นที่ชายแดนภาคใต้!!

เฉพาะ อย่างยิ่งกับ ‘แนวนโยบาย  เฉพาะหน้า’ ที่มีอยู่ 6 ข้อนั้น ต่างมีนัยยะอันสำคัญ และจับสัญญาณได้ชัดเจนว่า แนวทาง ‘การเมืองนำการทหาร’ จะเป็นเข็มทิศหลักของ ‘พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์’

แนวนโยบายที่ ยอมรับ ‘ความเห็นต่าง’ และให้ความสำคัญต่อการสร้าง ‘ความมีส่วนร่วม’ ในทุกภาคส่วน ไม่สร้างเงื่อนไขความขัดแย้งเพิ่ม และใช้เงื่อนไขทางศาสนาและวิถีชีวิตเข้ามาช่วยแก้ปัญหา อีกทั้ง ‘การนำพาคนกลับภูมิลำเนา’ ที่หมายถึงประชาชน ‘ทุกหมู่เหล่า’ โดยไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กระทั่งหมายรวมถึงแม้แต่คนที่ติดคุกอยู่ด้วยนั้น…

เหล่านี้ล้วนเป็น ‘สันติวิธีที่จับต้องได้’ อันมีความหมายยิ่งยวดต่อคนในพื้นที่ 3 จังหวัด!!

เหนืออื่นใด คือคำพูดที่กลั่นออกมาเป็นเจตนารมณ์ของแม่ทัพภาคที่ 4 อันแสดงถึงความมุ่งมั่นในการจะนำความสงบให้กลับมาโดยเร็ว

“…ผม รับรู้และสัมผัสได้ถึงความรู้สึกของพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้  ซึ่งผมเคารพและยอมรับในความคิดเห็นของทุกๆ ฝ่าย  กระทั่งผู้ที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน  แต่ผมรับไม่ได้กับการใช้ความรุนแรงกับพี่น้องประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้อง  ซึ่งต้องกลายเป็นเหยื่อของความรุนแรง  ดังนั้น ผมตั้งใจและมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ ที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการที่จะทำให้วิถีชีวิตของพี่ น้องประชาชนมีความปกติสุขให้ได้…”

นอกจากนโยบายและเจตนารมณ์ของ แม่ทัพภาคที่ 4 ที่วันนี้ได้ถูกประกาศใช้เพื่อแก้ปัญหาภาคใต้ไปแล้ว ‘คำต่อคำ’ จาก พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ที่เปิดเผยผ่าน ‘พับลิกโพสต์’ กับคำถามที่ตรงไปตรงมาและเจาะลึกในรายละเอียดที่หลายคนใคร่รู้ ไม่เพียงได้รับคำตอบที่กระจ่างเท่านั้น หากแต่จับความรู้สึกของแม่ทัพอุดมชัย ได้ว่า มุ่งสร้าง ‘ความเข้าใจ’ กันและกัน และมองว่านี่คือ ‘หัวใจ’ ของการแก้ปัญหา ทั้งยังเรียกร้องให้ ‘ร่วมมือ’ กันในทุกภาคส่วน

…ฤา นี่ใช่ ยุทธวิธี ‘สานใจสู่สันติ’ ที่หลายฝ่ายรอคอยมานาน…

พับลิก โพสต์ : วันนี้ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีหลายปัจจัยและ หลายฝ่ายมองว่า ที่รัฐแก้ปัญหาไม่ได้เพราะ ยังคลำหาปัญหาที่แท้จริงไม่เจอ ในมุมมองของท่าน อะไรคือรากเหง้าแห่งปัญหาที่แท้จริง?

ปัญหา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องยอมรับว่า มีปัจจัยหลายเรื่อง ที่เกี่ยวข้องกันอยู่ จึงทำให้สภาพปัญหามีความซับซ้อน เกี่ยวพันในหลายมิติ ซึ่งผมคิดว่าพื้นฐานปัญหาที่สำคัญคือ ความไม่เข้าใจกัน  แต่ในปัจจุบันเราก็เข้าใจมากขึ้นว่าปัญหาที่แท้จริงเกิดจากอะไร แต่ด้วยความซับซ้อน ของปัญหา ทำให้ดูเหมือนว่า เราแก้ปัญหาช้า หรือไม่ถูกทาง เพราะปัญหาในรูปแบบนี้ เราจะต้องใช้ความอดทน อาจจะมองเห็นไม่ชัดเจน

แต่ถ้าพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่า การแก้ปัญหาที่ผ่านมาก็ทำให้ สถานการณ์ขณะนี้ดีขึ้นมาก ทั้งทางด้านสถิติในการก่อเหตุและระดับของความรุนแรง  ตลอดจนถึงทัศนคติของประชาชนก็ดีขึ้น แต่อย่างไรเราก็ต้องอดทน ร่วมมือกันในทุก  ภาคส่วน ผมเชื่อมั่นว่า ทุกอย่างต้องดีขึ้นแน่นอน

พับลิกโพสต์ : ต่อกรณีความไม่สงบ อะไรที่ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ท่านต้องการจะทำหลังจากรับตำแหน่งแม่ทัพ

การ สร้างความเข้าใจ คือ หัวใจของการแก้ไขปัญหา และต้องทำ ก่อนอื่นผมขอเรียนว่า ทั้งนโยบายและสั่งการ ของ ผบ.ทบ. รวมทั้งแนวทางที่ผมได้สั่งการให้หน่วยปฏิบัตินั้นได้น้อมนำยุทธศาสตร์ พระราชทาน ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’ และ ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ มาเป็นหลักพื้นฐานที่ต้องยึดถือ ดังนั้นผมจึงถือว่า การสร้างความเข้าใจต่อทุกหมู่เหล่า ทั้งคนที่คิดเห็นต่างกับรัฐเราก็ต้องรับฟัง พูดคุยด้วย ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ผมว่า ทุกๆ ปัญหาความขัดแย้ง ถ้าเข้าใจกันแล้ว ทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น และแก้ไขปัญหายากๆ ได้

พับลิก โพสต์ : ที่ท่านเคยกล่าวว่าจะยึดแนวทาง ‘การเมืองนำการทหาร’ อย่างเคร่งครัด หมายความว่าอย่างไร แนวทางปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมเป็นเช่นไร และเมื่อเปรียบเทียบกับนโยบาย ๖๖/๒๓ ในอดีต หรือคำสั่งนายกฯ ที่ ๒๐๖/๒๕๔๙ มีความเหมือนความต่าง  ตรงไหนบ้าง

แนวทาง ‘การเมืองนำการทหาร’ ผมคิดว่า เป็นแนวทางที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ จชต. เพราะปัญหาที่มีความขัดแย้งในลักษณะความไม่เข้าใจกัน เกี่ยวพันกับเรื่องความรู้สึก เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนที่ต้องการรักษาอัตลักษณ์ ของตัวเอง ซึ่งต้องการการพูดคุยทำความเข้าใจกันมากกว่าการใช้กำลัง แต่ไม่ใช่ว่าไม่ใช้กำลัง เราจะใช้กำลังเพื่อปฏิบัติทางยุทธการนั้น เมื่อจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ความสำคัญของการเมืองนำการทหารก็คือ การปฏิบัติการใด ที่เมื่อปฏิบัติแล้ว ไม่มีใครต่อต้าน ได้รับการสนับสนุน และร่วมมือ คือ ชนะใจประชาชน นั่นคือหัวใจการเมืองนำการทหาร แนวทางการปฏิบัติสำคัญก็คือ การรับฟังปัญหาและทำความเข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้น ให้ทุกฝ่ายได้มาร่วมคิดร่วมแก้ และให้ทุกฝ่ายมามีส่วนร่วมในการแก้ไข ความขัดแย้งก็ไม่เกิด ที่เป็นอยู่ก็จะค่อยๆ ดีขึ้น และคืนสู่ปกติในที่สุด ในส่วนนโยบาย ๖๖/๒๓ กับคำสั่งนายกฯ ที่ ๒๐๖/๒๕๔๙ เป็นนโยบายที่กำหนดมาจากบริบทของปัญหาที่แตกต่างกัน ๖๖/๒๓ เป็นนโยบายที่นำมาใช้กับผู้ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต้องการให้มีการ เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ในขณะที่ ๒๐๖/๒๕๔๙ เป็นนโยบายที่นำมาใช้กับคนกลุ่มหนึ่งที่มีความ    คิดเห็นต่างและใช้เงื่อนไขที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะ ทางด้านประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์และศาสนามาเป็นเงื่อนไข ดำเนินการอย่างไรก็ตาม ทั้งสองนโยบาย เป็นนโยบายที่สามารถนำมาประยุกต์ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เป็นแนวความคิดต่างๆ มากำหนดแนวทางปฏิบัติได้ และที่เหมือนกันคือ เป็นแนวคิด ที่เปลี่ยนวิธีการต่อสู้จากการใช้ความรุนแรงและใช้อาวุธมาใช้วิธีการทาง สันติในการแก้ปัญหา

พับลิกโพสต์ : มีแนวทางอย่างไรที่จะทำให้เข้าถึงชาวบ้านได้จริงๆ

สิ่ง แรกคือ เจ้าหน้าที่ต้องเข้าใจว่าอะไรคือสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ และต้อง เรียนรู้ เพื่อทำความเข้าใจกับต้นเหตุปัญหา เข้าใจความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ และปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความเข้าใจ จริงใจ จริงจัง ให้ประชาชนได้เห็น และยอมรับในที่สุด การได้รับฟัง ได้พูดคุย เป็นพวกพ้องน้องพี่ จะทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เขาเป็น รู้สิ่งที่เขาต้องการ ทำในสิ่งที่เขาอยากได้ต้องการ ให้เขามามีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็น แล้วร่วมกันคิดหาทางดำเนินการ ผมว่านี้คือจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เมื่อได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้แล้ว ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจก็จะเกิด ความรักผูกพันก็จะทำให้ได้รับการยอมรับในที่สุด แต่ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติด้วยความสม่ำเสมอ ต่อเนื่องและไม่เลือกปฏิบัติ และความเท่าเทียมกัน

พับลิกโพสต์ : ท่านมองว่า กำลังพลทั้งทหารและหน่วยงานรัฐต่างๆ ที่ลงไปในพื้นที่มากเกินไปหรือไม่ อีกทั้งหน่วยงานที่ลงไปทำงานมากมายแต่ไม่มีเอกภาพ จะจัดการปัญหานี้อย่างไร

ปัญหา ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ดังนั้น การจะดูแลให้ทั่วถึงก็ต้องมีกำลังพอสมควร  ถ้าเปรียบเทียบขนาดของพื้นที่กับจำนวนกำลังพลที่ลงมาทำงานแล้ว นับว่าไม่มาก เนื่องจากพื้นที่มีขนาดกว้างใหญ่ แม้เราจะกระจายกำลังเป็นฐานขนาดเล็กแล้วก็ยังไม่สามารถปฏิบัติได้ครอบคลุม ทุกพื้นที่ เราจึงใช้กำลังประชาชนลงมาช่วยดูแลในบางจุดด้วย  ขณะเดียวกันหน่วยก็ต้องพยายามวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อปรับแนวทางการใช้และ วางกำลังให้เหมาะสมตลอดเวลา เพื่อให้ดูแลพี่น้องได้ ในส่วนของเอกภาพในการทำงาน ที่จริงเรามีเอกภาพทั้งในระดับนโยบายและผู้ปฏิบัติในพื้นที่อยู่แล้ว ทั้งในลักษณะการวางกรอบแนวทาง และการวางแผนร่วมกัน แต่การปฏิบัติก็แยกกันตามภารกิจ บทบาทหน้าที่ แต่อย่างไรก็ตามในพื้นที่ ทุกฝ่ายก็ทำงานร่วมกันในทุกๆ เรื่องอยู่แล้ว ทั้งการรักษาความสงบปลอดภัย และการพัฒนา ไม่มีปัญหาครับ

พับลิกโพสต์ : มองอย่างไรต่อการผลัดเปลี่ยนกำลังพลจากกองทัพภาคต่างๆ ลงไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ จชต. การไม่รู้ขนบ ธรรมเนียมประเพณี เป็นอุปสรรคในการสร้างความสัมพันธ์และการสร้างความยอมรับกับชาวบ้านหรือไม่ และหากใช้ทหารจากในกองทัพภาค ๔ จะดีกว่าหรือไม่

กำลัง พลทุก นาย ก่อนที่จะลงมาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ จชต. จะได้รับการอบรมให้ความรู้ในด้านขนบธรรมเนียม ประเพณี ศาสนา วัฒนธรรม และภาษา ตลอดจนการปฏิบัติตน และการปฏิบัติต่อประชาชนก่อนลงมาในพื้นที่พอสมควร ก็มีอุปสรรคบ้างในการประสานงาน แต่เมื่อลงมาแล้ว เราก็จะมีการแนะนำเพิ่มเติม การกวดขันตามสายการบังคับบัญชา และเน้นย้ำเรื่องการปฏิบัติต่างๆ มีการ กำหนดทั้งข้อห้าม ข้อควรปฏิบัติ ต่อการปฏิบัติงานในพื้นที่  ส่วนการผลัดเปลี่ยนกำลัง ก็อาจมีผลบ้างในด้านความต่อเนื่องในการปฏิบัติงานและความคุ้นเคยของประชาชน ในพื้นที่ที่มีต่อเจ้าหน้าที่ แต่เราก็ได้แก้ปัญหาเรื่องนี้ไปแล้ว ก็ไม่น่าเป็นปัญหา ในส่วนที่จะให้หน่วยของ ทภ.๔ รับผิดชอบต่อไปนั้น ผบ.ทบ.ได้สั่งการให้มีการเสริมสร้างกำลังของ หน่วย พล.ร. ๑๕ ที่เป็นหน่วยของ ทภ.๔ เองให้มีความสมบูรณ์เพื่อรับภารกิจต่อไปได้ ซึ่งเราก็กำลังดำเนินการอยู่แล้ว

พับลิกโพสต์ : กล่าวกันว่า ‘ทุกที่ที่มีความรุนแรง มักมีผลประโยชน์มากมายมหาศาล’ สถานการณ์ไฟใต้ก็เช่นกัน มีคนได้รับผลประโยชน์ไล่ตั้งแต่ทหารยันเอ็นจีโอ ที่ผ่านมาคนจึงมองกันว่า มีคนบางกลุ่มไม่ต้องให้ไฟใต้ดับ ท่านมองอย่างไรต่อกรณีนี้ และจะรับมืออย่างไรต่อผู้ที่สูญเสียผลประโยชน์หากภาคใต้มีความสงบ

ต้อง เข้าใจว่า การมาทำงานที่นี่ เป็นเรื่องที่ต้องเอาทั้งชีวิต เลือดเนื้อ เป็นเดิมพัน การที่จะมาหาผลประโยชน์นั้น คงไม่ถูกต้อง และคงไม่มีใครไม่อยากให้เกิดความสงบสุข  ผมเรียนว่าที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของเราสูญเสียกำลังพลไปพอสมควร ทั้งเสียชีวิตและบาดเจ็บ มีครอบครัวที่ได้รับผลกระทบก็พอสมควรแล้ว ดังนั้นการคิดเรื่องผลประโยชน์นั้น ผมว่า คนที่คิดอย่างนั้น ต้องถือว่าใช้ไม่ได้ เพราะเราถือว่า การลงมาปฏิบัติหน้าที่ใน จชต.นั้น เป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ  และต้องทำให้ดีที่สุดเพื่อปกป้องผู้บริสุทธิ์จากการถูกทำร้ายไม่ว่าจะนับถือ ศาสนาใดๆ เราทำเพื่อผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติ เพื่อให้ประชาชนคนในชาติได้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขเหมือนเช่นที่เคยเป็นมา ในอดีต

พับลิกโพสต์ : แนวปฏิบัติอย่างไรต่อทหารนอกแถว โดยเฉพาะการใช้วิธีการที่ไม่ถูกตามกฎหมายมาปฏิบัติกับชาวบ้านหรือผู้ต้อง สงสัย อีกทั้งคดีต่างๆ ที่ชาวบ้านตั้งข้อหากับเจ้าหน้าที่ทหาร ท่านจะมีแนวปฏิบัติเช่นไร ที่จะทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่า เขาได้รับการตัดสินด้วยความยุติธรรม

ผู้ บัญชาการทหารบกได้ สั่งการ และให้เป็นนโยบายที่ชัดเจนว่า การปฏิบัติต่อทหารนอกแถวที่ใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ว่า เมื่อไรก็ตามที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น ให้นำทหารที่เป็นต้นเหตุนั้นออกนอกพื้นที่ทันที ไม่ว่าจะมีหลักฐานหรือไม่ก็ตาม แม้แต่เพียงสงสัยหรือมีผู้กล่าวหา ก็ต้องรีบนำออกไป แล้วดำเนินการสอบสวน ตามกระบวนการยุติธรรม ถ้าพบว่าผิดจริงให้ดำเนินคดีทั้งทางวินัยและทางอาญา แต่ถ้าไม่ผิดก็จะสามารถนำกลับเข้ามาในพื้นที่ได้ และที่สำคัญคือการทำความเข้าใจ ต้องทำการชี้แจงความจริง และเปิดเผยให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทราบข้อเท็จจริงทุกครั้ง เพื่อให้เกิดการยอมรับและให้เห็นว่าทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียม และเป็นธรรม โดยเฉพาะประชาชนที่มีการควบคุมตัวต้องทำความชัดเจนให้ประชาชนเชื่อมั่นและ ยอมรับในทุกเรื่อง ความชัดเจน โปร่งใส ถูกต้อง เป็นธรรม และเท่าเทียม ต้องถือเป็นหลักยึดเสมอ

พับลิกโพสต์ : มุมมองต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.) ในพื้นที่ ๓ จังหวัด ที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้ยกเลิกและมองว่าเป็นเครื่องมือให้ทหารละเมิดสิทธิ เสรีภาพประชาชนในพื้นที่ จะคงไว้เหมือนเดิมหรือมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร

การ มีกฎหมายพิเศษในพื้นที่ ต้องถือว่า เป็นเครื่องมือที่เรานำมาใช้ เพื่อให้สามารถป้องกัน สกัดกั้น และยับยั้ง การก่อเหตุร้าย โดยเฉพาะการที่จะก่อเหตุกับผู้บริสุทธิ์ ผมขอเรียนว่า การมีกฎหมายพิเศษ ก็ไม่ได้หมายความว่า ทหารหรือเจ้าหน้าที่จะทำอะไรก็ได้ ไม่ใช่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ทำผิดก็ต้องถูกลงโทษตามกฎหมายเช่นเดียวกัน ไม่มีสิทธิ์อยู่เหนือกฎหมาย และที่ผ่านมาการใช้กฎหมายพิเศษ ก็มิได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป บางพื้นที่เมื่อใช้แล้ว ประชาชนยังขอให้คงไว้ ด้วยซ้ำเพราะสามารถควบคุม ลูกหลานเด็กวัยรุ่นไม่ให้เกี่ยวข้องกับสิ่งผิดๆ ได้ และผมว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ คือ ผู้ที่มีการกระทำความผิดนั่นเอง

พับลิกโพสต์ : มีแนวทางทำความเข้าใจและเยียวยาความรู้สึกชาวบ้านในพื้นที่อย่างไร ต่อกรณี กรือเซะ ตากใบ ไอร์ปาแย ที่วันนี้ยังเป็นเรื่องค้างคาในใจพวกเขา

กรณี กรือเซะ ตากใบ หรือไอร์ปาแย  เป็นเหตุการณ์ที่ทุกคนไม่อยากให้เกิด และทุกฝ่ายก็เสียใจกับเหตุการณ์เหล่านั้น และต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดขึ้นมาอีก การเข้าไปให้ความช่วยเหลือแก่ญาติ พี่น้องของประชาชนที่ได้รับผลกระทบก็ต้องกระทำ ในทางการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ก็ต้องทำ และชี้แจงให้พี่น้องประชาชนได้ทราบในทุกขั้นตอน และในทุกวิถีทางที่เราจะสามารถกระทำได้ แต่อย่างไร ก็ตาม ผมว่าเราต้องพยายามก้าวข้ามไปข้างหน้าให้ได้ ถ้ามาติดกับดักเรื่องที่ผ่านมา การแก้ปัญหา ในพื้นที่ จชต. ก็เดินได้ช้า มีอุปสรรค แต่มิใช่ไม่ใส่ใจ เพียงแต่ให้กระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่มาจัดการ เพื่อนำพาให้การแก้ปัญหาในอนาคตเดินไปได้ แต่เราก็ต้องมิให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาอีก

พับลิกโพสต์ : เมื่อเกิดเหตุความรุนแรง หน่วยงานความมั่นคงของรัฐ มักออกมาพูดว่า การก่อเหตุแต่ละครั้งของขบวนการมี อเจนด้า ทำไปเพื่อยกระดับสู่ OIC ขณะที่จุดยืนโอไอซีค่อนข้างชัดว่า มองเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของไทย การพูดเช่นนี้เนืองๆ จะกระทบความสัมพันธ์หรือไม่ แล้วทำไมถึงจุดประเด็นเช่นนี้ ทั้งที่รัฐก็ไม่ต้องการให้ต่างชาติเข้ามายุ่งเกี่ยว ต้องการให้เป็นเรื่องภายใน

ต้อง ยอมรับว่า การยกระดับปัญหาให้เป็นปัญหาสากล เพื่อดึงให้องค์กรระดับนานาชาติเข้ามาควบคุม จัดการกับปัญหา เป็นเป้าหมายหลักของผู้ก่อเหตุที่ต้องการให้ไปถึง    ดังนั้น ผู้ก่อเหตุฯ จึงพยายามกระทำในหลายวิธี เพื่อทำให้เห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรุนแรงเกินกว่าจะเป็นแค่เรื่องภายในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ความไม่ยุติธรรม มีการเลือกปฏิบัติ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาเราต้องขอขอบคุณ ประเทศในกลุ่ม OIC โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านเราที่อยู่เคียงข้างเรา รวมทั้งเข้าใจการดำเนินการในการแก้ปัญหาของเรา ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องออกมาพูดย้ำเตือน เพื่อเป็น การป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ให้กระทำการอันจะส่งผลให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง นำมาใช้เป็นเหตุหรือประเด็นเพื่อยกระดับไปสู่สากล และเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วไปให้ได้   รับรู้และเข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ และร่วมมือกันป้องกันไม่ให้เกิดเงื่อนไขต่างๆ เพราะผลกระทบที่ ตามมาอาจจะเกิดผลเสียหายมากกว่าที่เราคิดก็เป็นได้

ที่มา : นสพ.พับลิกโพสต์ ฉบับที่ 34 พ.ย. 53