ใน ระยะหลัง ความสนใจขององค์การการประชุมอิสลามหรือ OIC ที่มีต่อปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สร้างความหวาดระแวงให้แก่ บางหน่วยงานของรัฐอย่างมาก เพราะเกรงว่าจะกระทบถึงอำนาจอธิปไตยและความมั่นคงของชาติ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการตั้งข้อสังเกตและวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่าง ๆ นานา เช่น OIC อาจมีเจตนาให้ “ปัญหาใต้” กลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศ หรืออาจมีส่วนสนับสนุนให้มีการแบ่งแยกดินแดน เป็นต้น
ความ หวาดระแวงดังกล่าวทำให้ผู้เขียนสนใจศึกษาว่า แท้ที่จริงแล้วนโยบายและแนวทางการปฏิบัติของ OIC ที่มีต่อประเด็นชนกลุ่มน้อยมุสลิมในประเทศอื่น ๆ เป็นอย่างไร ผู้เขียนวิธีหาคำตอบผ่านกรณีศึกษาที่เป็นรัฐที่มีปฏิสัมพันธ์กับ OIC ในประเด็นปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิมมาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอเพียงพอสั่งสม กันมาเป็นเวลานานพอควร คือกรณีของฟิลิปปินส์ อินเดีย และบัลแกเรีย (เป็นโครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย: สกว.)
ผลจากการศึกษาบางส่วนพบว่า OIC พยายามที่จะนำเสนอภาพลักษณ์ของตนเองในฐานะที่เป็นองค์กรทางการเมืองมากกว่า ที่จะเป็นองค์กรทางศาสนา แม้กระนั้นก็ตาม OIC ก็มิอาจปฏิเสธหลักการภราดรภาพอิสลามที่ผูกมัดรัฐสมาชิกต่าง ๆ กับประชาคมมุสลิมทั่วโลกเข้าด้วยกันได้ อีกทั้งยังพยายามแสดงให้เห็นว่าการกำหนดนโยบายขององค์การต่อประเด็นปัญหาที่ เกี่ยวข้องกับมุสลิมนั้นเป็นผลมาจากเรื่องการเมืองมากกว่าที่จะเป็นเรื่อง ศาสนา
ในกรณีปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิมนั้น OIC อ้างเหตุผลว่าที่องค์การสนใจประเด็นนี้เป็นเพราะต้องการทำตามแถลงการณ์สากล ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันองค์การก็ต้องคำนึงถึงหลักการทางศาสนาว่าด้วยเรื่องความเท่า เทียมเสมอภาคและความยุติธรรม ด้วยเหตุนี้ แนวทางของ OIC ในการแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิมจึงมุ่งเน้นแนวทางการทูตที่สอดคล้องกับหลัก การศาสนาและหลักสากลมากกว่าที่จะเป็นการข่มขู่ใช้กำลังหรือปลุกปั่นยุยงให้ เกิดความแตกแยก
ประเด็นปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิมนั้น ทำให้ OIC ต้องยืนอยู่ในตำแหน่งที่สุ่มเสี่ยง เพราะในด้านหนึ่ง กรอบแนวคิดเรื่องภราดรภาพอิสลาม ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักการพื้นฐานของกฎบัตรองค์การนั้น ได้หลอมรวมชาวมุสลิมเข้าไว้ด้วยกันทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นหน้าที่ของ OIC ที่จะต้องดูแลเอาใจใส่และสนับสนุนมุสลิมทั่วโลก ไม่ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะอยู่ ณ ที่ใด อันเป็นการปกป้องเกียรติยศศักดิ์ศรีและสิทธิของพวกเขา แต่ในอีกด้านหนึ่ง รูปแบบการช่วยเหลือสนับสนุนใด ๆ ที่ OIC เสนอให้แก่ชนกลุ่มน้อยมุสลิมที่อยู่ในรัฐที่ไม่ใช่มุสลิม (Non Muslim States) ก็อาจเข้าข่ายละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องข้อห้ามของการเข้าไป แทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่น
แม้ว่าประเด็นดังกล่าวจะมีความอ่อนไหว และสุ่มเสี่ยง แต่ OIC ก็แสดงความห่วงกังวลต่อเรื่องสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยมุสลิมเสมอมา ดังจะเห็นได้ว่าประเด็นปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิมมีบรรจุอยู่ในวาระการประชุม ทุกครั้งนับจากเริ่มก่อตั้งองค์กรจนถึงปัจจุบัน จุดยืนของ OIC ต่อปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิมในบางประเทศ (โดยเฉพาะกรณีที่ผู้เขียนได้นำมาศึกษา) มีอยู่ว่า พวกเขาไม่ได้รับการปฏิบัติที่เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม ถูกกีดกันไม่ให้ได้รับสิทธิทางการเมืองและศาสนาที่พวกเขาพึ่งได้รับตามกรอบ กฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ OIC จึงเรียกร้องเสมอมาให้ประเทศเหล่านี้เคารพต่อความเชื่อความศรัทธาและ วัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยมุสลิม พร้อมทั้งรับประกันถึงสิทธิของพวกเขาตามเจตนารมณ์ของกฎบัตรสหประชาชาติและ แถลงการณ์สากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน
จุดยืนดังกล่าวนี้แสดงให้ เห็นอย่างชัดเจนว่า นโยบายของ OIC ต่อประเด็นชนกลุ่มน้อยมุสลิมนั้นตั้งอยู่บนเสาหลักสำคัญ 2 ประการที่ออกแบบมาเพื่อรับมือกับความอ่อนไหวและความสุ่มเสี่ยงของประเด็นดัง กล่าว ประการแรก การกล่าวพาดพิงถึงประเด็นชนกลุ่มน้อยมุสลิมในแถลงการณ์และมติขององค์การเท่า ที่ผ่านมาจะตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า OIC เป็นกังวลต่อประเด็นชนกลุ่มน้อยมุสลิม เพราะเคารพต่อกฎเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศที่ปรากฏอยู่ในกฎบัตร สหประชาชาติและแถลงการณ์สากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ประการที่ 2 มติของ OIC ในประเด็นชนกลุ่มน้อยมุสลิมจะอ้างอิงถึงเสมอในเรื่องการให้ความเคารพต่อ อำนาจอธิปไตยของรัฐชาติ ซึ่งตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า ประเด็นปัญหาชนกลุ่มน้อยเป็นเรื่องภายในของชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความห่วงกังวลของ OIC ต่อปัญหาดังกล่าวนั้นไม่ได้มีเป้าหมายทางการเมือง แต่เกิดจากมิติด้านมนุษยธรรมอันเป็นที่ยอมรับกันอย่างเป็นสากล จุดยืนและนโยบายเรื่องชนกลุ่มน้อยมุสลิมทั้ง 2 ประการที่กล่าวมานั้น ถูกนำไปใช้ในทุก ๆ กรณีที่ OIC เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะในกรณีของฟิลิปปินส์ อินเดีย บัลแกเรีย หรือแม้แต่ในกรณีอื่น ๆ ที่ผู้เขียนไม่ได้นำมาศึกษา
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างกรณีความทุกข์ยากของชนกลุ่มน้อยมุสลิมโมโรในฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ OIC ให้ความสนใจมาตั้งแต่การประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 3 เมื่อปี ค.ศ. 1972 และมีการกล่าวถึงในทุก ๆ การประชุมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่ามติทั้งหมดเกี่ยวกับประเด็นโมโรมุสลิมของ OIC จะอ้างถึงอารัมภบทในกฎบัตรขององค์การว่าด้วยเรื่องแนวคิดแห่งภราดรภาพอิสลาม และความเป็น ”ประชาชาติอิสลาม” (Islamic Ummah) แต่การประณามการกระทำของรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่มีต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมก็ตั้ง อยู่บนฐานที่รัฐบาลฟิลิปปินส์กระทำการอันขัดกับแถลงการณ์สากลว่าด้วยเรื่อง สิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องของ OIC ที่ยื่นให้แก่รัฐบาลฟิลิปปินส์ ซึ่งแสดงความเคารพต่ออำนาจอธิปไตยของประเทศและเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาความ ทุกข์ยากของมุสลิมด้วยสันติวิธี เป็นเครื่องหมายที่ชี้ให้เห็นว่า OIC มิได้ต้องการก้าวล่วงกิจการภายในของประเทศ และการแก้ไขปัญหาใด ๆ จะต้องไม่เกินเลยไปจากบริบทของกฎหมายรัฐธรรมนูญฟิลิปปินส์ ดังจะเห็นได้ว่า ในการประชุมระดับรัฐมนตรีเมื่อปี ค.ศ. 1973 OIC ได้ส่งคณะกรรมการอันประกอบด้วยสมาชิก 4 ชาติไปมะนิลาเพื่อเจรจาพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว OIC ได้เสนอให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ใช้การเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีกับ บรรดาผู้นำของชุมชนมุสลิม และเมื่อคณะกรรม ฯ ของ OIC ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้ทั้ง 2 ฝ่ายลงนามในข้อตกลงทริโปลีปี ค.ศ. 1976 ซึ่งระบุให้มีการจัดตั้งเขตปกครองตนเองในภาคใต้ของประเทศ ข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งมีตัวแทนของ OIC (ลิเบีย) อยู่ร่วมเป็นพยาน ได้เขียนเอาไว้ว่า การปกครองตนเองของชาวมุสลิมที่นั่นจะต้องอยู่ภายในขอบเขตของการเป็นรัฐเดียว ที่แบ่งแยกมิได้ของฟิลิปปินส์
อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลฟิลิปปินส์ปฏิเสธที่จะนำข้อตกลงมาปฏิบัติใช้ทั้งหมด OIC จึงตัดสินใจใช้การดำเนินการที่เป็นนโยบายเชิงบวกต่อกลุ่มมุสลิมมากขึ้นในการ ให้การสนับสนุนพวกเขา ดังจะเห็นได้ว่า OIC ให้การยอมรับกลุ่ม “แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร” (MNLF) ในฐานะที่เป็นตัวแทนอย่างถูกกฎหมายของชาวมุสลิมในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ พร้อมทั้งมอบสถานะผู้สังเกตการณ์ของ OIC ให้ด้วย นอกจากนั้น OIC ยังให้สิทธิแก่พวกเขาในการนำเสนอกรณีปัญหามุสลิมฟิลิปปินส์ในเวทีระหว่าง ประเทศต่าง ๆ โดยให้คำมั่นที่จะให้การสนับสนุนทางการเมืองแก่พวกเขาอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังเรียกร้องให้รัฐมุสลิมทั้งหมดใช้การดำเนินการทุกวิถีทางที่จะบีบ ให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ต้องทำตามข้อตกลงทริโปลี รวมทั้งเรียกร้องให้ชาติมุสลิมทั้งหมดยื่นมือให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม วัตถุปัจจัย และการเงิน แก่กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโรด้วย
แม้ว่า มาตรการของ OIC จะเข็มข้นขึ้นจนเป็นที่หนักใจของรัฐบาลฟิลิปปินส์ แต่ก็ไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่จะบ่งชี้ว่า OIC จะเปลี่ยนจุดยืนหรือนโยบายเดิมที่มีต่อกรณีปัญหานี้ กล่าวคือ แม้ว่าหลังมีการทำข้อตกลงทริโปลีกัน OIC จะหันไปสนับสนุนแนวทางการจัดตั้งเขตปกครองตนเอง แต่จุดยืนของ OIC ก็คือการเป็นเขตปกครองตนเองที่อยู่ภายใต้รัฐอธิปไตยหนึ่งเดียวของฟิลิปปินส์ กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ OIC ไม่เคยสนับสนุนส่งเสริมการเรียกร้องจัดตั้งรัฐเอกราชของกลุ่มแนวร่วมปลด ปล่อยแห่งชาติโมโรเลย ด้วยเหตุนี้ เราจะเห็นได้ว่า OIC ปฏิเสธคำเรียกร้องของกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโรมาตลอดที่ต้องการจะ เป็นสมาชิกถาวรขององค์การ แม้ว่ารัฐบาลชุดต่อ ๆ มาของฟิลิปปินส์จะแสดงท่าทีแข็งกร้าว (หรือท่าทีนิ่มนวล) ต่อประเด็นปัญหามุสลิมในภาคใต้ก็ตาม
ฉะนั้น จากข้อค้นพบส่วนหนึ่งของงานศึกษาวิจัย หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ควรปรับทัศนะคติและพยามยามทำความเข้าใจในบทบาทของ OIC ว่าเป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศมุสลิมที่มีหน้าที่ทางศาสนาในการดูแลปกป้อง ประชาคมมุสลิมด้วยกัน โดยเฉพาะประชากรมุสลิมชนกลุ่มน้อยตามประเทศต่าง ๆ ภายใต้กรอบแนวคิดเรื่องประชาชาติอิสลาม (Islamic Ummah) รัฐต้องมีความไว้วางใจในเบื้องต้นว่าความพยายามของ OIC ในการที่จะเข้ามามีบทบาทในปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้มี เจตนาที่จะก้าวล่วงอธิปไตยของไทยและมิได้มีเจตนาปลุกปั่นยุยงให้เกิดความ แตกแยก
แต่การเข้ามาของ OIC ก็เนื่องจากองค์การคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนตามหลักสากลและความเท่าเทียมเสมอภาคตามหลักการศาสนาเป็นสำคัญ

ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย