ปัญหาชนกลุ่มน้อยถือเป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญของสังคมโลกมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยเฉพาะในปัจจุบันซึ่งมีกระแสการเรียกร้องปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อยมาก ขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะชนกลุ่มน้อยมีความเป็นชาติพันธุ์ เชื้อชาติ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ทัศนคติ ความเชื่อ ศาสนา ประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และค่านิยมของตน แต่ต้องอยู่ร่วมกับชนกลุ่มใหญ่หรือกับชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์อื่น จึงมักเกิดปัญหาความขัดแย้งในการอยู่ร่วมกันและนำมาซึ่งปัญหาต่าง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ปัญหาชนกลุ่มน้อยมักเป็นปัญหาที่สะสมมาเป็นระยะเวลายาวนาน สาเหตุประการหนึ่ง อาจเป็นผลมาจากการกระทำของชนกลุ่มใหญ่ โดยเฉพาะการเลือกปฏิบัติและการกีดกัน (Prejudice and discrimination) ตลอดจนความไม่สมดุลทางการเมือง เศรษฐกิจ-สังคม และขาดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
โดย ทั่วไปวิกฤตความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อยถือเป็นปัญหาความ มั่นคงภายในของแต่ละประเทศที่ประชาคมโลกไม่สมควรที่จะเข้ามาก้าวก่าย แต่ในความเป็นจริงจะเห็นได้ว่า เมื่อใดก็ตามที่ความขัดแย้งเกิดขึ้น ผลกระทบจากความขัดแย้งนั้นก็จะแพร่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง จนบางครั้งองค์การระหว่างประเทศก็จำต้องเข้าไปเกี่ยวข้องเพื่อช่วยหาวิธี คลี่คลายปัญหา ดังจะเห็นได้จากปัญหาความขัดแย้งอันสืบเนื่องมาจากเรื่องชาติพันธุ์และชนก ลุ่มน้อยในโลกมุสลิมในหลาย ๆ กรณี อาทิเช่น การสังหารหมู่ชาวมุสลิมที่บอสเนียเฮอร์เซโกวิน่า (Bosnia Herzegovina) และที่โคโซโว (Kosovo) ปัญหาความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล ปัญหาแคชมีร์ (Kashmir) ปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิมในอินเดีย ปัญหาการเรียกร้องเอกราชในเชชเนีย (Chechnya) การต่อสู้เรียกร้องการปกครองตนเองในอาเจะห์ (Aceh) ของอินโดนีเซียและบนเกาะมินดาเนาของฟิลิปปินส์ เป็นต้น
กรณี ปัญหาดังกล่าวเหล่านี้ นอกจากจะทำให้ประชาคมโลกยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือแล้ว ยังเป็นประเด็นที่ประชาคมมุสลิมโลกต้องหันมาให้ความสนใจ อันเป็นภารกิจหน้าที่ที่หลีกเลี่ยงมิได้ภายใต้กรอบแห่งความเป็นประชาชาติ อิสลาม (Islamic Ummah) และกรอบแนวคิดเรื่องภราดรภาพอิสลาม (Islamic Brotherhood) ดังที่มีปรากฏอยู่ในส่วนหนึ่งของหลักคำสอนทางศาสนาว่า “แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธานั้นเป็นพี่น้องกัน”(อัล-กุรอาน 49 : 10)
ท่าน ศาสนทูตมุฮัมมัดเองได้อธิบายไว้ว่า“ในความสัมพันธ์ระหว่างกัน มุสลิมนั้นเปรียบเสมือนอาคารหลังหนึ่ง ซึ่งที่ทุกส่วนของอาคารนั้นจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กัน” ในรายงานของอะนัส อิบนุ มาลิก ท่านศาสนทูตมุฮัมมัดได้กล่าวว่า “ไม่มีคนหนึ่งคนใดจากพวกท่านจะมีความศรัทธาที่แท้จริง จนกว่าเขาจะให้สิ่งที่พี่น้องมุสลิมของเขาปรารถนาเหมือนดั่งที่เขาปรารถนาจะ ได้เพื่อตัวเขาเอง” อับดุลลอฮ์ อิบนุ อุมัร ได้อ้างถึงคำกล่าวของศาสนทูตมุฮัมมัดที่ว่า “มุสลิมนั้นเป็นพี่น้องกัน เขาจะต้องไม่ทำอันตรายต่อมุสลิมคนอื่น หรือปล่อยให้อันตรายกระทำต่อพี่น้องของเขา หากเขาช่วยเหลือในสิ่งที่พี่น้องของเขาต้องการ อัลลอฮ์ก็จะช่วยเหลือในสิ่งที่เขาต้องการ และหากเขาปกป้องคุ้มครองมุสลิม อัลลอฮ์ก็จะปกป้องคุ้มครองเขาในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ”
หลัก การในเรื่องประชาชาติอิสลามและภราดรภาพอิสลามระหว่างผู้ศรัทธาดัง กล่าว ทำให้ประชาคมมุสลิมตระหนักถึงความผูกพันภายใต้ร่มธงแห่งอิสลามเดียวกัน รวมทั้งมีความสำนึกในหน้าที่ที่มีต่อกันในการช่วยเหลือและขจัดปัดเป่าความ เดือดร้อนต่าง ๆ การที่ความเป็นประชาชาติมีความสำคัญเหนือความแตกต่างด้านชาติพันธุ์ สัญชาติ ภาษา ฐานะ หรือผลประโยชน์ใด ๆ นั้น ความผูกพันของคนมุสลิมจึงดำรงอยู่ได้แม้ในสภาพที่มีเส้นเขตแดนของรัฐมาขีด คั่น และเมื่อเส้นเขตแดนของรัฐมิอาจที่จะจำกัดการมีความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิม ด้วยกันแล้ว จึงไม่เป็นที่สงสัยว่าประเด็นความเดือดร้อนของมุสลิมที่ดำรงอยู่เป็นชนกลุ่ม น้อยในรัฐใดรัฐหนึ่งก็จะได้รับความสนใจและความห่วงใยจากประชาคมมุสลิมโลก
ใน ช่วงเริ่มต้นของการก่อตั้ง องค์การ OIC ค่อนข้างระมัดระวังการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับประเด็นปัญหามุสลิมชนกลุ่มน้อยตาม ประเทศต่าง ๆ เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะเกรงว่าจะทำให้รัฐที่มีปัญหาดังกล่าวเกิดความรู้สึกถูก รุกล่ำอำนาจอธิปไตย อย่างไรก็ตาม OIC ได้นำประเด็นปัญหาชนกลุ่มน้อยขึ้นมาพิจารณาหารือครั้งแรกในการประชุมระดับ รัฐมนตรีต่างประเทศ หรือ ICFM ครั้งที่ 3 ณ กรุงญิดดะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบียเมื่อ ค.ศ. 1972
ใน การประชุมครั้งนั้นมีการนำ เสนอรายงานสภาพการณ์ความทุกข์ยากของมุสลิมชนกลุ่มน้อยที่ถูกกระทำโดยรัฐใน ภาคใต้ของฟิลิปปินส์ พร้อมกันนั้นก็ได้นำเสนอตัวเลขสถิติของมุสลิมชนกลุ่มน้อยในประเทศต่าง ๆ ที่มิได้เป็นสมาชิกขององค์การ อีกทั้งยังมีมติที่สำคัญ ๆ ออกมาจากผลสรุปของการประชุม โดยมีเนื้อหาหลักที่ระบุว่า “ชนกลุ่มน้อยมุสลิมในบางประเทศยังมิได้รับสิทธิทางศาสนาและการเมือง ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองโดยธรรมเนียมปฏิบัติและกฎหมายระหว่าง ประเทศ” ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุมจึงเรียกร้องให้ประเทศที่มีมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อย “ให้ความเคารพต่อวัฒนธรรมและความเชื่อความศรัทธาของชนกลุ่มน้อยเหล่านั้น ตลอดจนมอบสิทธิต่าง ๆ ตามที่มีอยู่ในกฎบัตรของสหประชาชาติ และแถลงการณ์สากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนแก่พวกเขา” นับจากนั้นเป็นต้นมา วาระเรื่องปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิมจึงถูกบรรจุอยู่ในทุก ๆ การประชุมของ OIC เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
หากจะแยกประเภทอย่างกว้าง ๆ แล้วอาจจะแบ่งชนกลุ่มน้อยมุสลิมออกได้เป็น 5 กลุ่มด้วยกันคือ
1. มุสลิมในฟิลิปปินส์ แคชมีร์ อิริเทรีย ไทย ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นมุสลิมชนกลุ่มน้อยในบริบทขอบเขตดินแดนของรัฐชาติ แต่เป็นชนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่บางส่วนของประเทศ กรณีเช่นนี้มักเกิดการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อแบ่งแยกดินแดนหรือการเรียกร้อง เอกราช
2. มุสลิมในบัลแกเรีย อินเดีย และพม่า ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มมุสลิมที่อ้างว่าถูกกดขี่ทำร้าย อันเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐทั้งที่ไม่ตั้งใจ (เช่นกรณีของอินเดีย) และที่ตั้งใจ (เช่นกรณีบัลแกเรีย)
3. มุสลิมที่อยู่ในโลกพัฒนาแล้วซึ่งเป็นดินแดนที่เสรี เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ฯลฯ มุสลิมส่วนใหญ่ในพื้นที่นี้เป็นพวกที่ย้ายถิ่นเข้ามาอาศัยใหม่จากโลกที่สาม ตลอดจนพวกที่เปลี่ยนศาสนามายอมรับนับถืออิสลาม ซึ่งเป็นพวกที่มักถูกเลือกปฏิบัติจากรัฐและประชากรกลุ่มอื่น ๆ ในประเทศ
4. มุสลิมในกัมพูชา ไลบีเรีย (Liberia) และศรีลังกา ฯลฯ ซึ่งเป็นมุสลิมที่ถูกบีบให้เป็นกลุ่มชายขอบทางการเมือง อีกทั้งยังกลายเป็นกลุ่มที่ตกเป็นเหยื่อจากความรุนแรงในสงครามกลางเมือง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรณีของศรีลังกา มุสลิมถูกบีบให้ต้องเลือกข้างระหว่างคู่ขัดแย้ง คือ ชาวทมิฬและสิงหล กรณีของไลบีเรีย เกิดการต่อสู้กันอย่างหนักของเหล่าขุนศึกที่ฝ่ายหนึ่ง
นำ โดย Charles Taylor กับอีกฝ่ายที่นำโดย Dr. Samuel Doe โดยมีมุสลิมอยู่ระหว่างกลางที่กลายเป็นเหยื่อของความรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นใน ช่วงทศวรรษที่ 1990 ส่วนในกัมพูชานั้น มุสลิมก็พลอยถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พร้อมกับประชากรอื่น ๆ ซึ่งกระทำโดยกลุ่มกองโจรที่นำโดยนายพรพตในช่วงปลายของทศวรรษที่ 1970
5. มุสลิมในเกาหลี ญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ ตลอดจนประเทศในอเมริกาใต้ ซึ่งมุสลิมในประเทศเหล่านี้มักมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้ง ประเทศ ปัญหาของมุสลิมกลุ่มเหล่านี้คือ ปัญหาทางการศึกษาและวัฒนธรรม ไม่ใช่ปัญหาทางการเมือง จากการที่ค่อนข้างอยู่ห่างจากประชาคมมุสลิมส่วนใหญ่ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้จึง มักประสบปัญหาด้านการถูกกลืนวัฒนธรรมโดยชนกลุ่มใหญ่ ฉะนั้น สิ่งที่พวกเขาต้องการก็คือโรงเรียนสอนศาสนา ผู้ทรงความรู้ทางด้านอิสลาม หนังสือ ตำราเรียน ตลอดจนการจัดตั้งองค์กรการบริหารกิจการศาสนา
OIC ได้แสดงบทบาทและให้ความสำคัญกับกรณีปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิมทั้งในฟิลิปปินส์ และแคชมีร์ ซึ่งจัดอยู่ในประเภทที่ 1 แต่กลับปล่อยกรณีปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิมในอิริเทรียให้อยู่ภายใต้การดูแล จัดการขององค์การเอกภาพแห่งแอฟริกา (Organization of African Unity) แม้จะมีปฏิกิริยาบ้างเป็นบางครั้ง แต่ก็แสดงออกมาในลักษณะการออกมติสนับสนุนสิทธิการกำหนดชะตาชีวิตตนเองของชนก ลุ่มน้อยมุสลิมอิริเทรียเท่านั้น ส่วนในประเภทที่ 2 นั้น บทบาทของ OIC ก็เป็นไปอย่างเฉพาะเจาะจง เช่น OIC ได้ให้ความสนใจช่วยเหลือมุสลิมในบัลแกเรียและอินเดีย แต่กลับละเลยที่จะยกประเด็นปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิมที่อยู่ในประเทศที่เป็น มหาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจโลกขึ้นมาพิจารณาหารือ เช่น กรณีของมุสลิมในประเทศจีน หรืออดีตสหภาพโซเวียต เป็นต้น
ส่วน กรณีของมุสลิมในแถบอินโดจีน โดยเฉพาะพื้นที่เขตอราข่าน (Arakan) ในพม่านั้น OIC ก็แสดงความกล้า ๆ กลัว ๆ ในการช่วยเหลือเหล่ามุสลิมที่ถูกทำร้ายกดขี่ การแสดงออกส่วนใหญ่ของ OIC ในกรณีพม่ามักจำกัดขอบเขตเฉพาะการแสดงความห่วงใยเป็นคำพูด อาทิเช่น เมื่อคณะทำงานศึกษาความจริง (Fact – Finding) กรณีมุสลิมพม่าได้เสนอรายงานต่อเลขาธิการ OIC ในเดือนมีนาคม 1992 เลขาธิการฯ จึงออกแถลงการณ์ประณามพม่าอย่างเปิดเผย โดยใช้คำว่า “การรณรงค์ปราบปรามและสังหารมุสลิมที่กระทำโดยรัฐบาลพม่า” พร้อมทั้งเรียกร้องให้ชาติสมาชิก OIC ให้การช่วยเหลือเหยื่อที่ประสบชะตากรรม อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นก็ไม่มีใครทราบว่ารัฐมุสลิมใดบ้างที่ขานรับกับการเรียกร้องครั้ง นั้น
ใน กรณีของชนกลุ่มน้อยประเภทที่ 3 OIC ก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์แต่เป็นไปอย่างไม่เต็มที่มากนักเพียงแต่ได้ใช้คำว่า “การเลือกปฏิบัติต่อผู้อพยพย้ายถิ่นมุสลิมในยุโรป” นอกจากนั้น ท่าทีของ OIC ต่อปัญหามุสลิมชนกลุ่มน้อยประเภทที่ 4 และที่ 5 ก็ไม่ค่อยปรากฏออกมาให้เห็นมากนัก

ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย