กระทรวง สาธารณสุข(สธ.) มีประกาศกระทรวง กำหนดให้เพิ่มขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 55 เป็นร้อยละ 85 ถือเป็นภาพเตือนบนซองบุหรี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เป็น ความจริงที่ว่าการสูบบุหรี่เป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่เนื่องจากการสูบบุหรี่ก่อให้เกิดโรคมากมาย ทั้งต่อผู้สูบเองและผู้ใกล้ชิด รวมถึงเป็นสาเหตุของการป่วยและเสียชีวิตที่ป้องกันได้ รัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลกจึงรณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้เรื่องของโทษและพิษภัยบุหรี่ให้มากขึ้น เพื่อทำให้ประชาชนสูบบุหรี่น้อยลง
ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีประกาศกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ให้เพิ่มขนาดภาพคำเตือนเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ โดยให้มีสัดส่วนร้อยละ 85 ของพื้นที่ซอง เพิ่มจากเดิมที่มีขนาดร้อยละ 55 ของพื้นที่ ทำให้ซองบุหรี่ของไทยมีขนาดภาพคำเตือนใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ตุลาคม 2556
ซึ่ง เชื่อว่าจะทำให้ส่งผลต่อการลดปริมาณการบริโภคยาสูบลงได้ ภาพคำเตือนมี 10 ภาพ คือ โปรดงบสูบบุหรี่ในบ้าน, ควันบุหรี่ฆ่าเด็กได้, สูบบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็งกล่องเสียง, สูบบุหรี่ทำให้หัวใจวาย, สูบบุหรี่ทำให้เส้นเลือดสมองแตก, สูบบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็งปาก, สูบบุหรี่ทำให้เซ็กส์เสื่อม, สูบแล้วปากเหม็นบุหรี่, สูบบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็งปอด, และสูบบุหรี่ทำให้ถุงลมโป่งพอง โดยข้อความดังกล่าวต้องพิมพ์เป็นภาพ 4 สี และคละรูปแบบในสัดส่วนที่เท่ากันใน 1 คอตตอน
ปัจจุบัน ทั่วโลกมีประเทศที่ใช้คำเตือนบนซองบุหรี่เป็นภาพ 63 ประเทศ โดย 5 ประเทศที่มีภาพคำเตือนใหญ่ที่สุดในอดีตคือ ออสเตรเลียใช้พื้นที่ร้อยละ 82.5 รองลงมาคือ อุรกวัยและศรีลังกาใช้พื้นที่ร้อยละ 80 บรูไนและแคนาดาใช้ร้อยละ 75 ในระดับอาเซียนมีเพียง 4 ประเทศที่ใช้ ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย และสิงคโปร์ไทยถือเป็นประเทศอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2548 โดย บรูไน และ ศรีลังกา ใช้ขนาดภาพคำเตือนใหญ่ที่สุดในอาเซียนและเอเชีย คือ ร้อยละ 75 และร้อยละ 80 ตามลำดับ
โดย ไทยถือเป็นประเทศที่ 4 ในโลกที่ใช้ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่เริ่มจาก 6 ภาพ ในปี 2548 เป็น 9 ภาพ ในปี 2550 และ 10 ภาพ ในปี 2552 บังคับให้พิมพ์โดยใช้พื้นที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 และเพิ่มการพิมพ์หมายเลขโทรศัพท์ 1600 ของศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติไว้ด้วย