สภาพัฒน์ จับมือ UNFPA จัดประชุม Policy and the Generational Economy: The 15th Global Meeting of the NTA Network

สภาพัฒน์ จับมือ UNFPA และเครือข่ายจัดสัมมนาใหญ่ นโยบายกับเศรษฐกิจระหว่างรุ่นประชากร เตรียมพร้อมพาประเทศไทยฝ่าความท้าทายสังคมสูงวัย

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประจำประเทศไทย, เครือข่ายบัญชีกระแสการโอนประชาชาติระดับโลก (Global NTA Network), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, และวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมสัมมนา Policy and the Generational Economy: The 15th Global Meeting of the NTA Network โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวปาฐกถา และ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, นายเพียว สมิธ ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก UNFPA, และ ศาสตราจารย์คอนเซปซิโอ ปัตโซ ประธานสภาบริหาร NTA และศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบาร์เซโลนา ร่วมกล่าวเปิดงาน ณ ห้องประชุมโลตัส สวีท 5-7 ชั้น 21 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการระดับนานาชาติระหว่างนักวิชาการ ผู้กำหนดนโยบาย และผู้ที่สนใจเกี่ยวกับประเด็นทางด้านบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ (Nation Transfer Accounts: NTA) ประชากรศาสตร์ (Demography) และเศรษฐกิจระหว่างรุ่นประชากร (Generational Economy) เพื่อนำเสนอและแลกเปลี่ยนผลการศึกษาและองค์ความรู้ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเครื่องมือที่เป็นนวัตกรรมในการกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศ ทั้งนี้ บัญชีกระแสการโอนประชาชาติของประเทศไทย หรือ National Transfer Accounts (NTA) มีความสำคัญต่อการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นอย่างยิ่ง

เมกะเทรนด์: ประชากรสูงวัย-เทคโนโลยีก้าวหน้า-การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นโยบายต้องขับเคลื่อนด้วยข้อมูล
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวในปาฐกถาว่า หัวข้อของการประชุมครั้งนี้คือ “นโยบายและเศรษฐกิจระหว่างรุ่นประชากร” (Policy and the Generational Economy) สะท้อนถึงลำดับความสำคัญของประเทศไทยอย่างลึกซึ้ง ประเทศไทยนั้นยืนอยู่บนจุดเปลี่ยนทางประชากรศาสตร์ กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในโครงสร้างประชากร โดยมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีอัตราการเกิดที่ลดลง ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (a completed aged society) ในปีพ.ศ.2566 โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ทั้งนี้ มีการคาดว่าแนวโน้มประชากรเช่นนี้จะยังคงดำเนินต่อไป โดยประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (a super-aged society) ในปีพ.ศ.2033 และเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรจะเป็นผู้สูงอายุในปี พ.ศ.2040 ในขณะเดียวกันอัตราการเจริญพันธุ์ของไทยก็ลดลงอย่างรวดเร็วจากประมาณ 6 ในทศวรรษ 1970 เหลือ 1 ในปัจจุบัน พร้อมกับอายุขัยที่เพิ่มขึ้น

นายสุริยะกล่าวถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ระดับโลกว่า การเปลี่ยนแปลงทางประชากร จะส่งให้สัดส่วนประชากรวัยทำงานมีแนวโน้มลดลงในเกือบทุกประเทศ แม้จะมีความท้าทาย แต่การเปลี่ยนแปลงทางประชากรก็ยังนำมาซึ่งโอกาสที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการเติบโตของ ‘silver economy’ ซึ่งมองว่าผู้สูงอายุเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้สนับสนุนที่มีคุณค่าในภูมิทัศน์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป, นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีที่ฉับไวก็ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของมนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ และเพิ่มผลิตภาพการผลิต อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีก็นำมาซึ่งความเสี่ยงเช่นกัน เช่น การขาดแคลนทักษะและการเลิกจ้างงาน, นอกจากนั้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือเป็นความท้าทายเร่งด่วนที่สุดอย่างหนึ่งที่มนุษย์ต้องเผชิญ ซึ่งอาจทำให้ผู้คนต้องอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน ส่งผลให้เกิดความเสี่ยง และเพิ่มภาระให้กับผู้ที่เผชิญกับความเสียเปรียบทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่แล้วมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่มนุษย์กำลังเผชิญและความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของนโยบายที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล NTA จึงมีความสำคัญเป็นพิเศษในยุคสมัยนี้

“สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้เราตระหนักถึงงานสำคัญของเครือข่าย NTA ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการวิจัย ความร่วมมือ และความเข้าใจในระดับโลกเกี่ยวกับเศรษฐกิจระหว่างรุ่นประชากร มีส่วนสำคัญในการพัฒนาความเข้าใจของเราเกี่ยวกับปัญหาที่ซับซ้อน อีกทั้งยังมีคุณค่าในการกำหนดทิศทางการอภิปรายด้านนโยบายทั่วโลก และประเทศไทยก็ได้รับประโยชน์อย่างมากจากความรู้และความเชี่ยวชาญที่สมาชิกนำมาแบ่งปันกัน” นายสุริยะกล่าว

‘บัญชีกระแสการโอนประชาชาติ’ ให้ข้อมูลและชี้แนะนโยบาย
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวในระหว่างเปิดการประชุมว่า ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบัญชีกระแสการโอนประชาชาติในเอเชียมาตั้งแต่ช่วงปีแรกๆ โดย สศช. เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการพัฒนาข้อมูล NTA ของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2555 และได้รับความร่วมมือจาก UNFPA อย่างต่อเนื่อง

นายดนุชากล่าวต่อไปว่า สศช.ได้บูรณาการกรอบ NTA เข้ากับการวิเคราะห์นโยบาย โดยใช้กรอบ NTA ในการประเมินผลกระทบหลายแง่มุมของการเปลี่ยนแปลงด้านประชากร การโอนทางเศรษฐกิจ และความท้าทายทางการเงินที่ประชากรกลุ่มอายุต่างๆ เผชิญ ตัวอย่างเช่น ข้อมูล NTA ให้หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจของรัฐบาลในการริเริ่มโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด นอกจากนี้ การประมาณการข้อมูล NTA จนถึงปี 2040 ก็ถูกนำมาใช้ในการยกร่างแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว 15 ปีอีกด้วย การบูรณาการนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ NTA ในการกำหนดนโยบายสาธารณะ

“หัวข้อของการประชุมในปีนี้ Policy and the Generational Economy หรือนโยบายและเศรษฐกิจระหว่างรุ่นประชากร เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งในห้วงเวลานี้ที่เราเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโครงสร้างประชากร ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างต่อตลาดแรงงาน ระบบการคุ้มครองทางสังคม และการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม กรอบ NTA ให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีค่าเพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อความยั่งยืนและความเสมอภาคของคนทุกรุ่น ตลอดระยะเวลาสี่วันนี้ เราจะสำรวจประเด็นสำคัญต่างๆ ตั้งแต่แง่มุมทางเทคนิคของ NTA ไปจนถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ตลอดจนกลยุทธ์ในการสื่อสารข้อค้นพบของ NTA ให้กับผู้กำหนดนโยบาย เราโชคดีอย่างยิ่งที่มีผู้ก่อตั้ง NTA และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญมาร่วมแบ่งปันผลการวิจัยและประสบการณ์ให้กับเราด้วยในงานนี้” นายดนุชากล่าว

UNFPA ย้ำ แก้ปัญหาประชากร ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นายเพียว สมิธ ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก UNFPA กล่าวว่า แนวทางของ UNFPA ในการแก้ไขปัญหาประชากรสูงวัยตั้งอยู่บนหลักสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัย ซึ่งหมายถึงการลงทุนในทุกช่วงชีวิต ตั้งแต่วัยทารกจนถึงวัยชรา เพื่อให้มั่นใจว่าผู้สูงอายุจะใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี เข้าถึงบริการที่จำเป็นได้ และยังคงมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในสังคม

นายสมิธกล่าวต่อไปว่า หัวใจสำคัญก็คือการส่งเสริมนโยบายที่เสริมพลังให้ผู้หญิง ซึ่งรวมถึงผู้หญิงสูงวัย เพื่อปกป้องประชากรกลุ่มนี้จากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ อย่างเช่น การทารุณกรรมผู้สูงอายุ ทั้งนี้ สิ่งที่จะปลดล็อกศักยภาพของประชากรสูงอายุได้ก็คือ การส่งเสริมการสูงวัยอย่างมีพลัง ความเป็นปึกแผ่นระหว่างประชากรต่างรุ่น และนโยบายที่ครอบคลุมคนทุกอายุ UNFPA สนับสนุนรัฐบาลในกระบวนการนี้ด้วยการใช้กรอบ NTA มาช่วยวิเคราะห์ว่าทรัพยากรและรายได้จากแรงงานนั้นกระจายไปตามประชากรกลุ่มอายุต่างๆ อย่างไร

“การประชุมเครือข่ายบัญชีกระแสการโอนประชาชาติระดับโลกครั้งที่ 15 เน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากจุดเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงทางประชากรและนโยบายเศรษฐกิจ และนี่ถือเป็นจังหวะที่ดีที่สุดในการประชุมรวมตัวกัน ขณะนี้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกและในเอเชียแปซิฟิกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงอัตราการเกิดที่ลดลงและอายุขัยที่เพิ่มขึ้น ในการนี้ UNFPA ได้ร่วมมือกับรัฐบาลต่างๆ ในการพัฒนาและดำเนินกลยุทธ์ที่มองการณ์ไกลเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยใช้ประโยชน์จากศักยภาพของประชากรทุกอายุและโอบรับความหลากหลายภายในกลุ่มประชากร เราต้องร่วมมือกันเท่านั้นจึงจะสามารถสร้างอนาคตที่ทุกคนมีโอกาสเจริญรุ่งเรืองได้” นายสมิธกล่าว

รู้จักบัญชีกระแสการโอนประชาชาติของประเทศไทย
บัญชีกระแสการโอนประชาติ (National Transfer Account: NTA) เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่นำเสนอหลักฐานเชิงประจักษ์ให้เห็นผลกระทบและความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างทางเศรษฐกิจและโครงสร้างประชากรของประเทศ มีการใช้ในหลากหลายประเทศทั่วโลกกว่า 20 ปีมาแล้ว ตัวอย่างเช่น บัญชีกระแสการโอนประชาติ ปีพ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ช่วยให้เห็นผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละช่วงอายุจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้อย่างชัดเจน โดยเป็นการนำเสนอรายได้ รายจ่ายเพื่อการบริโภค รวมถึงช่องว่างระหว่างรายได้และรายจ่ายฯ ของประชากรในแต่ละอายุ พร้อมทั้งนำเสนอระบบการปิดช่องว่างดังกล่าวของคนในแต่ละอายุ ผ่านการเกื้อกูลกันระหว่างช่วงวัยและการจัดสรรสินทรัพย์

ข้อมูลบัญชีกระแสการโอนประชาชาติสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย ทั้งการให้ภาพทั่วไปต่อสาธารณะในด้านรายได้ รายจ่าย การออม การเกื้อหนุนของคนในครอบครัว การชี้ประเด็นเชิงนโยบาย การจัดทำนโยบาย และการประเมินผลนโยบาย ต่อภาครัฐและผู้กำหนดนโยบายต่างๆ รวมถึงการเป็นชุดข้อมูลสำหรับภาควิชาการในการวิเคราะห์ต่อยอดและทำการศึกษาเชิงลึกในด้านที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ การประชุมสัมมนา Policy and the Generational Economy: The 15th Global Meeting of the NTA Network จัดขึ้นต่อเนื่องในระหว่างวันที่ 10 – 13 มีนาคม พ.ศ.2568 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยการประชุมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ (1) การประชุมสัมมนาเชิงวิชาการ ในวันจันทร์ที่ 10 มีนาคม เวลา 9.00-17.00 น. และ (2) การประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับเครือข่ายบัญชีกระแสการโอนประชาชาติระดับนานาชาติ ในระหว่างวันที่ 11 – 13 มีนาคม เพื่อนำเสนอผลงานศึกษาและวิจัยของเครือข่ายบัญชีกระแสการโอนประชาชาติและผู้ที่สนใจทั้งจากในประเทศและนานาชาติ โดยประเด็นสำคัญของการประชุมในปีนี้ ยังได้มีการนำเสนอถึงความแตกต่างอย่างมากระหว่างประเทศที่ใช้บัญชีกระแสการโอนประชาชาติ ในด้านอุปทานแรงงานของเยาวชนและผู้สูงอายุ ความแตกต่างทางเพศในรายได้จากแรงงาน และการศึกษา รวมถึงแนวทางใหม่ในการใช้บัญชีกระแสการโอนประชาชาติเพื่อวัดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทั้งสี่นี้ในอนาคตอีกด้วย.