ผู้ใหญ่หลายคนที่มักชอบส่งรูปภาพดอกไม้ พร้อมคำคม คำสวัสดี คำอวยพรต่างๆ เพื่อทักทายกัน โดยใช้โปรแกรมไลน์ มากกว่าที่จะพิมพ์หรือใช้คำพูด
ซึ่งภาพดังกล่าวสันนิษฐานว่า ส่วนมากมาจากเว็บไซต์ค้นหาอย่างกูเกิ้ล (Google) และบางส่วนได้รับมาจากการส่งต่อแล้วเก็บรวบรวมไว้
แต่ก็ทำเอาญาติผู้ใหญ่ไม่สบายใจกันเลยทีเดียวเมื่อเกิดกระแสข่าวลือในโซเชียล ไลน์ และมีการส่งต่อข้อความเตือนให้งดการแชร์ภาพดอกไม้เหล่านั้น เนื่องจากเกรงว่าจะผิดกฎหมาย และอาจถูกดำเนินคดีจาก พรบ.คอมพิวเตอร์ และ พรบ.ลิขสิทธิ์
เดอะพับลิกโพสต์ได้ตรวจสอบข้อมูลกับทาง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ “ปอท.” และ กองบังคับการการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ “ปอศ.” ซึ่งถือว่าเป็นแม่งานหลักในการบังคับใช้กฎหมายยลิขสิทธิ์ และ พรบ.คอมพิวเตอร์ นั้น จึงขอสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ว่า
1. “ตำรวจไลน์” ที่หมายถึง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ “ปอท.” ตามนัยยะของข้อความที่ถูกส่งต่อๆ กันนั้น ไม่ได้จ้องจับผิดการส่งรูปภาพดอกไม้ทางกลุ่มไลน์ ซึ่งการกระทำความผิดที่เข้าข่ายเฝ้าจับตาของ “ปอท.” นั้นจะต้องมีมูลความผิดตามข้อมูลที่อธิบายไว้ให้ประชาชนอ่านเข้าใจง่ายๆ ในหัวข้อ “10 พฤติกรรมเสี่ยงคุก” (คลิ๊กลิงก์อ่านรายละเอียด)
2. การส่งต่อรูปดอกไม้หรือรูปภาพในกลุ่มไลน์นั้น สามารถทำได้โดยอะลุ้มอะหล่วย หากส่งเป็นการส่วนตัว ไม่มีการดัดแปลง ลบข้อความ ไม่แสวงหากำไร ไม่นำไปใช้ในทางที่ผิด และไม่กระทบกับเจ้าของ ทั้งที่จดทะเบียนและไม่จดทะเบียนลิขสิทธิ์ แต่อย่างไรก็ตามภาพดังกล่าวถือเป็นสิทธิ์ของเจ้าของภาพ ทั้งนี้หากเจ้าของจะมีการฟ้องร้องดำเนินคดีก็สามารถทำได้
3. ในทางปฏิบัติยังไม่มีการดำเนินคดีใดๆ กับผู้ส่งต่อภาพดอกไม้ในไลน์
4. เราต้องตระหนักว่าภาพทุกภาพนั้นมีเจ้าของ ซึ่งเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในภาพนั้นๆ
5. เจตนารมณ์ของเจ้าของภาพ มีทั้งที่ถ่ายภาพแล้วสงวนลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ เช่นช่างภาพอาชีพ ภาพใช้ในการโฆษณา เป็นต้น หรือขณะที่บางคนไม่ได้สงวนลิขสิทธิ์และอนุญาตให้เผยแพร่หรือทำซ้ำได้ ดังนั้นการนำภาพใดๆ ไปใช้จึงควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
6. ในทางกฎหมายก็จะพิจารณาเจตนารมณ์ของผู้นำไปใช้ด้วยเช่นกัน ว่า เพื่อการค้า ดัดแปลง ทำซ้ำ แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนตัวในหมู่เพื่อนฝูง ญาติมิตร ยิ่งบริษัทห้างร้าน นิติบุคคล จะต้องระมัดระวังการโพสต์หรือแชร์ภาพที่มีลิขสิทธิ์เหล่านี้ เพราะกฎหมายไม่ได้คุ้มครองไปถึง ไม่สามารถอ้างว่าเป็นการใช้งานส่วนตัวได้ แต่อย่างไรก็ดีการนำภาพของผู้อื่นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นก็ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ดี อยู่ที่เจ้าของภาพว่าจะดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่
ทั้งนี้กฎหมายลิขสิทธิ์ มุ่งคุ้มครองงานสร้างสรรค์ของเจ้าของหรือผู้มีสิทธิ์ โดยเฉพาะในกรณี ทำซ้ำ ดัดแปลง หรือ เผยแพร่เพื่อมุ่งประสงค์ทางการค้าหรือหากำไร ดังนั้นชาวโซเชียลจึงไม่ต้องตระหนกตกใจจนเกินเหตุ
แต่อย่างไรก็ตามกองบก.ขอแนะนำว่า หากต้องการส่งต่อภาพถ่ายดอกไม้หรือภาพถ่ายใดๆ ของผู้อื่น ควรส่งภาพนั้นโดยไม่มีการดัดแปลง หรือพิมพ์ข้อความทับลงไปบนภาพ หากต้องการใส่ข้อความเช่น “อรุณสวัสดิ์” ควรใส่บนกรอบภาพแทน ส่วนคนที่จะใส่เพิ่มชื่อเจ้าของผลงานนั้นลงไปถือว่ายิ่งดี ยิ่งได้รับการคุ้มครอง เพราะมีเจตนาไม่ละเมิดลิขสิทธิ์อย่างชัดเจน
และถ้าทำได้ก็ควรใช้ภาพที่เจ้าของภาพอนุญาตหรือไม่สงวนลิขสิทธิ์ หรือถ้าให้ดียิ่งกว่า ถ่ายภาพดอกไม้เอง เขียนตัวหนังสือเอง พร้อมทั้งระบุไปด้วยว่าไม่สงวนลิขสิทธิ์เพื่อให้เพื่อนๆ แชร์ต่ออย่างสบายใจ แถมได้โชว์ฝีมือการถ่ายภาพของตัวเองด้วยน่ะคะ