(ขบวนการ) รัฐอิสลาม หรือไอเอสเป็นตัวแสดงระหว่างประเทศที่มีนัยสำคัญอย่างมากต่อชะตากรรมของโลก ซ้ำยังมีนัยเกี่ยวพันกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนเป็นที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดสำหรับประเทศไทย ปฏิบัติการทางการทหารของพันธมิตรตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังการเล่นบทบาทนำของรัสเซีย เป็นแนวทางจัดการปัญหาที่ดูเหมือนจะถูกอกถูกใจคนจำนวนมากทั่วโลก
แต่ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ชัดว่า มาตรการทางการทหารไม่ใช่เครื่องมืออันทรงพลังแต่อย่างใด ในการขจัดภัยจากการก่อการร้าย
เกือบหนึ่งทศวรรษครึ่ง (14 ปี) แห่งสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (War on Terror) ของสหรัฐอเมริกาหลังเหตุการณ์ 9/11 ยืนยันชัดเจนว่าไม่สามารถยุติบทบาทของกลุ่มก่อการร้ายลงได้ และในหลายกรณี การทำสงครามดังกล่าวกลับเป็นการก่อการร้ายเสียเอง (War is Terror) เพราะสร้างความสะพรึงกลัวสยองขวัญ และเหยียบย่ำเกียรติภูมิศักดิ์ศรีของพลเรือนในวงกว้าง โดยเฉพาะต่อโลกมุสลิม
นั่นเป็นเหตุผลว่าเพราะเหตุใดสงครามที่มุ่งต่อต้านการก่อการร้าย กลับสะท้อนกลับให้เกิดกลุ่มก่อการร้ายใหม่ๆ ปรากฏขึ้นราวดอกเห็ดในแอฟริกาเหนือ เอเชียตะวันตก ไปจนถึงอัฟกานิสถาน ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มก่อตัวขึ้นด้วยอารมณ์ร่วมที่จะต่อต้านขับไล่ผู้รุกราน และนอกจากจะกระทำการอันลบหลู่เหนือศีรษะของเจ้าของบ้านแล้ว กองกำลังความมั่นคงยังกลายเป็นภัยโดยตรงต่อพลเรือนในหลายพื้นที่เสียเอง
คลื่นเพลิงแห่งความคับแค้นซัดพาคนผู้คลั่งโกรธจำนวนมากให้เข้าร่วมกับขบวนคาราวานของความโหดเหี้ยม นั่นคือ ไอเอส เพราะบรรดาชนผู้คลั่งโกรธเหล่านี้นอกจากเพรียกหาความไม่เป็นธรรมที่ถูกริบไปแล้ว พวกเขายังต้องการมากกว่านั้น นั่นคือ การสังเวยให้กับสิ่งที่ตนได้สูญเสียไป ในแง่มุมนี้ การก่อตัวและขยายใหญ่ขึ้นของไอเอสก็จึงเป็น “…บทสรุป “ที่มีเหตุผล” ของ 13-14 ปีแห่งสงครามต่อต้านการก่อการร้าย” [1]
ในขณะที่วาทกรรม “โลกยุคหลัง 9/11” อันหมายมุ่งขีดคั่นประวัติศาสตร์ว่าเหตุการณ์ 9/11 คือ จุดเริ่มต้นของสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ก็ดำรงอยู่ในฐานะชุดภาษาที่ครอบงำโลกทัศน์ของสังคมในการมองประเด็นเรื่องภัยจากการก่อการร้าย โดยคำว่า “จุดเริ่มต้น” หรือการขีดคั่นการเริ่มต้นใหม่ของบริบทโลกแบบใหม่ แม้อาจจะเป็นการจำแนกยุคสมัยเพื่อประโยชน์ในเชิงการศึกษา/วงวิชาการก่อการร้ายศึกษาก็ตาม แต่ขณะเดียวกัน มันก็เป็นการเมืองของภาษาที่บิดบังไม่ให้เห็นว่า แท้จริงแล้วภัยจากการก่อการร้าย โดยเฉพาะจากอัลกออิดะฮฺนั้น มีสาเหตุที่มาที่สหรัฐอเมริกาและตะวันตกเองก็มีส่วนสร้างขึ้นเช่นกัน
กล่าวในรายละเอียดก็คือ สงครามตัวแทน (proxy war) ระหว่างอเมริกากับโซเวียตในอัฟกานิสถานเมื่อนานมาแล้วในช่วงสงครามเย็น เป็นบ่อเกิดของกลุ่มติดอาวุธและเครือข่ายที่ถักทอโยงใยไปทั่วโลก ซึ่งมีชื่อว่า อัลกออิดะฮฺ และขณะเดียวกัน แม้อบู มัศอับ อัล-ซัรกอวี บุรุษผู้ซึ่งถูกเรียกขานกันว่าเป็น “founding father” ของขบวนการไอเอส จะเดินทางไปร่วมสงครามอัฟกานิสถานก็เมื่อตอนใกล้สิ้นสุด แต่การเข้าร่วมสงครามนี้ก็เป็นเบ้าหลอมให้กับแนวคิด แนวทาง เป็นลานฝึกทักษะ และเป็นฐานที่มาแห่งองค์ประกอบสนับสนุนกระบวนการต่อสู้ในอนาคตของเขาหลายเรื่องด้วยกัน เฉกเช่นเดียวกับที่มันเป็นผืนดินแห่งการงอกเงยของอัลกออิดะฮฺที่กล่าวถึงไป
เราจึงพอจะสรุปได้ในแง่มุมหนึ่งว่า สหรัฐอเมริกา (ในฐานะผู้สนับสนุนการจัดตั้งมัฆตับ อัลคิดามัต หรือ ศูนย์บัญชาการกลางเพื่อระดมมูญาฮิดีนไปสู้กับโซเวียต) รวมทั้งเกมการเมืองระหว่างมหาอำนาจเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญที่ก่อให้เกิดกลุ่มก่อการร้ายอย่างอัลกออิดะฮฺ และเป็นปัจจัยที่ร่างบริบทอันเหมาะสมต่อการผลิดอกออกผลของบรรดาเซลล์ก่อการร้ายจำนวนมาก ที่รับเอาอุดมการณ์กลับไปปฏิบัติการทางการเมืองในบ้านเกิดของตนเองเมื่อสงครามจบลง รวมทั้งเป็นแหล่งบ่มเพาะหล่อหลอมตัวแสดงที่จะก้าวขึ้นไปเป็น “ผู้เล่นใหม่” ในโลกของการติดอาวุธสู้กับรัฐในภายภาคหน้า ที่ลากดึงความรุนแรงยาวมาถึงทุกวันนี้ [2]
ดังนั้นวาทกรรม “9/11 คือจุดเริ่มต้นปฐมบทฉากใหม่ของโลก” บังคับสายตาเราให้เห็นเพียงว่า อเมริกาเป็นผู้ถูกเริ่มกระทำก่อน ดังนั้นจึงชอบธรรมที่จะเอาคืนอย่างถึงที่สุด และไกลกว่านั้นคือมีความชอบธรรมที่จะโจมตีก่อนเพื่อตัดไฟแต่ต้นลม (pre-emptive strike)
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การตัดไฟต้นลมที่ดีที่สุดของอเมริกา คือ การเลิกเล่นบทบาทแทรกแซงทางการเมืองประเทศอื่น และเลิกใช้ประเทศเหล่านั้นเป็นกระดานเล่นเกมถ่วงดุล/คานอำนาจระหว่างมหาอำนาจด้วยกัน
วาทกรรม “โลกยุคหลัง 9/11” จึงห่มคลุมไม่ให้เห็นสาเหตุทางการเมืองของภัยจากการก่อการร้าย ปิดทับให้เห็นเพียงฉากหน้าของการใช้กำลังของกลุ่มก่อการร้าย และพาให้โลกหลงทางเข้าใจผิดว่า คงไม่มีหนทางแก้ปัญหาใดอื่นนอกจากการใช้กำลังทางการทหาร
แท้ที่จริงแล้วแม้กระทั่งในกลุ่มนักการทหารเอง ก็มีชุดความรู้/ทฤษฎีที่ยืนยันว่า การจะเอาชนะในสงครามอสมมาตร (asymmetric war) เหนือกลุ่มก่อการร้ายได้นั้น มาตรการทางทหารไม่ใช่คำตอบ หากแต่กุญแจอยู่ที่มาตรการทางการเมือง ดังคำกล่าวที่ว่า
“กองทัพที่ประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับการก่อความไม่สงบสมัยใหม่ด้วยการพัฒนาทฤษฎี
ของการต่อต้านการก่อความไม่สงบก็คือ กองทัพที่ยอมรับถึงความจำเป็น
ของมาตรการทางการเมืองมากกว่ามาตรการทางทหาร”
Ian F.W. Beckett นักวิชาการด้านการทหารชาวอังกฤษ [3]
หรือ
“คำตอบไม่ได้อยู่ที่การเอาทหารเป็นจำนวนมากใส่เข้าไปในป่า แต่อยู่ที่การเอาชนะจิตและใจของประชาชน” Field Marshal Sir Gerald Templer ข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษประจำมลายา (1952-1954) [4]
——————————————
เชิงอรรถท้ายบทความ
[*] ปัจจุบัน ผู้เขียนเป็นหัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และบทความนี้เรียบเรียงขึ้นจากส่วนหนึ่งในร่างรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ของผู้เขียน เรื่อง ขบวนการรัฐอิสลาม (Islamic State; IS) ในฐานะตัวแสดงระหว่างประเทศ: นัยต่อโลก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทย (บทที่ 5 ส่วนที่เป็นข้อสรุป). ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ, 2558.
[1] Tomgram: Engelhardt. How America Made ISIS: Their Videos and Ours, Their “Caliphate” and Ours. (online). http://www.tomdispatch.com/blog/175888/tomgram%3A_engel hardt,_the_escalation_follies/. Access 2 October 2015.
[2] Ben Norton. “We created Islamic extremism: Those blaming Islam for ISIS would have supported Osama bin Laden in the ’80s”, in Salon. (online). http://www.salon.com /2015/11/17/we_created_islamic_extremism_those_blaming_islam_for_isis_would_have_supported_osama_bin_laden_in_the_80s/. Access 10 November 2015.
[3] Ian F.W. Beckett. Encyclopedia of Guerrilla Warfare. NY: Checkmark Books, 2001. อ้างถึงใน สุรชาติ บำรุงสุข. ความมั่นคงศึกษา: การก่อการร้าย & การก่อความไม่สงบร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: Green Print Co.,Ltd., 2551. หน้า 401.
[4] สุรชาติ บำรุงสุข (บก.). กุลนันทน์ คันธิก (เรียบเรียง). “Winning Heart and Minds”, ใน จุลสารความมั่นคงศึกษา. ฉบับที่ 95. กรุงเทพฯ: สแควร์ ปริ๊นซ์ 93, 2554. หน้า 39.
PAGE
PAGE
ผู้อำนวยการโครงการวิทยาลัยการเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช