ห้วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในโลกออนไลน์ได้มีการแชร์ภาพประทับใจ ภาพชายหนุ่มมุสลิมสองคนกำลังช่วยพระสงฆ์ถือถุงย่ามสัมภาระขึ้นรถไฟเพื่อเดิน ทางไปยังสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก โดยใช้ขบวนรถไฟที่ 447 สุราษฎร์ธานี – สุไหงโกลก ที่สถานีรถไฟยะลา บ่งบอกถึงความเป็นจริงของสัมพันธภาพระหว่างผู้คนในพื้นที่ชายแดนใต้แห่งนี้ ที่ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติและศาสนา
ภาพนี้โพสต์โดยสมาชิกเฟซบุ๊กชื่อ Ann Issadul ซึ่งเป็นผู้ถ่ายภาพ พร้อมข้อความแสดงความรู้สึกขณะบันทึกภาพเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2559 เวลา 15.35 น. ว่า
พระคุณเจ้าจะขึ้นรถไฟไปไหนไม่ทราบ…
แต่ที่เห็นกับตาคือมีน้องๆ วัยรุ่นมุสลิม 2-3 คนช่วยกัน
หอบหิ้วย่ามให้พระคุณเจ้าอย่างน่ารักที่สุด
ยะลาบ้านฉันยังคงงดงามเสมอด้วยมิตรภาพ…
Ann Issadul หรือ บุษยมาศ อิศดุลย์ ชาวยะลา ผู้ประสานงานกลุ่มเยาวชนบ้านบุญเต็ม(สถานพักพิงใจเยาวชน) ผู้ถ่ายภาพและโพสต์ภาพชุดนี้ 6 ภาพ บอกว่า
“ในความรู้สึกส่วน ตัวกับภาพนี้คือ ชื่นใจมาก จนอดไม่ได้ที่จะยกไอแพดขึ้นมาถ่ายไว้ในทุกอิริยาบถของการปฏิบัติต่อกัน ระหว่างน้องๆ มุสลิม และหลวงพ่อ ซึ่งเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติมาก หลวงพ่อมาถึงสถานีด้วยรถแท็กซี่พร้อมสัมภาระพะรุงพะรังมากมายหลายย่ามมาก เกินที่ท่านจะหอบหิ้วด้วยสองมือของท่านได้แน่นอน แต่ไม่เกิดปัญหาเลยเมื่อท่านจะขึ้นรถไฟไปต่อยังจุดหมายปลายทางของท่าน…มัน ไหลลื่นไป ไม่มีแม้แต่คำขอร้องให้ช่วย น้องๆ มุสลิมสองคนนี้นอกจากของส่วนตัวของตนเองแล้ว เขายังยื่นมือออกมาหยิบฉวยสารพัดย่ามของหลวงตาไว้ได้จนหมดแล้วคอยดูแลให้ หลวงตาได้ขึ้นรถไฟไปก่อนจนเรียบร้อยแล้วจึงค่อยขึ้นตามไป…มันงดงามมาก ชื่นใจ สุขใจ อยากให้คนทั้งโลกเห็นภาพนี้ด้วย ว่าเราอยู่ด้วยกันแบบนี้จริงๆ “
เมื่อ ถามถึงมุมมองที่ผ่านภาพนี้จะช่วยให้สังคมมองพื้นที่และมุสลิมอย่างไรบ้าง แอนบอกว่า มุมมองของภาพที่สื่อออกไป สะท้อนออกมาถึงการอยู่ร่วมกันของคนในบ้านเมืองของเราซึ่งมีความแตกต่างหลาก หลายในศาสนาและวัฒนธรรม แต่มากไปด้วยความเอื้ออารีย์ มีมิตรภาพต่อกันอย่างดีตลอดมา เพราะภาพเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่ทุกวันตลอดมา เพียงแต่ไม่มีใครสะท้อนออกไปให้คนทั่วไปได้มองเห็นว่า เรามีวิถีของการช่วยเหลือเกื้อกูลกันตลอดมา แม้แต่ในปัจจุบันซึ่งมีสถานการณ์ของความไม่สงบหรือมีประเด็นความแตกแยกเกิด ขึ้นมาก็ตามที พวกเราชาวบ้านก็ยังมีวิถีของการปฏิบัติต่อกันอย่างเคารพและให้เกียรติหรือมี น้ำใจต่อกันไม่เคยเปลี่ยนแปลง
“พื้นที่ของเราไม่ได้เป็นไปตามเขาเล่า ว่า หรือกระแส หรือข่าวลือต่างๆ ในทางที่เป็นความแตกแยกแต่อย่างใดเลย ทุกอย่างที่เป็นประเด็นของสถานการณ์ความรุนแรง พวกเราล้วนรับและยอมจำนนกันตลอดมาต่อประเด็นที่ถูกจัดใส่ลงมาในผู้คนหรือ พื้นที่ของพี่น้องมุสลิม”
“ใครจะสร้างอะไรที่เป็นประเด็นขึ้นมา อย่างไร แต่โดยเนื้อแท้ๆ แล้ว เรามีมิตรภาพที่ดีงามต่อกันตลอดมาและตลอดไป ขอให้มีภาพแบบนี้เกิดขึ้นออกมาทุกวัน และภาพความรุนแรงจงหมดไปจริงๆ เสียที มิตรภาพสร้างได้ด้วยมือของพวกเราจริงๆ”
ภาพแห่งความประทับใจนี้ได้มีการถ่ายทอดด้วยศิลปะกราฟฟิก stencil art จาก เพาซี พะยิง หรือ Sea Slow ศิลปินและนักเล่าเรื่องสารคดีชายแดนใต้ ภายใต้ชื่อที่ว่า “Peace begins with you พลังสันติภาพอยู่ในมือคุณ” เขาเชื่อว่า พลังศิลปะสามารถขับเคลื่อนสื่อสารประเด็นบางอย่างออกสู่สาธารณะ เป็นตัวแทนของประชาชน เป็นตัวแทนผู้ถูกกระทำ เป็นปากเป็นเสียงของคนกลุ่มน้อย ในแนวทางสร้างสรรค์และนัยยะทางจิตใจและการเมือง
“ผมได้ภาพต้นฉบับจากการโพสต์แชร์ เหตุการณ์การเกื้อกูลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เรื่องราวในมุมเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ในความรู้สึกของพื้นที่ชายแดนใต้ ( พลังสันติภาพอยู่ในมือคุณ) ขอบคุณภาพถ่ายต้นฉบับ ภาพน้องๆ วัยรุ่นมุสลิม 2 คน ช่วยถือย่ามให้พระสงฆ์ขึ้นรถไฟ ได้เห็นภาพชุดนี้แล้ว มันติดตามาก ได้อารมณ์ความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่ เหมือนมีพลังบางอย่างในมุมนั้น ถึงแม้ว่ามีผู้คนเดินไปมาอย่างขวักไขว่ แต่ภาพสองท่านนั้น มันสะกดนิ่งในสายตาเรา เป็นแรงบันดาลใจ โดยใช้งานกราฟิก stencil art”
“ผมเชื่อว่าศิลปะสามารถเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนได้ ภาพบางภาพสามารถสะกดจิตใจของคนได้ ยิ่งภาพมีที่มาที่ไป ประกอบกับบริบททางสังคมที่บางคนมองอีกแบบ อย่างชายแดนใต้ หลายคนมองว่า เรามีความหวาดระแวงต่อกันระหว่างไทยพุทธ-มุสลิม แต่ภาพนี้เป็นตัวชี้วัดอย่างชัดเจนว่าเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น วิถีชีวิตปกติบ้านเราก็เป็นอย่างนั้น แค่ไมมีหลักฐานยืนยันปรากฏให้เห็นได้ชัด ต้องขอบคุณเจ้าของภาพต้นฉบับ “พี่แอน บุษยมาส อิศดุลย์ Ann Issadul “ ที่เอามุมมองเล็กๆ ออกมา ยิ่งในยุคปัจจุบันทุกคนมีมือถือ ต่างเผยแพร่แง่มุมดีๆ ในสังคม ผมเชื่อว่าสังคมต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะ ความหวาดระแวงทั้งสองศาสนา เรื่องชาติพันธุ์ ความอคติ ในใจบางคน เมื่อได้เห็นภาพแล้วสามารถลดสิ่งเหล่านั้นลงได้”
เพาซียังบอกต่อว่า ได้มีหลายเสียงมาแสดงความคิดเห็นในเฟสกัน อย่างเช่น เฟสของ Payoong Na Phatthalung · เป็นเพื่อนกับ Orapin Lilit ว่า “ท่านศาสดาของศาสนาอิสลามสอนให้มุสลิมเอื้อเฟื้อต่อคนนอกศาสนา ศาสดาของศาสนาพุทธสอนให้มนุษย์มีความเมตตากรุณาต่อกัน แต่พวกธรรมกถึกในชั้นหลังบางคนมาบิดเบือนคำสอนให้รังเกียจเดียดฉันท์กัน นี่เป็นสมุฏฐานของความขัดแย้งในปัจจุบันของมวลมนุษยชาติ”
ส่วนเฟสของ ส้มจุก หวานจัง แสดงความคิดเห็นว่า “ความเอื้ออาทร ความห่วงใยซึ่งกันและกัน ยังมีอยู่มากมายในพื้นที่ 3 จว. ชายแดนใต้ ดังเช่น เหตุการณ์ที่เกิดระเบิดที่ยะหริ่งที่คุณตา 2 คนที่เป็นเพื่อนกันตั้งแต่เยาว์วัย วิ่งเข้าไปช่วยเพื่อนที่เป็นไทยพุทธในบ้าน จนทำให้คุณตาบาดเจ็บสาหัส ส่วนเพื่อนในวัยเยาว์ของคุณตาได้ลาจากคุณตาไป ในเหตุการณ์ดังกล่าว ขอบพระคุณนะคะ ที่เรายังส่งความห่วงหา อาทรให้กันและกัน ขอบคุณจริงๆๆ ค่ะ”
เมื่อได้ทราบว่ามีการถ่ายทอดเรื่องราวภาพถ่ายของเธอผ่านงานศิลปะ แอนบอกด้วยความรู้สึกภูมิใจและดีใจ
“การถ่ายทอดผ่านศิลปะคือความอ่อนหวานงดงาม มีอิทธิพลต่อความรู้สึกของผู้เสพงานศิลป์ หรือคนทั่วไปที่ได้เห็น ภาพที่ออกไปในงานศิลป์ จึงช่วยให้คนทั่วไปเข้าถึงความเป็นคนมุสลิมในพื้นที่บ้านเราได้อย่างตรง ประเด็นมาก คือความมีน้ำใจ ความเอื้ออารีย์ต่อคนทั่วไปไม่ว่าจะอยู่ในสถานะหรือศาสนาใด การเป็นมุสลิมที่ดีคือการปฏิบัติในวิถีของหลักศาสนาอย่างชัดเจน คือการแสดงน้ำใจและช่วยเหลือโดยไม่ต้องร้องขอ..”
สัมพันธภาพ ระหว่างผู้คนในพื้นที่แห่งนี้มีแง่งามอีกมากมาย ความเป็นจริงที่ยังคงมีอยู่ หากใช้ใจและมุมมองที่เที่ยงตรง จะมองเห็นความงามเช่นนี้ทั่วแดนใต้…
กองบรรณาธิการ, โต๊ะข่าวชายแดนใต้