ดูจะเป็นข่าวที่ไม่สู่ดีนักสำหรับภาวะเศรษฐกิจของโลกและประเทศไทยเมื่อ “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” หรือ “ไอเอ็มเอฟ” เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่เดือน ต.ค. 2558 เช่น อังกฤษจะออกจากสมาชิกอียู สร้างความเสี่ยงให้เศรษฐกิจโลกชะลอ การลงทุนชะงัก โดยเศรษฐกิจโลกยังต้องพึ่งพานโยบายการเงินและการคลังมากขึ้น เพื่อกระตุ้นการขยายตัวและสร้างเสถียรภาพ
ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ “อีไอซี” ออกบทวิเคราะห์เรื่องกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนเศรษฐกิจโลกโตต่ำ เสี่ยงสูง ยืดเยื้อ โดยระบุว่า ไอเอ็มเอฟได้ออกรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ในเดือน เม.ย. 2559 โดยปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2560 เหลือ 3.2% จากเดิม 3.4% โดยเศรษฐกิจสหรัฐและยูโรโซนจะเติบโตได้ 2.4% และ 1.5% ตามลำดับ ลดลงจากประมาณการเดิม 0.2% จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัว ส่วนญี่ปุ’นถูกลดประมาณการเศรษฐกิจลงถึง 0.5% เหลือเติบโต 0.5% เนื่องจากเงินเยนที่แข็งค่าส่งผลกระทบต่อการส่งออก
นอกจากนี้ ประเทศในแถบตะวันออกกลาง แอฟริกา และละตินอเมริกา ต่างก็ถูกปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจลง จากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำ แต่ประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย เช่น จีน อินเดีย และอาเซียน ไม่ถูก ปรับลดประมาณการ และยังปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจจีนจาก 6.3% เป็น 6.5% จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ เศรษฐกิจเติบโตตามเป้าหมาย
ขณะเดียวกัน ไอเอ็มเอฟสนับสนุนการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในยุโรปและญี่ปุ’น เนื่องจากจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม และยังสนับสนุนการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ แม้ว่าประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะมีภาระหนี้รัฐบาลในสัดส่วนที่สูง
ส่วนความเสี่ยงที่ไอเอ็มเอฟกังวล คือ ความผันผวนในตลาดการเงิน เศรษฐกิจจีนชะลอตัวกว่าคาด รวมถึงปัจจัยด้านการเมืองและก่อการร้าย โดยความผันผวนในตลาดการเงินอาจส่งผลต่อเงินทุนไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่ และกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศ เช่นเดียวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลกระทบไปยังการค้าโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์
ขณะที่มุมมองเศรษฐกิจโลกของไอเอ็มเอฟ สนับสนุนมุมมองของอีไอซีว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวในปีนี้ จึงยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโต 2.5% ชะลอลงจาก 2.8% ในปีก่อน แต่ไทยยังมี “จุดแข็ง” ที่สามารถรับมือกับความผันผวนของตลาดการเงินโลก โดยไอเอ็มเอฟ ระบุว่าปัจจัยที่ทำให้ประเทศตลาดเกิดใหม่รับมือกับความผันผวนของเงินทุนไหลออกได้ดีกว่าประเทศอื่นคือ 1.มีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง 2.มีหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศต่ำ และ 3.มีอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่น ซึ่งปัจจุบันไทยมีปัจจัยทั้ง 3 ด้านอย่างครบถ้วน
ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นอีกปัจจัย ขับเคลื่อนหนึ่งที่ไอเอ็มเอฟมองว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับประสิทธิภาพการผลิต ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว
ขณะที่ นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ไตรมาส 2 และครึ่งหลังปี 2559 เศรษฐกิจไทยยังมี “ความเสี่ยง” ตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว แต่รัฐบาลยังมีเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการใช้จ่ายวงเงินตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เหลืออยู่ในปีนี้อีกกว่า 4 แสนล้านบาท น่าจะเพียงพอ ไม่ต้องมีมาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่เพิ่ม
ทั้งนี้ ช่วงเดือน ก.ย. 2558-ม.ค. 2559 รัฐบาลออก 7 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงินรวม 468,854 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้วถึงสิ้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา 198,081 ล้านบาท ยังเหลืออีก 270,773 ล้านบาท ช่วงเดือน ก.พ. 2559 รัฐบาลได้ออกอีก 2 มาตรการ วงเงินรวม 1.23 แสนล้านบาท คือ บ้านประชารัฐ และมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง รวมแล้วรัฐบาลมีวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้อีก 393,773 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเช่นนี้ ทำให้ภาคเอกชนของไทยโดยเฉพาะในส่วนของสถาบันการเงินมีควากังวลว่าอาจจะทำให้ “หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้” หรือ “เอ็นพีแอล” มีโอกาสขยายตัวได้ จะเห็นได้จากการที่นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ออกมาระบุว่า ธนาคารกรุงเทพ ได้คงเป้าหมายสินเชื่อรวมปีนี้เติบโต 3-5% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยที่ยังคงเป็นรายได้หลักของประเทศ และที่ผ่านมายัง “ไม่มีความชัดเจน” เกี่ยวกับการลงทุนใน “โครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ” ออกมา ส่งผลให้ภาคเอกชนยังชะลอการลงทุนอยู่เพื่อรอดูความชัดเจน
ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารในปี 59 พยายามควบคุมให้อยู่ในระดับ 3.3% ซึ่งสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 2.76% รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยแนวโน้ม NPL เพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 1/59 และกระจายอยู่ในทุกกลุ่มลูกค้าของธนาคาร ได้แก่ กลุ่มลูกค้ารายย่อย กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี และกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มลูกค้าของธนาคารต่างได้รับผลกระทบในภาวะที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ยังพอมีข่าวดีอยู่บ้างเมื่อเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2559 เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้นได้สรุปผลการประเมินโดยมองว่า เศรษฐกิจไทยปี 2558 เริ่มฟื้นตัว หลังจากที่ชะลอลงในช่วงก่อนหน้าจากปัญหาทางการเมือง โดยขยายตัวได้ 2.8%
ทั้งนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2559 จะขยายตัวที่ 3% และเพิ่มขึ้นเป็น 3.2% ในปี 2560 โดยความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นและราคาพลังงานที่อยู่ในระดับต่ำ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน อีกทั้ง “การลงทุนภาครัฐ” ยังจะเป็นแรงส่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในระยะต่อไป
ขณะเดียวกัน ยังมีมุมมองความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าว่ามาจากปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนที่อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวมากขึ้น และส่งผลกระทบเชิงลบต่อประเทศคู่ค้า นอกจากนี้ ความผันผวนของตลาดการเงินโลกอาจก่อให้เกิดการไหลออกของเงินทุนและทาให้ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้น
ส่วน “ปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ” ได้แก่ การเบิกจ่ายในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งหากล่าช้ากว่าคาดจะกระทบอุปสงค์ในประเทศได้ และหากเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องนานกว่าที่คาด อัตราดอกเบี้ยและภาระหนี้ที่แท้จริงจะปรับสูงขึ้น โดยหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงอาจส่งผลต่อการบริโภค และในกรณีที่สถานการณ์รุนแรงอาจส่งผลต่อฐานะของสถาบันการเงินได้