Nippon Keidanren (Japan Business Federation) หรือ สมาพันธ์องค์การทางเศรษฐกิจ คือองค์การตัวแทนผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุด มีสมาชิกประกอบด้วยบริษัทใหญ่ของญี่ปุ่น 1,309 แห่ง กลุ่มอุตสาหกรรมญี่ปุ่น 112 แห่ง และองค์การเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอีก 47 แห่ง
Keidanren เป็นองค์การที่เน้นในเรื่องนโยบายต่างประเทศ โดยให้น้ำหนักกับการแสดงบทบาทปกป้อง รักษา และส่งเสริมผลประโยชน์พื้นฐานทางธุรกิจของบรรดา “กลุ่มธุรกิจใหญ่” (หรือที่เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า Zaikai; business community) ในความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนกับสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยุโรป เอเชีย และภูมิภาคอื่นของโลก
Keidanren จึงมีสถานะเป็นกลุ่มผลประโยชน์สำคัญที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศและการดำเนินการต่างประเทศของญี่ปุ่น
ในแง่ของอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศและการดำเนินการต่างประเทศของรัฐบาลญี่ปุ่นนั้น จากอดีตที่ผ่านมา ผู้นำทางธุรกิจมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับพรรค LDP (ซึ่งเป็นรัฐบาลอยู่ในขณะนี้) มาโดยตลอด ทั้งในด้านส่วนตัว (jin myaku; personal network) และในด้านการให้เงินสนับสนุนทางการเมือง โดยผู้นำทางธุรกิจเหล่านี้จะสามารถเข้าถึงกระบวนการตัดสินใจนโยบายของรัฐบาลได้ผ่านการได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการหรือประธานของคณะกรรมการที่ปรึกษา (shiangikai และ chosaka; Special Advisory Committees) ในกระทรวงหรือองค์กรต่างๆ ของรัฐบาล ด้วยกลไกความสัมพันธ์ลักษณะนี้ ทำให้ตัวแทนองค์กรธุรกิจสามารถพบปะและใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจนโยบาย ทั้งนี้ Keidanren ก็มีคณะกรรมการที่พิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการต่างประเทศเพื่อเสนอต่อรัฐบาลอยู่เหมือนกัน
นอกจากนี้ ผู้นำธุรกิจขนาดใหญ่มักจะเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อดำเนินการทูตในลักษณะกึ่งทางการ และรายงานผลของภารกิจและความเห็นของตนต่อรัฐบาล กลุ่มธุรกิจใหญ่เหล่านี้มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับกระทรวงการค้าต่างประเทศและอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry; METI) และองค์กรอื่นๆ ของรัฐบาลที่ควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างประเทศ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ต้องพึ่งการค้าต่างประเทศมากสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของตน ดังนั้น อิทธิพลและบทบาทของกลุ่มธุรกิจต่อการกำหนดนโยบายและดำเนินการต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศด้านเศรษฐกิจ จึงมีอยู่ค่อนข้างสูง
ยิ่งถ้าพิจารณาโครงสร้างของ Keidanren ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจใหญ่ที่ใหญ่ที่สุดแล้ว ก็จะเห็นชัดเจนว่า ไม่ใช่แค่อิทธิพลต่อนโยบายและการดำเนินการต่างประเทศของรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่พวกเขายังให้น้ำหนักกับการมีบทบาทโดยตรงต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับตัวแสดงภายนอกประเทศด้วย โดย Keidanren ออกแบบโครงสร้างองค์กรให้มีชุดของคณะกรรมการดูแลความสัมพันธ์ทางการค้าและการเศรษฐกิจทวิภาคีกับคู่ค้ารายสำคัญเป็นการเฉพาะ อาทิ คณะกรรมการว่าด้วยกิจการด้านสหรัฐอเมริกา (Committee on U.S. Affairs) คณะกรรมการว่าด้วยกิจการด้านยุโรป (Committee on Europe Affairs) และสำหรับในเอเชียนั้น ประเทศที่ Keidanren จัดให้มีคณะกรรมการรับผิดชอบความสัมพันธ์ด้านการค้าการเศรษฐกิจแยกเฉพาะ มีทั้งสิ้น 5 ประเทศ บวก 1 เขตเศรษฐกิจด้วยกัน ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม เมียนมาร์ และฮ่องกง
นั่นหมายถึง การที่กลุ่มธุรกิจใหญ่ของญี่ปุ่นวางสถานะของประเทศเหล่านี้ว่าเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญในระดับสูง และเมื่อผลประโยชน์ในความสัมพันธ์มันมหาศาล จึงอดไม่ได้ และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้อง “ขอเสือก” เข้ามาให้ความเห็นเกี่ยวกับกิจการอันถือเป็น “เรื่องภายใน” ของประเทศเหล่านี้บ้าง ไม่มากก็น้อย
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จึงเป็นเรื่องพอเข้าใจได้ที่นาย Eizo Kobayashi ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจและการค้าญี่ปุ่น-ไทย จะตั้งข้อเรียกร้องกับ “บิ๊กตู่” ในการพบกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ว่า “ขอให้พาประเทศกลับเข้าสู่ระบอบที่ปกครองโดยพลเรือน” (the return of civilian rule, โปรดดูที่มาของข่าวเรื่องนี้จาก The Japan Times)
อย่าเพิ่งด่วนด่ามิสเตอร์ Kobayashi หรือด่า Keidanren ว่า ‘รับเงินทักษิณมา’ ‘มาเสือกทำไมวะ’ หรือ ‘ด่าแบบอื่นๆ’ กันนะครับ เพราะถ้าเราพิจารณาธรรมชาติของทั้งกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นและตัว “รัฐ” ญี่ปุ่นสมัยหลังสงครามเย็นเป็นต้นมานี้เอง จะพบข้อเท็จจริงประการสำคัญอันหนึ่งก็คือ ทั้งสองตัวแสดงนี้มักดำเนินการต่างประเทศอย่างร่วมมือ สอดรับ สอดประสานกันอย่างลงตัว บนฐานของการแยกเรื่องเศรษฐกิจออกจากการเมือง (seikei bunri) ในความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เราจึงเห็นประวัติศาสตร์ของการที่ช่วงสงครามเย็น บางประเทศแม้จะอยู่คนละค่ายกับญี่ปุ่น เช่น จีนและเวียดนามเหนือ ซึ่งสหรัฐฯ ก็ต้องการให้ญี่ปุ่นโดดเดี่ยวประเทศเหล่านี้ทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่ญี่ปุ่นเองก็ยังคงสานสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนกับจีน และเวียดนามเหนือได้อยู่ดี โดยมิได้เป็นการสานสัมพันธ์อย่างเป็นทางการโดยรัฐบาล แต่มีบริษัทธุรกิจเป็นเสมือนแนวหน้า ออกตัวเข้าไปเกาะเกี่ยวสัมพันธ์แทน ในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทธุรกิจญี่ปุ่นจำนวนมากสามารถฉกฉวยโอกาสในฐานะที่เป็นตัวแสดงภาคเอกชนเข้าไปติดต่อค้าขายกับบรรดาประเทศฝ่ายสังคมนิยมได้อย่างกว้างขวาง
กิจการต่างประเทศของบริษัทธุรกิจจึงมีส่วนเสริมเป้าหมายด้านนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลโดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ และเกาะเกี่ยวผลประโยชน์ในความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนกับประเทศต่างๆ ได้อย่างรอบทิศทางมาโดยตลอดยุคสมัยปัจจุบัน
การดำเนินการต่างประเทศของทั้งกลุ่มธุรกิจ และรัฐบาลญี่ปุ่น บนหลักของการแยกเรื่องการเมืองออกจากเรื่องเศรษฐกิจ (seikei bunri) จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของญี่ปุ่นที่ตอบสนองผลประโยชน์แห่งชาติอย่างดีเยี่ยมอยู่แล้ว ไม่ใช่การเล่นบทบาทผู้นำทางอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย เฉกเช่น สหรัฐอเมริกา
ดังนั้น ถ้าเราวิเคราะห์อย่างใจเป็นกลาง ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว จะพบว่า ข้อเรียกร้องของ Kobayashi มิได้วางเป้าหมายอยู่ที่การกดดันให้ไทยเป็นประชาธิปไตยด้วยเห็นว่าเป็นระบอบการเมืองที่ดี แต่เขาต้องการสะท้อนให้รัฐบาลไทยรับรู้ถึงข้อวิตกกังวลของ Keidanren และในนามของบรรดากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ว่า สภาพการณ์ทางการเมืองแบบที่เป็นอยู่นั้น ไม่เป็นผลดีต่อการร่วมสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมากกว่า โดยเฉพาะบรรดาชุดโปรเจกต์ความร่วมมือร่วมทุนหลากหลายที่รัฐบาลไทยเตรียมไป “เสนอตัว” ให้เขา
ถ้าตั้งโจทย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นเช่นนี้แล้ว จะพบว่า “สมการที่ต้องแก้” นี้ มิใช่ “สมการด้านการเมือง” ซึ่งว่าด้วย “การไปสร้างความเข้าใจ และยืนยันการก้าวไปสู่ประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง และยั่งยืนของไทย ตลอดจนการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง”
แต่เป็น “สมการด้านเศรษฐกิจ” เสียมากกว่า ซึ่งต้องแก้ด้วยสูตรของ “การสร้างความเชื่อมั่น และส่งเสริมบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการค้า การลงทุน อย่างมีกึ๋นพอ”
อันที่จริง ผมอยากเสนออะไรที่เป็นรูปธรรมเผื่อไว้พิจารณากันนะครับ แต่เดี๋ยวผู้หลักผู้ใหญ่ท่านจะหาว่าเสือกงานเขา แล้วมาโกรธาพาลใส่ ท่านมีงานต้องทำเยอะอยู่แล้ว ประเดี๋ยวอารมณ์เสีย ก็เสียงาน ล่าช้า ปวดหัวกันไปอีก เอาเป็นว่า ถ้าคิดว่าเก่ง ถ้าคิดว่าดี ก็ทำต่อกันเองไป ผมเอาเวลาอ่าน Kinfolk จิบกาแฟ เซลฟีอัพลงอินสตาแกรมดีกว่า แต่ก่อนไป ขอเสือกเสนอแนะอยู่หน่อยนึง คือ
จะปรารถนาให้ต่างชาติ “ไว้ใจและศรัทธา” อย่างเดียวแค่นั้นพอ เหมือนคนไทย ไม่สำเร็จหรอกนะครับ เพราะเขาจะมาลงทุน มาค้าขาย ไม่ได้มาไหว้พระ เขาต้องการเหตุผลและวิสัยทัศน์ ไม่ใช่ศรัทธาน่ะครับ
——
ข้อมูลเกี่ยวกับ Keidanren ผมอาศัยอ้างอิงมาจากงานของ อ.ไชยวัฒน์ ค้ำชู เรื่อง “นโยบายต่างประเทศญี่ปุ่น: ความเปลี่ยนแปลงและความต่อเนื่อง”อยู่เยอะเหมือนกัน หากท่านผู้อ่านสนใจจะเข้าใจญี่ปุ่นกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากขึ้น เล่มนี้ของ อ.ไชยวัฒน์ ก็นับเป็น ‘the must’ ทีเดียวครับ.
ผู้อำนวยการโครงการวิทยาลัยการเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช