1. บทนำ
งานเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของกาแฟจำนวนมากมักจะกล่าวถึงความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างกว้างขวางในเรื่องเกี่ยวกับการค้นพบกาแฟว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรและเมื่อไหร่ นักประวัติศาสตร์ไม่สามารถหาบทสรุปที่สอดคล้องตรงกันได้และยังคงยากที่จะกำหนดช่วงเวลาที่เชื่อถือได้ ตำราที่รู้จักกันว่าเก่าแก่ที่สุดที่ศึกษาถึงประวัติศาสตร์ของกาแฟเป็นตำราของมุสลิม มีมาจากศตวรรษที่ 15 อย่างที่เราจะเห็นได้ว่า ผลงานเหล่านี้ให้ข้อมูลอย่างกว้างขวางจำนวนมากเกี่ยวกับลักษณะทางสังคมของเครื่องดื่มนี้ รวมไปถึงกระบวนการที่ทำให้มันแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆ ในโลกมุสลิม เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ตำราเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม สำหรับการค้นพบกาแฟเป็นครั้งแรกนั้น ยังมีช่องว่างที่น่าคิดอยู่บางส่วนเพราะตำราเหล่านี้อ้างอิงจากเพียงประจักษ์พยานผู้ร่วมสมัยของมันเท่านั้นซึ่งไม่ได้ย้อนกลับไปในหลายรุ่นก่อน เพื่อติดตามลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของกาแฟ ด้วยเหตุนี้ นักประวัติศาสตร์ที่ติดตามตำราเหล่านี้ได้ให้เหตุผลขัดแย้งกันในเรื่องการเริ่มนำกาแฟเข้าไปสู่โลกมุสลิมในอดีต ยกตัวอย่างเช่น แฮทท๊อกซ์ ได้ระบุไว้ว่าเป็นศตวรรษที่ 15 โดยอ้างจากแหล่งข้อมูลภาษาอาหรับเหล่านี้ เขาอ้างว่ามุสลิมชาวเยเมนได้ซื้อกาแฟจากเอธิโอเปียเมื่อประมาณ ค.ศ.1400
อย่างที่เราจะเห็นต่อไป จากหลักฐานอื่นๆ เช่น จากของอัร-รอซี และอิบนฺ ซีนา เราจะได้ข้อสรุปว่า กาแฟเป็นที่รู้จักกันมานานตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นศตวรรษที่ 10 อย่างน้อยก็ในวงการแพทย์
2. แหล่งที่มาของมุสลิมในยุคแรกเริ่ม
จากความเห็นของฟัครุดดีน อะบู บักร์ อิบนฺ อะบี ยาซีด อัล-มักกี กล่าวอ้างว่า ชาวซูฟีกลุ่มหนึ่งที่ใช้ชื่อนิกายว่า ชาดิลยา ผู้เคยทำอัล-เกาะฮ์วา มาจากค๊อฟตา โดยใช้ใบกั๊ต (Al-Qat) พืชกระตุ้นร่างกายชนิดหนึ่งที่รู้จักกันดีในแถบอาหรับ เนื่องจากการขาดแคลนกั๊ตในเอเดน เชคอัล-ดับฮานีได้แนะนำให้ผู้ปฏิบัติตามท่านใช้ bunn (เมล็ดกาแฟ) แทน อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่หลักฐานแน่นอนที่จะกล่าวว่า ครั้งแรกที่มีการใช้กาแฟในเยเมนคือเมื่อศตวรรษที่ 15 กาแฟอาจเป็นที่รู้จักกันมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ถูกแทนชื่อด้วยคำว่า Al-Qat ในตอนนั้น

แฮ๊ทท๊อกซ์ได้กล่าวถึงแหล่งที่มาของอาหรับอื่นๆ ซึ่งเขาอ้างการกำหนดว่ากาแฟเริ่มถูกแนะนำให้รู้จักกันเมื่อกลางศตวรรษที่ 15 เป็นช่วงแรกเริ่มที่สุดแล้ว ทฤษฎีนี้สอดคล้องกันกับทฤษฎีของจอห์น เอลลิส ผู้ที่อ้างถึงอิบนฺ ชิฮาบ อัด-ดีน (ศตวรรษที่ 15) ที่ให้อ้างการแนะนำให้รู้จักการดื่มกาแฟในเยเมนเป็นครั้งแรกแก่ญามาล อัด-ดีน มุฟตีจากเอเดน ผู้ซึ่งเกือบร่วมสมัยกับเขา ระหว่างการเดินทางไปเปอร์เซียของเขาครั้งหนึ่ง ญามาล อัด-ดีน ได้เห็นคนในประเทศของเขาบางคนดื่มกาแฟ ในตอนนั้น เขาไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก แต่ระหว่างการเดินทางกลับเอเดน เขาเกิดล้มป่วยลง และตัดสินใจที่จะลองดื่มกาแฟเพื่อจะดูว่ามันจะช่วยให้อาการของเขาดีขึ้นได้ ไหม เมื่อลองดื่มดูแล้ว ไม่เพียงแต่สุขภาพของเขาจะดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังได้รับคุณสมบัติที่มีประโยชน์อื่นๆ อีก ประกอบไปด้วยการบรรเทาความปวดศีรษะ ทำให้มีชีวิตชีวา และทำให้ไม่ง่วง ด้วยเหตุนี้ จึงแนะนำให้เพื่อนสมาชิกชาวซูฟีของเขาได้ดื่มกันเพื่อช่วยให้พวกเขาทำนมาซ ข้ามคืนกันได้ ตัวอย่างและต้นแบบจากมุฟตีท่านนี้ได้ทำให้กาแฟมีชื่อเสียงขึ้นมา มันถูกเผยแพร่ไปทั่ว และเข้าแทนที่การดื่มกั๊ตได้ทีละน้อย
อย่างไร ก็ตาม แหล่งที่มาของตุรกีมีอายุย้อนไปมากกว่านี้ บริเซลได้กล่าวไว้ใน Kahvaler Kitab ของเขาว่าการค้นคบกาแฟเป็นครั้งแรกคือเมื่อปี 1258 เขาให้คำอธิบายอ้างไปถึงเชคผู้มีชื่อว่าอุมัรฺ ผู้ซึ่งค้นพบกันด้วยความบังเอิญจากความหิว ซึ่งทำให้เขารับประทานเมล็ดของมัน มีหลักฐานแวดล้อมที่สนับสนุนมุมมองและข้อเสนอแนะของตุรกีที่ว่าจริงๆ แล้ว กาแฟเป็นที่รู้จักของมุสลิมมานานก่อนศตวรรษที่ 15 การมีภาชนะดินเผาหรือเงินรูปร่างเหมือนคนโท ซึ่งสามารถอ้างอิงได้ถึงการมีกาแฟ ก็เริ่มมีอยู่โลกมุสลิมมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 และ 14 แล้ว
ยังมีหลักฐานมากกว่านั้นที่แสดงให้เห็นว่ากาแฟเปนที่รู้จักของมุสลิมมาก่อนหน้าปี 1258 ที่บริเซลระบุไว้อีก เรารู้กันว่าอิบนุซีนา (เอวิเซนน่า) ผู้เป็นนักวิชาการและแพทย์ได้ใช้กาแฟเป็นยาเมื่อประมาณสหัสวรรษแรก มีการอ้างอิงและการอรรถาธิบายถึงสรรพคุณทางยาของกาแฟเอาไว้ในตำรา Al-Qanun fi al-tib ของเขา ซึ่งเขาได้อธิบายว่ากาแฟเป็น “ส่วนประกอบที่มาจากเยเมน กล่าวกันว่ามันผลิตมาจากรากของ Thorn Aegiptia ซึ่งจะหล่นเมื่อสุกงอม ชนิดที่ดีกว่าคือสีเหลือง และเบา กลิ่นหอม เมล็ดสีขาวและหนักจะไม่ค่อยดี มันช่วยฟื้นฟูร่างกาย ทำความสะอาดผิวหนัง และทำให้ความชื้นที่อยู่ด้านใต้ของมันแห้งขึ้น และทำให้ร่างกายมีกลิ่นหอม” คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เป็นที่ชัดเจนว่ากาแฟมีในเยเมนมาอย่างน้อยก็เมื่อประมาณ ศตวรรษที่ 10 แล้ว ก่อนหน้าเขา นายแพทย์อัล-รอซี(รอเซส) ผู้มีชื่อเสียงเมื่อต้นศตวรรษที่ 10 ก็ได้ระบุถึงสรรพคุณทางยาของกาแฟเอาไว้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนทั้งสองท่านนี้ได้ใช้คำว่า bunn คำย่อภาษาอาหรับจากชื่อเอธิโอเปียสำหรับการกล่าวถึงกาแฟ

คำ ว่า ‘coffee’ ในภาษาอังกฤษ มาจากคำว่า ‘kahveh’ ในภาษาตุรกี ซึ่งมีรากมาจากคำว่า ‘qahwah’ ในภาษาอาหรับ แต่ในภาษาอาหรับแบบตันติภาษา(ภาษาที่มีแบบแผน) เรียกกาแฟว่า bunn ซึ่งในภาษาอาหรับสมัยใหม่คำนี้หมายถึงเมล็ดของกาแฟเท่านั้น นี่คือคำที่ อัล-รอซี ใช้ ซึ่งเขาได้รับความเชื่อถือว่าเป็นคนแรกที่เขียนคำอรรถาธิบายสรรพคุณทางยาของ กาแฟ เขาเรียกเมล็ดและต้นของกาแฟว่า bunn และการดื่มกาแฟเรียกว่า bunchum ซึ่งเขาเสริมว่ามีประโยชน์ต่อกระเพาะอาหาร ภายหลังจากเขาไม่นาน ประมาณปี 1000 อิบนุ ซีนา ก็ได้กล่าวถึงคุณประโยชน์ของ bunchum ด้วยเช่นกัน โดยกล่าวอ้างว่ากาแฟช่วยเสริมสร้างอวัยวะ ช่วยทำความสะอาดร่างกาย และช่วยให้ทั่วร่างกายมีกลิ่นหอม
ยูเคอร์ นำการค้นพบกาแฟย้อนหลังกลับไปถึงปีค.ศ.750 เมื่อคนเลี้ยงแพะชาวอาหรับคนหนึ่งมีชื่อว่า คอลิด ที่อาศัยอยู่ในเอธิโอเปีย ได้สังเกตุเห็นว่าแพะของเขามีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปเมื่อกิตใบจากพุ่มไม้ ชนิดหนึ่ง ต่อมาจึงได้รู้ว่าพุ่มไม้นั้นคือต้นกาแฟ เรื่องนี้ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางและเป็นที่ยอมรับของนักประวัติศาสตร์ ส่วนใหญ่
จากข้างต้น จะเห็นได้ชัดว่ากาแฟถูกค้นพบโดยชาวมุสลิมเมื่อประมาณศตวรรษที่ 10 มีการใช้และเพาะปลูกกันครั้งแรกในประเทศเยเมน แทนที่จะรับประทานเมล็ดของมัน ชาวเยเมนจะนำมาต้มและทำให้มีความนิยมในการดื่มอัล-เกาะฮ์วา(Al-Qahwa) ยังมีความสอดคล้องกันตรงกันด้วยว่าผู้ที่ใช้กาแฟเป็นกลุ่มแรกคือชาวซูฟีที่ ใช้มันเพื่อกระตุ้นร่างกายให้ตื่นอยู่ได้ในเวลาดึกดื่นของกลางคืนเพื่อทำการ รำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า กาแฟแพร่กระจายไปยังมุสลิมในส่วนอื่นๆ ของเยเมนและค่อยๆ แพร่กระจายไปทั่วโลกมุสลิมโดยผ่านนักท่องเที่ยว นักแสวงบุญ และพ่อค้าวานิช มันได้มาถึงมักกะฮ์และตุรกีเมื่อประมาณปลายศตวรรษที่ 15
มีรายงาน โดยอับดุล กอดิร อัล-จาซิรี (ประมาณปี 1558) ในหนังสือของเขาชื่อ ‘Umdat Al-Safwa, (การพิจารณาเพื่อความชอบธรรมในการใช้กาแฟ) เอกสารที่เขียนขึ้นประมาณก่อนปี 1587 โดยอ้างจากฟัครุดดีน อะบูบักร์ อิบนฺ อะบี ยาซีด อัล-มักกี ผู้วึ่งยืนยันว่าอัล-เกาะฮ์วาไม่ได้ไปถึงมักกะฮ์จนกระทั่งถึงสิ้นศตวรรษที่ 9 ของฮิจเราะฮ์ศักราช (ศริตศตวรรษที่ 15) ต่อมาเขาได้กล่าวถึงแหล่งที่มาอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งให้รายละเอียดเกี่ยวกับการที่กาแฟเข้าไปถึงกรุงไคโรได้อย่างไร อิบนฺ อับดุล-ฆอฟฟารฺ รายงานว่าในทศวรรษแรกของฮิจเราะฮ์ศตวรรษที่ 10 (กลางคริสต์ศตวรรษที่ 16) กาแฟถูกนำมาไปยังนักศึกษาเยเมนในโรงเรียนอัล-อัซฮัรฺ ซึ่งได้ใช้กาแฟเพื่อส่งเสริมในการทำกิจกรรมต่างๆ ในการซิกร์(รำลึกถึงพระเจ้า) จากอัล-อัซฮัรฺ กาแฟจึงได้เริ่มเข้าไปตามท้องถนน ร้านค้า และบ้านเรือนในกรุงไคโร ในต้นศตวรรษที่ 15(ในปี 1453) กาแฟก็ได้เข้าไปถึงตุรกีด้วยการมีร้านกาแฟเป็นแห่งแรก คือร้าน Kiya Han เปิดในกรุงอิสตันบูลเมื่อปี 1475

ตำราของอัล-จาซิรี ถูกเขียนขึ้นเพื่อตอบสนองต่อข้อถกเถียงทางศาสนาในเรื่องคุณธรรมและความถูก หลักการภายใต้กฎหมายอิสลามของเครื่องดื่มนี้ที่กำลังกวาดไปทั่วสังคมออตโต มาน มันเป็นเอกสารที่มีความเก่าแก่มากที่สุดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์, การจัดเตรียม, การใช้, คุณค่า และคุณประโยชน์ของการดื่มกาแฟ เมื่อกาแฟได้เข้ามาเป็นที่รู้จักกันในมักกะฮ์และมะดีนะฮ์แล้ว ไม่นานหลังจากนั้นผู้แสวงบุญยและพ่อค้าวานิชก็ได้แพร่กระจายมันออกไปสู่มุม ต่างๆ ของโลกมุสลิม จากจุดนั้น กาแฟก็ได้เข้ามาถึงยุโรปในศตวรรษที่ 17 ผ่านทางเวนิซ, มาร์คแซย์, อัมสเตอร์ดัม, ลอนดอน และเวียนนา
ด้วย เหตุนี้ ธุรกิจการส่งออกกาแฟของเยเมนจึงรุ่งเรืองขึ้นในระหว่างช่วงแรกของออตโตมาน ระหว่างปี 1536 ถึง 1636 ขณะที่เครื่องดื่มชนิดนี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ท่าเรืออัล-มุคา ก็ได้ผูกขาดอำนาจมากยิ่งขึ้นในฐานะเป็นแหล่งเดียวในโลกของ bunn จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 18
นอกเหนือจากการกล่าวถึงช่วงเวลาแรกเริ่ม ที่มุสลิมใช้กาแฟ งานเขียวเกี่ยวกับกาแฟของตะวันตกจำนวนมากได้หยิบยกประเด็นข้อถกเถียงเกี่ยว กับกาแฟและร้านกาแฟในประเทศมุสลิม โดยอ้างว่าอิสลามตำหนิการใช้กาแฟเนื่องจากการเสพติดของมัน เป็นความจริงที่ว่าร้านกาแฟเป็นที่รังเกียจเนื่องจากลักษณะอันสิ้นเปลืองและ ไร้สาระของกิจกรรมในร้าน โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีนักร้องและนักเต้นหญิง และอื่นๆ เช่นเดียวกันนี้ แต่ข้อถกเถียงทางสังคมเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้ช่วยขัดขวางการแพร่ขยาย ร้านกาแฟที่มีอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอเข้ามาในกลางเมืองหลวงต่างๆ
3. กาแฟในตุรกีและบัลข่าน
กาแฟ ตุรกีที่มีชื่อเสียงจัดเตรียมโดยการต้มผงเมล็ดกาแฟคั่วอย่างดีในหม้อ (cezve) อาจเติมน้ำตาลบ้าง และเทใส่ถ้วยกาแฟซึ่งจะมีก้นตะกอนกาแฟ ชื่อที่เรียกอธิบายถึงวิธีในการจัดเตรียมไม่ใช่วัตถุดิบที่ใช้ กาแฟตุรกีมีอยู่ทั่วไปทั้งตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ คอเคซัส และคาบสมุทรบัลข่าน และยังมีดื่มกันในชุมชนชาวตุรกี, บัลข่าน และชาวตะวันออกกลางที่อพยพไปอยู่ในส่วนอื่นๆ ของโลกอีกด้วย วัฒนธรรมร้านกาแฟมีการพัฒนาขึ้นอย่างมากในอาณาจักรออตโตมานจนกระทั่งร้าน กาแฟได้กลายมาเป็นอุปนิสัยที่แตกต่างและโดดเด่นอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมทาง สังคม กาแฟได้ส่งผลต่อวัฒนธรรมของตุรกีเป็นอย่างมากจนกระทั่งคำศัพท์ภาษาตุรกีที่ ใช้เรียกอาหารเช้ายังใช้คำว่า คาห์วัลตี (kahvalti) ซึ่งหมายถึง “ก่อนกาแฟ” ขณะที่คำว่าสีน้ำตาลในภาษาตุรกียังใช้คำว่า คาห์เวเรนจี (kahverengi) ซึ่งแปลว่า สีกาแฟ
นักเดินทางชาวอังกฤษที่ใช้ชื่อว่า ชาร์ลส์ แมค ฟาร์เลน ผู้ซึ่งได้อยู่ในเหตุการณ์ของช่วงปีที่วุ่นวายมากที่สุดในการพยายามปฏิรูปอ อตโตมานระหว่างการปกครองของมาห์มูดที่ 2 ในอิสตันบูล เขาได้ทำการสังเกตการณ์อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับรูปแบบวัฒนธรรมการใช้ชีวิตใน แถบชนบทที่กำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลง ชาร์ลส์ แมค ฟาร์เลส ได้สรุปในการแนะนำการท่องเที่ยวของการด้วยประโยคที่ว่า “ชาวเติร์กไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากกาแฟ”
การสรุปเช่นนี้ ของนักเขียนนักบูรพาคดีทำให้เกิดการอ้างอิงถึงนิสัยทางสังคมที่แพร่หลายด้วย การบริโภคกาแฟในร้านกาแฟทั่วเมืองต่างๆ ในอาณาจักรออตโตมาน ประชาชนที่ล้อมวงพูดคุยกันตามร้านกาแฟทำให้เกิดปรัชญาชีวิตใหม่ๆ ที่ถักทอขึ้นร่วมกันระหว่างบรรดาผู้ที่มีความหลงใหลในรสชาติที่เกิดจาก เครื่องดื่มอันลึกลับชนิดนี้ จากที่นั่น พวกเขาได้สร้างเครือข่ายที่แพร่หลายทางวัฒนธรรมที่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น และชัดเจนขึ้น จนส่งผลให้เกิดกระบวนการขัดเกลาทางสังคมที่แวดล้อมไปทุกองค์ประกอบของสังคม

ด้วยการที่องค์ประกอบต่างๆ ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นในแวดวงของเจ้าหน้าที่รัฐบาล, พ่อค้าวานิช และนายช่างฝีมือ ทั้งคนเคร่งศาสนาและคนเสเพล ได้ออกมาจากแวดวงที่ใกล้ชิดของตัวเองออกมาสู่ร้านกาแฟที่มีลักษณะแบบ เดียวกัน กาแฟได้เป็นสื่อของการพัฒนาไปสู่รูปแบบทางสังคมที่ทุกคนสามารถนำเสนอความรู้ และประสบการณ์ของตัวเองออกมาได้ ในแง่นั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าอุปนิสัยที่กาแฟได้สร้างขึ้นโลกมุสลิมได้ก่อให้เกิดรูปแบบ ของผู้คนแบบใหม่ที่เป็นพื้นฐานของการก่อเกิดสังคม
อิสตันบูลได้เริ่ม รู้จักกาแฟในปี ค.ศ.1543 ระหว่างยุคสมัยการปกครองของซุลต่านสุลัยมานผู้ยิ่งใหญ่ โดยการแนะนำของออสเดมิร์ ปาชา ผู้ว่าราชการของออตโตมานประจำเยเมน ซึ่งเริ่มชอบการดื่มกาแฟเมื่อครั้งที่ไปประจำการอยู่ในประเทศนั้น ในราชวังของออตโตมานแห่งนี้ วิธีการดื่มกาแฟแบบใหม่ได้ถูกค้นพบขึ้น เมล็ดกาแฟถูกนำมาคั่วบนไฟ บด แล้วจึงนำมาต้มในน้ำ ด้วยกลิ่นหอมและวิธีการชงแบบใหม่นี้ ชื่อเสียงของกาแฟจึงแพร่สะพัดออกไปไกลยิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในไม่ช้า กาแฟก็ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญยิ่งในห้องครัวของราชวัง และเป็นที่นิยมอย่างมากในราชสำนัก ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายปรุงกาแฟ (kahvecibasi) ได้ถูกเพิ่มขึ้นในรายชื่อผู้ปฏิบัติหน้าที่ในราชสำนัก หน้าที่ของหัวหน้าฝ่ายปรุงกาแฟคือการชงกาแฟให้สุลต่านหรือหมาดเล็กของ พระองค์ และได้รับคัดเลือกจากการมีความจงรักภักดีและมีความสามารถในการเก็บรักษาความ ลับ ในประวัติศาสตร์ของออตโตมานได้มีบันทึกชื่อของหัวหน้าฝ่ายปรุงกาแฟหลายคนที่ ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นอัครมหาเสนาบดีของสุลต่าน
ในไม่ช้า กาแฟได้แพร่หลายจากราชวังไปสู่คฤหาสน์หลังใหญ่ๆ และจากคฤหาสน์เหล่านั้นก็ได้แพร่ไปสู่บ้านเรือนของประชาชน ประชาชนในอิสตันบูลหลงรักเครื่องดื่มชนิดนี้อย่างรวดเร็ว เมล็ดกาแฟสีเขียวถูกซื้อนำมาคั่วในกระทะที่บ้าน หลังจากนั้นจึงบดด้วยเครื่องโม่แล้วต้มในหม้อต้มกาแฟที่เรียกว่า cezve (หม้อต้มกาแฟแบบมีด้ามจับ)
ประชาชนโดยทั่วไปส่วนใหญ่เริ่มมีความคุ้น เคยกับกาแฟจากการเกิดขึ้นของร้านกาแฟ ร้านกาแฟแห่งแรก (ชื่อ Kiva Han) เปิดขึ้นที่ตำบล Tahtakale และร้านอื่นๆ ก็ได้ผุดขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วทั้งเมือง ร้านกาแฟและวัฒนธรรมการดื่มกาแฟจึงได้กลายเป็นส่วนที่งอกเงยขึ้นมาใน วัฒนธรรมทางสังคมของอิสตันบูลในไม่ช้า ชาวเมืองจะมาที่นี่ตลอดทั้งวันเพื่ออ่านหนังสือและข้อความที่สวยงาม เล่นหมากรุกและหมากแบ๊คแกมมอน และปรึกษาหารือกันเรื่องการแต่งบทกลอนและวรรณคดี ขอบคุณในความพยายามของพ่อค้าและนักเดินทางที่ผ่านมายังอิสตัลบูล ที่ทำให้กาแฟของตุรกีได้แพร่ไปสู่ยุโรปในไม่ช้า และในที่สุดก็ได้กระจายไปทั่วโลก

นักบันทึกจดหมายเหตุชาวออตโตมาน อิบรอฮีม เปเซวี รายงานการเปิดร้านกาแฟแห่งแรกในอิสตันบูลว่า “ในเมืองคอนสแตนติโนเปิลอันสูงส่งและพระเจ้าพิทักษ์ รวมทั้งแผ่นดินโดยทั่วไปในออตโตมาน กาแฟและร้านกาแฟไม่เคยมีมาก่อนจนกระทั่งถึงปี 962 (ค.ศ.1554-55) ประมาณปีนั้นเอง ชายชื่อฮาเก็ม(ฮากัม)จากอาเล็ปโป และคนไม่เอาไหนที่ชื่อเซ็มส์(ชัมส์) จากดามัสกัส ได้มาที่เมืองนี้ พวกเขาเปิดร้านใหญ่แห่งหนึ่งขึ้นในตำบลนี้ชื่อ Tahtakale และเริ่มจัดหากาแฟ”
ในตะวันออกกลาง กาแฟตุรกีถูกเรียกง่ายๆ ว่า ‘coffee’ ในภาษาท้องถิ่น ในตุรกีคำว่า ‘kahve’ หมายถึงกาแฟตุรกี จนกระทั่งกาแฟสำเร็จรูปถูกแนะนำให้รู้จักกันในปี 1980 ปัจจุบัน คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เรียกมันว่า Turk kahvesi (กาแฟตุรกี) ในหลายภาษา คำว่า กาแฟ “ตุรกี” ถูกแทนที่ด้วยชื่อตามท้องถิ่นนั้นๆ (เช่น “กาแฟอเมริกัน”, “กาแฟกรีก” และ “กาแฟไซเปรียต” คำว่า “กาแฟ” และ “ร้านกาแฟ” ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงในภาษากรีกเช่นเดียวกับในภาษาอื่นๆ ในคาบสมุทรอาหรับ ยังคงใช้คำว่า kahve และ kahvehane ในภาษาตุรกีออตโตมานอยู่ เช่น ในภาษาบัลกาเรีย, มาซิโดเนีย, เซอร์เบีย, โครเอเชีย, บอสเนีย, สโลเวเนีย, โรมัน, กรีก และอัลบาเนีย
ในชาติอาหรับ กาแฟ “ตุรกี” คือกาแฟทั่วไปเกือบทุกชนิด เรียกว่า กาแฟอาหรับ (qahwa arabiyah) หรือ กาแฟชามี (ลิแวนต์) เพียงบางโอกาสเท่านั้นที่ชาวอาหรับจะกล่าวถึงกาแฟตุรกีว่าเป็นกาแฟจากประเทศ ของตนเอง ดังนั้น การทำ “กาแฟอียิปต์”, “กาแฟเลบานอน”, “กาแฟอิรัก” และต่างๆ เหล่านี้ จะเรียกชื่อเพื่อเจาะจงให้เห็นความแตกต่างของรสชาติ, การจัดเตรียม หรือแสดงให้เห็นกาแฟตุรกีสองประเภทที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ชาวอียิปต์ใช้คำว่า qahwa Arabiya เพื่อให้แตกต่างจาก qahwa Masriya เพื่อเป็นการบ่งบอกลักษณะรูปแบบของอียิปต์จากกาแฟตุรกี
เช่น เดียวกัน ในทุกภูมิภาคที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของออตโตมานและตุรกีในหลายศตวรรษที่ผ่านมา ชื่อของการจัดเตรียมกาแฟท้องถิ่นสะท้อนให้เห็นผลกระทบจากตุรกีนี้จนกระทั่ง ถึงปัจจุบัน ในไซปรัส กาแฟท้องถิ่นเรียกว่า กาแฟไซเปรียต(kypriakós kafés) มีการชงทั้งแบบไม่หวาน หวานปานกลาง หรือหวานมาก ในอาร์มาเนีย เรียกกาแฟตุรกีว่า กาแฟซอร์จ(sourj) หรือ ฮัฟคาคัน ซอร์จ(haykakan sourj) (กาแฟอาร์มาเนียน) ในโรมาเนีย เรียกกาแฟตุรกีว่า ‘cafea turceasca’, ‘cafea caimac’ หรือ ‘cafea la ibric’. หม้อกาแฟเรียกว่า ‘ibric’ และในโดโบรเกียจะปรุงกาแฟในกาต้มน้ำทองแดงที่เต็มไปด้วยทราย กาแฟประเภทนี้เรียกว่า ‘cafea la nisip’

แต่เราจะพบเห็นอิทธิพลที่มากกว่านั้นใน อุปนิสัยและภาษาของชุมชนชาวมุสลิมในคาบสมุทรบัลข่าน ในบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีน่า กาแฟตุรกีถูกเรียกว่า “กาแฟบอสเนียน” ซึ่งมีการปรุงที่แตกต่างกันเล็กน้อยกับของตุรกี มันมักจะทำมาจากกาแฟยี่ห้อของบอสเนีย (มีทั้ง Zlatna Džezva, Minas, และ Saraj Kafa). การดื่มกาแฟในบอสเนียเป็นธรรมเนียมประจำวันมาแต่โบราณ และเป็นบทบาทสำคัญอย่างหนึ่งในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างการพบปะสังสรรค์กัน
ในโครเอเชีย เรียกว่า turska kava “กาแฟตุรกี” หรือไม่ก็เรียกกันง่ายๆ ว่า kava ยกเว้นเมื่อใช้เรียกคาเฟ่ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความสับสนกับเครื่องดื่มกาแฟประเภทอื่นๆ ในอัลบาเนีย รู้จักกันว่า กาแฟตุรกี (Kafe Turke) และมันเป็นเครื่องดื่มที่นิยมกันอย่างมากถึงแม้ในช่วงหลังนี้เสน่ห์ของมันจะ หายไปบ้างในหมู่คนหนุ่มสาวที่นิยมกาแฟรูปแบบอิตาเลี่ยนอย่างเอสเปรสโซ่ กาแฟชนิดนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมอัลบาเนีย ในสาธารณรัฐมาซีโดเนียโดยทั่วไปเรียกกันว่า Tursko kafe ถึงแม้จะเรียกกันง่ายๆ ว่าTursko.
Turška kava เป็นชื่อเรียกกาแฟตุรกีในสโลเวเนีย อย่างไรก็ตาม จะเรียกกันง่ายๆ ว่า kava นอกจากเมื่อจะใช้เรียกในคาเฟ่ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความสับสนกับเครื่องดื่มกาแฟประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะกาแฟเข้ม (ไม่ใส่น้ำตาลและนม) มักจะเรียกว่า crna kava (กาแฟดำ)
4. การถ่ายทอดกาแฟไปยังยุโรป
โดย ผ่านช่องทางในการติดต่อที่มีอยู่มากมาย มุสลิมภายในและภายนอกยุโรปมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดแนวความคิด, ขนบธรรมเนียม, อาหาร, ศิลปะ และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ประชาชนส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ, อังกฤษ และยุโรปจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับอิทธิพลของอาหารมุสลิมเช่น แกง และโดเนอร์เคบับ ที่ได้รับการแนะนำโดยผู้อพยพไปอยู่ใหม่ น้อยคนนักที่จะรู้ว่ากาแฟและคาปูชิโน่มีที่มาจากมุสลิม เรื่องราวการถ่ายทอดประเพณีการดื่มกาแฟไปยังยุโรปเป็นเพียงแค่ตัวอย่างหนึ่ง เท่านั้น


4.1 กาแฟในอิตาลี
แหล่ง ข้อมูลทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่ากาแฟเข้ามาถึงในยุโรปดดยผ่านเส้นทางจา กอิตาลี่ การค้าขายที่คึกคักระหว่างเวนิสและแอฟริกาเหนือ อียิปต์ และตะวันออก ได้นำเอาสินค้าของมุสลิม รวมทั้งกาแฟ เข้ามายังท่าเรือชั้นนำของยุโรปแห่งนี้ หลังจากการค้นพบรสชาติของกาแฟ พ่อค้าชาวเวนิสที่มองเห็นความเป็นไปได้ทางการค้าจึงได้ริเริ่มในการนำเข้า กาแฟหลังจากปี 1570 เช่นเดียวกับขนบธรรมเนียมใหม่ทุกอย่าง พวกคนรวยคือคนกลุ่มแรกที่ได้ดื่มด่ำกับเครื่องดื่มชนิดนี้ ในขั้นต่อมา กาแฟถูกขายออกไปสู่ตลาดร้านค้าในเมืองเวนิส และค่อยๆ กลายเป็นสินค้าที่หาซื้อได้อย่างกว้างขวางสำหรับประชาชนโดยทั่วไป ร้านแกแฟแห่งแรกในเวนิสเปิดเมื่อปี 1645 พอถึงปี 1763 เวนิสก็มีร้านขายกาแฟมากกว่า 218 แห่ง ในที่สุด กาแฟก็ได้กลายมาเป็นสิ่งของทางการค้าระหว่างเวนิสและอะมัลฟี, ตูริน, กีโน, มิลาน, ฟลอเรนส์ และโรม จากที่ที่มันถูกส่งไปได้กระจายไปสู่ส่วนอื่นๆ ของยุโรป
แหล่งการถ่ายทอดอีกทางหนึ่งคือผลงานเขียนของนักเดินทางและ นักการทูตที่ไปยังประเทศมุสลิม ยกตัวอย่างเช่น กิยอง ฟราสเซสโก้ โมโรวีนี่ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเวนิสไปยังอาณาจักรออตโตมาน เมื่อปี 1582 ในรายงานฉบับหนึ่งจากอิสตันบูล เขาได้อธิบายถึงความเป็นอยู่ในตะวันออก(ตุรกี) มีสถานที่ทางธุรกิจที่ประชาชนมาพบปะกันวันละหลายๆ ครั้ง เพื่อดื่มเครื่องดื่มร้อนสีดำ ข้อมูลอีกแห่งหนึ่งเปิดเผยว่า ปาดวน ปรอสเปโร อัลปิโน แพทย์และนักพฤกษศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงชาวอิตาลี่ได้ซื้อกาแฟกลับมาจากตะวัน ออก(ส่วนใหญ่จากอียิปต์) หลายกระสอบ และในหนังสือประวัติศาสตร์พืชอียิปต์ ของเขาที่ตีพิมพ์ในเวนิสเมื่อปี 1591 ได้อธิบายถึงต้นกาแฟและผลของมันที่เขาได้ไปเห็นในสวนของกัปตันคนหนึ่งของจา นิสซารี่
เช่นเดียวกับสิ่งของหลายๆ อย่างที่นำเข้ามาจากโลกมุสลิม กาแฟเป็นที่ปฏิเสธในตอนแรกของฝ่ายศาสนา มีผู้เรียกร้องให้พระสันตะปาปาเคลเมนท์ที่ 8 (1536-1605) ห้ามการบริโภคกาแฟ มีเรื่องเล่าว่าหลังจากพระสันตะปาปาได้ลองชิมมัน เขาก็ได้ชื่นชมและอนุญาตให้ดื่มมัน การอนุญาตนี้เป็นการให้ไฟเขียวต่อการบริโภคเครื่องดื่มนี้ และเป็นการเปิดประตูให้กาแฟได้เข้าถึงทุกครัวเรือนในยุโรป
4.2 กาแฟในอังกฤษ
ความสนใจในกาแฟของอังกฤษ (เช่นเดียวกับการอาบน้ำและดอกไม้แบบตุรกี) เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 17 เมื่อตะวันตกเริ่มหลงใหลกับรูปแบบการใช้ชีวิตแบบตุรกีที่เจริญรุ่งเรือง เมล็ดกาแฟเข้ามาจากโมคาห์ทางทะเลแดง(เยเมน) นำเข้ามาโดยบริษัทอีสต์อินเดีย และจากอาเล็ปโป โดยบริษัทลิแวนท์ กาแฟเข้ามาเกี่ยวข้องกับอังกฤษในช่วงแรกๆ ด้วยการใช้เป็นยา แผ่นพับสองหน้าเขียนโดย “แพทย์ชาวอาหรับคนหนึ่ง” (ดร.เอ็ดเวิร์ด โพค๊อคเค่) ปรากฏอยู่ในอ๊อกซ์ฟอร์ด ปี 1659
ร้านกาแฟ แห่งแรกในอังกฤษมีอายุย้อนไปถึงเมื่อปี 1650 ถึงแม้จะเริ่มมีการดื่มกาแฟก่อนหน้านั้นหลายปี เบิร์นรายงานว่า นักศึกษาอ๊อกซ์ฟอร์ดคนหนึ่งชื่อ นาธาเนียล โคโนพิอุส เป็นคนแรกที่ทำกาแฟขึ้นดื่มเองขณะที่เรียนอยู่ในอ๊อกซ์ฟอร์ด ทราบกันว่าเขาออกจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดในปี 1648 ในการกล่าวถึงการก่อตั้งร้านกาแฟแห่งแรกนั้น เบิร์นได้เชื่อมโยงมันไปถึงอ๊อกฟอร์ดด้วย โดยมีนักธุรกิจชาวยิวคนหนึ่งชื่อจาค๊อบ เปิดร้านแห่งแรกเมื่อปี 1650 ที่แองเจลในตำบลเซนต์ปีเตอร์ ออกซ์ฟอร์ดตะวันออก
จากการรายงานของ ดาร์บี้ กาแฟเป็นที่รู้จักกันผ่านทางเส้นทางสายตุรกี เขารายงานว่าพ่อค้าชาวตุรกีคนหนึ่งชื่อพาสกอ รอซี เป็นผู้นำมันเข้ามาเป็นคนแรก เรื่องนี้ต้องเกิดขึ้นก่อนปี 1650 ปีที่ร้านคาเฟ่ชื่อพาสกอ รอซี เฮด ซึ่งตั้งขึ้นตามชื่อของพ่อค้าชาวตุรกีคนนี้ ได้เปิดทำการที่ถนนเวฯต์ไมเคิล คอร์นฮิลล์ และลอนดอน อย่างไรก็ตาม เอลลิสได้ระบุว่าเป็นหลังจากปี 1652 เมื่อเขาได้ให้รายละเอียดเรื่องราวเกี่ยวกับนายพาสกอ รอซี เขาเป็นทาสชาวกรีกของเอ็ดเวิร์ด พ่อค้าชาวตุรกีที่นำเขามายังลอนดอน พาสกอรู้วิธีคั่วและทำกาแฟตามแบบของตุรกี เขาเป็นคนแรกที่ขายกาแฟในร้านกาแฟที่จอร์จยาร์ด ถนนลอมบาร์ด ต่อมาในปี 1658 คาเฟ่อีกแห่งหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า “สุลตาเนสเฮด” ก็เปิดขึ้นในคอร์นฮิลล์ และในปี 1700 มีร้านกาแฟประมาณ 500 แห่งในลอนดอน
ร้านกาแฟเป็นที่ นิยมกันอย่างมากในอังกฤษในช่วงระหว่างศตวรรษที่ 17 ถึงศตวรรษที่ 18 ความนิยมนี้สามารถพบเห็นได้ในงานเขียนวรรณคดีหลายเล่มที่เกี่ยวข้องกับ เรื่องนี้ จากผลงานที่โดดเด่นเหล่านี้จึงสามารถสรุปได้ว่า ร้านกาแฟเคยถูกใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแห่งหนึ่งที่มักจะมีการอ่าน หนังสือพิมพ์ เล่นเกม สูบบุหรี่ ร่วมด้วยการดื่มน้ำชาและกาแฟ มันยังเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์กันเพื่อถกเพียงกันเรื่องการเมืองและสังคมใน หัวข้อที่กำลังเป็นที่สนใจในวันนั้นๆ เนื่องด้วยการทำหน้าที่ประการหลังนี้เอง ทำให้ร้านกาแฟจำเป็นต้องได้รับการจดทะเบียนเป็นครั้งแรกด้วยพระราชบัญญัติปี 1663 ต่อมาในปี 1675 มีการกล่าวอ้างว่าร้านเหล่านี้เป็น “สถานที่ปลุกปั่นเพื่อการกบฏ” และถูกสั่งให้ปิด แต่ได้รับอนุญาตให้เปิดอีกครั้งภายในไม่กี่วันต่อมา

ร้านกาแฟ เคยถูกเรียกว่า “มหาวิทยาลัยหนึ่งเพนนี” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงทัศนะทางสังคมของสถานที่เหล่านี้ว่าเป็นศูนย์กลางของความ รู้ เป็นสัญลักษณ์ว่าสถานที่เหล่านี้มีนักเรียนนักศึกษา นักวิชาการ ศิลปิน และผู้มีความสามารถพิเศษแวะเวียนมาบ่อยครั้ง หนึ่งเพนนีหมายถึงราคาของกาแฟหนึ่งถ้วย
ลักษณะอีกอย่างหนึ่งที่ เกี่ยวกับร้านกาแฟของอังกฤษคือ มักนิยมใช้สัญลักษณ์ของมุสลิม ซึ่งมักจะวาดภาพส่วนหัวของมุสลิมคนหนึ่งติดไว้ด้านนอกร้านเพื่อดึงดูดลูกค้า ภาพวาดและชื่อร้านอย่างเช่น The Saracen’s Head , The Sultan’s Head หรือ The Turks Head ถูกตกแต่งไว้ตามท้องถนนส่วนใหญ่ของอังกฤษ แสดงให้เห็นถึงความชื่นชอบมุสลิมของชาวอังกฤษ
สิ่งที่เกี่ยวข้องกับ ความนิยมชมชอบนี้ที่สะท้อนให้เห็นถึงความพึงพอใจอย่างกว้างขวางนี้ก็คือ การออกเหรียญที่ระลึกซึ่งแพร่หลายอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 17 เหรียญเหล่านี้ออกโดยธุรกิจที่ประสบความขาดแคลนสกุลเงินเล็กๆ ถึงแม้มันจะไม่ได้ออกมาเพียงเพื่อตอบสนองจุดมุ่งหมายนี้เท่านั้น แต่มันก็ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง เหรียญเหล่านี้พิมพ์ออกมาโดยมีสัญลักษณ์(โลโก้) ของร้านกาแฟหรือโรงน้ำชาและวาดภาพหรือชื่อของชาวมุสลิม เหรียญเหล่านี้ถูกขายให้แก่ลูกค้าที่เก็บสะสม สัญลักษณ์เหล่านี้ยังคงประดับประดาอยู่ด้านหน้าโรงน้ำชาหรือโรงแรมบางแห่ง ของอังกฤษ



4.3 กาแฟในฝรั่งเศส
แอ นโทนี่ กัลแลนด์ ได้เขียนในหนังสือ De l’origine et du progrez du café ของเขาเมื่อปี 1699 ยอมรับความเกี่ยวข้องของมุสลิมกับกาแฟ ชา และชอคโกแลต เขาได้รายงานว่า มองซิเออร์ เดอลาครัวส์ ผู้เป็นล่ามของพระเจ้าหลุยส์ที่14 ได้บอกกับเขาว่า นายเธวินอตซึ่งเดินทางผ่านตะวันออกได้นำกาแฟมายังปารีส เมื่อกลับมาถึงเมืองในปี 1657 เธวินอตได้ใช้เมล็ดกาแฟที่เขานำมาเพื่อรับประทานเองและได้แบ่งกาแฟให้กับ เพื่อนๆ ของเขา ซึ่งมีมองซิเออร์ เดอลาครัวส์อยู่ด้วย เดอลาครัวส์ยืนยันนับตั้งแต่นั้นเขาจึงดื่มกาแฟเรื่อยมาโดยซื้อจากพ่อค้าชา วอาร์เมเนียที่มาตั้งหลักแหล่งอยู่ในปารีส และด้วยเหตุนี้มันจึงเป็นที่นิยมของประชาชนในเมืองนี้ อย่างไรก็ตาม การเฟื่องฟูแพร่หลายอย่างจริงจังของเครื่องดื่มชนิดนี้ในปารีสเกิดขึ้นหลัง จากปี 1669 ในปีนั้น ปารีสได้ต้อนรับสุลัยมาน อักฮา เอกอัครราชทูตของสุลต่านมุฮัมมัดที่ 4 ซึ่งผู้ติดตามของเขาได้นำเมล็ดกาแฟคุณภาพดีมาด้วย พวกเขาไม่เพียงแต่ต้อนรับแขกชาวฝรั่งเศสและชาวยุโรปด้วยการดื่มกาแฟเท่านั้น แต่ยังได้มอบเมล็ดกาแฟเป็นของขวัญแก่ราชสำนักด้วย ระหว่างการพำนักของเขา (กรกฎาคม 1669 ถึงพฤษภาคม 1670) เอกอัครราชทูตท่านนี้ได้สร้างนิสัยการดื่มกาแฟขึ้นในหมู่ชาวปารีสอย่าง มั่นคง สองปีต่อมา ชาวอาร์เมเนียชื่อพาฟีลได้เปิดร้านกาแฟแห่งแรกขึ้นในปารีส แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ชาวอาร์เมเนียและชาวเปอร์เซียคนอื่นๆ ได้พยายามลองดูบ้างแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนักเช่นกัน ในที่สุด ชาวฝรั่งเศสได้เปิดร้านกว้างขวางและหรูหรา ประดับประดาด้วยเครื่องเงาแวววาว มีม่านปักดอก และเครื่องประดับแก้วสวยงาม ขายกาแฟ ชา ชอคโกแลต และเครื่องดื่มดื่นๆ ร้านเหล่านี้ได้รับความสนใจจากพ่อค้าชาวปารีสผู้มั่งคั่ง คนในแวดวงแฟชั่นและนักเขียน และจำนวนร้านกาแฟในปารีสแห่งเดียวก็มีมากกว่าสามร้อยแห่งภายในไม่ช้า

กัล แลนด์ได้ย้อนถึงการริเริ่มรู้จักกาแฟครั้งแรกในฝรั่งเศสกลับไปถึงปี 1644 ปีที่ชาวฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่งจากมาร์เซย์ที่เดินทางไปคอนสแตนติโนเปิลร่วมกับ มองซิเออร์ เดอลาเฮย์ และไม่เพียงแต่ได้นำกาแฟกลับมาเท่านั้น พวกเขายังได้นำภาชนะดื่มและเครื่องทำกาแฟกลับมาด้วย ในปี 1671 ร้านกาแฟแห่งแรกเปิดขึ้นในมาร์เซย์ในตำบลเอ็กเชนจ์ ร้านกาแฟแห่งนี้ประสบความสำเร็จ ได้รับความนิยมจากคนกลุ่มใหญ่โดยเฉพาะพ่อค้าวนิชจากตุรกีไปยังลิแวนต์ ซึ่งพบว่ามันทำให้การเจรจาตกลงเรื่องราวเกี่ยวกับการค้ามีความสะดวกอย่างมาก ความสำเร็จนี้เป็นแรงผลักดันให้เกิดมีร้านกาแฟอื่นๆ ขึ้นในมาร์เซย์อีก และต่อมาได้แพร่หลายไปทั่วฝรั่งเศส
4.4 กาแฟในส่วนอื่นๆ ของยุโรป
หลัง จากอิตาลี, ฝรั่งเศส และอังกฤษแล้ว ส่วนอื่นๆ ของยุโรปก็มีความนิยมชมชอบต่อเครื่องดื่มใหม่ชนิดนี้ติดตามมา ตัวอย่างเช่นในเยอรมนี แหล่งข้อมูลระบุว่าลีโอนาร์ด ราอูฟ นายแพทย์และนักพฤกษศาสตร์ชาวเยอมันที่ได้ไปเยือนลิแวนต์เมื่อปี 1573 เป็นชาวยุโรปในกลุ่มแรกๆ ที่กล่าวถึงกาแฟในหนังสือของเขาที่ตีพิมพ์ในปี 1582 ราอูฟระบุถึงกาแฟในอาเล็ปโปของออตโตมาน และเรียกมันว่า chaube เขาถูกติดตามอย่างใกล้ชิดโดยผลงานเขียนจากนักเดินทางชาวยุโรปคนอื่นๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับเวียนนา ข้อมูลทางประวัติศาสตร์กล่าวถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการ ทหารระหว่างออสเตรียและออตโตมาน หลังจากกองทัพตุรกีที่เข้าล้อมกรุงเวียนนาในปี 1683 ประสบความพ่ายแพ้ ก็ได้ทิ้งเมล็ดกาแฟไว้หลายกระสอบ กองทัพของยุโรปได้ปกป้องเมืองนี้ไว้ได้ ซึ่งประกอบด้วยกองทัพของเยอมัน โปแลนด์ และนักรบอาสาสมัครจากประเทศอื่นๆ ในยุโรปอีกหลายประเทศ ได้แบ่งกาแฟเหล่านี้และนำกลับไปยังประเทศบ้านเกิดของตน อย่างไรก็ตาม ร้านกาแฟแห่งแรกที่ปรากฏในกรุงเบอร์ลินมีอายุย้อนไปถึงประมาณปี 1720

ชาวดัทช์ได้ดำเนินการสร้างสวนกาแฟขนาดใหญ่ขึ้น ในประเทศอาณานิคมของพวกเขาในแถบชวาของอินโดนีเซีย ถึงแม้จะไม่เป็นที่รู้กันว่าพวกเขานำเมล็ดพันธุ์มาจากที่ไหน แต่ก็สามารถคาดได้ว่าน่าจะมาจากประเทศมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจจะเป็นอินเดีย จากชวาชาวดัทช์ได้ดำเนินธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเมื่อพวกเขาได้เป็นผู้นำ เข้าและผู้จัดหาเมล็ดกาแฟมายังยุโรป มีรายงานว่าการแพร่หลายของการปลูกกาแฟมีความเกี่ยวข้องกับชาวดัทช์ พวกเขาได้มอบต้นกาแฟต้นหนึ่งให้แก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศสเพื่อปลูกในสวนพฤกษศาสตร์หลวง the Jardin des Plantes ของพระองค์ อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นเช่นนี้จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังเนื่องจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้รับของขวัญเป็นกาแฟจากเอกอัครราชทูตชาวตุรี ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
4.5 กาแฟในอเมริกา
การ เริ่มรู้จักกาแฟในอเมริกาเชื่อว่าเนื่องมาจากฝรั่งเศสผ่านทางการอพยพไปอยู่ ในเมืองขึ้นในหลายพื้นที่ของทวีปนี้ เริ่มจากมาร์ตินิเก้และดินแดนในอาณานิคมในอินดี้ตะวันตก ซึ่งพบว่ามีสวนกาแฟของฝรั่งเศสแห่งแรกที่นั่น
กาเบรียล เดอ คลิว ได้นำต้นกล้ากาแฟมายังมาร์ตินิเก้ในแถบคาริบเบียนประมาณปี 1720 ต้นกล้าเหล่านั้นเจริญงอกงาม และ 50 ปีต่อมา มีต้นกาแฟ 18,680 ต้นในมาร์ตินิเก้จนทำให้สามารถขยายการเพาะปลูกกาแฟไปยังเฮติ เม็กซิโก และเกาะอื่นๆ ในทะเลแคริบเบียน ซานโดมิงโก้มีการเพาะปลูกกาแฟจากปี 1734 และในปี 1788 มีสำรองกาแฟครึ่งหนึ่งของกาแฟในโลก สวนในอาณานิคมของฝรั่งเศสต้องพึ่งแรงงานทาสจากแอฟริกาจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม สภาพการทำงานอย่างหนักของทาสในสวนกาแฟเหล่านี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิด การปฏิวัติของชาวเฮติในเวลาต่อมา อุตสาหกรรมกาแฟของที่นั่นไม่เคยฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่อีกเลย

กาแฟยังได้เดินทางต่อไปยังเกาะ La Réunion ในมหาสมุทรอินเดีย ต้นกาแฟให้เมล็ดกาแฟที่มีขนาดเล็กลงและถือว่าเป็นความหลากหลายที่แตกต่างของ อาราบิก้าที่เรียกกันว่า เบอร์บอน กาแฟซานโตสของบราซิล และกาแฟออกซาก้าของเม็กซิโกเป็นลูกหลานของต้นกาแฟเบอร์บอนนั้น ประมาณปี 1727 จักรพรรดิแห่งบราซิลได้ส่งฟราสซิสโก้ เดอ เมลโล่ พับเฮตา ไปยังกีนีของฝรั่งเศสเพื่อนำเมล็ดกาแฟเข้ามาซึ่งเป็นการเริ่มต้นการเพาะปลูก ฟราสซิสโก้มีความยากลำบากในการหาเมล็ดกาแฟในตอนแรก แต่เขาได้ทำการเพาะปลูกให้แก่ภรรยาของผู้ว่าราชการฝรั่งเศส และเธอได้ส่งเมล็ดกาแฟแก่เขาอย่างเพียงพอเป็นการตอบแทน และเป็นการเริ่มต้นอุตสาหกรรมกาแฟในบราซิล ในปี 1893 กาแฟจากบราซิลได้เริ่มเข้าไปยังเคนย่าและทานซาเนีย ไม่ไกลจากแหล่งดั้งเดิมของมันในเอธิโอเปียเมื่อ 600 ปีก่อน จึงเป็นการสิ้นสุดการเดินทางข้ามทวีปของกาแฟ
ถึงแม้กาแฟจะเข้ามายัง บราซิลเมื่อประมาณปี 1727 แต่การเพาะปลูกกาแฟยังไม่ค่อยกระเตื้องเท่าไหร่จนกระทั่งประเทศได้รับเอกราช ในปี 1822 หลังจากครั้งนั้น พื้นที่ป่าฝนขนาดใหญ่ถูกแพ้วถางไปเพื่อทำเป็นสวนกาแฟ เริ่มจากบริเวณแถบริโอและต่อมายังเซาเปาโล
การเพาะปลูกกาแฟเกิดขึ้น ในหลายประเทศในอเมริกากลางในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 และเกือบทั้งหมดมีความเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายเข้าไปและใช้ประโยชน์ อย่างมากจากชาวพื้นอินเดียนพื้นเมือง สภาวะเหล่านี้นำไปสู่ความวุ่นวาย การยึดอำนาจ และการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมต่อชาวพื้นเมืองหลายครั้ง ยกเว้นในคอสตาริก้า ที่ซึ่งขาดแคลนแรงงานที่พร้อม ทำให้ไม่มีฟาร์มขนาดใหญ่ ฟาร์มขนาดเล็ดและสภาวะที่เท่าเทียมกันช่วยเยียวยาความไม่สงบในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 ได้บ้าง
แปลจาก http://muslimheritage.com/article/coffee-route-yemen-london-10th-17th-centuries
นักแปล, โต๊ะข่าวต่างประเทศ