การประกอบพิธีฮัจญ์ คือ รุก่นอิสลาม (หลักปฏิบัติ)หนึ่ง ในห้าข้อของศาสนาอิสลาม การทำฮัจญ์เป็นหลักปฏิบัติที่เปิดกว้างข้อหนึ่งของศาสนาอิสลาม เป็นหน้าที่ของผู้ที่มีความสามารถทางด้านทรัพย์สิน สุขภาพ และการสัญจรที่ปลอดภัย และเป็นศาสนาพิธีที่บ่งบอกถึงความเสมอภาคอย่างชัดเจน ศาสนาอิสลามถูกเผยแพร่เข้าสู่ประเทศจีนร่วมพันปี สามารถกล่าวได้ว่าประวัติการทำฮัจญ์ของมุสลิมในจีนก็น่าจะร่วมพันปีเหมือนกัน
ตามหลักฐานบันทึกการทำฮัจญ์ของจีน ที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้น มีตั้งแต่สมัยต้นราชวงศ์หมิง(ค.ศ.1368-1644) นั่นก็คือการเดินเรือข้ามมหาสมุทรของเจิ้งเหอ (1371-1433) นั่นเอง มีการบันทึกอย่างชัดเจนว่าปู่และพ่อของเจิ้งเหอเคยเดินทางไปทำฮัจญ์ จำนวนเจ็ดครั้งที่เจิ้งเหอ ออกสำรวจทะเลได้มีการจัดส่งมุสลิมไปประกอบพิธีฮัจญ์ ส่วนตัวเจิ้งเหอนั้นมีรายงานที่แตกต่างกัน บางกระแสรายงานว่าเคยไปทำฮัจญ์ตอนออกสำรวจทะเลครั้งที่ 4 แต่บางรายงานก็ระบุว่าไม่เคยไป
สมัยราชวงศ์ชิง (1636-1911) จำนวน ผู้ที่ไปแสวงบุญมีจำนวนมากขึ้น มีการเดินทางทั้งทางบกและทางทะเล ส่วนมากต้องเดินทางโดยการข้ามทะเลถึงเกาะฮ่องกงก่อน จากฮ่องกงไปถึงอินเดียและไปยังท่าเรือเจดดาห์แล้วมุ่งไปสู่เมืองเมกกะฮ์ เวลากลับก็ต้องเดินทางกลับทางเดิม ระหว่างเดินทางนั้นแม้ว่าจะมีอุปสรรคทางด้านภาษา ต้องปรับตัวกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละแห่งบรรพบุรุษที่ไปแสวงบุญก็ ไม่เคยย่อท้อ บางรายต้องพักค้างที่ประเทศอินเดียเป็นเวลานาน ระหว่างนั้นก็ทำงานประเภทต่างๆ เพื่อความอยู่รอด เช่น เป็นแพทย์จีนรักษาคนไข้ระหว่างที่พักที่ประเทศอินเดีย มีบางครอบครัว มีความตั้งใจไปแสวงบุญทั้งครอบครัว เช่นครอบครัวหนึ่งจากมณฑลเหอเป่ย ตั้งใจเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์พร้อมกันทั้ง 5 คน พ่อแม่และลูกสามคน ระหว่างที่เดินทางไปถึงอินเดีย แม่และลูกคนเล็กเสียชีวิตก่อน หลังจากนั้นพ่อเสียชีวิตตาม แต่ก่อนที่จะเสียชีวิตนั้น ได้กำชับลูกชายทั้ง 2 ว่า “แม้ว่าพ่อจะไปไม่ไหว อย่างไรลูกๆ ทั้งสองก็ต้องไปทำฮัจญ์ให้ได้” หลังจากนั้นลูกชายทั้งสองเติบโตในศูนย์เลี้ยงเด็กกำพร้าในประเทศอินเดีย และได้ไปทำฮัจญ์ตามคำสั่งเสียของพ่อทั้งสอง
นอกจาก เส้นทางทะเลแล้ว ยังมีมุสลิม จีนจำนวนไม่น้อยที่เลือกเดินทางไปทำฮัจญ์ ทางบก โดยออกเดินจากมณฑลซินเจียงทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ผ่านเมืองเตหะรานของอิหร่าน เข้าสู่เมืองแบกแดดของอิรัก ผ่านไปทางตะวันตก เข้าสู่เมืองดามัสกัสของประเทศซีเรีย แวะไปทางเยรูซาเล็มถึง เมืองไคโร หลังจากนั้นนั่งเรือผ่านทะเลแดง ของอียิปต์ไปถึงท่าเรือเจดดาห์ นอกจากนี้แล้วยังมีการเดินทางโดยออกจากทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยออกจากทางมณฑลยูนนาน เข้าสู่ประเทศพม่าแล้วไปยังประเทศอินเดีย นั่งเรือจากประเทศอินเดียไปยังท่าเรือเมืองเจดดาห์ เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ Ma Dexin นักวิชาการมุสลิมจีนเคยเดินทางไปทำฮัจญ์ในช่วงสิ้นปี ของ ค.ศ.1841 และเดินทางเมืองเมกกะฮ์ต้นปี ค.ศ.1843 ใช้เวลาเดินทาง (เฉพาะขาไป) ประมาณปีครึ่ง
ในค.ศ. 1929 มีการเปิดเส้นทางเดินเรือโดยชาวมุสลิมที่ชื่อ Jin Ziyun จากเมืองเซี่ยงไฮ้ของจีนไปถึงท่าเรือเจดดาห์ นับว่าเป็นเส้นทางที่ตรงและประหยัดเวลาที่สุด แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 เส้นทางนี้ก็ถูกยกเลิก กระนั้นก็ตาม ก็ยังพบมุสลิมชาวหุยที่เดินทางไปทำฮัจญ์โดยใช้เส้นทางบก เส้นใหม่คือผ่านที่ราบสูงชิงไห่-ธิเบต เข้าสู่อินเดียนั่งเรือไปยังเมืองเจดดาห์ หลังจากนั้นถึงจะได้ประกอบพิธีฮัจญ์ตามความตั้งใจ
สามารถกล่าวได้ ว่าเส้นทางการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ของมุสลิมในประเทศจีนมีความหลากหลาย มาก แต่ไม่ว่าจะเดินทางด้วยเส้นทางไหนก็ตาม สิ่งที่ ‘ฮัจญ์ยี’ ในอดีตต้องประสบเหมือนกันคือ อุปสรรคทางด้านภาษาและการสื่อสาร ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และปัญหาการปรับตัวในต่างแดน เป็นต้น ดังนั้นจำนวนคนที่ตกค้างอยู่ต่างแดนระหว่างการเดินทางหรือจำนวนของคนที่เสีย ชีวิตระหว่างการเดินทางเป็นจำนวนเท่าไหร่นั้น ยังคงเป็นตัวเลขที่เป็นปริศนา
หลังจากที่สถาปนาสาธารณรัฐจีนใหม่ ในช่วง ค.ศ.1949 รัฐบาลจีนได้ดำเนินนโยบายเสรีภาพทางด้านการนับถือศาสนา (ค.ศ.1952-1964) ทำให้การประกอบพิธีฮัจญ์ของมุสลิม ในจีนมีความยืดหยุ่นขึ้นอีกครั้ง ใน ค.ศ.1952 คณะ วิชาการ นักการศาสนา และสมาชิก พรรคที่เป็นมุสลิมพร้อมด้วยล่ามแปลภาษา ได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์อย่างเป็นทางการ โดยเดินทางผ่านฮ่องกงไปยังเมืองการาจีของปากีสถาน เนื่องจากความไม่เข้าใจเกี่ยวกับ ภูมิหลังทางด้านประวัติศาสตร์ของจีน ทั้งคณะต้องรอวีซ่าที่ปากีสถานเป็นเวลานับเดือน แต่กระนั้นก็ตามยังไม่ได้รับวีซ่า ระหว่างที่คณะ พักที่ปากีสถานนั้น ได้รับการต้อนรับขับสู้ จากชาวปากีสถาน และคณะได้เยี่ยมชมองค์กร ทางด้านศาสนาของปากีสถาน และเผยแพร่ เรื่องนโยบายเสรีทางด้านศาสนาที่รัฐบาลจีน เปิดกว้าง
ในปี ค.ศ.1955 มีการจัดการประชุม บันดุง (การประชุมเอเชีย-แอฟริกาครั้งแรก) ที่ ประเทศอินโดนีเซีย เนื้อหาการประชุมนั้นมุ่งส่งเสริมสามัคคี การต่อต้านจักรวรรดินิยมและลัทธิอาณานิคมพิทักษ์สันติภาพของโลกรวมทั้งส่ง เสริมมิตรภาพของประชาชนทั่วโลกโดยเฉพาะประชาชนในภูมิภาคเอเชีย-แอฟริกา โจวเอินไหลรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของจีนในขณะนั้นเป็นตัวแทนเข้าร่วมของจีน โดยมี Pu Dasheng รอง จุฬาราชมนตรีของจีนในขณะนั้นเป็นผู้ติดตาม หลังจากมีการพูดคุยกับตัวแทนของประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยมีตัวแทนจากประเทศอียิปต์เป็นผู้ประสาน ทำให้ประเทศซาอุดิอาระเบียเข้าใจสถานการณ์ของประเทศจีนมากขึ้น และก่อนการประชุมจะสิ้นสุดลง โจวเอินไหลได้พบปะกับกษัตริย์ไฟซอล (Faisal bin Abdul Aziz Al-Saud) ทั้ง สองฝ่ายได้พบปะพูดคุยกันถึงปัญหาการทำฮัจญ์ของมุสลิมจีน ทางจีนหวังว่าทางซาอุดิอาระเบียจะให้ความสะดวกในการออกวีซ่าให้กับมุสลิมจีน ซึ่งกษัตริย์ไฟซอลก็ตอบรับทันที
หลังจากการประชุมที่บันดุงสิ้นสุดลง คณะจุฬาราชมนตรีของจีนก็ได้เดินทางไปทำฮัจญ์ถัดไป และทั้งคณะจำนวน 37 คน ได้เข้าพบกษัตริย์ไฟซอลระหว่างการทำฮัจญ์ครั้งแรกถึงสามครั้ง ครั้งแรกพบปะในงานเลี้ยงของกษัตริย์ ครั้งที่สอง ในขณะที่ส่งสาส์นอวยพรกษัตริย์ที่ ทุ่งมีนา ครั้งที่สามเป็นการพบปะกับกษัตริย์ตามลำพัง ซึ่งการพบปะเช่นนี้เแสดงให้เห็นถึงความสำคัญในนัยยะของการเมือง หลังจากที่สิ้นสุดการทำฮัจญ์ทั้งคณะก็ได้เดินทางไปเยือนกลุ่มประเทศ ตะวันออกกลางต่างๆ เช่นประเทศอียิปต์ ซีเรีย จอร์แดน เลบานอน ลิเบีย ตูนิเซียและอาฟกานิสถานเป็นต้น
การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ของมุสลิมจีนระหว่างปี ค.ศ.1957-1959 นั้นได้มีโอกาสพบปะกษัตริย์ประเทศซาอุดิอาระเบีย ทุกครั้ง หลังจากปี ค.ศ.1960 -1964 ภายใน ประเทศจีนประสบภัยพิบัติธรรมชาติ ฐานะทางด้านเศรษฐกิจไม่ดี ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จำนวนคนที่เดินทางไปทำฮัจญ์จึงลดน้อยลง รวมทั้งมีการกลั่นแกล้งของหน่วยงานก๊กหมินตั๋งประจำประเทศซาอุดิอาระเบีย ทางจีนจึงได้งดส่งผู้ประประกอบพิธีฮัจญ์ในปี ค.ศ.1955
เหตุการณ์ดูเหมือนจะเลวร้ายเข้าไปอีก เมื่อการปฏิวัติทางด้านวัฒนธรรมเริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1966 เมื่อ เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวมัสยิดต่างๆ ถูกสั่งปิด และผู้นำศาสนาถูกเกณฑ์ไปทำเกษตรในชนบทต่างๆ บางคนถูกเกณฑ์ไปปลูกถั่วในชนบททางมณฑลจี๋หลินภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งฤดูหนาวมีอุณหภูมิติดลบ 30 องศา และฤดูร้อนมีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศา ช่วงระยะเวลาที่ถูก ‘ฝึกฝน’ ใน 10 นั้น เป็นเสมือนฝนห่าใหญ่ที่รุมเร้า
จนกระทั่งปี ค.ศ.1976 เมื่อปฎิวัติวัฒนธรรมสิ้นสุดลง ‘ฟ้าหลังฝน’ กลับมาทำให้สถานการณ์การทำฮัจญ์ของมุสลิมในจีนเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง
…เป็นอย่างไรโปรดติดตามตอนต่อไป
อาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
nisareen@mfu.ac.th