หมู่บ้านชนบท… ของ ‘ชาวหุย’ บนแผ่นดินมังกร (จบ)

บ้านพักที่เหมาเจ๋อตุงและคณะเคยแวะพัก ชาวบ้านยังคงรักษาไว้ให้คงสภาพเดิม

ฉบับที่ผ่านมาผู้เขียนได้แนะนำหมู่บ้านชนบทของชาวหุยที่อยู่ในมณฑลยูนนาน ฉบับนี้เรามาดูกันว่าหมู่บ้าน Danjiaji ที่ตั้งอยู่ตำบล Xinglong อำเภอ Xiji ที่อยู่ทางใต้ของมณฑลหนิงเซียะว่ามีความเป็นอยู่อย่างไร

อย่างที่ทราบกันดีว่ามณฑลหนิงเซียะเป็นมณฑลที่ปกครองตัวเองของชาวหุย(Ningxia Hui Autonomous Region ) ตั้ง อยู่ทางทิศตะวันตกของจีน หลังจากที่รัฐบาลจีนได้ประกาศนโยบายพัฒนาภาคตะวันตกแล้ว มณฑลหนิงเซี่ย จึงมีโอกาสพัฒนาแผนงานทางด้านต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวหุย เช่นแผนงานการพัฒนาเป็นศูนย์อาหารฮาลาลเพื่อส่งออก การจัดประชุมการค้าระหว่างจีน-กลุ่มประเทศอาหรับ เป็นต้น

หมู่บ้าน Danjiaji เป็นหมู่บ้านที่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 45 กิโลเมตร ห้อมล้อมด้วยภูเขาสามด้าน มีทางด้านตะวันตกของหมู่บ้านเพียงด้านเดียวที่เป็นที่ราบ ทางด้านเหนือและใต้ของหมู่บ้านดังกล่าวประกอบด้วยสองหย่อมหมู่บ้าน รวมทั้งหมด 768 หลังคาเรือน มีประชากรทั้งหมด 4,078 คน ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านนั้นคือชาวหุยตระกูล Dan ตาม ประวัติศาสตร์ระบุไว้ว่า สมัยราชวงศ์ชิงเกิดการปฏิวัติของชาวหุยบริเวณมณฑลซ่านซีและกานซู เนื่องมาจากความไม่พอใจในการกดขี่ชนชาติส่วนน้อยปกครองของรัฐบาลชิง แต่สุดท้ายก็ต้องพ่ายแพ้กองกำลังของทหารชิง จึงทำให้ชาวหุยต้องหลบหนีและบางส่วนได้หลบหนีมาอาศัยอยู่บริเวณดังกล่าว ซึ่งในช่วงแรกนั้นส่วนมากเป็นชาวหุยตระกูลDan แต่ปัจจุบันนั้นมีชาวหุยที่อยู่รวมกันหลายตระกูล เหตุการณ์ก่อนที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนสถาปนาประเทศจีนในปี ค.ศ. 1949 นั้นเป็นประวัติศาสตร์ที่ชาว Danjiaji ภาคภูมิใจ

ก่อน ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนสถาปนาประเทศจีนนั้น ภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตุง ได้มีการจัดตั้งกองทัพเดินทางไกล เพื่อเรียกร้องให้ชาวบ้านเข้าร่วมพรรคเพื่อโค่นล้มอำนาจพรรคก๊กหมินตั๋งใน สมัยนั้น กองทัพดังกล่าวเรียกว่ากองทัพแดง ช่วงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1935 ถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1936 กองทัพแดงได้เดินทางไปยังหมู่บ้านดังกล่าวถึง 3 ครั้ง หนึ่งในสามนั้นนำโดยเหมาเจ๋อตุงได้เดินทางไปพักค้างในหมู่บ้าน โดยได้นำเสนอนโยบายทางด้านศาสนาของรัฐบาลและได้มอบป้ายคำขวัญที่มีใจความว่า“หุยฮั่นเสมือนพี่น้องกัน”

MaGuoxuan อายุ 71 ปีชาวบ้านหมู่บ้าน Danjiaji เล่า ว่า “พ่อเคยเล่าให้ฟังเสมอว่า สมัยนั้นชาวบ้านมีฐานะยากจน เมื่อกองทัพแดงมาถึง อิหม่ามจะเป็นผู้นำในการต้อนรับ โดยสรรหาอาหารที่ดีมาเลี้ยงต้อนรับ หลังจากที่กองทัพแดงกลับก็จะได้ให้ป้ายคำขวัญไว้ว่า “อนุรักษ์มัสยิด” “หุยฮั่นเสมือนพี่น้องกัน” “กองทัพแดงคือกองทัพของคนจน” เป็นต้น ปัจจุบันชาวบ้านยังคงอนุรักษ์บ้านพักที่เหมาเจ๋อตุงและคณะเคยพัก

ในหมู่บ้านนั้นส่วนมากเป็นชาวหุย มีชาวฮั่นที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเพียง 20 หลังคา มีมัสยิดทั้งหมด 4 แห่ง รูปแบบมัสยิดนั้นลักษณะสถาปัตยกรรมที่ผสามผสานระหว่างอาหรับและจีน มัสยิดทั้ง 4 แห่ง นั้นเน้นหนักในมัซฮับที่ ตนนับถือ ในอดีตนั้นชาวบ้านจะห้ามการสมรสระหว่างคู่บ่าวสาวที่ต่างมัซฮับ แต่หลังจากที่นโยบายความเสรีภาพทางศาสนาเข้าถึงชาวบ้านแล้ว ปัจจุบันนี้สถานการณ์ดีขึ้น แม้ว่าไม่ ส่งเสริมแต่ก็ไม่มีการห้ามอย่างรุนแรงเช่นในอดีต ผลจากการสำรวจการทำละหมาดของชาวบ้านพบว่า ผู้ที่สามารถเดินทางไปละหมาดที่มัสยิดได้วันละ 5 เวลานั้นส่วนมากจะผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนชาวบ้านที่มีอายุอยู่ระหว่าง 30 – 49 นั้น เน้นละหมาดญุมอะฮ์และการละหมาดในเทศกาลสำคัญ นักวิชาการชาวหุย Ma Zongbao ได้ สรุปความเห็นสถานการณ์ทางด้านศาสนาของชาวบ้านว่า การประกอบศาสนกิจของชาว Danjiaji มี ความแตกต่างระหว่างวัย อิหม่านจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามอายุ และจำนวนเวลาในการทำละหมาดนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะการทำงาน คนวัยหนุ่มมีจำนวนของการละหมาดน้อยนั้นเป็นเพราะความรีบเร่งในการทำงาน ในภาพรวมจึงทำให้เห็นว่าอิหม่านของชาวหุยนั้นมีแนวโน้มที่จะลดลง

มัสยิด Beidasi ซึ่งเป็นมัสยิดหนึ่งในสี่แห่งของหมู่บ้าน Danjiaji
มัสยิด Beidasi ซึ่งเป็นมัสยิดหนึ่งในสี่แห่งของหมู่บ้าน Danjiaji

ปัจจุบัน ชาวบ้านในหมู่บ้านส่วนน้อยที่จะมีพื้นที่เพาะปลูก ส่วนมากจึงหันมาเลี้ยงสัตว์ต่างๆ เช่นส่วนมากเลี้ยงวัวและแกะ ในหมู่บ้านจะมีตลาดนัด ‘กระบือ’ โดยจัดขึ้นทุกวันคู่ของปฏิทินทางจันทรคติ เมื่อถึงวันดังกล่าวชาวบ้านต่างก็จะมาตกลงซื้อขายวัวกัน ผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านกล่าวว่า “ตลาดนัดครั้งหนึ่งนั้นโดยเฉลี่ยแล้วมีการตกลงซื้อขายวัวกันประมาณ 400 ตัว เฉลี่ยตัวละ 7,000 หยวน”

ตลาดนัด ‘กระบือ’ ของหมู่บ้าน จึงเป็นตลาดนัดระดับหมู่บ้านที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ปัจจุบันโรงเชือดในหมู่บ้านนั้นส่วนมากเน้นชำแหละเป็นเนื้อแช่แข็งและส่งไป จำหน่ายยังมณฑลทางตะวันออกเช่น กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน เป็นต้น ในหมู่บ้านยังมีอุตสาหกรรมขนาดย่อม ที่เน้นผลิตแป้งมันและวุ้นเส้น ในปี 2003 รัฐบาลได้มีโครงการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมระดับตำบลขึ้น ซึ่งศูนย์กลางนั้นอยู่ที่ Danjiaji โดยมีเนื้อที่ 4,000 ตารางเมตร ปัจจุบันมีอุตสาหกรรมแปรรูปมันฝรั่ง 5 ราย และมีผู้ผลิตรายย่อยวุ้นเส้นและแป้งมัน 50 ราย

ภายในหมู่บ้าน Danjiaji มีทั้งโรงเรียนสอนสามัญและศาสนา โรงเรียนสามัญมีประวัติ 80 กว่า ปี ในอดีตชาวบ้านมักจะเพิกเฉยต่อการเรียนภาคสามัญ ทางโรงเรียนจึงจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาอาหรับเพิ่มเติมและโรงเรียนได้เชิญ อิหม่ามในหมู่บ้านเป็นผู้สอน ในอดีตนั้นโรงเรียนสามัญส่วนมากมีเฉพาะนักเรียนผู้ชาย หลังจากการสถาปนาประเทศจีนใหม่แล้ว เริ่มมีนักเรียนหญิงเข้าเรียน จำนวนนักเรียนหญิงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากที่จีนปฏิรูปการเปิดประเทศใน ปี ค.ศ. 1978 โรงเรียนสอนศาสนา ในหมู่บ้านควบคุมดูแลโดยมัสยิด ผู้ปกครองจะส่งลูกไปร่ำเรียนศาสนาเมื่อเด็กอายุ 7 – 8 ขวบ โดยเน้นเนื้อหาทางด้านศาสนาที่นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อเรียนจบส่วนมากจะติดตามผู้ปกครองเพื่อไปประกอบอาชีพต่างๆ มีจำนวนน้อยที่สนใจศึกษาศาสนาต่อ ถ้ามีผู้ที่สนใจศึกษาต่อ ก็จะได้ร่ำเรียนเนื้อหาทางด้านภาษาอาหรับ (รวมทั้งเปอร์เซีย) และความรู้ทางด้านศาสนาเพิ่มขึ้น ปกติแล้วใช้เวลาในการ เรียนประมาณ 6-8 ปี ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป เพราะการศึกษาภาคบังคับของภาคสามัญถูกบังคับใช้ เด็กๆในหมู่บ้านจึงมุ่งศึกษาในโรงเรียนภาคสามัญ โรงเรียนสอนศาสนาแทบจะไม่มีนักเรียนเลย อิหม่ามภายในหมู่บ้านก็ยังคงห่วงความรู้ทางด้านศาสนาของเยาวชน ความสมดุลทางด้านการศึกษาภาคสามัญและศาสนา ยังคงเป็นโจทย์ของหมู่บ้าน Danjiaji

ทุกวันนี้เมื่อเดินเข้าหมู่บ้านดังกล่าวจะรู้สึกถึงความ ‘ศิวิไลซ์’ ร้านค้าประเภทต่างๆ ที่อยู่สองข้างทางเดินกว่า 40 ร้าน สามารถสัมผัสได้ถึงความสะดวกทางด้าน ‘วัตถุ’ ทันที หลายๆ คนกล่าวว่า ความเจริญในหมู่บ้านนั้นสู้ความ เจริญระดับอำเภอได้เลย ทว่าคำถามจะเกิดขึ้นทันทีเมื่อคุณได้เห็นตัวอย่าง

“เมื่อ ก่อนนะผู้ชายในหมู่บ้านแทบจะไม่มีการสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้าเลย เมื่อใครแอบสูบและเห็นอิหม่ามเดินผ่านมาเขาก็จะรีบหลบทันที แต่สมัยนี้เปลี่ยนไป การสูบบุหรี่และดื่มเหล้านั้นถือเป็นเรื่องปกติ แม้จะเห็นอิหม่ามเดินผ่านมาก็เพิกเฉย ไม่สนใจ” นี่คือคำบอกเล่าของตาแปะคนหนึ่งในหมู่บ้าน Danjiaji

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:

หนังสือ A Research on living villages of Hui ethnic group โดย Mazongbao

http://blog.sina.com.cn/s/blog_7c2a4ed1010113bj.html

http://www.nxnews.net/zghzw/1/2008-2-23/30001@806.htm 

 http://finance.ifeng.com/roll/20111130/5165052.shtml