นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท หรือง่วงหาวเป็นประจำในตอนกลางวัน อะไรคือปัญหากวนใจที่แท้จริง?

อย่างที่ทราบกันทั่วไปว่า การนอนคือวิธีพักผ่อนที่ดีที่สุด แต่ใช่ว่าทุกคนยามหัวถึงหมอนก็หลับสบาย เพราะการนอนสำคัญและเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่นๆ มากกว่าที่คุณคิด ถ้าคุณมีอาการนอนไม่หลับ หลับไม่สนิท หรือง่วงหาวเป็นประจำในตอนกลางวัน อะไรคือปัญหากวนใจที่แท้จริง วันนี้เรามีคำตอบ

เรามักจะเชื่อกันว่า ขณะนอนหลับพักผ่อน ร่างกายกับสมองจะหยุดพักไปด้วย แต่ในข้อเท็จจริง แม้ว่าในขณะหลับร่างกายจะหยุดพักผ่อน แต่สมองยังคงทำงานอยู่ การนอนหลับเป็นเพียงการลดภาระให้สมองทำงานน้อยลง ข้อสำคัญสมองยังคงควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของเราอยู่ ไม่ว่าจะเป็นระบบหายใจ ระบบประสาท ฯลฯ

แล้ว ที่บอกว่า สว.หรือผู้สูงวัยไม่จำเป็นต้องนอนมากจริงหรือไม่นั้น ต้องขอบตอบว่า “ไม่จริง” เพราะ สว.ต้องการนอนหลับพักผ่อนประมาณ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน เช่นเดียวกับคนวัยหนุ่มสาวทั่วไป แม้อายุที่มากขึ้นประกอบกับการทำงานของอวัยวะในร่างกายเริ่มเสื่อมไปตามเวลา ทำให้กิจวัตรประจำวันเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลทำให้พฤติกรรมการนอนไม่เหมือนเดิม นอนหลับได้น้อยชั่วโมงลง หรือหลับๆ ตื่นๆ ตลอดคืน แต่ร่างกายก็ยังคงต้องการเวลาพักผ่อนให้ได้ 7-9 ชั่วโมงต่อวันเหมือนลูกหลานทั่วไป

อายุหรือสภาวะ                                ความต้องการการนอนหลับ

ทารกเกิดใหม่ (0 – 2 เดือน)                  12 – 18 ชั่วโมง

ทารก (3 – 11 เดือน)                          14 – 15 ชั่วโมง

เด็กวัยหัดเดิน (1 – 3 ขวบ)                    12 – 14 ชั่วโมง

เด็กก่อนวัยเรียน (3 – 5 ขวบ)                 11 – 13 ชั่วโมง

เด็กวัยเรียน (5 – 10 ขวบ)                    10 – 11 ชั่วโมง

วัยรุ่น (10 – 17 ปี)                            8.5 – 9.25 ชั่วโมง

ผู้ใหญ่และวัยสูงอายุ                            7 – 9 ชั่วโมง

สตรีมีครรภ์                                      8 ชั่วโมงขึ้นไป

อีกเรื่องหนึ่งที่คนหนุ่มสาวมักจะคิดเข้าข้างตนเองเสมอๆ  ว่า “การนอนหลับพักผ่อนน้อยเป็นประจำ” จะทำให้ร่างกายเคยชินและไม่ต้องการนอนมากอย่างที่เคย ก็ต้องบอกว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะในข้อเท็จจริง เคยมีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการนอนว่า ในวัยผู้ใหญ่หากนอนให้ได้ประมาณ 7-9 ชั่วโมงทุกวัน จะส่งผลให้สุขภาพกายโดยรวมดีอย่างน่าทึ่ง หากวันไหนนอนหลับได้ไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะชดเชยชั่วโมงนอนที่ขาดรวมกับชั่วโมงนอนในอีก 2-3 คืนถัดไป ไม่ว่าเราจะนอนน้อยเป็นประจำหรืออดนอนเป็นประจำแค่ไหน ร่างกายจะไม่มีวันชินหรือยอมรับให้นอนน้อยได้ตลอด เพราะเป็นการฝืนธรรมชาติในเรื่องการพักผ่อนที่ร่างกายต้องการ จะทำให้เกิดความอ่อนล้าทั้งร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ต่างๆ ทั้งยังทำให้ความสามารถในขบวนการคิดระดับสูงลดลง

ถ้าอย่างนั้นการที่ผมง่วงหาวตอนกลางวันแสดงว่าผมนอนไม่พอใช่ไหม?… “ใช่ครับ” สาเหตุของอาการง่วงหาวตอนกลางวันอาจมีส่วนหนึ่งมาจากการพักผ่อนที่ไม่เพียง พอ แต่ก็อาจเกิดกับคนที่นอนหลับเต็มอิ่มได้ด้วย และถ้าง่วงผิดสังเกตอาจเป็นสัญญาณเตือนว่ามีเรื่องสุขภาพอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การกรนหรือหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้ร่างกายขาดการพักผ่อนอย่างเต็มที่ จำเป็นต้องไปปรึกษาแพทย์ต่อไป

แล้ว การนอนน้อยมีผลต่อน้ำหนักตัวจริงหรือ ? “จริง” หากนอนหลับไม่เพียงพอก็จะส่งผลต่อระบบฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะฮอร์โมนเลปตินและเกรลิน ส่งผลทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ ฮอร์โมนทั้ง 2 มีหน้าที่ควบคุมและสร้างสมดุลความต้องการอาหาร ฮอร์โมนเกรลินถูกผลิตขึ้นในระบบทางเดิน มีหน้าที่กระตุ้นความอยากอาหารในขณะที่เลปตินถูกผลิตในเซลล์ไขมัน ทำหน้าที่ส่งสัญญาณรับรู้ว่าอิ่มไปยังสมอง เมื่อได้รับอาหารพอดีกับความต้องการ ดังนั้น หากนอนหลับไม่เพียงพอ จะส่งผลทำให้ระดับเลปตินต่ำลง ร่างกายไม่รู้สึกอิ่มอย่างที่ควรจะเป็นตรงกันข้ามฮอร์โมนเกรลินจะเพิ่มมาก ขึ้น ทำให้ความอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงทำให้ร่างกายรับประทานอาหารเกินพอดี น้ำหนักก็เพิ่มมากขึ้น!

การนอนหลับอย่างมีคุณภาพ คือ การหลับสนิท ตื่นนอนมาพร้อมกับความสดชื่น และมีพลังที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การทำงานของร่างกายโดยเฉพาะการทำงานของสมองเป็นไปได้อย่างปกติ รวมถึงต้องมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่เหมาะสม  เช่น สุขภาพร่างกายแข็งแรง สุขภาพจิตใจดี รับประทานอาหารที่เพียงพอ เป็นต้น

ควร เข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาเป็นประจำ ทั้งวันทำงานปกติและวันหยุด เพื่อให้นาฬิกาชีวิต (Biological clock) ทำงานตลอดเวลา รับแสงให้เพียงพอในตอนเช้า อย่างน้อย 30 นาที  ทุกวัน เนื่องจากแสงแดดเป็นตัวกระตุ้นการควบคุมนาฬิกาชีวิตที่สำคัญ และการที่ตาได้รับแสงแดดธรรมชาติที่เปลี่ยนไปในแต่ละวัน  จะช่วยกระตุ้นจังหวะการหลับการตื่น (sleep cycle) ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

หากนอนไม่หลับภายใน 10 นาที ไม่ควรกังวล ไม่ควรมองนาฬิกา ควรลุกจากที่นอนหากิจกรรมอื่นทำ เช่น ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ แล้วกลับมานอนใหม่อีกครั้งเมื่อง่วง

 

โดย :  สมุย
ที่มา : วารสารสุขสาระ ฉบับที่ 109   ประจำเดือน มกราคม 2556