คสช.-นักการเมือง “เหมือนในความต่าง” ร่างรธน.

อุณหภูมิในช่วงปลายเดือนเดือนเมษายนต่อเนื่องเดือนพฤษภาคมแต่ก็ยังร้อน ระอุส่งผลกระทบมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขภาพ เพราะมีหลายโรคที่ระบาดในช่วงหน้าร้อน  แต่ที่ดูเหมือนว่าร้อนระอุยิ่งกว่าก็เห็นจะเป็น “อุณหภูมิการมือง” ที่ดูเหมือนว่า จะมีการ “เปิดหน้าชน” กันแล้ว!

เนื่องเพราะเหลืออีกไม่กี่อึดใจแล้ว “ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559” ที่มี “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธานคณะกรรมการร่างฯ ก็จะเสร็จในขั้นตอนการปรับแก้ เพื่อก้าวไปสู่ขั้นตอน “ทำประชามติ”  ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2559ให้ประชาชนเจ้าของสิทธิ “ชี้ชะตา” ว่าจะ “รับ” หรือ “ไม่รับ”… ถ้าผ่าน ขั้นตอนต่อไปก็สามารถชงลูกต่อไปยังกระบวนการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2560 ลงตัวตามโรดแม็ปที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้า คสช.วางกรอบเอาไว้

แต่ พลันที่พ.ร.บ.ประชามติมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 เม.ยน ที่ผ่านมา อาจทำความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เห็นต่างทางการเมืองต่อร่างรัฐธรรมนูญอาจ ต้องชะงักและเสี่ยงต่อการท้าทาย

เมื่อ “นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาให้ความเห็นถึงกรณีที่ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ประกาศบังคับใช้ เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ในวรรคสองของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ระบุว่า ห้ามปลุกระดม เพราะถือว่า เป็นการก่อกวนและทำลายความสงบเรียบร้อยในการลงประชามติ ไม่ว่าจะปลุกระดมให้คนไม่ไปลงประชามติ หรือให้คนมีความเห็นรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่การพูดว่า รับหรือไม่รับ ถือว่าไม่ผิด

ส่วนกรณีที่โพสต์เฟซบุ๊คประกาศไม่รับร่าง รัฐธรรมนูญนั้น ไม่ขอตอบว่า ผิดหรือไม่ แต่คนที่โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถือว่า มีความเสี่ยง แสดงว่ามีเจตนาอยาก “ลองของ” ทำให้มีเรื่อง ซึ่งเจตนาเหล่านี้อาจทำให้ผิดคำสั่ง คสช.ได้ ดังนั้นต้องระวังทั้ง พ.ร.บ. ประชามติ และคำสั่งคสช.

นอกจาก นี้ยังมีประเด็นที่ทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องมานั่งตีความว่าจะ เข้าข่ายมีความผิดหรือไม่ โดยเฉพาะ มาตราสำคัญและยากแก่การตีความในการกระทำความผิด ซึ่งหากทำผิดมีโทษ จำคุกสูงถึง 10 ปี ปรับ ไม่เกิน 2 แสนบาท และศาลอาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้ 5 ปี

อย่างไรก็ดี ยังมีกลุ่มคนที่ไม่กลัวร้อน โดยเฉพาะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.ออกมาพูดชัดถ่อยชัดคำแบบไม่มีกั๊กว่า เห็นด้วยทุกประการในร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่คำปรารภที่เขียนถูกใจมวลมหาประชาชน หรือแม้กระทั่งการหาทางออกให้ประเทศ ซึ่ง กปปส.เห็นว่าเป็นเรื่องใหม่ เป็นกลไกที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญฉบับใดมาก่อน ที่สำคัญยังมีบทเกี่ยวกับการปฏิรูปทั้งการปฏิรูปตำรวจ นอกจากนี้ยังมีวิธีจัดการกับพวกทุจริต การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติวางแผนระยะยาวให้กับประเทศ แม้จะมีคสช.เป็นผู้เลือกส.ว.ทั้งหมด 250 คนก็ตาม เพราะเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ 5 ปี ไม่ใช่ใช้วิธีดังกล่าวตลอดไป

ขณะ ที่ทางพรรคเพื่อไทย และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นั้น ชัดเจนแต่ต้นไม่เห็นด้วยสุดลิ่ม โดยอ้างการไม่เป็นประชาธิปไตย ถึงกับที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช.ก็ออกมาระบุว่า นปช. จะยื่นหนังสือเชิญชวน กลุ่มสหภาพยุโรป (EU) และ องค์การสหประชาชาติ (UN) มาร่วมสังเกตการณ์ประชามติที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 ส.ค.นี้ โดยการเชิญอียูและยูเอ็นเพียงให้มาสังเกตการณ์การทำประชามติที่โปร่งใส สุจริต เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยของประเทศไทยใน อนาคต

พร้อมกับระบุว่า หากไม่คิดจะโกงกันแล้ว ควรสนับสนุนข้อเสนอของ นปช.เพราะหากการทำประชามติมีการโกงแล้ว จะทำให้มีปัญหาตามมาอย่างใหญ่หลวงและผู้มีอำนาจคงอยู่ได้ยาก  การให้ EU และ UN เข้ามานั้นเป็นการสังเกตการณ์ ไม่ได้มาควบคุม กรณีพม่าทำได้ จนต่างชาติยอมรับหลังการเลือกตั้ง และมีผลให้เกิดการสนับสนุน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง

ท่ามกลางความเห็นที่แตกออกเป็น 2 ฝัก 2 ฝ่ายในเรื่องของรัฐธรรมนูญ การเดินหน้าผลักดันการทำประชามติจาก “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ คสช.ยังคงดำเนินต่อไปให้ลุล่วงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดูเหมือนว่าสถานการณ์เวลานี้ คสช. เสมือนตกอยู่ในวงล้อมแห่งการเมือง จาก “ฝ่ายการเมือง” ที่แสดงท่าทีไม่ยอมรับ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย” ก็ตามที

แต่เมื่อใดก็ตามที่ยังไม่มีการส่ง “ซิก” ว่าให้ล้มการทำประชามติ ตามกระแสที่สะพัดอยู่เป็นระยะ และเมื่อคสช.

มองเห็นแล้วว่า โอกาสที่จะเป็นฝ่ายกุมชัยชนะยังอยู่ในมือ นั่นหมายความว่า กระแสที่ว่าด้วยการยุติการทำประชามติจึงยังคงเป็นเพียง “ข่าวลือ”  ณ เวลานี้เท่านั้น

หากแต่จนถึงเวลานี้ หลายคนยังเชื่อว่า คสช.และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ยังจะขยับหมากประชามติ ต่อไป โดยไม่มีการเปลี่ยนแผนการเล่น ทั้งจากการที่ ครม.ได้อนุมัติงบประมาณในการทำประชามติออกมาแล้ว รวมทั้งการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กำหนดวันออกเสียงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ได้เคยมีการประเมินกันว่า “ตัวช่วย” ที่ทำให้คสช.มีความเชื่อมั่นว่าจะเป็นฝ่าย “คุมเกม” และเอาชนะได้ในชั้นประชามติ คือการได้รับแรงหนุนจาก “พรรคชาติไทยพัฒนา” และกลุ่มกปปส.ของ “กำนันสุเทพ” แต่แล้วเมื่อล่าสุด พรรคชาติไทยพัฒนา ต้องสูญเสีย “บรรหาร ศิลปอาชา” บุคคลสำคัญของพรรคไปอย่างกะทันหัน  ซึ่งอาจมีผลทำให้ คสช.ต้องรอและให้เวลาในการจัดทัพภายในของพรรคชาติไทยพัฒนาในห้วงเวลากว่า 3 เดือนก่อนถึงวันลงประชามติ

แต่ถึงกระนั้นเมื่อมองไปยังจังหวะการก้าวเดินของ คสช. ในท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่เข้มข้น ด้วยเหตุที่ทั้ง “พล.อ.ประยุทธ์” และ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีต่างออกมา “ปะทะ” กันอย่างดุเดือดเมื่อช่วงที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าบรรยากาศเช่นนี้จะยืนระยะไปพักใหญ่ เพราะต่างฝ่ายต่างเดินหน้าลุยใส่กัน !

คสช. รู้ดีว่าเป้าหมายใหญ่ของฝ่ายการเมืองคือความหวังที่จะได้ “ลงสนามเลือกตั้ง” ในปี 2560 ดังนั้นจึงเลือกหยิบยก การทำประชามติขึ้นมาเป็นด่านสำคัญในการต่อรองอยู่ในที ขณะเดียวกันฟาก คสช.เองนั้นไม่เพียงแต่ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญ “ผ่านประชามติ”  เพียงแต่ต้องการเดินหน้าไปตามโรดแมปเท่านั้น หากแต่ชัยชนะจากสนามประชามติครั้งนี้ยังนำมาซึ่ง “ความชอบธรรม”  ที่จะสร้างความแข็งแกร่ง ความเชื่อมั่นทั้งในและต่อสายตา “นานาประเทศ” ที่เฝ้ามองความเป็นไปของไทย

เมื่อความสำคัญของสนามประชามติ คือการประลองกำลังระหว่าง “คสช.” กับ “ฝ่ายการเมือง” ทั้งพรรคเพื่อไทยของขั้วอำนาจทักษิณ และประชาธิปัตย์ ดังนั้นการใช้ “ไม้แข็ง”อย่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกแสียงประชามติ อาจต้องดำเนินการควบคู่ไปกับ “ไม้นวม” ที่ลดความแข็งกร้าวลงด้วยเช่นกัน

นักการ เมืองหลายคนยังคงเชื่อว่า คสช.สามารถบริหารจัดการเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่านการทำประชามติ ได้อย่างแน่นอน เว้นเสียแต่ว่า คสช.ยังไม่ถูกใจ กฎกติกา ฉบับที่ร่างขึ้นโดย “มีชัย ฤชุพันธุ์” ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง!!