สนช. แก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพิ่มบทลงโทษจำคุก 20 ปี ปรับ 4 แสนบาท

ที่ประชุม สนช.มีมติเอกฉันท์ แก้ไขเพิ่มเติม ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพิ่มบทลงโทษและฐานความผิดจำคุก 20 ปี ปรับ 4 แสนบาท พร้อมกำหนดให้มีคณะกรรมการมีอำนาจสั่งปรับและจำคุกได้และถือเป็นที่สิ้นสุด ไม่ต้องส่งศาล

เมื่อวันที่ 28 เมษายน สำนักข่าวไทยรายงานว่า มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ

สำนักข่าวไทยรายงานอ้างคำพูนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวถึงเนื้อหาที่แก้ไขเพิ่มเติมในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า มีทั้งสิ้น 19 มาตรา โดยเพิ่มโทษและกำหนดโทษบทลงโทษใหม่ อาทิ การเพิ่มเติมฐานความผิดและกำหนดโทษผู้ที่ส่งข้อมูลหรืออีเมลแก่บุคคลอื่น จนก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือรำคาญ การกำหนดโทษกระทำความผิดให้หนักขึ้นและเพิ่มเติมฐานความผิดแก่ผู้ที่นำ ข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยทุจริตหรือหลอกลวง

เพิ่มโทษผู้นำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์หรือเผยแพร่ ส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จ ที่อาจเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ สาธารณะ และเศรษฐกิจ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน แก้ไขเพิ่มเติมโทษผู้ให้บริการที่ให้ความร่วมมือ หรือรู้เห็นให้มีการกระทำผิดในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน  เพิ่มบทลงโทษแก่ผู้นำภาพของผู้อื่นที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ หรือดัดแปลงด้วยวิธีทางอิเลคทรอนิกส์ หรือวิธีการเข้าสู่ระบบ ที่ทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง หรืออับอาย

“ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการที่มีอำนาจเปรียบเทียบความผิดตามร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ จำนวน 3 คน โดย 1 ในนั้นจะต้องเป็นเจ้าพนักงานสอบสวน ซึ่งคณะกรรมการนี้จะมีอำนาจสั่งปรับได้ โดยไม่ต้องนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาล และถือเป็นที่สิ้นสุ”

“สำหรับโทษผู้ฝ่าฝืนตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 20 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 – 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เช่น หากกระทำความผิด ต่อข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงของประเทศ จะรับโทษจำคุก 3-5 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000 ถึง 300,000 แต่หากกระทำความผิดจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุก 5-20 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท ตามลักษณะฐานความผิดในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้” นายอุตตม กล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุมสนช.มีมติเป็นเอกฉันท์ 160 เสียง งดออกเสียง 3 เสียงเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 15 คนพิจารณาศึกษาแปรญัตติภายใน 15 วัน และมีระยะเวลาในการดำเนินการ 60 วัน สำนักข่าวไทยรายงาน