“เราพร้อมกันหรือยัง กับ เออีซี 2558

ทำความรู้จักกับอาเซียนกันก่อน

ปี 2558 เมื่อประเทศไทยเข้าสู่”ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (AEC) อย่างเป็นทางการแล้ว จึงส่งผลให้ภูมิภาคอาเซียน กลายเป็นกลุ่มเศรษฐกิจ ที่มีฐานการผลิตรวมกันเป็นขนาดใหญ่ และสามารถเคลื่อนย้ายปัจจัยทางการผลิตได้อย่างเสรี  เกิดความเป็นปึกแผ่น และช่วยกันสร้างอำนาจต่อรองทางด้านการค้าและเศรษฐกิจ ในเวทีการค้าโลกได้อย่างเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น  แต่ก็ยังมีคนไทยบางส่วน ที่รู้จัก AEC แค่ผิวเผิน จากสื่อต่างๆ ที่นำเสนอ  แต่ยังไม่รู้เหตุผลที่แท้จริงว่า เมื่อรวมกลุ่มกันแล้ว เราจะได้อะไร  ฉะนั้น จึงควรมาทำความรู้จักกับ AEC ให้มากขึ้น  ว่าเป็นเพราะเหตุใด จึงต้องมีการรวมกลุ่มกัน ของประเทศในภูมิภาคอาเซียน(ASEAN)

อาเซียน (ASEAN) หรือสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations) ก่อตั้งขึ้นตามปฎิญญากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 โดยมีสมาชิกก่อตั้งเริ่มแรก 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ซึ่งในการริเริ่มก่อตั้งอาเซียน นำโดยประเทศไทย  พ.อ. (พิเศษ) ดร. ถนัด คอมันต์  ได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศ ทั้ง 5 ประเทศ ในขณะนั้นมาประชุมเมื่อเดือน  สิงหาคม 2510  ที่จังหวัดชลบุรี จนได้ข้อตกลงร่วมกัน และได้ลงนามปฏิญญากันที่   วังสราญรมณ์ ในวันที่ 8 สิงหาคม 2510 และเรียกการลงนามเพื่อก่อตั้งอาเซียนครั้งนี้ว่า “ปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) อาเซียนจึงถือเอาวันที่ 8 ส.ค.ของทุกปี เป็นวันอาเซียน”

จากการที่ประเทศไทย ดำรงสถานะความเป็นกลางเพราะไม่เคยอยู่ใต้อาณานิคมของชาติตะวันตก ประกอบกับวิสัยทัศน์ของผู้นำในขณะนั้น เป็นที่ยอมรับจากประเทศสมาชิกอื่นๆ  จึงสามารถประสาน จนเกิดการรวมตัวกันเป็นอาเซียนได้สำเร็จ  กลุ่มอาเซียนมีวิวัฒนาการและเติบโตมาตามลำดับ จนถึงปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มจาก 5 เป็น 10 ประเทศ โดยประเทศที่เพิ่มขึ้นมาในภายหลังคือ บรูไน (2527) เวียดนาม (2538) ลาว พม่า (2540) และกัมพูชา (2542) ในส่วนของขอบเขตความร่วมมือระหว่างกัน ก็ขยายตัวกว้างขวางขึ้น จากเดิมมุ่งเน้นความร่วมมือในเชิงการเมือง และความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ แต่ได้ขยายไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และความร่วมมือทางสังคมวัฒนธรรม ที่มีความเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจการค้าการลงทุนและเกี่ยวข้องกับประชาชนทุกภาคส่วนของอาเซียน

22

ที่มาที่ไปของ AEC

AEC ย่อมาจากคำว่า ASEAN Economic Community หมายถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นหนึ่งในเสาหลักสามเสา ของประชาคมอาเซียน  อีกสองเสาหลักได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASC: ASEAN Security Community) และประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน  (ASCC: ASEAN Socio-Cultural Community) ทั้งนี้ การรวมตัวกัน ของประชาคมอาเซียน จะต้องเกิดจากการรวมตัวกันในทุกระดับและทุกด้านของทุกภาคส่วน ในประชาคมอาเซียน จึงจะเป็นการรวมตัวที่สมบูรณ์และเกิดประโยชน์สุขแก่ประชากรอาเซียนได้ อย่างแท้จริง ตามคำขวัญอาเซียนที่ว่า “One Vision, One Identity,OneCommunity”(หนึ่งวิสัยทัศน์-หนึ่งเอกลักษณ์-หนึ่งประชาคม)

ลักษณะเด่นของ AEC

AEC เป็นกรอบความร่วมมือของประเทศในอาเซียน 10 ชาติ ซึ่งอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน นับเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ใกล้ชิดไทยมากที่สุด เพราะมีเพื่อนบ้านหลายประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกัน ประชากรในอาเซียนส่วนใหญ่ มีวัฒนธรรมและการบริโภคที่คล้ายคลึงกัน  มีสินค้าและบริการที่สามารถส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้ ถึงแม้ว่าจะมีสินค้าบางประเภทคล้ายคลึงกัน  แต่ก็ไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันโดยตรง แต่สามารถร่วมกลุ่มด้วยกันได้  ส่งให้ภูมิภาคอาเซียน กลายเป็นกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีฐานการผลิตรวมกัน  สามารถย้ายปัจจัยทางการผลิตได้อย่างเสรี  จึงเกิดความเป็นปึกแผ่นและสร้างอำนาจต่อรองด้านการค้าและเศรษฐกิจในเวทีการค้าโลกได้อย่างเข้มแข็งมากขึ้น

AEC กับศักยภาพแฝงในด้านธุรกิจที่ประเทศไทยมีโอกาสได้รับประโยชน์

-การเป็นภูมิภาคที่มีประชากรมุสลิมจำนวนมาก
-การเดินทางและท่องเที่ยวภายในภูมิภาคเดียวกัน
-การเติบโตของประชากรระดับชนชั้นกลาง
-การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
-การบริโภคและการจับจ่ายสินค้า
-การรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพ

เมื่อนำโอกาสทางธุรกิจข้างต้น มาผนวกเข้ากับจุดแข็งของธุรกิจบริการแบบไทยๆ  ซึ่งมีศักยภาพโดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งมาเป็นอันดับต้นๆ  อาหารไทยซึ่งเป็นที่นิยมทั่วโลก การให้บริการด้านสุขภาพต่างๆ จะสามารถสร้างตลาด สำหรับการบริการให้กับลูกค้าในอาเซียนได้ครบ  เช่น การเป็นผู้จำหน่ายอาหารฮาลาล  ซึ่งมีความโดดเด่นกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน   ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ  บ้านพักวัยเกษียณ  รีสอร์ท สปา การนวดเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นที่นิยม จนมีนักธุรกิจไทยและนักธุรกิจต่างชาติ  ไปเปิดร้านนวดแผนโบราณแบบไทยๆ ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะได้รับประโยชน์เป็นที่น่าพอใจจากการรวมกลุ่มภูมิภาคอาเซียนในครั้งนี้

1406177556-48-o

ประเทศไทยกับ AEC

ประเทศไทยถือเป็นผู้ริเริ่ม และผู้นำในบทบาทของอาเซียนในด้านต่างๆ  รวมถึงการริเริ่มผลักดันให้เกิด AEC ขึ้น โดยทุกๆ รัฐบาลที่ผ่านมา ได้ดำเนินนโยบายที่สนับสนุนกิจกรรมของอาเซียนมาโดยตลอด ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23สิงหาคม2554ได้แถลงนโยบายหลัก3ข้อได้แก่

1.)นำพาประเทศเข้าสู่ความเข้มแข็งสมดุล

2.)การนำพาประเทศเข้าสู่สังคมปรองดองบนพื้นฐานของหลักนิติธรรมที่เท่าเทียมกัน

3.)นำพาประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียน(AEC)ในปี2558

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ AEC ในปี 2558 โดยจัดให้เป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มรูปแบบ จึงพบว่า ในปัจจุบัน หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน ทุกภาคส่วน ต่างมีความตื่นตัวเพื่อหาความรู้ความเข้าใจ และสำรวจตนเองเพื่อนำไปสู่การเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กระแสความตื่นตัวในครั้งนี้จะเกิดขึ้นต่อ เนื่องยาวนานไปจนกว่าจะสามารถปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งคงกินเวลาอีกหลายปี

ผลกระทบจากการเปิดเสรี AEC

เมื่อเปิดเสรีใน  5 สาขา ซึ่งประกอบด้วย “สินค้า บริการ การลงทุน  แรงงานฝีมือ  เงินทุน” ในภูมิภาคอาเซียน  โดยมีเป้าหมาย หรือหลักเกณฑ์อยู่ที่ “การลด” หรือ “เลิกกฎระเบียบ” มาตรการต่าง ๆ” ที่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการและการลงทุน เพื่อให้เป็นตามเป้าหมายการเปิดตลาดใน 10 สาขาบริการหลักที่สำคัญ เช่น บริการด้านธุรกิจ บริการวิชาชีพ บริการด้านสื่อสาร บริการโทรคมนาคม บริการด้านการท่องเที่ยว ตัวแทนนำเที่ยว ดังนั้น  ผู้ประกอบการภาคต่างๆ หรือหน่วยงานภาครัฐ จะต้องเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  เช่น การเคลื่อนย้ายแรงงาน การจัดตั้งบริษัท การเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย  หรือการเคลื่อนย้ายสิ่งเหล่านี้ไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียน  และเรื่องการออกกฎหมาย และมาตรฐานต่างๆ ร่วมกัน เป็นต้น

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เมื่อมีการเปิดเสรีใน 5 สาขา ดังกล่าว ก็คล้ายกับการเปิดทำนบกั้นน้ำ  ซึ่งสิ่งที่ตามมา ก็คือ การไหลจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง จนกว่าจะเกิดสมดุลขึ้น  ก่อนการเปิดเสรีนั้น ภายในแต่ละประเทศเอง ก็มีความไม่เท่าเทียมกัน  แต่ละประเทศ ถ้านำมาเปรียบเทียบรายอุตสาหกรรมก็มีความโดดเด่นไม่เท่ากัน  การปกป้องธุรกิจภายในประเทศของแต่ละชาติสมาชิก ก่อนการเปิด เสรีก็ ไม่เท่ากัน

แต่ทั้งนี้ ความสามารถในการสร้างผลกำไร จะเป็นตัวแปร ที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน หรือความอยู่รอดของแต่ละองค์กรในแต่ละประเทศ  ซึ่งเมื่อต้องแข่งขันกันโดยเสรี  ผู้ที่มีความ สามารถ”ทำกำไรได้สูงกว่า  ในต้นทุนที่ถูกกว่า” ย่อมเหนือกว่าคู่แข่ง แต่ทั้งนี้ ยังต้องพิจารณาตัวแปรอื่นๆ อีก ที่จะนำไปสู่การปรับสมดุลเชิงแข่งขันของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ความได้เปรียบเรื่องวัตถุดิบ แรงงาน  ค่าจ้าง เทคโนโลยี นวัตกรรม ภาษา ความเข้าถึงตลาด  ซึ่งทุกๆ ธุรกิจ จำเป็นจะต้องมีการปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้อยู่รอดต่อไปให้ได้

แม้ประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มและเป็นผู้นำในบทบาทของอาเซียนในด้านต่างๆ เพราะเล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ที่จะได้รับจากการรวมกลุ่มในครั้งนี้  แต่ แต่ละองค์กร ในทุกภาคส่วนธุรกิจ รวมทั้งประเทศไทยเอง ก็ยังต้องปรับตัว เตรียมพร้อมและยอมรับผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  เมื่อได้เกิดการรวมกลุ่มภูมิภาคอาเซียนแล้ว  ซึ่งคงจะต้องใช้ระยะ เวลาเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้อีกหลายปี นับต่อจากนี้เป็นต้นไป 

เขียนและเรียบเรียงจาก
: บุญชัย วลีธรชีพสวัสดิ์  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
: หนังสือพิมพ์ ประชาชาติธุรกิจ