ใกล้ครบรอบ 2 ปีของการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ ต้องตั้งรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ในส่วนของประเทศไทยเองต้องยอมรับว่าหลายปีที่ผ่านมามีการถดถอยทางเศรษฐกิจ อยู่แล้ว ความสามารถในการการแข่งขันทางเศรษฐกิจก็เริ่มลด พอมาเจอสภาพเศรษฐกิจในปี 2558 ก็ยิ่งซ้ำเติมเข้าไป กลายเป็นว่าเราไทยโดน “สองเด้ง” ก็ทำให้โอกาสฟื้นมีปัญหา
ที่ผ่านรัฐบาลทหารชุดนี้มีความพยายามที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด นับตั้งแต่มีการเปลี่ยน “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” จาก “คุณชายอุ๋ย-ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล” มาเป็น “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีเศรษฐกิจในกระทรวงสำคัญๆ
แต่ดูเหมือนว่า ไม่ว่าจะพยายามมากมายแค่ไหน “สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ” ก็ดิ้นไม่ออกจาก “วิกฤตกำลังซื้อ” ด้วย “สภาพยอดขายที่ลดลง” ของเกือบทุกประเภทสินค้า ขณะที่ “การลดรายจ่าย” เป็นเรื่องยากเย็น ยกเว้นจะเอาตัวรอดด้วยการ “ปลดพนักงาน” ซึ่งจะทำให้กระทบต่อ “กำลังซื้อในภาพรวม” ขึ้นมาอีก
ทั้งนี้ ในความเป็นไปทางการเมืองที่สถานการณ์บังคับให้จำเป็นต้องไม่แคร์ต่างประเทศ แม้จะถูกตัดสิทธิทางภาษี และการใช้เรื่องสิทธิมนุษยชนมาเล่นงาน รวมทั้งการ “ย้ายฐานการผลิต”
ขณะเดียวกันประเทศไทยยังต้อง เผชิญกับวิกฤติภัยแล้งที่ปีนี้ดูเหมือนว่าจะรุนแรงมากขึ้น จะเห็นได้จากในขณะนี้เข้าเดือนพฤษภาคมจนเลยเข้ามากลางเดือนแล้ว “อากาศ” ยังร้อนมาก ที่สำคัญคือ พืชผลการเกษตรที่หล่อเลี้ยงชีวิตและครอบครัวเกษตรกร แทบหมดความหวังที่ใครจะช่วยเยียวยา ได้แต่แหงนมองฟ้ารอฝนว่าจะมาเมื่อไร ได้แต่เก็บความเดือดร้อนไว้ในใจ เอ่ยปากเรียกร้องอะไรจากใครไม่ได้ ทำให้ทางเดินของ “รองฯ สมคิด” มีให้เลือกไม่มากนัก
ดังนั้นหนทางเดียวที่ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ในฐานะ “ขุนพลเศรษฐกิจ” ต้องเดินคือ หาทาง “กระจายเม็ดเงิน” ลงตลาดเพื่อสร้างกำลังซื้อขึ้นมาให้ได้ ด้วยการเร่งการลงทุนภาครัฐ และออกมาตรการกระตุ้นให้ “คนระดับบนที่เงินทองยังท่วมหัว” ได้ใช้จ่าย เพื่อปล่อยน้ำไปหล่อเลี้ยงคนระดับล่าง พร้อมทั้งเปิดทางให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาใช้จ่าย เพื่อกระตุ้นอีกทาง
แต่ดูเหมือนว่าการออกนโยบายอะไรก็ดูเหมือนจะ “ด้าน” ไป หมด สิ่งเดียวที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจเฝ้ารอก็คือคงต้องลุ้นตัวเลขจีดีพี ไตรมาสแรกของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่จะเปิดเผยออกมาในวันที่ 16 พ.ค.นี้ ซึ่งถ้าตัวเลขออกมาขยายตัวไม่ต่ำกว่า 2.8% ก็น่าจะช่วยให้ใจชื้นมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ แม้ในเดือน ม.ค.ตัวเลขเศรษฐกิจจะไม่ขยายตัวมากนักแต่ในเดือน ก.พ. – มี.ค.59 ตัวเลขต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น ดังนั้นหากตัวเลขจีดีพีในไตรมาสแรกขยายตัวได้ตามเป้าหมายก็ถือเป็นผลดีกับ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อจากนี้ไปได้
“ภาพรวมเศรษฐกิจใน ขณะนี้ นโยบายที่ลงไปกำลังเดินหน้ากำลังค่อยๆ ฟื้นตัวทุกอย่างให้เป็นไปตามแผนคืออะไรให้ออกมาก็ต้องออกภาพที่จะเห็นจึง เหมือนถ่านกำลังติดไฟ แต่มันจะดับทันทีถ้ามีปัญหาเรื่องการเมือง เพราะจะส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของคนตอนนี้ดัชนีภาคการผลิตอุตสาหกรรมฟื้น ตัวแล้ว แต่ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคยังไม่ฟื้น ก็หวังว่าถ้าตัวเลขจีดีพีออกมาดีก็ส่งผลเชิงจิตวิทยา เพราะจะเห็นภาพรวมเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัวเป็นลำดับ” หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ระบุ
“หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” รัฐบาลนี้ย้ำว่า จากนี้ไปการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป รัฐบาลจะเน้นการขับเคลื่อนการลงทุนและการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย ส่วนความมั่นใจของนักลงทุนต่างประเทศตอนนี้เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น ล่าสุดมีนักลงทุนหลายรายที่เดินทางเข้ามาพบและสนใจที่จะเข้ามาลงทุนใน ประเทศไทย เพราะเห็นว่าในอนาคตไทยจะเป็นศูนย์กลางของอาเซียน รวมถึงการท่องเที่ยวก็ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง
ขณะที่เม็ดเงินและกำลัง ซื้อในชนบทน่าจะเพิ่มมากขึ้น หลังรัฐบาลมีนโยบายต่างๆ ที่มุ่งเน้นการกระจายเงินไปในชนบทให้ประชาชนมีกำลังซื้อ ประกอบกับในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 จะมีฝนตกลงมาทำให้การเพาะปลูกสินค้าเกษตรทำได้ดีขึ้นประกอบกับสินค้าเกษตรมี ทิศทางราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังได้เร่งรัดให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบาย รัฐวิสาหกิจ (สคร.) เร่งบรรจุโครงการรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง คือ เส้นกรุงเทพฯ-ระยอง 1.52 แสนล้านบาท และเส้นกรุงเทพฯ-หัวหิน 9.46 หมื่นล้านบาท
ขณะเดียวกันก็ตามมีตัวเลขรายงานการเบิกจ่ายงบประมาณจาก สำนักงบประมาณโดยได้รายงานผลการเบิก จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 59 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 58-31 มี.ค. 59 วงเงินงบประมาณรวม 2.72 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1.41 ล้านล้านบาท หรือ 51.91% แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 2.17 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1.24 ล้านล้านบาท 57.39% รายจ่ายลงทุนวงเงินรวม 5.44 แสนล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1.63 แสนล้านบาท 29.98%
ส่วนนโยบาย สำคัญของรัฐบาล วงเงินรวม 1.35 แสนล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 9.63 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 71.17% ของวงเงินงบประมาณที่ใช้ดำเนินนโยบายสำคัญของรัฐบาลทั้งหมด ไมว่าจะเป็น มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล, มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ, มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน
ขณะที่ยังง่วนอยู่กับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ จู่ๆในช่วงที่ผ่านมากลับมีกระแส “ข่าวลือ” กรณีมีกระแสข่าวกดดันให้ “รัฐมนตรีคลังลาออก” ซึ่งคนที่ออกมาเปิดเผยข่าวร้อนดังกล่าวคือ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าคนที่โทรศัพท์ขู่รมว.คลังเป็นคน “จิตไม่ปกติ”
อย่างไรก็ตาม ข่าวดังกล่าวนี้นักวิเคราะห์การเมืองมองว่าไม่ใช่แค่เรื่องคน “จิตไม่ปกติ” ธรรมดา โดยเฉพาะเมื่อย้อนไปถึงกระแสข่าวเกี่ยวกับรัฐมนตรีสายเศรษฐกิจรัฐบาลที่ผ่าน มามีข่าวลักษณะเดียวกันเป็นระยะๆ ทั้ง รมว.คลังจ่อถูกปลด หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ-รัฐมนตรีเตรียมลาออกจนมาถึงครั้งนี้
ว่ากันว่างานนี้อาจเกี่ยวข้องกับการทำงาน “ไม่เข้าขา” ระหว่าง “รองนายกฯสมคิด” กับ รมต.ทีมเศรษฐกิจที่อยู่นอกเครือข่าย “สมคิดกรุ๊ป” โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมที่ถูกจับตามองว่าอาจเป็น “เกาเหลา” รวมไปถึงการบริหารงาน การแย่งซีนเด่น การชิงคุมเค้กเมกะโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐาน การเปิดตัวเลขเศรษฐกิจ ไปจนกระทั่งการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ที่ถึงขั้นแบ่งฝ่ายกันระหว่าง “เด็กผู้นำเครือข่ายพี่ใหญ่” กับกลุ่มอำนาจอื่น
ทั้งนี้ข่าวลือดังกล่าวจะทำเพื่อหวังผล “แซะเก้าอี้-ป่วนสถานการณ์” หรือ “ต่อรอง” ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ที่แน่ๆ ข่าวลือข่าวลวงโผล่ในช่วงที่ผู้นำวางกรอบโรดแม็ปเลือกตั้ง วางกรอบเวลาทำงานชัด ทำให้งานนี้แต่ละฝ่ายเลยเริ่มขยับ “ปล่อยของ” และคงจะสาวถึง “ต้นตอ” ข่าวลือได้ยาก!!