ดร.วินัย ดะห์ลัน : เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการนับเดือนอาหรับเดือนไทย

ใกล้ถึงรอมฎอนเต็มทีแล้ว ส่วนใครจะเขียนว่ารอมฎอนหรือเราะมะฎอน ไม่เป็นไร เข้าใจให้ตรงกันก็เพียงพอแล้วว่าคือเดือนที่เก้าตามปฏิทินอาหรับ ใครที่ชินกับเดือนไทยซึ่งเป็นเดือนทางจันทรคติเช่นเดียวกับเดือนอาหรับ อาจแปลกใจว่าทำไมวันที่ 1 เดือนรอมฎอนหรือเดือนเก้าตามปฏิทินอาหรับปีนี้คือวันที่ 6 มิถุนายน 2559 ซึ่งตามปฏิทินจันทรคติของไทยคือวันที่ 2 เดือนเจ็ด ต่างกันทั้งหมายเลขเดือนและวันที่ของวัน ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น เรื่องนี้มีคำอธิบาย (อันที่จริงเคยอธิบายแล้ว)

จำนวนวันตามปฏิทินจันทรคติน้อยกว่าจำนวนวันตามปฏิทินสุริยคติโดยเฉลี่ย 11 วันต่อปี หรือ 33 วันต่อสามปีซึ่งเท่ากับหนึ่งเดือน เหตุนี้ปฏิทินจันทรคติแบบไทยและจีนจึงมีการเพิ่มเดือนอีกหนึ่งเดือนทุกสามปี ทั้งนี้เพื่อเลื่อนเดือนตามปฏิทินจันทรคติให้สอดคล้องกับปฏิทินสุริยคติ เพื่อประโยชน์ของการเพาะปลูก สำหรับปฏิทินอาหรับนั้นก่อนหน้าฮิจเราะห์ศักราชที่ 9 หรือ ค.ศ.631 มีประเพณีเพิ่มเดือนเช่นเดียวกันเรียกการเพิ่มเดือนนี้ว่า “อัลนะซีอ์” กระทั่งถึงเดือนซุลเกาะดะฮ์หรือเดือน 11 ฮ.ศ.9 จึงมีบัญญัติในอัลกุรอ่านห้ามการเพิ่มหรือเลื่อนเดือน ปรากฏในอัลกุรอ่าน บทที่ 9 อัตเตาบะฮ์ วรรคที่ 37 นับแต่นั้นมาเดือนรอมฎอนจึงเลื่อนเร็วขึ้น 11 วันในแต่ละปี นั่นคือคำอธิบายว่าเหตุใดเลขที่เดือนอาหรับกับเดือนไทยตามจันทรคติจึงไม่ตรง กัน

ส่วนวันไม่ตรงกันโดยวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นวันที่ 1 เดือนรอมฎอนตามปฏิทินอาหรับแต่กลับเป็นวันที่ 2 เดือนเจ็ดตามปฏิทินจันทรคติของไทย เป็นผลมาจากวิธีการนับวันไม่เหมือนกัน ปฏิทินไทยนับการเริ่มต้นวันตามแบบปฏิทินสากลนั่นคือวันเริ่มต้นหลังเที่ยง คืน ดังนั้นเมื่อเห็นจันทร์เสี้ยวหนึ่งค่ำเกิดขึ้นตอนพลบค่ำวันที่ 5 มิถุนายนก็ต้องนับทั้งวันของวันที่ 5 มิถุนายนเป็นวันที่ 1 ตามไปด้วย ผลที่ตามมาคือวันที่ 6 มิถุนายนกลายเป็นวันที่ 2 เดือนเจ็ดอย่างที่เห็น

ส่วนปฏิทินอาหรับนับการเริ่มต้นวันตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกของวันนี้ไปจนถึงดวง อาทิตย์ตกของวันถัดไป เมื่อดวงอาทิตย์ตกแล้วจึงเริ่มเห็นจันทร์เสี้ยวหนึ่งค่ำ นั่นเองที่นับเป็นวันที่ 1 ของเดือน ด้วยเหตุนี้วันที่ 1 เดือนรอมฎอนตามปฏิทินอาหรับจึงนับตั้งแต่ประมาณ 6 โมงครึ่งเย็นวันที่ 5 มิถุนายนไปจนถึง 6 โมงครึ่งของเย็นวันที่ 6 มิถุนายน เหตุนี้ใครที่ดูวันตามปฏิทินอาหรับหรือปฏิทินไทยจึงต้องเข้าใจวัฒนธรรมของ แต่ละชาติควบคู่ไปด้วย

ว่างๆช่วงเดือนรอมฎอนจะเขียนเรื่องดีๆเกี่ยวกับรอมฎอนให้พวกเราได้อ่านคละไปกับเรื่องอื่นๆ เอาตามนั้นนะครับ

 

เขียนโดย : รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน
ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มา https://www.facebook.com/drwinaidahlan/?fref=nf&pnref=story