สันติภาพและความรุนแรงของโลก: มองผ่านดัชนีชี้วัดสันติภาพโลก (GPI) 2016

วันที่ 8 มิ.ย. ที่เพิ่งผ่านมา สถาบันเพื่อเศรษฐกิจและสันติภาพ (the Institute for Economics and Peace; IEP) ได้เผยแพร่รายงานดัชนีชี้วัดสันติภาพโลก หรือ Global Peace Index (GPI) ประจำปี 2016 โดยอาศัยเกณฑ์วัดสันติภาพ ประกอบด้วย ดัชนีชี้วัด 23 ตัวแปร จำแนกเป็น 3 หมวดหมู่ คือ (1) สถานการณ์ความขัดแย้งภายในและระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น (the ongoing domestic and international conflict) (2) ความมั่นคงปลอดภัยของสังคม (the societal safety and security) และ (3) กิจการและแสนยานุภาพทางการทหารในแต่ละพื้นที่ (the militarisation) ทั้งหมดนี้จะเป็นเกณฑ์นำไปเก็บข้อมูลประเทศทั่วโลก 163 ประเทศ

แผนภาพที่ 1 ดัชนีชี้วัดสันติภาพโลก 23 ตัวแปร

gpi1

ผลลัพธ์ปรากฏว่า โลกในภาพรวมของปีนี้ มีระดับสันติภาพน้อยลงกว่าเมื่อปีก่อนพอสมควร โดยหมวดหมู่ของตัวแปรที่ดูดีขึ้น คือ กิจการและแสนยานุภาพทางการทหาร ที่แม้ว่าบางประเทศจะยังหมกมุ่นกับการสะสมอาวุธ แต่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกมีทิศทางของการตัดงบประมาณการทหารลง ส่วนหมวดหมู่ที่ฉุดรั้งให้ระดับสันติภาพโลกดูตกต่ำลง คือ สถานการณ์ความขัดแย้งภายในและระหว่างประเทศ กับ ความมั่นคงปลอดภัยของสังคม ทั้งนี้ แชมเปี้ยนของสถานการณ์สันติภาพตกต่ำมากที่สุดในปี 2016 นี้ ถ้านับในแง่ภูมิภาค ก็ได้แก่ ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ถ้านับในแง่ประเทศ ก็คือ ประเทศซีเรีย ส่วนแชมเปี้ยนของสถานการณ์สันติภาพมากที่สุดในปีเดียวกันนี้ ถ้านับในแง่ภูมิภาค ก็คือ ยุโรป ส่วนถ้านับในแง่ประเทศ ก็ได้แก่ ประเทศไอซ์แลนด์

1. แนวโน้มระยะ 10 ปีที่ผ่านมา: ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสันติภาพ? (Peace Inequality Gap)

หากพิจารณาในภาพระยะยาว ช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา ระดับสันติภาพของโลกในภาพรวมโดยเฉลี่ยกันทุกประเทศแล้ว มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา และพบว่าโลกเรามีสันติภาพน้อยลง โดยอาจกล่าวได้ว่า เป็นช่วง 8-9 ปีที่ระดับของสันติภาพโลกถดถอยลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์หลังสงครามเย็น (ดูแผนภาพที่ 2)

แผนภาพที่ 2 ค่าเฉลี่ยของสันติภาพโลกในช่วง 8-9 ปี (2008-2016)

gpi2

ขณะเดียวกัน ถ้าหากเราพิจารณาลงไปในรายละเอียดก็จะปรากฏอีกภาพที่น่าสนใจมากกว่า นั่นคือ กราฟที่ชี้ให้เห็นการขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ของช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสันติภาพ (Peace Inequality) ระหว่างกลุ่มประเทศที่มีสันติภาพมากที่สุด กับกลุ่มประเทศที่มีสันติภาพน้อยที่สุด (ดูแผนภาพที่ 3)

แผนภาพที่ 3 แสดงแนวโน้มของช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสันติภาพในระยะ 8 ปี (2008-2015)

gpi3

กล่าวคือ ประเทศที่มีสันติภาพที่สุดในโลกจำนวนมากอยู่ในทวีปยุโรป ซึ่งเป็นผลสำคัญมาจากการลดลงอย่างต่อเนื่องของอัตราการเกิดฆาตกรรม การลดการใช้จ่ายด้านการทหาร และการถอนทหารออกจากอิรักและอัฟกานิสถาน และพบว่า จาก 20 ประเทศที่มีสันติภาพที่สุดในโลกในการวัดประเมินปีล่าสุด เป็นประเทศในทวีปยุโรปถึง 14 ประเทศ

สำหรับกลุ่มประเทศที่ระดับสันติภาพต่ำ ได้แก่ ซีเรีย ซูดานใต้ อิรัก อัฟกานิสถาน โซมาเลีย เยเมนแอฟริกากลาง ยูเครน และซูดาน ตัวเลขชี้วัดสันติภาพที่ตกต่ำนั้นเป็นผลสำคัญมาจากการขยายตัวมากขึ้นของความไม่สงบภายในประเทศ และความตึงเครียดมากขึ้นของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มติดอาวุธ ซึ่งจะเห็นว่า จำนวนผู้เสียชีวิตในความขัดแย้งภายในประเทศทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว (2015) พุ่งไปแตะถึงตัวเลข 280,000 คน ซึ่งคำนวณเร็วๆ ได้ว่าเพิ่มขึ้นจาก ค.ศ. 2010 ถึง 267% ขณะเดียวกัน ก็ส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของจำนวนผู้อพยพลี้ภัยและผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นในประเทศตนเอง ซึ่งจัดได้ว่ามีสัดส่วนราว 1% ของประชากรโลกทั้งหมด ปัจจัยเหล่านี้เป็นสถานการณ์การใช้ความรุนแรงที่ฉุดรั้งดัชนีชี้วัดสันติภาพโลกในภาพรวมช่วงที่ผ่านมาให้ตกต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ

2. ผลกระทบของการก่อการร้าย

ในส่วนผลกระทบของการก่อการร้าย พบว่า ปฏิบัติการของกลุ่มที่ใช้วิธีการดังกล่าวยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการก่อเหตุของพวกเขาคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วราว 20,000 ชีวิตนับเฉพาะในรอบการวัดประเมินปี 2015 และจำนวนราว 32,000 ชีวิตนับเฉพาะรอบการวัดประเมินในปี 2016 แต่ก็น่าสนใจว่า ตัวเลขดังกล่าวไม่นับรวมการก่อการร้ายที่กระทำโดยรัฐ ซึ่งถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา เป็นผู้เล่นที่คร่าชีวิตมนุษย์ด้วยวิธีการก่อการร้าย/สร้างความสะพรึงกลัวมากที่สุดตลอดเส้นทางประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการอุ้มหาย การลักพาตัว การสังหารหมู่ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราตามน้ำไปกับข้อมูลของดัชนีชี้วัดสันติภาพโลก หรือ GPI ก็จะยังเห็นข้อน่าสนใจอีกสองข้อ คือ หนึ่ง ส่วนใหญ่ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้าย เป็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นใน 5 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ อิรัก ไนจีเรีย อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และซีเรีย สองก็คือ กราฟเปรียบเทียบระยะยาวระหว่างจำนวนการเกิดเหตุเปรียบเทียบกับจำนวนผู้เสียชีวิตมีความน่าสนใจมาก เพราะมันสะท้อนว่าในขณะที่การเกิดเหตุก่อการร้ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อัตราการเสียชีวิตต่อการเกิดเหตุหนึ่งครั้ง กลับเพิ่มสูงขึ้นในความเร่งที่มากกว่าเสียอีก แปลว่า ศักยภาพของการก่อเหตุแต่ละครั้งเพิ่มสูงขึ้น การลงมือครั้งหนึ่งทำให้คนตายได้มากขึ้น ซึ่งเห็นแบบแผนนี้ชัดเจนยิ่ง ในช่วงหลังปี 2012 เป็นต้นมา

แผนภาพที่ 4 เปรียบเทียบระหว่างจำนวนการก่อเหตุก่อการร้ายกับจำนวนผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการดังกล่าวในช่วงระยะ 10 ปี (2006-2015)

gpi4ทั้งหมดที่ฉายภาพตามการนำเสนอของค่าตัวแปรของ IEP นี้ คงพอจะ “วัดอุณหภูมิ” สันติภาพโลกได้อย่างคร่าวๆ ว่า โลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้น มีแนวโน้มของสันติภาพที่ตกต่ำลง ซึ่งก็แปลได้อีกแบบว่า สถานการณ์ความรุนแรงของโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น และการปรากฏช่องว่างถ่างออกจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างกลุ่มประเทศที่มีสันติภาพที่สุด กับกลุ่มประเทศที่เผชิญสถานการณ์ความรุนแรงมากที่สุด แต่ข้อน่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือ เวลาพูดว่า “ความรุนแรง” เรากำลังหมายถึงอะไร

3. มองสถานการณ์สันติภาพและความรุนแรงของโลก ผ่านกรอบเลนส์ของโยฮัน กัลตุง

ความรุนแรง (violence) เป็นอีกคำในทางสังคมศาสตร์ที่มีการให้นิยามหลากหลาย ความหมายของมันหลากเลื่อนไปตามบริบทของกาละและเทศะ ตลอดจนการรับรู้ของตัวบุคคล แต่ส่วนใหญ่ของการให้ความหมายมักจะเป็นนิยามในเชิงพฤติกรรม (behavioral) เช่น “การการกระทําใดๆ ที่เป็นเหตุหรือเป็นสิ่งที่โน้มน้าวให้เกิดความทุกข์ทรมาน” , “การจงใจใช้กําลังหรืออํานาจทางกายเพื่อข่มขู่ หรือกระทําต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อกลุ่มบุคคลหรือชุมชน ซึ่งมีผลทำให้เกิดหรือมีแนวโน้มที่จะมีผลให้เกิดการบาดเจ็บ ตาย หรือเป็นอันตรายต่อจิตใจหรือเป็นการยับยั้งการเจริญงอกงามหรือการกีดกันหรือปิดกั้น ทําให้สูญเสียสิทธิบางประการ และขาดการได้รับในสิ่งที่สมควรจะได้รับ” , หรือ “การใช้กําลังคุกคามหรือทำร้าย เพื่อควบคุม หรือครอบครองบุคคล หรือทรัพย์สิน” ฯลฯ

ขณะเดียวกัน ประเด็นเรื่องระดับของสันติภาพและความรุนแรงในโลกตามตัวชี้วัด GPI ที่กล่าวถึงไป ก็พอจะจัดได้ว่า มีมิติหลักคือมองความรุนแรงเป็นพฤติกรรมเช่นเดียวกัน โดยมองว่ามันสะท้อนผ่านของ 2-3 ประเภทที่จับต้องได้ คือ (1) ขนาดและความเข้มข้นของความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ (2) ตัวเลขบ่งชี้ความมั่นคงปลอดภัยของสังคม เช่น อัตราการเกิดฆาตกรรม หรือตัวเลขการก่ออาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรง และ (3) ขนาดของการทุ่มเทให้กับกิจการด้านการทหารของแต่ละรัฐ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนขับเน้นมิติการมองความรุนแรงในฐานะพฤติกรรมเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาจากมุมมองของนักวิชาการคนสำคัญอย่างโยฮัน กัลตุง (Johan Galtung) ก็จะพบว่า ความรุนแรงจำแนกออกได้เป็น 3 ลักษณะ ซึ่งมีความสัมพันธ์และเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน คือ ความรุนแรงทางตรง (direct violence) ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (structural violence) และความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม (cultural violence) และวันนี้การครุ่นคิดทบทวนความเข้าใจต่อความรุนแรงแต่ละลักษณะ ตลอดจนสายสัมพันธ์ของพวกมันนั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเข้าใจและหาทางออกจากสถานการณ์ความรุนแรงของโลกปัจจุบัน

3.1 ความรุนแรงทางตรง (direct violence)

ความรุนแรงทางตรงมีลักษณะเป็นเหตุการณ์ (event) อันประกอบด้วยที่มาของความรุนแรง เป้าของความรุนแรง และเหยื่อของความรุนแรงนั้น เหตุที่ต้องจำแนกเป้าของความรุนแรงกับเหยื่อของความรุนแรงออกจากกันเพราะหลายต่อหลายครั้งเป้าไม่ใช่เหยื่อ และเหยื่อไม่ใช่เป้า ดังกรณีการก่อการร้ายโดยทั่วไป ดังนั้น เราจึงไม่สามารถระงับการโจมตีได้ หากสนใจเพียงแค่มาตรการป้องกันเหยื่อให้รอดพ้นจากปฏิบัติการก่อเหตุ แต่เพิกเฉยต่อการทำความเข้าใจเป้าหมายของการใช้ความรุนแรง
ลักษณะเด่นของความรุนแรงทางตรง คือมักเผยตัวออกมาให้เห็นชัดเจนในทางกายภาพ และส่งผลในเชิงทำร้ายร่างกายมนุษย์โดยตรง ทั้งในเชิงทำลายร่างกายอันทําให้ศักยภาพของมนุษย์สะดุดหยุดลงโดยยังไม่ถึงกาลอันสมควร เช่น การบดขยี้ การฉีกกระชาก การแทง และในเชิงขัดขวางการทำงานของร่างกาย เช่น การไม่ให้มีอากาศ หรือการไม่ให้มีอาหาร

ข้อน่าสนใจก็มีอยู่อีก 2 ข้อ ข้อแรกคือ เครื่องมือก่อความรุนแรง นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เก่งกาจอย่างมากในการพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องมือก่อความรุนแรง ในสมัยโบราณ เราอาจเห็นการให้น้ำหนักกับ “ร่างกาย” ในฐานะอาวุธ ลำดับถัดมาก็คือ อาวุธระดับพื้นฐานประเภทดาบ กริช หอก ทวน ซึ่งความสามารถทำลายล้างของของเหล่านี้ขึ้นอยู่อย่างมากกับธรรมชาติของเหยื่อแห่งความรุนแรง เช่น การชกต่อยนักมวย กับชกต่อยเด็กประถมย่อมให้ผลลัพธ์ไม่เหมือนกัน ซึ่งน่าสนใจว่าเครื่องมือก่อความรุนแรงที่มนุษย์พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันนั้น นอกจากจะมีอานุภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ความสามารถทำลายล้างของมันยังไม่ขึ้นกับธรรมชาติของเหยื่ออีกด้วย เช่น ปืนอาก้า คาร์บอม หรือระเบิดปรมาณู ทำให้เราพอจะกล่าวได้ว่า นวัตกรรมทางอาวุธของมนุษย์สามารถทำรับประกันความตายให้กับมนุษย์ทุกประเภทได้อย่างเสมอภาค

นอกจากนี้ แบบแผนของการก่อความรุนแรงยังมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคสมัยที่เรียกกันว่า “สงครามยุคที่ 4” หรือ the 4th Generation War (4GW) ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ การเปลี่ยนแปลงจากการรบตามแบบไปสู่การรบนอกแบบ จากสงครามระหว่างกองทัพขนาดใหญ่ไปเป็นสงครามระหว่างรัฐกับกลุ่มที่มิใช่รัฐ จากการรบแบบรวมศูนย์มาเป็นการรบแบบมีศูนย์การรบย่อยหลายจุดกระทั่งไปสู่การรบแบบกระจายตัวไปทั่วโดยไร้จุดศูนย์ดุล ตัวอย่างชัดคือการปรากฏบ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ ของการก่อการร้ายแบบ lone wolf ความเชื่อมโยงเดียวที่ร้อยรัดกับตัวแสดงอื่น คือ การเชื่อมโยงทางความคิด อุดมการณ์และองค์ความรู้เกี่ยวกับการสร้างเครื่องมือและยุทธวิธีการก่อเหตุรุนแรงผ่านระบบออนไลน์ที่เป็นผลมาจากการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ นอกจากนี้ สงครามในยุคที่ 4 ยังมีลักษณะเด่นคือโยงใยอยู่กับปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองอย่างมากกว่าสงครามยุคก่อนๆ และมิติของการรบทางความคิด ข่าวสาร และปฏิบัติการจิตวิทยามีบทบาทอย่างสูงต่อการแพ้/ชนะของสงคราม

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาในประเด็นการก่อการร้ายข้ามชาติของตัวแสดงที่มิใช่รัฐ จะพบแบบแผนที่มุ่งเน้นการก่อเหตุต่อเมือง หรือที่เรียกว่า Urban Terrorism มากขึ้น ทั้งนี้ ก็ด้วย 3 เหตุผลสำคัญ คือ (1) เป็นการสื่อสารอย่างง่ายๆ และตรงไปตรงมาต่อสาธารณะว่า รัฐบาลของคุณไร้น้ำยา ซึ่งอาจนำไปสู่การลดความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาล ตลอดจนอาจมีผลต่อการที่ประชาชนอาจกดดันให้รัฐบาลเลิกนโยบาย/มาตรการที่กระตุ้นให้เกิดการก่อเหตุรุนแรง (2) เป็นไปทฤษฎีสงครามกองโจรของ Carlos Marighella ที่ว่า ความสำเร็จของสงครามกองโจรในเขตเมืองจำเป็นจะต้องอาศัยยุทธวิธีสร้างความสะพรึงกลัวต่อพื้นที่ดังกล่าวควบคู่ไปด้วย โดยการทำแบบนั้นจะทำให้ฝ่ายรัฐเกิดปฏิกิริยาตอบโต้กลับในเชิงของการพยายามค้นหา สืบสวนปราบปราม และตรวจตราอย่างเข้มข้นในเขตเมือง จนกระทั่งนำไปสู่การรบกวน และสร้างความเป็นปฏิปักษ์กับประชาชนในพื้นที่เสียเอง และพวกเขาเหล่านั้นจะลุกมาต่อต้านหรือกระทั่งต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐในที่สุด และ (3) ในมุมของกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม หรือ ไอเอส สะท้อนผ่านนิตยสารดาบิค เล่มที่ 7 เขาจำแนกพื้นที่ในโลกออกเป็น 3 จำพวก (น่าสนใจว่ากรอบคิดในเรื่องนี้คล้ายกับ “Either Friend or Enemy” ของจอร์จ บุช จูเนียร์อย่างมาก) คือ (1) ชุมชนมุสลิมที่อยู่ข้างพวกเขานับว่าเป็นมิตร (2) พื้นที่ที่เห็นด้วยหรือร่วมมือกับศัตรู (ตะวันตก) แม้จะเป็นชุมชนของมุสลิมแต่ก็นับว่าเป็นศัตรู และจำพวกที่สำคัญที่สุดตามยุทธศาสตร์ที่สื่อสารออกมาก็คือข้อ (3) ชุมชนมุสลิมกลางๆ ที่ไม่ take side และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนที่มิใช่มุสลิมได้ รวมทั้งมีความเห็นอกเห็นใจผู้สูญเสียจากเหตุร้ายต่างๆ ทั้งสงครามของฝ่ายตะวันตกและการก่อเหตุร้ายของไอเอส

ไอเอสเรียกพื้นที่ตามข้อสามนี้ว่า “grey zone” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พวกเขาประกาศว่าจำเป็นต้องทำลายทิ้ง ให้เหลือแต่พื้นที่เผชิญหน้าระหว่างมุสลิมกับพวกที่มิใช่มุสลิม ยุทธศาสตร์เพื่อรับใช้กรอบคิดดังกล่าวของพวกเขาก็คือ การมุ่งทำลายสัมพันธภาพระหว่างชุมชนมุสลิมกลุ่มน้อยในประเทศต่างๆ กับสังคมใหญ่ เพื่อบีบให้โลกแตกออกเป็น 2 ข้างอย่างอย่างชัดเจนเด็ดขาด แล้วเผชิญหน้ากัน ยุทธศาสตร์นี้ดำเนินมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ไอเอสยังอยู่ในร่างของอัลกออิดะฮฺแห่งอิรัก (AQI) ภายใต้การนำของซัรกอวีและสร้างสถานการณ์เผชิญหน้าด้วยความเกลียดชังโกรธแค้นระหว่างชุมชนสุหนี่กับชีอะฮฺในอิรักให้เข้มข้นขึ้น หลังการตั้งรัฐบาลนอมินีของอเมริกา
ข้อน่าสนใจประการถัดมา คือ ผลลัพธ์จากความรุนแรงทางตรง ซึ่งนอกจากจะส่งผลเชิงกายภาพ (physical) อันหมายถึงการทำลายร่างกาย หรือขัดขวางการทำงานของร่างกายมนุษย์แล้ว ยังมีผลอีกลักษณะที่สำคัญ นั่นคือ ผลในเชิงจิตวิทยา (psychological) หลายกรณีที่ปรากฏความรุนแรงทางตรงขึ้น ผลร้ายในทางกายภาพยุติลงเมื่อความรุนแรงสิ้นสุด แต่ผลในเชิงจิตวิทยากลับมิได้ยุติลงตามไปด้วย หากแต่ตกค้าง เป็นรอยแผลเป็น และกัดกร่อนสภาพจิตใจของเหยื่อมิรู้จบ

ผลลัพธ์เชิงจิตวิทยา / การเมืองแห่งความทรงจำ / ภูมิรัฐศาสตร์ของอารมณ์: ปาเลสไตน์และโลกมุสลิม

ในกรณีปรากฏการณ์ความรุนแรงร่วมสมัย เราพบว่า กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ปัญหาของปาเลสไตน์ เราอาจกล่าวตามกรอบคิดความรุนแรงทางตรงได้ว่า ชาวปาเลสไตน์คือเหยื่อของความรุนแรง เป้าของความรุนแรงคือดินแดนภูมิลำเนาของพวกเขา ผู้ใช้ความรุนแรงคือยิวไซออนิสต์ และเครื่องมือของพวกเขาคือสรรพอาวุธหนักเบาภายใต้ยุทธศาสตร์การรุกรานยึดพื้นที่ ควบคู่กับการสร้างความสะพรึงกลัว ในวันที่ไซออนิสต์ประกาศสถาปนารัฐอิสราเอลขึ้น ซึ่งได้แก่วันที่ 15 พฤษภาคม 1948 ชาวยิวอิสราเอลจดจำมันว่าเป็นวันแห่งเอกราชและอิสรภาพ แต่ชาวปาเลสไตน์เรียกมันว่า “วันนักบา” ซึ่งหมายถึงวันแห่งความหายนะมหาวิปโยค หลังจากนั้นทุกๆ ปี ชาวปาเลสไตน์ก็จัดงานรำลึกถึงวันนักบาอันอัปยศนี้เพื่อย้ำเตือนสิทธิอันชอบธรรมที่จะกลับบ้านเรื่อยมา จนกระทั่งปัจจุบันก็จัดเป็นครั้งที่ 68 ปี อันหมายถึง 68 ปีที่สิทธิโดยกำเนิดของพวกเขาถูกพรากไป เพราะฉะนั้น ปัญหาปาเลสไตน์-อิสราเอล จึงมิใช่แค่เรื่องการปะทะทางอาวุธ หรือข้อถกเถียงทางสิทธิมนุษยชนบนฐานกฎหมายระหว่างประเทศ หากแต่ยังมีมิติที่ถูกขับเคลื่อนด้วยการเมืองแห่งความทรงจำ หรือ politics of memory อีกด้วย

ในความเห็นของผม ก่อนหน้า 1948 สำนึกความเป็น “ปาเลสไตน์” นั้นยังไม่โดดเด่นมากนัก แต่หลังจากอิสราเอลยึดครองดินแดน วันนักบากลายเป็นจุดอ้างอิงเริ่มต้นเพื่อเชื่อมโยงไปกับเหตุการณ์อื่นๆ ที่ตามมา รวมทั้งเป็นเส้นแบ่งทางเวลาที่ใช้แยกประเภทรุ่นของคนปาเลสไตน์วัยต่างๆ ด้วย ทั้งหมดนี้มีผลในการถักทอระบบของการให้ความหมายต่ออดีต หรือความทรงจำร่วมของชนชาติกลุ่มก้อนหนึ่ง ซึ่งพวกเขาหล่อหลอมสำนึกร่วมผ่านการรับรู้ถึงตนเองในฐานะที่เป็นเหยื่อร่วม และเป็นผู้มีศัตรูร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าวันสถาปนารัฐอิสราเอล เมื่อ ค.ศ.1948 นั้น คำว่า “นักบา” ได้ถูกใช้ก่อนแล้วในการเรียกปี 1920 ว่า ปีแห่งหายนะ หรือ “Nakba Year” เพื่อสะท้อนถึงการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมานและสืบเนื่องด้วยการที่ชาติมหาอำนาจยุโรปแบ่งสรรพื้นที่ที่เคยอยู่ใต้อิทธิพลของออนโตมานออกเป็นรัฐอิสระจำนวนมาก โดยดินแดนปาเลสไตน์ถูกจัดแบ่งให้เป็นรัฐอาณัติของอังกฤษ และหลัง 1920 นี้เอง ที่ค่อยๆ เริ่มปรากฏขบวนการเคลื่อนไหวชาตินิยมอาหรับต่อต้านการครอบงำของจักรวรรดิตะวันตกเรื่อยมา ซึ่งระยะแรกนี้ค่อนข้างเด่นชัดในซีเรีย อิรัก และปาเลสไตน์ ความทรงจำของปาเลสไตน์จึงเป็นส่วนตอนหนึ่งในภาพใหญ่แห่งประวัติศาสตร์บาดแผลของภูมิภาคที่ถูกกระทำ และริดลอนสิทธิในการกำหนดอนาคตไปอยู่ในมือของจักรวรรดิตะวันตก และความต่อเนื่องของภาพดังกล่าวที่เป็นเช่นนั้นมาจนถึงปัจจุบัน มีบทบาทสำคัญต่อการหล่อหลอมความรู้สึกถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรีให้ฉาบเคลือบเป็นอารมณ์ร่วมของภูมิภาค

ประเด็นนี้ถูกกล่าวถึงอย่างคมชัดในงานของ Dominique Moïsi เขากล่าวว่า ในช่วงที่ยุโรปอยู่ในยุคมืด อารยธรรมของโลกมุสลิมจัดว่าขึ้นถึงขีดสุด แต่เมื่อยุโรปก้าวเข้าสู่ยุคเรอเนสซองซ์ โลกมุสลิมก็ค่อยๆ เสื่อมลงจนปรากฏรูปการณ์เด่นชัดคือการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมาย และต่อมาในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ การสร้างรัฐอิสราเอลขึ้นใจกลางแวดล้อมชาติอาหรับ ยิ่งเป็นสิ่งยืนยันชัดเจนถึงความล่มสลายของโลกมุสลิม สำหรับยิว พวกเขาอาจเห็นการสร้างรัฐอิสราเอลเป็นเรื่องที่มีความชอบธรรมจากหลายมุมด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลเรื่องดินแดนพันธสัญญา การตระหนักในชะตาของชนชาติ หรือการที่ประชาคมระหว่างประเทศพยายามเยียวยาพวกเขาจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ในสายตาของชาวอาหรับ เหตุการณ์เดียวกันที่เกิดขึ้นนี้ถูกจดจำในฐานะการกระทำดิบเถื่อนบนตรรกะของการล่าอาณานิคมอันล้าสมัยของตะวันตก ในบริบทโลกยุคที่ขับเคลื่อนด้วยกระแสปลดปล่อยอาณานิคม และไม่อาจเข้าใจได้ว่า อาชญากรรมอันถ่อยเถื่อนที่ตะวันตกกระทำต่อชาวยิวนั้น ทำไมโลกอาหรับถึงต้องเป็นผู้ไปชดใช้ให้ความขัดแย้งที่ตีบตันทางออกระหว่างโลกอาหรับกับอิสราเอล ยิ่งยืดเยื้อยาวนาน ยิ่งมีผลสำคัญต่อการค่อยๆ ปรับอารมณ์ของการถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรี อารมณ์ของการถูกกระทำย่ำยี ไปเป็นอารมณ์แห่งความเกลียดชัง และเมื่อเหตุการณ์ดังกล่าว ถูกพิจารณารวมกับสงครามกลางเมืองอิรักหลังปี 2003 บทบาทของอเมริกาและพันธมิตรในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย รวมทั้งการเป็นภูมิภาคที่ประกอบขึ้นด้วยผู้คนจำนวนมากซึ่งตกขบวนไม่ได้ประโยชน์แถมซ้ำกลับเสียเปรียบและถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังในกระบวนการโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ของเหล่านิ้ยิ่งหล่อหลอมอารมณ์ของความแปลกแยกและรู้สึกไม่ได้รับการยอมรับในสายตาของคนนอก

ความรู้สึกถูกดูหมิ่นนี้ไม่ได้จำกัดตัวอยู่แค่ในพื้นที่ตะวันออกกลาง แต่ยังกระจายตัวไปขับเคลื่อนภูมิทัศน์ทางอารมณ์ของชาวมุสลิมอพยพในตะวันตกอีกจำนวนมากด้วยเช่นกัน ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ การจลาจลในฝรั่งเศสช่วงปลายปี 2005 ที่มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยทางสังคมเศรษฐกิจที่เลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยที่เป็นผู้อพยพจากภายนอกยุโรป ซึ่งความคับข้องดังกล่าวยังคงหล่อเลี้ยงความขัดแย้งและเพาะเชื้อแห่งการใช้ความรุนแรงในยุโรปมาจนถึงปัจจุบัน

3.2 ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (structural violence)

ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง หมายถึง อะไรก็ตามที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างศักยภาพของมนุษย์ (potentiality) กับสิ่งที่มนุษย์เป็นอยู่จริง (actuality) โดยเฉพาะเมื่อ “อะไรก็ตาม” นั้นไม่ใช่ตัวบุคคล หากแต่เป็นระบบหรือโครงสร้าง ลักษณะเด่นของความรุนแรงเชิงโครงสร้าง คือ มักเกิดขึ้นและดำรงอยู่ในช่วงเวลาอันยาวนานอย่างต่อเนื่อง (duration) โดยไม่ปรากฏรูป (intangibility) ธรรมชาติของมันจึงเป็นกระบวนการมากกว่าจะเป็นเหตุการณ์จำเพาะเจาะจง ตัวอย่างเช่น งานของ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ซึ่งศึกษาเรื่อง “อุปลักษณ์สุขภาพสันติภาพเชิงวิพากษ์” พบว่า ในแต่ละปีมีผู้ซื้อไอศกรีม เฉพาะในยุโรปมากกว่า 11 พันล้านเหรียญอเมริกัน ในขณะที่มีผู้คน 2,500 ล้านคนทั่วโลกขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งสามารถแก้ไขให้ตกไปได้ด้วยเงินเพียง 9 พันล้านเหรียญอเมริกัน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของที่ประเทศในยุโรปและอเมริกาใช้ซื้อ 56 อาหารสัตว์ในแต่ละปี แสดงว่าในความเป็นจริงแล้ว สังคมมีศักยภาพที่มากพอจะช่วยเหลือคนกลุ่มต่างๆ ได้ แต่สังคมเลือกที่จะไม่ช่วยเหลือ การปล่อยให้บุคคลอื่นต้องเผชิญหน้ากับภาวการณ์ที่ขัดขวางต่อความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ไม่ให้บรรลุผล ทั้งที่สังคมสามารถช่วยเหลือได้นี้ถือเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้น

งานเรื่องเผชิญภัยคุกคามโลกฯ ของคริส แอ็บบอตและคณะ ก็นำเสนอภาพในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ ภาพที่ประโยชน์จากความเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกนั้นไม่ได้รับการแบ่งปันกันอย่างเท่าเทียม ปัจจุบันประชากรกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลกยังต้องพยายามประทังชีวิตในแต่ละวันด้วยเงินไม่ถึง 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เด็กราว 115 ล้านคนซึ่งควรจะได้เข้าโรงเรียนกลับไม่ได้เรียนหนังสือ ชนพื้นเมืองถูกข่มเหงรังแก และที่ทำกินของพวกเขาถูกทำลายไปเพื่อผลกำไร ในแต่ละปีจะมีประชากร 10 ล้านคนทั่วโลกตายไปเพราะความอดอยากหรือโรคที่เกี่ยวเนื่องกับความอดอยาก ทั้งที่โลกเรามีอาหารมากเพียงพอที่จะเลี้ยงประชากรโลกทั้งหมด 6 พันกว่าล้านคนได้ก็ตาม ดังนั้นจะเห็นว่า ตัวเลขทางเศรษฐกิจภาพรวมทั้งโลกที่เราเห็นนั้นกระจุกตัวอย่างมากในพื้นที่เพียงไม่กี่ส่วนของโลก โดยที่ประชากรของโลก “ส่วนใหญ่” กลับถูกเบียดขับให้อยู่เพียงชายขอบ ในสภาวะของความยากจนและไม่เท่าเทียมนี้ อาชญากรรมอย่างเป็นระบบ ความวุ่นวายทางสังคม และความตึงเครียดทางวัฒนธรรม ล้วนเติบโตได้อย่างดีมาก

ความรุนแรงเชิงโครงสร้างดังกล่าวยังสัมพันธ์กับการเติบโตของกลุ่มการเมืองติดอาวุธหลายกลุ่ม กลุ่มเหล่านี้มีจุดร่วมคือ หนทางที่พวกเขาจะบรรลุเป้าหมายทางการเมือง ไม่ว่าจะกำหนดไว้เป็นรูปแบบใดก็ตาม ก็ล้วนจะต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนกลุ่มที่พวกเขาอ้างว่าเป็นตัวแทนเสมอ ซึ่งเงื่อนไขนี้ขึ้นอยู่อย่างมากกับว่าความเดือดร้อนของประชาชนกลุ่มนั้นลงรากลึกและยาวนานเรื้อรังแค่ไหน ความสำเร็จของกลุ่มอย่างฮิซบอลเลาะฮฺในเลบานอน และฮามาสในฉนวนกาซ่านั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากข้อเท็จจริงที่ว่า กลุ่มเหล่านี้สามารถให้บริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลท้องถิ่นไม่ได้จัดหาให้ประชาชน จึงได้รับความรักภักดีจากประชาชนที่หมดศรัทธากับรัฐบาลตนเอง

3.3 ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม (cultural violence)

ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม คือ แง่มุมทางวัฒนธรรม (อันหมายถึงระบบความเชื่อ ระบบสัญลักษณ์ และระบบการให้ความหมายต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์-มนุษย์-ธรรมชาติ-สิ่งเหนือธรรมชาติ) ที่ทำให้ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และการใช้ความรุนแรงทางตรงกลายเป็นเรื่องถูกต้อง เป็นเรื่องธรรมดาหรือยอมรับได้ในสังคม และทำให้ความรุนแรงเหล่านั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้ว คนในสังคมไม่จัดหรือไม่เห็นว่าเป็นความรุนแรง ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างมายาคติที่ทำให้คนในสังคมเชื่อว่าสิ่งที่ตนพบเห็นหรือสิ่งที่กำลังกระทำอยู่นั้นเป็นสิ่งถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ เนื่องจากการใช้ความรุนแรงมักประกอบด้วยมิติสำคัญสองด้าน คือการใช้ความรุนแรง และกระบวนการให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงนั้น ดังนั้น การศึกษาเรื่องความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม จึงเป็นการพิจารณารูปแบบวิธีการที่ความรุนแรงนานาชนิดกลายเป็นเรื่องชอบธรรม และเป็นที่ยอมรับในสังคมโดยรวม
ข้อย้อนแย้งเวลาพูดถึงรากเหง้าความรุนแรงในระดับวัฒนธรรม จากปากของฝ่ายรัฐ กรณีมุมมองต่อเงื่อนไขระดับวัฒนธรรมของปัญหาปาตานี ขณะเดียวกัน เมื่อมองในภาพระดับโลกเกี่ยวกับปัญหาก่อการร้ายทุกวันนี้ เราก็จะพบความจริงแสนประหลาดในลักษณะเดียวกับข้างต้น เช่นว่าเวลาประชาคมระหว่างประเทศเวทีต่างๆ (เช่นในปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น G-20, APEC, ASEAN หรือ Shangri-La Dialogue) ประกาศจุดยืนร่วมกันในการประณาม + ต่อต้านการก่อการร้ายในทุกรูปแบบและไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอุดมการณ์ใด ในทางพฤตินัย เราจะพบว่า รัฐเหล่านั้นไม่ได้ต่อต้านและประณาม ‘วิธี’ การสร้างความสะพรึงกลัว (terror-making) เพื่อเป้าหมายทางการเมือง พวกเขาแค่กำลังต่อต้านและประณามการทำแบบนั้นของกลุ่มติดอาวุธ ‘ที่มิใช่รัฐ’ กับอาจจะแค่อีกบางรัฐที่’ไม่เข้าพวก’ เท่านั้น และหลายครั้งพวกเขาต่อต้านการก่อการร้ายด้วยการสถาปนาระบอบแห่งความกลัว (terror regime) ขึ้นมาแทนที่ รวมทั้งยืนยันการผูกขาดของรัฐ ในฐานะตัวแสดงเดียวที่จะสร้างความหวาดกลัวให้มนุษย์ได้โดยชอบธรรม ในนามของความมั่นคงแห่งชาติและประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้ว โครงการต่อต้านการก่อการร้ายที่ผ่านมาจำนวนมาก ก็คือ การก่อการร้ายเสียเอง แตกต่างเพียงแค่มันเป็นการก่อการร้ายโดยรัฐ (state terrorism) ความคิดที่รับรองการใช้ความรุนแรงของรัฐ ทั้งที่ประณามการทำแบบเดียวกันจากกลุ่มที่มิใช่รัฐ นี่นับเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม

เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะเราจะพบว่าระยะหลังมานี้ ที่โลกถูกหมุนด้วยความหวาดกลัวภัยคุกคามจากการก่อการร้าย ข้อเท็จจริงบ่งชี้ว่า ระบอบประชาธิปไตยหลายแห่งกำลังเลือกใช้วิธีการของเผด็จการไปปราบปรามการก่อการร้ายโดยยินยอมกระทั่งจงใจละเลยและละเมิดหลักสิทธิเสรีภาพของพลเมือง สิทธิมนุษยชน นิติธรรม รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย อ.เกษียร เตชะพีระ เคยกล่าวไว้เมื่อหลายปีก่อนว่า “เรื่องนี้นับเป็นตลกร้ายที่เป็นโศกนาฏกรรม”

ความรุนแรงทั้งสามลักษณะสัมพันธ์กัน กรณีปัญหาสถานการณ์ความรุนแรงในหลายพื้นที่พิสูจน์ว่า ความรุนแรงทางตรงที่ปรากฏในผิวหน้าของเหตุการณ์นั้นล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยความรุนแรงระดับโครงสร้างและวัฒนธรรมอยู่ไม่น้อย และขณะเดียวกัน ความรุนแรงแต่ละลักษณะต่างก็มีผลส่งเสริมต่อความรุนแรงลักษณะอื่นด้วยเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น ข้อเท็จจริงระบุแบบแผนสำคัญว่า ความยืดเยื้อของความขัดแย้งที่มีการใช้ความรุนแรงถึงตาย (deadly violent conflict) มีผลอย่างมากที่จะทำให้ความรุนแรงกลายเป็นสถาบัน (institutionalization of violence)

กล่าวคือ ความรุนแรงซึ่งแต่เดิมถูกใช้เป็นยุทธศาสตร์/เครื่องมือ/วิธีการของการต่อสู้อันเชื่อว่าจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายทางการเมืองบางอย่าง ด้วยเหตุที่พิจารณาแล้วเห็นว่า มันเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพสูงสุดในบริบทนั้นๆ แต่การกลายเป็นสถาบันของความรุนแรง ก็คือ เมื่อเราปล่อยให้ความรุนแรงมีบทบาทขับเคลื่อนวงจรความขัดแย้งไปเรื่อยๆ ตัวของความรุนแรงเองกลับมีแนวโน้มจะดำรงอยู่เพื่อดำเนินวิถีแห่งความรุนแรงต่อออกไป โดยไม่ขึ้นอยู่กับเป้าหมายทางการเมืองใด เป็นการอยู่เพื่อจะดำรงอยู่สืบไปเท่านั้น ตัวอย่างรูปธรรมของมันก็คือ ช่วงเวลา 8-10 ปี ไม่นับว่าน้อยเกินไปที่จะสร้าง “อาชีพ” ที่เกี่ยวเนื่องกับความรุนแรงขึ้นมาในพื้นที่ขัดแย้งแต่ละแห่ง รวมทั้งเป็นเวลามากพอที่จะลงหลักปักฐานอุตสาหกรรมความมั่นคงในพื้นที่เหล่านั้น ซึ่งของเหล่านี้กลายเป็นอาชีพ และเป็นวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญประกอบวัตถุระเบิดซึ่งน่าจะทำเงินได้มหาศาลในช่วงหนึ่งทศวรรษที่มีงานเกือบทุกสัปดาห์ เอเยนซี่พาคนเข้า-ออกประเทศ เจ้าหน้าที่รัฐที่เสพติดรายได้พิเศษและอภิสิทธิ์พิเศษบางประการจากการปฏิบัติงานในพื้นที่ขัดแย้ง งบประมาณที่ปิดลับได้เสมอเมื่ออ้างถึงการผันมาลงสู่พื้นที่เหล่านี้ ฯลฯ นอกจากนี้ พื้นที่ขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรง เปิดช่องทางให้เสมอกับการเคลื่อนไหวของขบวนการอาชญากรรมผิดกฎหมาย ซึ่งหลายๆ ครั้งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันใน 3 รูปแบบกับกลุ่มติดอาวุธ คือ (1) เป็นผู้เล่นอยู่ในพื้นที่เดียวกัน และต่างก็ไม่ล้ำเส้นกัน (2) สนับสนุนกัน และ (3) ควบรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือมีโครงข่ายที่เชื่อมต่อกันในเชิงองค์กร สถานการณ์แบบนี้จะยิ่งเพิ่มมิติให้โจทย์แก้ความรุนแรงสลับซับซ้อนมากขึ้น และจะมากเข้าไปใหญ่หากฝ่ายรัฐมีเอี่ยวในขบวนการดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ การกลายเป็นสถาบันของความรุนแรงยังมีอีกมิติที่สำคัญ คือ เมื่อมันเป็นผู้ได้รับความไว้วางใจให้หมุนวงล้อของความขัดแย้งไปเรื่อยๆ ผู้คนในโครงสร้างสังคมแบบนี้ก็จะเริ่มปรับตัวไปตามยถากรรม จนกระทั่งเมื่อเวลาผ่านไปนานพอ ความรุนแรงจะกลายเป็นวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ ไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ ความรุนแรงและการใช้กำลังจะสถาปนาตัวเป็นบรรทัดฐานสำหรับการจัดการปัญหาความขัดแย้งทุกๆ เรื่องราวในชีวิตของสมาชิกสังคม ผู้คนจะเรียนรู้ว่าความเด็ดขาดที่ตนเองได้เปรียบจะได้มาด้วยการคร่าชีวิตหรือกดทับฝ่ายตรงข้ามลงให้ได้อย่างสิ้นเชิงเท่านั้น พวกเขาจะมองไม่เห็นความเป็นไปได้ในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนที่คิดเห็นขัดแย้งกัน แต่จะคาดหวังสังคมอุดมคติที่มีแต่ “พวกเรา” ซึ่งคิดเห็นเหมือนกันเท่านั้น อันแน่นอนว่าพวกเขาจะต้อง “กำจัดสิ่งแปลกปลอม/ความเห็นแปลกปลอม” ไปเรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด

ความหวาดระแวงจะกลายเป็นบรรยากาศร่วมของชุมชน และมีโอกาสโน้มนำไปสู่การแตกสลายของสังคมจากภายใน ในระดับที่รัฐเองอาจไม่สามารถควบคุมได้ หรือร้ายกว่านั้น คือ กลายเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มชนใดกลุ่มชนหนึ่งให้ติดอาวุธเสียเอง