ย้อนรอยการเมือง Di Selatan (34)

เมื่อผู้เขียนได้รับการร้องเรียนจากผู้นำศาสนาอิสลามในเขตพื้นที่อำเภอสุไหงโกลกแล้ว โดยไม่รอช้า ผู้เขียนได้มีหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เพื่อให้ทบทวนนโยบายของจังหวัดตามหนังสือของนายอำเภอสุไหงโกลกที่ส่งไปยังมัสยิดและมัดราเซาะต่างๆ ดังนี้

พรรคประชาธิปัตย์ สาขานราธิวาส 31 ถ. โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส
ที่ ส.ส. นธ. 15/2530
23 มีนาคม 2530

เรื่อง    การส่งเสริมวัฒนธรรมและวินัยแห่งชาติ
เรียน   ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส
อ้างถึง หนังสือที่ นธ.0916/1905 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2530
สิ่งที่ส่งมาด้วย ภาพถ่ายหนังสือที่ นธ.0916/1905

ตามหนังสือที่อ้างข้างต้นนี้ ทางอำเภอสุไหงโกลก ได้ออกหนังสือเวียนตามภาพถ่ายที่แนบมานี้ ส่งไปยังมัสยิดและมัดราเซาะทุกแห่งในอำเภอสุไหงโกลก เพื่อให้มัสยิดและมัดราเซาะเปิดเครื่องรับวิทยุจากสถานีวิทยุ 912 กรป.กลาง จังหวัดนราธิวาส และถ่ายทอดเพลงชาติผ่านเครื่องขยายเสียงในเวลา 08.00 น. และ เวลา 18.00 น. โดยขอให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2530 นี้ เป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนองนโยบายแผนส่งเสริมวัฒนธรรมและวินัยแห่งชาติ ความแจ้งในหนังสือดังกล่าวแล้วนั้น

กระผมขอเรียนมายังท่านผู้ว่าราชการจังหวัดด้วยความสัตย์จริงว่า ทางฝ่ายตัวแทนมัสยิดหลายแห่งในเขตท้องที่อำเภอสุไหงโกลก ตลอดจนราษฎรไทยมุสลิมหลายคนได้มาหารือกับกระผมในเรื่องนี้ และต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์กันต่างๆนานา เพราะหนังสือเวียนของทางอำเภอสุไหงโกลกที่ไปถึงมัสยิดและมัดราเซาะดังกล่าวนี้ขัดกับความรู้สึกของราษฎรไทยมุสลิม เพราะมัสยิดและมัดราเซาะเป็นสถานที่อิสลามมิกชนใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจ และไม่เคยมีธรรมเนียมปฏิบัติที่มัสยิดและมัดราเซาะจะเปิดเครื่องรับวิทยุถ่ายทอดเพลงใดๆมาก่อน และทางตัวแทนมัสยิดและมัดราเซาะได้มอบหมายให้กระผมนำหารือและประสานกับทางจังหวัด เพื่อทบทวนหนังสือของทางอำเภอสุไหงโกลกดังกล่าว

กระผมในฐานะตัวแทนของราษฎร มีความเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของทางราชการได้ดีว่า มีความประสงค์ให้ราษฎรมีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย และรักความเป็นไทย แต่วิธีการประชาสัมพันธ์ของอำเภอสุไหงโกลกที่ให้มัสยิดและมัดราเซาะเป็นกระบอกเสียง ถ่ายทอดเสียงเพลงชาติเพื่อให้ราษฎรไทยยืนเคารพนั้น เป็นการใช้สถานที่ไม่เหมาะสม และทางราชการยังขาดความเข้าใจอันดีถึงความรู้สึกนึกคิดของราษฎรในพื้นที่ดีพอ กระผมมีความเห็นว่า ควรใช้วิธีการประชาสัมพันธ์ โดยใช้สถานที่อย่างอื่นแทน เช่น เทศบาลในกรณีอยู่ในเขตหรือสถานที่สภาตำบลหรือโรงเรียนต่างๆในหมู่บ้านเป็นผู้ประชาสัมพันธ์แทน ฉะนั้น กระผมจึงขอความกรุณาท่านได้โปรดทบทวนวิธีการประชาสัมพันธ์ของอำเภอสุไหงโกลกเสียใหม่ ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีของราษฎรในชาติ

จึงเรียนมา เพื่อโปรดพิจารณาตามสมควรต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
ลายมือชื่อ
(นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์)
ส.ส. จังหวัดนราธิวาส
รับแล้ว
ลายมือชื่อ
23 มี.ค. 30

ภายหลังจากผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้รับหนังสือของผู้เขียนในฐานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ทางอำเภอสุไหงโกลกจึงได้ระงับหนังสือเวียนที่ส่งไปยังมัสยิดและมัดราเซาะทันที อันเป็นการสนองตอบความต้องการของราษฎรไทยมุสลิมในพื้นที่ที่ข้าราชการและหน่วยงานของรัฐควรปฏิบัติหน้าที่ราชการและการกำหนดนโยบายที่ต้องอาศัยความรอบคอบและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่ค่อนข้างจะละเอียดอ่อนอย่างมาก

ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากเป็นปัญหาริดรอนด้านสิทธิขั้นพื้นฐานในเรื่องภาษา ชาติพันธุ์ ศาสนา ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมแล้ว ยังมีปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมที่ทางเจ้าหน้าที่มักไม่ปฏิบัติเป็นไปตามหลักนิติธรรม การใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมายมักปรากฎให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง แม้ประเทศไทยปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ตาม ตามความรู้สึกและความเข้าใจของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เมื่อประเทศไทยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พวกเขาเลือกมากับมือและรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้ว ความอยุติธรรมทั้งหลายที่เคยมีมาแต่เก่าก่อนคงจะหายไป เจ้าหน้าที่คงไม่กล้าจะกระทำการใดๆตามอำเภอใจหรือถืออำนาจบาตรใหญ่ข่มเหงรีดไถประชาชนอีกต่อไป และเมื่อถูกข่มเหงรังแกจากเจ้าหน้าที่แตกแถวบางคนแล้ว ประชาชนจะไม่รอช้าให้เสียการจึงร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อผู้มีอำนาจผ่านทางผู้แทนราษฎรที่ตัวเองเลือกมากับมือทันที ดังเช่น

เหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2529 เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ได้จับกุม นายอาแว หรือ เปาซี แวหะมะ แล้วหายสาปสูญไป ทำให้ นายสะแม แวหะมะ ผู้เป็นบิดา ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตจังหวัดปัตตานี ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ นายเด่น โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2529 และนายเด่น ฯกับผู้เขียนได้ร่วมกันยื่นญัตติต่อคณะกรรมาธิการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2529

คณะกรรมาธิการปกครองได้ประชุมพิจารณาญัตติที่นายเด่นฯและผู้เขียนร้องต่อคณะกรรมาธิการปกครองแล้ว จึงได้เชิญตัวแทนจากกรมตำรวจมาร่วมประชุมเพื่อรับทราบปัญหาและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ในที่ประชุมสรุปขอนายตำรวจ 2 นายจากกรมตรวจ ไปทำการสืบสวนที่จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส  ซึ่งกรมตำรวจได้มอบหมายให้ พันตำรวจโท อนันต์ เวชพันธ์ุ ตำแหน่งรองผู้กำกับการสนับสนุนกองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการสอบสวนกลาง และ ร้อยตำรวจโท สินธุ์ วะระทุม รองสารวัตรแผนก 1 กองกำกับการ 5 กองปราบปราม ไปปฏิบัติราชการสืบสวนสอบสวนคดีนี้จากประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์หลายปากในพื้นที่ เสร็จแล้วนำสำนวนการสืบสวนเสนอต่อหน่วยเหนือกรมตำรวจเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2530 เพื่อดำเนินการต่อไป

แต่ปรากฎว่าสำนวนการสืบสวนคดีนี้ถูกเก็บดองเงียบ ไม่มีการดำเนินการใดๆที่จะเอาผิดกับผู้ต้องหาซึ่งเป็นตำรวจ(ร.ต.ต. สำราญ มาเจริญ กับพวก)แต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะมีการวิ่งเต้นให้ความช่วยเหลือกับผู้ต้องหาอย่างแยบยล กล่าวคือมีการแอบถ่ายเอกสารสำนวนการสืบสวนของเจ้าพนักงานสืบสวนของตำรวจกองปราบ ส่งไปยังตำรวจท้องที่เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนและสอบสวนขึ้นใหม่อีกชุดหนึ่ง เพื่อจะได้มีโอกาสช่วยเหลือผู้ต้องหาอีกทางหนึ่ง

คณะกรรมการสืบสวนและสอบสวนในพื้นที่ที่ได้รับการแต่งตั้ง เพื่อหาทางช่วยเหลือผู้ต้องหาในคดีนี้ พยายามหาตัวบิดาผู้ตายหลายครั้ง เมื่อพบแล้วได้พยายามหว่านล้อมด้วยเพทุบายต่างๆนานา จนทำให้บิดาผู้ตายหลงเชื่อว่าตำรวจชุดนี้จะช่วยบุตรชายของตนจริง จึงยอมลงลายมือชื่อร้องทุกข์เรื่องบุตรชายของตนถูกตำรวจจับกุมแล้วสาปสูญหายตัวไป เมื่อนายเด่นฯได้ทราบว่า บิดาของผู้ตายได้ลงลายมือชื่อร้องทุกข์คดีที่ลูกชายตนเองถูกตำรวจจับแล้วหายสาปสูญไปกับคณะสืบสวนสอบสวนตำรวจในพื้นที่แล้ว โดยไม่รอช้า เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2530 นายเด่นฯและผู้เขียนได้ไปพบผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายปราบปราม(พล.ต.ท. เสมอ ดามาพงษ์)ขอให้รีบสั่งการให้ตำรวจกองปราบปรามร่วมสอบสวนด้วย ผู้ช่วยอธิบดีฝ่ายปราบปรามได้กรุณาสั่งการไปตามที่นายเด่นฯและผู้เขียนร้องขอเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2530 แต่ปรากฎว่าไม่ทันการเสียแล้ว เพราะเมื่อคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนตำรวจในพื้นที่ได้รู้ว่านายเด่นฯและผู้เขียนได้เข้าไปพบกับผู้ใหญ่ในกรมตำรวจแล้วในที่สุดคณะกรรมการชุดนี้ได้เร่งรีบสรุปสำนวนอย่างหละหลวมเสนออัยการเพื่อสั่งไม่ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2530

เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีใหญ่ที่ตำรวจผู้พิทักษ์สันติราษฎร์กระทำการผิดกฎหมายอย่างองอาจเสียเองและเป็นคดีที่สนใจของประชาชนทั่วไปอย่างแพร่หลาย นายเด่นฯและผู้เขียนไม่ลดละที่จะดำเนินการแสวงหาความเป็นธรรมให้กับครอบครัวผู้ตายให้จงได้ เพราะหาไม่แล้วเหตุการณ์ที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ประสบกับการถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในทำนองเดียวกันกับคดีนี้จะไม่จบไม่สิ้นไปเสียที แม้บ้านเมืองจะปกครองตามระบอบประชาธิปไตยก็แทบไม่มีประโยชน์อะไร ตราบใดที่สิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักมนุษยชนยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ดังนั้น เพื่อให้คดีนี้ได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมาย แม้อัยการสั่งไม่ฟ้องแล้ว ผู้เกี่ยวข้องยังสามารถขอให้มีการสอบสวนพยานปากสำคัญเพิ่มเติมเพื่อให้อัยการมีคำสั่งฟ้องใหม่ได้

ดังนั้น นายเด่น โต๊ะมีนา และผู้เขียนได้ทำหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมถึงรองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายปราบปราม (พล.ต.ท. องอาจ ผุดผาด) ปรากฎตามหนังสือร้องเรียนดังต่อไปนี้