ปฐมเหตุที่มีการชุมนุมประท้วงกรณีฮิญาบในวิทยาลัยครูยะลาและบานปลายขยายวงออกนอกรั้ววิทยาลัย และไปปักหลักที่มัสยิดกลางจังหวัดยะลานั้นมาจากเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2530 กลุ่มนักศึกษาสตรีมุสลิมในวิทยาลัยครูยะลาได้ทำหนังสือถึงประธานชมรมส่งเสริมจริยธรรมอิสลาม(นายอิบราเฮ็ม ณรงค์รักษาเขต)เพื่อแจ้งความประสงค์ต้องการแต่งกายตามหลักการศาสนาอิสลาม(โดยสวมใส่ฮิญาบและชุดที่ปกปิดร่างกายยกเว้นฝ่ามือและใบหน้า)โดยให้ทางชมรมฯเป็นผู้ประสานงานกับผู้บริหารวิทยาลัยครูเข้าใจและอนุญาต
หลังจากนั้น 3 วัน นักศึกษาสตรีมุสลิมจำนวน 3 คน ได้สวมฮิญาบเข้าเรียนในชั้นเรียนพร้อมกับนำหนังสือที่ทางชมรมฯส่งถึงรองอธิการบดีฝ่ายกิจกรรมนักศึกษาเพื่อแจ้งให้อาจารย์ผู้สอนในห้องเรียนทราบ แต่อาจารย์ผู้สอนไม่ยอมให้นักศึกษาสตรีมุสลิมเข้าห้องเรียน ทั้งนี้ เพราะเป็นการแต่งกายที่ขัดกับกฎระเบียบว่าด้วยเครื่องแต่งกายของนักศึกษา อีกทั้งฝ่ายบริหารของวิทยาลัยยังไม่อนุญาตตามที่ทางชมรมฯร้องขอ เมื่อนักศึกษาสตรีมุสลิมได้ไปแจ้งให้ประธานชมรมฯทราบแล้ว ก่อให้เกิดปฏิกริยาความไม่พอใจในหมู่นักศึกษามุสลิมอย่างมาก
ดังนั้นกลุ่มนักศึกษามุสลิมวิทยาลัยครูยะลา ภายใต้การนำของชมรมส่งเสริมจริยธรรมอิสลามได้รวมตัวชุมนุมในวิทยาลัยประท้วงพฤติกรรมของอาจารย์บางคนที่แสดงความรังเกียจนักศึกษาสตรีมุสลิมห้ามมิให้สวมฮิญาบเข้าในชั่วโมงเรียนและความนิ่งเฉยของผู้บริหารวิทยาลัยต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในวิทยาลัย ในขณะเดียวกันมีใบปลิวเถื่อนออกในนามนรชนผู้น้อยโปรยทิ้งเกลื่อนในบริเวณวิทยาลัย ข้อความในใบปลิวแสดงการเหยียดหยามดูถูกดูแคลนการแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลาม เมื่อใบปลิวนี้ทราบถึงพี่น้องมุสลิมนอกบริเวณวิทยาลัย สร้างความโกรธแค้นในหมู่พี่น้องมุสลิมทั่วทุกสารทิศ ลามไปทั่วเหมือนไฟไหม้ลามทุ่ง การประท้วงไม่อาจหยุดอยู่เพียงในบริเวณวิทยาลัยเท่านั้น ยังขยายการประท้วงออกนอกบริเวณรั้ววิทยาลัยไปตั้งชุมนุมที่มัสยิดกลางจังหวัดยะลา
กระแสความไม่พอใจที่ผู้บริหารวิทยาลัยครูยะลาไม่สนองตอบความต้องการของนักศึกษาสตรีมุสลิมวิทยาลัยครูยะลาและมีผู้ต่อต้านการแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลามแอบเป็นไอ้โม่งอยู่ในวิทยาลัยเขียนใบปลิวเถื่อนทิ้งเกลื่อนในบริเวณวิทยาลัย กลายเป็นกระแสสามารถเรียกพี่น้องประชาชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาร่วมชุมนุมประท้วงที่มัสยิดกลางจังหวัดยะลาโดยมิได้นัดหมาย รวมชุมนุมพลได้นับจำนวนหมื่นคน มีการชุมนุมประท้วงทั้งกลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานานหนึ่งสัปดาห์ มีการปราศรัยจากภาคประชาสังคม นักศึกษา นักการเมือง(กลุ่มเอกภาพ) ชี้แจงสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และลามไปถึงนโยบายเดิมๆของรัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมายังไม่ได้แก้ไขให้เรียบร้อยเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน การปราศรัยหน้ามัสยิดกลางจังหวัดยะลาทำให้ผู้เขียนย้อนรำลึกถึงการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เมิ่อวันที่ 11 ธันวาคม 2518-24 มกราคม 2519 ของศูนย์พิทักษ์ประชาชนภายใต้แกนนำของนักศึกษากลุ่มสลาตัน ช่วงนั้นมี นายมุข สุไลมาน นายมันโซร์ สาและ นายไพรัช มะ ผู้เขียน และคนอื่นๆอีกมากมายร่วมชุมนุมประท้วง สำหรับการประท้วงเรื่องฮิญาบที่มัสยิดกลางจังหวัดยะลา ช่วงระยะเวลาภายในกลางเดือนธันวาคมและยุติลงต้นเดือนมกราคมเช่นเดียวกัน และบุคคลที่เป็นตัวหลักสำคัญในการยืนหยัดประท้วงนอกจากมีแกนนำนักศึกษาวิทยาลัยครูยะลาแล้ว ยังมีอดีตนักศึกษากลุ่มสลาตันร่วมด้วย ได้แก่ นายมุข สุไลมาน(ขณะนั้นยังไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) นายมันโซร์ สาและ นายไพรัช มะ (อาจารย์วิทยาลัยเท็คนิคยะลา) เป็นต้น สำหรับผู้เขียน นายเด่น โต๊ะมีนา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายจิรายุส เนาวเกตุ มาร่วมขึ้นเวทีปราศรัยในนามนักการเมืองที่สนับสนุนการเรียกร้องของนักศึกษา
นอกจากการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาและประชาชนที่มัสยิดกลางยะลาแล้ว ทางชมรมส่งเสริมจริยธรรมอิสลามวิทยาลัยครูยะลายังมีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมและสนับสนุนจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้และ ส.ส จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกคน สำหรับ ส.ส. จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อได้รับหนังสือร้องเรียนจากชมรมส่งเสริมจริยธรรมอิสลามวิทยาลัยครูยะลาแล้ว ได้ปรึกษาหารือที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติสนับสนุนคำร้องเรียนของชมรมฯ จึงได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(นายมารุต บุนนาค)โดยมี ส.ส. จังหวัดชายแดนภาคใต้ลงนาม และมอบหมายให้ ส.ส. กลุ่มเอกภาพประสานงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพราะอยู่ในพรรคเดียวกันคือพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้น ทาง ส.ส. กลุ่มเอกภาพ จึงได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ณ ที่ทำการประชุมพรรคทุกวันอังคาร และได้มอบหนังสือที่ ส.ส. จังหวัดชายแดนภาคใต้ลงนามลงวันที่ 1 มกราคม 2531 ดังมีข้อความต่อไปนี้
เนื่องด้วยมีนักศึกษาสตรีจำนวนหนึ่ง ได้แต่งกายตามหลักศาสนาอิสลามไปเรียนที่วิทยาลัยครูยะลา ปรากฏว่าอาจารย์ที่สอนไม่อนุญาตให้เข้าชั้นเรียน โดยอ้างว่าแต่งกายผิดระเบียบของวิทยาลัยครู ฝ่ายชมรมส่งเสริมจริยธรรมอิสลามวิทยาลัยครูยะลาได้ทำหนังสือชี้แจงและขออนุญาตต่ออธิการบดีวิทยาลัยครูยะลาแล้วแต่วิทยาลัยไม่สามารถที่จะอนุญาต เพราะเป็นระเบียบของกรมการฝึกหัดครู โดยข้อเท็จจริงวิทยาลัยได้อนุโลมให้มีการแต่งกายนอกเหนือจากเครื่องแบบนักศึกษาได้อยู่แล้วในหลายกรณี เช่น ชุดพลศึกษา ชุดฝึกงาน ชุดนาฏศิลป์ เป็นต้น หลังจากนั้นมีใบปลิวเถื่อนลงนามโดยนรชนผู้น้อย ข้อความในใบปลิวดังกล่าวนั้นโจมตีหลักการของศาสนาอิสลามอย่างรุนแรง ทำให้มีปฏิกริยาในหมู่ชาวไทยมุสลิมโดยทั่วไป และเหตุการณ์ในวิทยาลัยครูยะลาได้ขยายกว้างวงออกไปนอกบริเวณสู่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในรั้ววิทยาลัยครูยะลาปรากฎว่ามีนักศึกษามุสลิมได้รวมตัวก่อประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมจากผู้บริหารแล้วเล่นเช่นกัน
กระผมได้ติดตามเหตุการณ์นี้อย่างใกล้ชิด หากปล่อยเหตุการณ์ให้ยืดเยื้อต่อไป อาจทำให้บานปลายจนเกิดความวุ่นวายยากที่จะแก้ไขและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งให้เกิดความแตกแยกของชนในชาติได้ จึงเรียนมาให้ข้อคิดเห็นว่า การแต่งกายตามหลักการของศาสนาอิสลามเป็นเครื่องแบบแต่งกายที่รัดกุม เรียบง่าย เหมาะสมเป็นเครื่องแต่งกายของสตรีที่รักเนื้อสงวนตัว ฉะนั้นเมื่อนักศึกษาสตรีมุสลิมศรัทธาที่จะแต่งกายตามหลักการของศาสนา ถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตามบทบัญญัติของศาสนา ดังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ได้บัญญัติให้สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา ตามมาตรา 5 บัญญัติว่า ” บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้ไม่ได้ ”
ฉะนั้น ระเบียบหรือกฎหมายใดห้ามมิให้ปฏิบัติตามหลักศาสนาแล้ว ย่อมขัดกับรัฐธรรมนูญ กรณีเช่นเดียวกัน ในสถาบันการศึกษาทุกระดับ ได้มีการอนุโลมแต่งกายตามหลักศาสนา เช่น ผู้นับถือศาสนาซิกส์ยอมให้โพกผ้าบนศรีษะได้ ในศาสนาคริสต์แม่ชีให้แต่งกายชุดนักบวชได้ แม้แต่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ทบวงมหาวิทยาลัย ยังอนุโลมให้ข้าราชการและนักศึกษาในสังกัดแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลามได้ จึงเรียนมาเพื่อ ฯพณฯท่าน ได้โปรดพิจารณาและสั่งการให้มีการแก้ไขปัญหานี้โดยด่วน มี ส.ส. จังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมลงลายมือชื่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายอดุลย์ ภูมิณรงค์ นายเด่น โต๊ะมีนา นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ นายจิรายุส เนาวเกตุ นายสุดิน ภูยุทธานนท์ นายปรีชา บุญมี และ นายพิบูลย์ พงศ์ธเนศ
ภายหลังจากรัฐมนตรีวาาการกระทรวงศึกษาธิการได้รับคำชี้แจงจากกลุ่มเอกภาพและหนังสือจาก ส.ส. จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ก็ได้มีการหารือภายในกับรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ เบื้องต้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเห็นด้วยกับคำชี้แจงทั้งโดยทางวาจาและหนังสือเอกสารที่ได้รับจากคณะ ส.ส. จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่มีรัฐมนตรีในพรรคประชาธิปัตย์บางคนไม่เห็นด้วย เช่น นายไสว พัฒโน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ให้สัมภาษณ์ทางสื่อมวลชนว่า หากอนุญาตให้มีการแต่งกายคลุมฮิญาบตามหลักการศาสนาอิสลามได้ จะนำมาซึ่งความแตกแยกในสถาบันการศึกษา และไม่เกิดเอกภาพในเครื่องแบบของนักศึกษา จากการที่มีรัฐมนตรีในพรรคเดียวกันท้วงติงไม่เห็นด้วย จึงทำให้นายมารุต บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไม่กล้าใช้ความเด็ดขาดที่จะสั่งการให้ผู้บริหารวิทยาลัยครูยะลานำแนวทางไปปฏิบัติ จึงเป็นเหตุให้นักเรียนนักศึกษาในสถาบันการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการประสบปัญหาเรื่องการแต่งกายเครื่องแบบนักเรียนนักศึกษาตลอดมา
และแล้วเครื่องแบบการแต่งกายของนักเรียนนักศึกษาในสถาบันการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ พึ่งสำเร็จแก้ไขเป็นรูปธรรมสมัย นายอารีเพ็ญ อุตรสิธุ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พ,ศ. 2540
อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยของจังหวัดนราธิวาส, ปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ และปริญญาโทสาขาบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์