ย้อนรอยการเมือง Di Selatan (37)

สถานการณ์การเมืองไทยตั้งแต่ย่างก้าวปี 2530 อยู่ในสภาวะที่ไม่มั่นคงนัก เพราะความปีนเกลียวขัดแย้งลึกๆในพรรคแกนนำของรัฐบาลคือ พรรคประชาธิปัตย์เกิดปัญหาภายในตั้งแต่มีการเสนอชื่อบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคราวจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งใหม่ๆ ทำให้เกิดแบ่งกลุ่มเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่นำโดย นายพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรค และนายชวน หลีกภัย รองหัวหน้าพรรค กับกลุ่มนายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ รองหัวหน้าพรรค และ นายวีระ มุสิกะพงศ์ เลขาธิการพรรค และเมื่อมีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคในวันที่ 10 มกราคม 2531 โดยนายวีระฯเสนอชื่อนายเฉลิมพันธ์ฯเป็นหัวหน้าพรรคและตัวเองเป็นเลขาธิการพรรคแข่งกับนายพิชัย รัตตกุล เป็นหัวหน้าพรรคและพล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นเลขาธิการพรรค ผลปรากฎว่า นายเฉลิมพันธ์ฯและนายวีระฯพ่ายแพ้ ทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในพรร คฝ่ายนายเฉลิมพันธ์ฯ จึงแยกตัวออกมาเรียกกลุ่มตัวเองว่า ” กลุ่ม 10 มกรา “ส่วนกลุ่มเอกภาพรวมอยู่ในกลุ่มของนายเฉลิมพันธ์ฯ ทั้งนี้เพราะทางกลุ่มมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายวีระฯมากกว่า อีกทั้งทางกลุ่มของนายเฉลิมพันธ์ฯสนับสนุนให้นายเด่น โต๊ะมีนา หัวหน้ากลุ่มเอกภาพเป็นรัฐมนตรี แต่ถูกกลุ่มนายพิชัยฯลักไก่เสนอชื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ นายพิจิต รัตตกุล สวมเข้าไปแทน

การก่อตั้งกลุ่ม 10 มกรา แยกออกจากพรรคประชาธิปัตย์เริ่มปรากฎชัดขึ้นมาตามลำดับ นับตั้งแต่การเข้าร่วมประชุมการทำกิจกรรมภายในพรรค ไม่มีการร่วมมือและแยกกันทำหลายๆเรื่อง การประชุมทุกสัปดาห์เพื่อเตรียมการทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร กลุ่ม 10 มกรา แยกกันทำงานเป็นเอกเทศต่างหาก ทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพเท่าที่ควร สร้างความหวั่นวิตกแก่รัฐบาลเป็นอย่างมาก ในที่สุดคราวพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอเมื่อปลายเดือน เมษายน 2531ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร กลุ่ม 10 มกรา เห็นด้วยกับพรรคฝ่ายค้านมีมติไม่ผ่านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 29 เมษายน 2531 และประกาศเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 กรกฎาคม 2531

หลังจากสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบแล้ว บรรดาพรรคการเมือง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและผู้ใฝ่ฝันอยากได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหลาย ต่างก็ระดมสรรพกำลังรณรงค์หาเสียงอย่างขะมักเขม้นเพื่อไขว่คว้าตำแหน่งอันมีเกียรติอีกครั้งหนึ่ง สำหรับกลุ่ม 10 มกรา ได้ประชุมสมาชิกในกลุ่มเพื่อตั้งพรรคการเมือง ได้เอาพรรคประชาชนที่จดทะเบียนไว้แล้วมาเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริการพรรค โดยเลือก นายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ เป็นหัวหน้าพรรค นายวีระ มุสิกะพงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค พรรคประชาชนแม้จะเป็นพรรคการเมืองใหม่ถอดด้าม แต่เป็นพรรคที่ประกอบด้วยบุคคลากรที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงการการเมืองไม่ใช่น้อย เช่น  พล.อ. หาญ ลีนานนท์ รองหัวหน้าพรรค นายเด่น โต๊ะมีนา กรรมการบริหารพรรค เป็นต้น

สำหรับกลุ่มเอกภาพ นอกจากมีอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 คน ได้แก่ นายเด่น โต๊ะมีนา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ นายปรีชาบุญมี นายพิบูลย์ พงศ์ธเนศ แล้ว ยังมีอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกระบี่ คือ นายสมบูรณ์ สิทธิมนต์ นับถือศาสนาอิสลาม ที่ร่วมหัวจมท้ายในกลุ่มเอกภาพ และ 10 มกรา หอบหิ้วกันมาจากพรรคประชาธิปัตย์ด้วยกัน ทำให้กลุ่มเอกภาพต้องวิ่งรอกหาเสียงให้แก่สมาชิกในสังกัดในเขตพื้นที่ของชุมชนมุสลิมในเขตจังหวัดที่สมาชิกของกลุ่มลงสมัคร โดยเฉพาะสนามการเมืองภาคใต้ ถือได้ว่าพรรคประชาชนเป็นคู่แข่งที่สำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะอดีต ส.ส. ส่วนใหญ่ที่ลงสมัครในจังหวัดภาคใต้ล้วนแต่เป็นอดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น ภาคใต้ตอนบนตั้งแต่จังหวัดสงขลาขึ้นไปเป็นเขตความรับผิดชอบของ นายวีระฯในฐานะเลขาธิการพรรค ส่วนสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัด ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และ สตูล เป็นเขตความรับผิดชอบของกลุ่มเอกภาพ

วันที่ 1 มิถุนายน 2531 กลุ่มเอกภาพในสังกัดพรรคประชาชนได้ระดมสมาชิกไปปราศรัยหาเสียงสนับสนุนนายสมบูรณ์ สิทธิมนต์ ที่อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ นายเด่น โต๊ะมีนา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ผู้เขียน และผู้สนับสนุนได้ไปจังหวัดกระบี่ ช่วงกลางวันได้แยกย้ายออกไปละหมาดตามมัสยิดต่างๆเพื่อพบปะผู้คนให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการเมืองการเลือกตั้งในจังหวัดกระบี่ที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 50 % หลังจากร่วมละหมาดและปราศรัยในแต่ละมัสยิดจนถึงเวลา 20.00 น. ทางคณะผู้สมัครและผู้สนับสนุนได้ไปรวมตัวที่เวทีการปราศรัยใหญ่ของพรรคประชาชนหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองกระบี่ท่ามกลางประชาชนที่สนใจมาฟังการปราศรัยหลายพันคน

การมาปราศรัยหาเสียงให้กับนายสมบูรณ์ สิทธิมนต์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์และสังกัดอยู่ในกลุ่มเอกภาพครั้งนี้ อดีต ส.ส.อยู่ในกลุ่มเอกภาพมีความมุ่งมั่นมากที่จะทำให้นายสมบูรณ์ฯได้กลับมาเป็น ส.ส. จังหวัดกระบี่อีกครั้งหนึ่ง ผู้เขียนอดีต ส.ส. จังหวัดนราธิวาส สมัยเดียวกันกับนายสมบูรณ์ฯ และเคยอยู่อาศัยห้องเดียวกันมาที่กรุงเทพฯ ได้มาร่วมปราศรัยหาเสียงครั้งนี้ด้วย โดยออกจากบ้านพักอำเภอเมืองนราธิวาสตั้งแต่เวลาเช้ามืดด้วยรถยนต์กระบะสีขาว 4 ประตู ยี่ห้อมาสด้า พร้อมกับทีมงานการเมืองได้แก่ นายสะมะแอ อูเซ็ง ชื่อเล่นว่า กะแอ (กลับไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮ.)  นายอับดุลเลาะห์ บินมามะ (ปัจจุบันเปลี่ยนนามสกุลเป็น ต่วนมีเด่น) นายอัศวิน อิสมาแอ โดยมี นายสะมะแอ อูเซ็ง เป็นพลขับ มีกำหนดกลับนราธิวาสหลังจากการปราศรัยยุติ เพราะวันรุ่งขึ้นมีกำหนดนัดหมายกับแกนนำเตรียมการรณรงค์หาเสียงในจังหวัดนราธิวาสต่อไป

การปราศรัยหาเสียงหลังละหมาดอีซาบนเวทีหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองกระบี่เมื่อเวลา 20.00 น.ในคืนนั้น สร้างความประทับใจและความฮึกเหิมให้กับผู้มาฟังที่สนับสนุนพรรคประชาชนเป็นอย่างมาก ตั้งแต่เริ่มการปราศรัยจนถึงยุติการปราศรัยประมาณเกือบตีหนึ่งของวันใหม่ ผู้ฟังแทบไม่ขยับไปใหน เสียงตบมือฮือฮาของผู้ฟังการปราศรัยดังขึ้นตลอดเวลาเมื่อถ้อยคำการปราศรัยเกิดถูกอกถูกใจผู้ฟัง คณะทำงานทางการเมืองของผู้เขียนที่มาด้วยกันพลอยสนุกกับผู้คนจำนวนพันไปด้วย ไม่ได้หลับนอนเอาแรงเพื่อกลับไปนราธิวาสหลังปราศรัยยุติแต่อย่างใด โดยเฉพาะนายสะมะแอ อูเซ็ง คนทำหน้าที่เป็นพลขับ

หลังจบการปราศรัย ไม่รอช้าให้เสียเวลา ผู้เขียนและคณะขับรถบึ่งออกจากที่ปราศรัยขับรถมุ่งหน้าสู่จดหมายปลายทางจังหวัดนราธิวาส ผู้เขียนสังเกตุเห็นอาการของนายสะมะแอฯ พลขับไม่ค่อยมั่นใจในประสิทธิภาพขับรถเท่าใดนัก เพราะอดหลับอดนอนตั้งแต่ขับออกจากนราธิวาสแล้ว ดูอาการไม่น่าไว้ใจ พอถึงปั๊มน้ำมันผู้เขียนให้เติมน้ำมันเต็มถังแล้วถือโอกาสเปลี่ยนเป็นคนขับแทน เพื่อให้นายสะมะแอฯหลับบนรถสักพัก เมื่อหายง่วงแล้วค่อยเปลี่ยนมาขับตามเดิม

ผู้เขียนขับไปเรื่อยๆล่วงเลยเข้าสู่วันใหม่ 2 มิถุนายน 2531 ด้วยความเร็วประมาณไม่เกิน 120 กม./ช.ม. บนถนนเพชรเกษมผ่านทุ่งสง พัทลุง และเข้าในเขตควนเนียง อ. หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เริ่มรู้สึกมีอาการง่วงหนังตาเริ่มจะปกปิดบังลูกตา แต่ยังแข็งใจฝืนขับต่อ  เพราะเห็นหลักไมล์บอกว่าอีก 15 กม. จะถึงหาดใหญ่ คิดว่าพอถึงหาดใหญ่จะแวะเข้าปั๊มน้ำมัน ล้างหน้าล้างตาแล้วจะเปลี่ยนให้นายสะมะแอฯขับตามเดิม ทันใดนั้นขณะวิ่งผ่านหัวโค้งจะข้ามหัวสะพานเกิดอาการวูบขึ้นมาทันใด พอรู้สึกตัวขึ้นมาอีกครั้งรู้สึกว่ารถที่ขับขี่กำลังลอยอยู่เหนือถนนได้ยินเสียงลมปะทะรถที่ขับอยู่ดัง ” หวืดดด ” หน้ารถกระแทกของเหลวดังโครมใหญ่ หน้ารถจมครึ่งอยู่ในน้ำและแน่นิ่ง สักพักได้ยินเสียงครวญครางของเพื่อนร่วมเดินทางอย่างน่าเวทนาสงสาร

ผู้เขียนเองเมื่อตั้งสติได้เปิดประตูรถปีนป่ายขึ้นบนสะพานอย่างทุลักทุเล เมื่อขึ้นอยู่บนสะพานแล้ว มองลงไปข้างล่างใต้สะพาน หัวใจหายวาบ ปรากฎว่าไม่เห็นรถที่อยู่ข้างล่างและไม่ได้ยินเสียงใดๆเล็ดลอดออกจากตัวรถเสียเลย ผู้เขียนยืนรอบนสะพานโบกรถไปมานานๆครั้ง ไม่มีรถคันใหนหยุดจอดแม้แต่คันเดียว ผู้เขียนไม่สามารถดูนาฬิกาข้อมือของตัวเองได้ เพราะมืดจึงไม่รู้ว่าช่วงเวลานั้นเวลาเท่าใดแล้ว ผู้เขียนยืนอยู่บนสะพานสักครู่ใหญ่เริ่มเกิดอาการปวดร้าวที่หน้าอกและแขนทั้งสองข้าง ตาเริ่มจะพร่ามัว ในทันใดนั้นเห็นแสงไฟบนท้องถนนเคลื่อนเข้ามาใกล้ๆสะพาน พอใกล้จะถึงตัวผู้เขียนประมาณสัก 10 เมตร พอมองเห็นว่าเป็นคนกรีดยางกำลังขับขี่จักรยานจะไปกรีดยางในสวน ผู้เขียนโบกมือและเรียกร้องขอความช่วยเหลือให้ไปช่วยแจ้งสถานีตำรวจที่อยู่ใกล้ที่สุดหรือใครก็ได้ที่สามารถมาช่วยพรรคพวกที่ได้รับบาดเจ็บอยู่ในรถใต้สะพาน คนงานกรีดยางไม่พูดมากบอกว่าให้รอก่อนเขาจะไปแจ้งเหตุที่สถานีตำรวจอย่างเร็วที่สุดและบอกว่าขณะนั้นเวลาเกือบ 05.30 น.แล้ว ผู้เขียนดีใจที่สุดไม่มีอะไรจะมาเปรียบได้ในสถานการณ์ขณะนั้น และแล้วผู้เขียนก็เกิดล้มฟุบอยู่ข้างๆทางบนหัวสะพานอย่างไม่รู้สึกอะไรอีกเลย

ผู้เขียนมารู้สึกตัวอีกครั้ง ขณะอยู่บนรถเข็นในโรงพยาบาลหาดใหญ่อยู่ในชุดคนไข้กำลังจะเข้าห้องเอ็กส์เรย์ตรวจอวัยวะภายในและกระดูก ขณะนั้นนายยิ บินยูโซ๊ะ (กลับสู่ความเมตตาของอัลลอฮ.)หรือผู้ใหญ่ยิอยู่ข้างๆผู้เขียน กระซิบหูผู้เขียนเบาๆว่า ” ทำใจให้สงบอย่าตกใจ จะบอกว่าขณะนี้…”