ย้อนรอยการเมือง Di Selatan (38)

ผู้ใหญ่ ยิ กระซิบที่หูผู้เขียนเบาๆว่า “ทำใจให้สงบ อย่าตกใจ จะบอกว่า ขณะนี้คุณแม่ได้กลับไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮ(ซ.บ.)แล้ว เมื่อเวลา 04.00 น. เช้ามืดวันนี้ “( คือวันที่ 2 มิถุนายน 2531 ช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับผู้เขียนประสบอุบัติเหตุแทบจะเอาชีวิตไม่รอด ) ผู้เขียนฟังด้วยความสงบ แต่ภายในอกนั้นเร่าร้อนแทบจะระเบิด อยากตะโกนออกมาดังๆว่า ฉันทำอะไรที่ผิดมากมายเพียงใดหรือ อัลลอฮ.ถึงได้ทดสอบรุนแรงขนาดนี้ พอบังคับจิตใจได้โดยเอาซอบัรเข้าข่ม ยอมรับในตักเดร์ของอัลลอฮ ไม่มีใครจะหลีกเลี่ยงได้พ้น พอย้อนนึกถึงเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดในชีวิตเพิ่งผ่านสดๆ ร้อน ผู้เขียนยังต้องซุโกร์แด่อัลลอฮ.(ซ.บ.) ที่ยังให้มีชีวิตรอดสามารถตะเกียกตะกายจากเหวลึกขึ้นมาบนสะพานเรียกคนมาช่วยเหลือมิตรสหายอีก 3 คน ที่บาดเจ็บสาหัสอยู่ในรถ ณ เบื้องล่างของสะพาน รอคอยคนมาช่วยเหลืออย่างน่าเวทนา อัลฮัมดูลิลละห์

ภายหลังตรวจเอกซ์เรย์อวัยวะภายในและกระดูกแล้ว คุณหมอผู้ตรวจบอกว่า อวัยวะภายในฟกช้ำไม่มากกระดูกก็ไม่มีปัญหา ทานยาแก้ช้ำในสัก 7 วัน น่าจะหาย รอสักพักเย็นๆค่อยออกจากโรงพยาบาลได้ เมื่อผู้เขียนเปิดเสื้อดูที่น่าอกแล้ว ใจหายวูบ เพราะกลางหน้าอกของผู้เขียนปรากฎรอยสีแดงๆเป็นวงกลมๆเหมือนรูปพวงมาลัยประทับอยู่ (ภายหลังจากเอารถเจ้าปัญหาไปซ่อมแล้ว เห็นพวงมาลัยของรถบิดเบี้ยวผิดปกติ) ส่วนเพื่อนร่วมประสบชะตากรรมเดียวกันทั้ง 3 คน อาการสาหัสกระดูกแขนขาหักเดี้ยงตามๆ กันหลายวัน

ผู้เขียนออกจากโรงพยาบาลในช่วงเวลาเย็นของวันเดียวกัน เพื่อกลับไปให้ทันเห็นหน้าคุณแม่เป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะไม่ได้เห็นหน้าอีกตลอดชีวิต จำได้ว่าถึงบ้านที่สุไหงปาดีเกือบหนึ่งทุ่มแล้ว เข้าไปหามัยยิตคุณแม่ที่ห่อด้วยผ้ากะฝั่นปิดใบหน้าวางอยู่บนเสื่อ ผู้เขียนเปิดผ้าคลุมหน้าแล้ว จุมพิตตรงหน้าผากกล่าวคำมะอัฟทุกสิ่งทุกอย่างที่อาจเคยทำให้คุณแม่ไม่พอใจหรือน้อยเนื้อต่ำใจจากพฤติกรรมของผู้เขียนในที่ผ่านๆ มา ทั้งๆ ที่รู้ว่า คำที่กล่าวออกไปนั้น ขณะนั้นร่างคุณแม่ไร้วิญญานแล้ว อีกสักครู่ก็ถึงเวลาที่จะต้องเคลื่อนมัยยิตไปยังกูโบร์โปฮงกือปะห์ ซึ่งเป็นกูโบร์ที่ คุณตา คุณพ่อ คุณอา พี่ชาย และญาติผู้ใหญ่หลายท่านได้ไปล่วงหน้าแล้ว และกูโบร์แห่งนี้ พี่ชายคนที่สี่ได้ไปสมทบเมื่อประมาณ 6 ปี ที่แล้ว แต่ผู้เขียนไม่สามารถที่จะไปส่งมัยยิตของคุณแม่ถึงกูโบร์ได้ เพราะเกิดอาการเจ็บที่หน้าอกขึ้นมาอย่างกระทันหัน

ผู้เขียนพักฟื้นอยู่ที่บ้านสุไหงปาดีประมาณ 7 วัน นอกจากทานยาที่คุณหมอให้แล้ว ยังเสริมทานดีหมีที่ชาวบ้านเจ้ากี้เจ้าการหามาให้ โดยอ้างสรรพคุณว่าเป็นสุดยอดของยาแก้ช้ำในตามวิถีชาวบ้าน เมื่ออาการเริ่มดีขึ้นมาแล้ว ตรงกับวันเวลาที่จะต้องไปสมัคร ส.ส.ตามกำหนดที่รัฐบาลประกาศ ผู้เขียน นายพิบูลย์ พงศ์ธเนศ หรือชื่อที่ชาวบ้านรู้จักว่าปีเตอร์ อดีต ส.ส.จังหวัดนราธิวาส นายอารีผีน เทพลักษณ์ ได้ไปยื่นใบสมัครที่ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส ในนามพรรคประชาชน ผู้เขียนได้พบกับผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายประจวบ พัฒกุล ท่านแซวผู้เขียนว่า “คุณนี่กระดูกเหล็กจริงๆ”

การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งจะเป็น ส.ส. ครั้งที่สองนั้น ไม่ใช่ง่ายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็น ส.ส. ครั้งแรกเพียงอยู่ในตำแหน่งแค่ 1 ปี 9 เดือน แทบจะไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันนัก อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนพยายามรวบรวมผลงานต่างๆ ที่เป็นประจักษ์ทำเป็นแผ่นพับแจกจ่ายให้ชาวบ้านได้อ่านและเปิดปราศรัยให้ชาวบ้านได้ฟังว่า 1 ปี 9 เดือนในรัฐสภา ผู้เขียนทำอะไรบ้าง เช่น

1. ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ สส.นธ. 28/2530 ลงวันที่24 มิถุนายน 2530 ขอความอนุเคราะห์ให้จัดสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจสำหรับชาวไทยมุสลิมบริเวณสถานีรถไฟตันหยงมัส อ. ระแงะ จ. นราธิวาส

2. ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการประถมศึกษาจังหวัดนราธิวาส ที่ สส.นธ. 32/2530 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2530 เรื่องปัญหาอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียนมุสลิม โดยให้มีครูมุสลิมสอนประจำอยู่ในโรงเรียนต่างๆ ในชนบทอย่างน้อยโรงเรียนละ 1 คน เพื่อทำหน้าที่สร้างความมั่นใจให้ผู้ปกครองเด็กนักเรียนมุสลิมว่าอาหารสำหรับเด็กนักเรียนทานกลางวันนั้นฮาลาล

3. เมื่อวันที่ 19-21 มิถุนายน 2530 ผู้เขียน ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาและวิธีการออกหนังสือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติหรือที่ดินของรัฐ ได้เชิญคณะกรรมาธิการฯ มาตรวจดูสภาพข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินอยู่อาศัยและที่ทำกินของราษฎรในจังหวัดนราธิวาส เพื่อหาทางแก้ไขให้ประชาชนได้ร้บเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย

4. ทำหนังสือถึงนายกสภาทนายความแห่งประเทศไทย ที่ สส.นธ. 55/2530 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2530 หากสภาทนายความแห่งประเทศไทยจะส่งทนายความประจำสถานีตำรวจภูธรต่างๆ ขอให้คำนึงถึงทนายความที่รู้ภาษาท้องถิ่นเป็นอย่างดี เพื่อจะได้สื่อสารทำความเข้าใจในเรื่องกฎหมายกับผู้ต้องคดีได้

5. ผู้เขียน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และนายพิบูลย์ พงศ์ธเนศ เข้าพบนายบรรหาร ศิลปอาชา ที่กระทรวงคมนาคมและทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายบรรหาร ศิลปอาชา) ที่ ส.ส.นธ. 56/2530 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2530 ให้จัดงบประมาณก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสายบุรีที่ ท่าเรือ-บาตง อ. รือเสาะ จ. นราธิวาส

6. ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายมารุต บุนนาค) ที่ สส.นธ. 58/2530 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2530 เรื่อง ขอให้สร้างโรงพยาบาลประจำอำเภอบาเจาะที่ราษฎรจะอุทิศที่ดินให้ไม่น้อยกว่า 10 ไร่

7. ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดนราธิวาส ที่ สส.นธ. 61/2530 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2530 เรื่อง ขอเปิดสอนวิชาอิสลามศึกษาในโรงเรียนบ้านยี่งอ อ.ยี่งอ จ. นราธิวาส

8. ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดนราธิวาส ที่ สส.นธ. 4/2531 เรื่อง ขยายโรงเรียนเปิดสอนอิสลามศึกษา ในโรงเรียนบ้านยี่งอ อ. ยี่งอ โรงเรียนบ้านปะลุกาสาเมาะ โรงเรียนบ้านเชิงเขา อ. บาเจาะ โรงเรียน บ้านลูโบะบูโละ อ. รือเสาะ และ โรงเรียนบ้านปูโป๊ะ อ. สุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส

9. ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(นายมารุต บุนนาค) ที่ สส.นธ. 9/2531 ลงวันที่ 7 เมษายน 2531 เรื่อง สวัสดิการผู้บริหารกิจการศาสนาอิสลาม ไม่ได้รับความสะดวกเมื่อไปขอรับการบริการในด้านการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลของรัฐ

10. ยื่นญัตติต่อประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ที่ สส.นธ. 2/2531 เรื่อง สวัสดิภาพครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเมื่อวันที่  27 มกราคม 2531 เวลากลางคืน มีสมาชิกขบวนการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 7 คน พร้อมอาวุธปืนสงครามได้ไปเรียกครูโรงเรียนบ้านปาหนัน อ. ศรีสาคร จ. นราธิวาส จำนวน 3 คน ที่บ้านพักในบริเวณโรงเรียน และผูกมัดเข้าด้วยกันกับเสาธงชาติ แล้วใช้อาวุธปืนยิงจนเสียชีวิตทั้ง 3 คน

การใช้แผนในการหาเสียงโดยได้นำเรื่องที่เป็นปัญหาของชาวบ้านสะท้อนให้หน่วยงานหรือผู้มีอำนาจได้รับทราบและแก้ไขตามที่ชาวบ้านต้องการ และทำเป็นเอกสารแจกแก่ชาวบ้านระหว่างการหาเสียงนั้น นับว่าเป็นกลยุทธหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านสนใจและติดตาม เพราะเป็นการตอกย้ำให้ชาวบ้านเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีตัวแทนของประชาชนที่มีความรู้ความสามารถมารับใช้ประชาชน ประกอบกับผู้สมัคร ส.ส.ในจังหวัดนราธิวาส มีผู้สมัครที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาบัตรหลายคน แต่ที่เป็นตัวเด่นและตัวเก็งที่ประชาชนจับตามองมีเพียง 3 คน คือ ผู้เขียนลงในนามพรรคประชาชน นายเสนีย์ มะดากะกุล ลงในนามพรรคกิจประชาคม และ นายปริญญา เจตาภิวัฒน์ ลงในนามพรรครวมไทย

การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งเขตใหญ่เรียงเบอร์ จังหวัดนราธิวาส มี ส.ส. 3 คน จังหวัดปัตตานี มี ส.ส. 3 คน จังหวัดยะลา มี ส.ส. 2 คน และ จังหวัดสตูล มี ส.ส. 1 คน สำหรับจังหวัดนราธิวาส เกิดกระแสประชาชนต้องการมุสลิมคนรุ่นใหม่มีอุดมการณ์ การศึกษาระดับปริญญา ดังนั้น ผู้เขียน นายเสนีย์ มะดากะกุล และ นายปริญญา เจตาภิวัฒน์ ได้รับการขานรับเป็นอย่างดีจากผู้นำสายศาสนา คนรุ่นใหม่ทั้งชายและหญิง คนมีการศึกษา ข้าราชการ ตลอดจนประชาชนมุสลิมทั่วไป

แต่แล้ว ในขณะที่ผู้สมัคร ส.ส. หัวคะแนนตลอดจนประชาชนผู้สนับสนุน กำลังรอคอยที่จะออกไปหย่อนบัตรเลือกตั้งในเช้าวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 นั้น ตั้งแต่เวลา 02.00 – 23.30 น. มีการก่อเหตุร้าย 11 จุด ในจังหวัดนราธิวาส เช่น ลอบวางเพลิงหน่วยเลือกตั้ง วางระเบิดรถบรรทุกหีบบัตรเลือกตั้ง และ  ขว้างระเบิดเข้าใส่มัสยิดอัลอิสลามียะห์บ้านไอบาตู อำเภอสุไหงปาดี

ผลการเลือกตั้งวันที่ 24 กรกฎาคม 2531

จังหวัดนราธิวาส ตามลำดับ ได้แก่ นายเสนีย์ มะดากะกุล พรรคกิจประชาคม นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ พรรคประชาชน และ นายปริญญา เจตาภิวัฒน์ พรรครวมไทย โดยแต่ละคนมีคะแนนห่างกันหนึ่งพันกว่าคะแนน

จังหวัดปัตตานี ตามลำดับ นายปรีชา บุญมี พรรคประชาชน นายเด่น โต๊ะมีนา พรรคประชาชน และ นายทวีศักดิ์ อับดุลบุตร พรรคสหประชาธิปไตย

จังหวัดยะลา ตามลำดับ ได้แก่ นายวันมูหะะมัดนอร์ มะทา พรรคประชาชน นายไพโรจน์ เฉลียวศักดิ์ พรรคประชาธิปัตย์

จังหวัดสตูล ได้แก่ นายวิฑูรย์ หลังจิ พรรคชาติไทย เบียด ส.ส.เก่าอย่าง นายจิรายุส เนาวเกตุ ตกเวทีหายไปจากวงการเมืองของจังหวัดสตูล จนกลายเป็นอดีต ส.ส.ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงปัจจุบัน

ผลการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งนี้ ทำให้จังหวัดนราธิวาส ได้ ส.ส. มุสลิมมาตลอดจนถึงการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554