มิติทางประวัติศาสตร์ของสำนักคิด “ชีอะห์” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สถานฝังศพตั้งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ของเจ้าพระยาบวรราชนายก หรือเฉกอะหมัด ปฐมจุฬาราชมนตรี ชาวเปอร์เซียมุสลิมตามสำนักคิดชีอะห์สิบสองอีหม่าม /Photo ThePublicPost

สำนักคิด “ซุนนี” (Sunni) สาขา “ชาฟีอี” (Shafi`i) เป็นประชากรมุสลิมส่วนใหญ่ของโลกมาเลย์-อินโดนีเซีย รวมทั้งสิงคโปร์ ภาคใต้ของประเทศไทย และภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ซุนนีชาฟีอียังเป็นแนวทางส่วนใหญ่ของประชากรมุสลิมทางภาคใต้ของอินเดีย ซึ่งมีความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์กับการเติบโตอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้ง “เปอร์เซีย” ก็เช่นกันที่เคยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการศึกษาของสำนักคิดซุนนีสาขาชาฟีอี ก่อนที่จะมีการสถาปนาสำนักคิดชีอะห์แนวทางสิบสองอีหม่าม (Twelver Shi`ism) ให้เป็น “ศาสนาประจำรัฐ” (religion of state) ในปี ค.ศ.1501 (พ.ศ.2044) ภายใต้ราชวงศ์ซาฟาวิด (Safavid)

กระนั้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ก็มีมุสลิมชีอะห์ด้วยเช่นกัน ซึ่งมิใช่เป็นเพียงผลจากเหตุการณ์หลังการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านในปีค.ศ.1979 (พ.ศ.2522) เท่านั้น แต่มันได้หยั่งรากฐานตามวิถีทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการมีอยู่ของลัทธิรหัสยนิยม (mysticism) หรือแนวทางซูฟี (Sufism)

ก่อนศตวรรษที่สิบเก้า ศาสนาอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (โดยเฉพาะมาเลย์-อินโดนีเซีย) ถูกมองว่าค่อนไปทางรหัสยนัย ที่แผ่ขยายผ่านภาพชองซูฟีและชีอะห์ซึ่งเสมือนเคลือบไว้ด้วยความเป็นซุนนี “ออร์โธดอกซ์”  เริ่มต้นจากช่วงต้นปีค.ศ.1800 (พ.ศ.2343) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยึดตามแนวทางอิสลามที่แตกต่างกัน หลากหลายด้วยแนวคิดและวิถี ซึ่งถูกปรับปรุงแก้ไขผ่านการสื่อสารที่มีโอกาสบ่อยขึ้นและการเดินทางไปยังศูนย์กลางการศึกษาของซุนนีในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอียิปต์และอารเบีย อันนำมาสู่การเร่งกำจัดวรรณกรรมของชาวมุสลิมมาเลย์ที่มากไปด้วยกลิ่ยอายอุตริกรรม (heterodox)  และส่งผลต่อการปฏิเสธส่วนสำคัญแห่งมรดกวัฒนธรรมของตน

ในช่วงต้นหรือแต่เดิมของชีอะห์นั้น กล่าวกันว่า ปรากฏอยู่ในหมู่คนชาวจาม (Cham) อันเป็นชนกลุ่มน้อยเชื้อสายมาเลย์ ปัจจุบันนี้ก็คือกัมพูชาและเวียดนาม มาตั้งแต่ช่วงต้นของศตวรรษที่เจ็ด ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาการก่อตัวของศาสนาอิสลาม นี่เป็นคุณลักษณะที่ค่อนข้างน่าแปลกใจ แต่ต้องพิจารณาบริบทสถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เอื้ออำนวยในการเป็นเส้นทางหลักของการค้าทางทะเล ระหว่างเอเชียตะวันออก-โดยเฉพาะจีน- และมหาสมุทรอินเดียอันกว้างขวาง / แถบตะวันออกกลาง

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจากประวัติความเป็นมาของศาสนาอิสลามในภูมิภาคตะวันออกของมหาสมุทรอินเดียและหมู่เกาะทางตะวันออก เช่นเดียวกับสถานที่ตั้งของชีอะห์ในบริบทนี้ ก็จะพบบทบาทของ “ภาษากลาง” (lingua franca) อย่างชัดเจน ซึ่งในเส้นทางประวัติศาสตร์อิสลามนั้น ภาษาอาหรับ เปอร์เซีย, ตุรกี, และมาเลย์ (โดยไม่กล่าวถึงภาษากลางอื่น ๆ อีกมากมายในแอฟริกา) เป็นเครื่องมือหลักที่ใช้เผยแพร่สาส์นแห่งศาสนาอิสลามไปยังผู้คนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและภาษา

ภาษาเปอร์เซียก็แพร่หลายเช่นดังกล่าวในเอเชียกลาง (Central Asia) และชมพูทวีป (Indian subcontinent) และเช่นกันที่ภาษาเปอร์เซียก็มีตำแหน่งแห่งหนในหมู่เกาะมาเลย์-อินโดนีเซีย และเช่นนี้ที่ภาษาเปอร์เซียจึงกลายเป็นเครื่องส่งของแนวคิด แนวทางรหัสยนัย และปรัชญาของศาสนาอิสลามในแถบตะวันออก ในดินแดนที่ไม่ใช่อาหรับ ช่วงศตวรรษที่ 12 และ 13 ยุคก่อนมองโกลเปอร์เซียและเอเชียกลาง รวมทั้งอินเดียและตะวันออกไกล  การทำลายล้างของมองโกลที่รุกรานตะวันออกกลาง (รวมทั้งเปอร์เซียและเอเชียกลาง) และตามมาด้วยการสถาปนาราชอาณาจักรของมองโกลและชนเชื้อชาติเตอร์ก และวัฒนธรรมที่มีภูมิหลังที่เข้มแข็ง ยุคสมัยนี้จึงนำไปสู่พัฒนาการของวัฒนธรรมอิสลามที่โดดเด่นในดินแดนตะวันออก ทั้งยังขยายไปยังประเทศอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เปอร์เซียก็เช่นเดียวกันที่กลายเป็นภาษากลางในการค้าของโลกมหาสมุทรอินเดีย ชุมชนพ่อค้าที่ใช้ภาษาเปอร์เซียได้ปรากฏในแหลมมะละกา (Malacca) อาณาจักรสุลต่านมลายูมุสลิมและศูนย์กลางการค้าขาย ที่กินเวลาตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 15 จนถึง ค.ศ. 1511 (พ.ศ.2054) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ถูกเข้ายึดครองโดยชาวโปรตุเกส แม้ว่ามะละกาตอนนั้นอย่างน้อยก็ในนามถือเป็นรัฐบริวาร (vassal) ของสยามซึ่งอ้างว่ามีอำนาจเหนือทั้งคาบสมุทรมลายู (Malay Peninsula) แต่มันก็สามารถที่จะสร้างตัวเองให้มีพลังอำนาจที่สำคัญที่สุดในหมู่เกาะ ทำให้การเผยแผ่ของศาสนาอิสลามในภูมิภาคเข้มแข็งขึ้นด้วยแรงผลักดันใหม่

การแพร่ขยายของศาสนาอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เกิดขึ้นนั้นส่วนใหญ่มาจากทางใต้และตะวันตกของอินเดียตามเส้นทางศูนย์กลางการค้าขายทางทะเล ชาวมุสลิมได้เดินทางเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงแรกสัมพันธ์ผ่านทางพ่อค้าวาณิชที่มาจากตะวันออกกลางและอินเดีย จนเกิดกระแสเข้ารับอิสลาม (Islamization) ขนาดใหญ่ของหมู่เกาะมาเลย์-อินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกาะสุมาตรา (Sumatra) และบางส่วนของเกาะชวา (Java) ในช่วงศตวรรษที่สิบสามและสิบสี่ ซึ่งยิ่งเจริญรุ่งเรืองมากขึ้นด้วยพ่อค้าชาวอาหรับจากเมืองฮัดรุเมาต์ (Hadhramaut) ของเยเมน (ภาคใต้ของอารเบีย) เช่นเดียวกับพ่อค้าวาณิชจากทางใต้ของอินเดีย พื้นที่ซึ่งมุสลิมซุนนีชาฟีอี (Shafi`i Sunnism) เป็นที่แพร่หลาย  จำนวนมากมายจากพ่อค้าชาวมุสลิมและนักเผยแผ่อิสลามที่เดินทางมาถึงนั้นเกี่ยวข้องกับคำสั่งหนึ่งหรือมากกว่าจากผู้นำแนวทางรหัสยนิยม [1] จากนั้นระหว่างสมัยของชาวตะวันออกกลางและอินเดีย ในหมู่เกาะแห่งนี้อิสลามจึงแพร่ขยายในอาภรณ์ของแนวทางรหัสยนิยมที่ย้อมด้วยอุดมคติของผู้นำศักดิ์สิทธิ์ [2] ตามการอรรถาธิบายแบบชาวซูฟีเปอร์เซียดั้งเดิม ซึ่งต่อมาได้พบและผสมกับความเชื่อของชาวท้องถิ่นและการเคารพบูชาผี (shamanistic) ที่เป็นรากเหง้าดั้งเดิมในภูมิภาคก่อนการเข้ามาของอิสลาม  อิทธิพลของเปอร์เซียยังประจักษ์ตัวตนในภาษามลายูไม่ว่าจะเป็นยุคโบราณหรือปัจจุบัน

พร้อมๆ กับการแผ่ขยายของลัทธิซูฟีเปอร์เซีย แนวทาง “ชีอะห์” ก็หยั่งรากลงเช่นกัน โดยเข้าไปในอิสลามมาเลย์-อินโดนีเซีย ผ่านทางภาคใต้ของอินเดีย อย่างไรก็ตาม เราควรเข้าใจว่าความหมายแฝงที่ว่า “อิสลามเปอร์เซีย = ชาวชีอะห์” ซึ่งอาจปรากฏในวาบความคิดทันทีเมื่อกล่าวถึงอิหร่านในวันนี้ แต่ในศตวรรษที่สิบสามและสิบสี่ไม่ได้เด่นชัดแบบนั้น ถึงแม้อิทธิพลของชีอะห์จะมีอยู่ในวรรณกรรมของซูฟีเสมอมาก็ตาม นอกจากนี้ชีอะห์ในเวลานั้นยังมีความหมายค่อนข้างกว้างครอบคลุมแขนงสาขาหลากหลาย เช่นสาขา “อิสาอีลียะห์” (Isma`ilis) เป็นต้น

จากมุมองทางด้านวัฒนธรรม อิทธิพลของชีอะห์ยังประจักษ์ชัดเช่นเดียวกันในวรรณกรรมของชาวมุสลิมในหมู่เกาะมลายู-อินโดนีเซีย และจากการศึกษาเชิงลึกโดยนักวิชาการตะวันตกและอินโดนีเซียมากมาย พบว่า ชีอะห์มีอิทธิพลต่อความคิดของศาสนาอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมากที่เกี่ยวกับอาณาจักรสุลต่านแห่งอาเจะห์ (Aceh sultanate) ซึ่งสามารถดำเนินต่อในตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญในช่องแคบหลังจากการล่มสลายของรัฐมะละกาต่อโปรตุเกสในค.ศ. 1511 ที่เกิดหลังผู้ปกครองรัฐในคาบสมุทรจมอยู่ในช่วงของการถูกโดดเดี่ยว

การปรากฏตัวของชุมชนชีอะห์สิบสองอีหม่าม (Twelver Shi`i) ชาวเปอร์เซียในราชอาณาจักรอยุธยา (ปัจจุบันประเทศไทย) ยังส่งผลทางด้านวัฒนธรรมต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระยะยาวหลายประการ คำยืมภาษาเปอร์เซียยังพบเห็นในคำศัพท์ของภาษาไทยหรือสยาม, ซึ่งพวกเขาอาจจะเข้ามาในศตวรรษที่สิบหกและสมัยอยุธยาเป็นต้นไป สมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงกล่าวว่า อาหารประจำวันและการแต่งกายของพระองค์ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมของเปอร์เซีย อิทธิพลเหล่านี้ยังขยายไปยังสถาปัตยกรรมของสยามในศตวรรษที่สิบเจ็ดและจิตรกรรมฝาผนัง และเหนือสิ่งอื่นใดก็คือจารีตประเพณีในราชสำนักสยามและขนบปฏิบัติของศาล

การสิ้นสุดของราชอาณาจักรอยุธยาในปี 1767 (พ.ศ.2310) ยังส่งผลถึงการสิ้นสุดของวัฒนธรรมเปอร์เซียเช่นเดียวกับอำนาจการปกครองชีอะห์ในหมู่ชาวมุสลิม อย่างไรก็ตามลูกหลานบางส่วนของของพ่อค้าวาณิชชาวอิหร่านและเปอร์เซีย (เช่นสายตระกูลบุนนาค ศรีเพ็ญ) [3] ยังคงอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กับราชบัลลังก์ในศตวรรษที่ยี่สิบ

ปัจจุบันชีอะห์ได้ “ฟื้นฟู” ขึ้นอีกครั้งท่ามกลางหมู่ชาวมุสลิมซุนนีเดิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เฉพาะชีอะห์สาขา 12 อีหม่าม) ซึ่งสัมพันธ์กับปรากฏการณ์การปฏิวัติอย่างเฉียบพลันของอิหร่านในปี 1979 อันนำมาซึ่งโค่นล้มระบอบการปกครองเผด็จการของกษัตริย์ชาห์ที่ได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐอเมริกาซึ่งถูกมองว่าเป็น “มหาซาตาน” สำหรับการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของประเทศและสร้างความเสียหายต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น ทำลายคุณค่าของอิสลาม รวมกับการบ่อนทำลายทางศีลธรรมและเศรษฐกิจจากชนชั้นปกครอง ทั้งหมดนี้จึงสั่งสมนำไปสู่ความโกรธแค้นของประชาชนอิหร่านที่มีต่อกษัตริย์ชาห์

ความสำเร็จอย่างคาดไม่ถึงของการปฏิวัติของโคมัยนี (Khomeini) ได้ปลุกสำนึกของการเสริมสร้างพลังอำนาจแห่งอิสลามในสังคมมุสลิมทั่วทุกมุมโลก รวมทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เช่นกัน กระนั้นก็มีข้อจำกัดสำคัญสำหรับอิหร่านในการส่งออกแบรนด์อิสลามแบบชีอะห์ไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากชาวมุสลิมส่วนมากในภูมิภาคยึดมั่นอยู่ในความเชื่อแบบซุนนี  อย่างไรก็ตามความสำเร็จในการสถาปนาระบอบการปกครองแบบอิสลามในอิหร่านได้กลายเป็นแรงบันดาลใจกระตุ้นสำนึกใหม่แห่งความเชื่อมั่นในพลังแห่งตัวตนของอิสลามและความแข็งแกร่งของศาสนาอิสลามในการระดมมวลชน นอกจากนี้ชัยชนะของโคมัยนียังได้ปลุกคลื่นกิจกรรมแห่งอิสลามในโลกซุนนีเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ได้ไปกระตุ้นให้ซาอุดิอาระเบียต้องส่งเสริมความเชื่อแบบ “วะฮาบี” (Wahhabi) เพื่อแข่งขันกับอิหร่าน

ภายใต้สองอิทธิพลของ “แนวทางที่มีโคมัยนีเป็นแบบฉบับ”  และ “ซาอุดิอาระเบียนายทุนผู้มั่งคั่ง” ชาวมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกพัฒนาสำนึกแห่งการแยกแยะวินิจฉัยให้เจริญเติบโตขึ้นด้วยสังคมขนาดใหญ่ของบรรดาผู้ศรัทธา และการรับรู้ที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับพัฒนาการของอุดมการณ์ใหม่ในตะวันออกกลาง

เชิงอรรถ

1 ภาษาอาหรับเรียก ตาริกัต หรือ ตุรุก (พหูพจน์) หรือ ตาริกะห์ (เอกพจน์) Arabic plural: tariqat or turuq, singular: tariqa.

2  ในภาษาอาหรับเรียก วิลายะห์ เปอร์เซียเรียกว่า วิลายัต (sainthood) In Arabic, wilaya; in Persian, velayat.

3. ในต้นฉบับผู้เขียนระบุสกุลสิงหเสนีไว้ด้วยเช่นกัน แต่ผู้แปลได้ตัดออกไปด้วยไม่แน่ใจว่าเป็นสายตะกูลมาจากเปอร์เซีย  

 

แปลและเรียบเรียงจาก Middle East Institute
เขียนโดย By Christoph Marcinkowski – เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสถาบันเมื่อ Jul 17, 2013