การศึกษาไทยกำลังเปลี่ยนแปลงผู้เรียนให้กลายเป็นหุ่นยนต์ที่คอยแต่จะทำตามคำสั่งจากปุ่มควบคุม นั่นคือโครงสร้างการปกครองที่ยึดโยงกับวัฒนธรรมความคิดดั้งเดิม (ระบบอุปถัมภ์/ระบบคนของใคร) ที่ไม่เปิดช่องทางให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ระบบการศึกษาทั่วโลกก้าวหน้าไปด้วยระบบคิดที่สร้างขึ้นเป็นวิทยาการ/องค์ความรู้ใหม่ๆและนวัตกรรมที่ถูกผลิตขึ้น นั่นหมายถึงการยอมรับความจำเป็นใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น
แต่การศึกษาไทยยังยึดติด/ฝังรากลึกลงในโครงสร้างเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลง แนวคิดของความเปลี่ยนแปลง/การพัฒนาใดๆ ที่ขัดแย้งกับโครงสร้างดังกล่าว จะถูกปฎิเสธไม่ให้ยอมรับ การศึกษาไทยจึงเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงยาก หรือไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง เพียงเพื่อจะรักษาสถานะ/อำนาจบางอย่างที่หลอกหลอนตัวเองและประชาชนของชาติ
การศึกษาที่ยึดโยงกับโครงสร้างความคิดเดิมนั้น ทำให้สังคมไทยย่ำเดินอยู่กับที่ บุคลากรทางการศึกษามักถูกจำกัดให้เดินตามกรอบ/กฎที่การเมืองได้วางไว้ การเมืองที่ครอบงำการศึกษา การแก้ไขปัญหาการศึกษาด้วยวิธีการทางการเมือง ซึ่งแก้ปัญหาได้เพียงชั่วคราวแต่ทิ้งปัญหามากมายไว้ในภายหลัง และกำลังถูกแซงหน้าจากประเทศที่เคยตกเป็นเมืองขึ้นอื่นๆ ที่ไล่ติดตามมา แม้ไทยจะอ้างว่ามีความอิสระเพราะไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจใด แต่ความอิสระในอดีตกลับไม่เป็นประโยชน์ใดๆ กับความคิดในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทยในปัจจุบัน
ตรงกันข้ามประเทศต่างๆ ที่เคยตกเป็นเมืองขึ้นกลับได้ประโยชน์มากมายจากการตกเป็นอาณานิคมในอดีต เหมือนพวกเขาได้เข้าอบรมหลักสูตรสำคัญของชาติและคนในชาติ ทำให้เกิดความเข้มข้นในการรักษาตัวตน อัตลักษณ์ วัฒนธรรมของตัวเองหลังจากถูกยึดครอง เพราะเคยสูญเสีย/ถูกจำกัดอิสรภาพทำให้รู้ซึ้งถึงการรักษาหวงแหน
การศึกษาคือการสร้างความอิสระทางความคิดและวิถีคิดด้วยจิตสำนึกแห่งความเกรงกลัวให้กับผู้เรียน ความเกรงกลัวดังกล่าวหมายถึงการเกรงกลัวต่อความเลวร้าย/กลัวความผิดพลาด/กลัวที่จะหลงออกจากทางที่ถูกต้องดีงาม ซึ่งสำคัญมากสำหรับจิตสำนึกทางการศึกษา
แต่การศึกษาไทยกลับเดินสวนทาง!!
เพราะไม่คิดให้อิสระทางความคิดในการจัดการศึกษา มีการผูกขาดผลประโยชน์ในธุรกิจการศึกษา ตั้งแต่หนังสือตำราเรียน หลักสูตร กิจกรรมต่างๆ แม้แต่เรื่องสถานที่จัดกิจกรรรมของเด็กนักเรียนยังถูกผูกขาดว่าต้องที่นั่นที่นี่ ซึ่งล้วนเป็นผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกันไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
จึงเห็นได้ว่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียนต่างๆในรูปกิจกรรมนอกพื้นสถานที่ ทัศนะศึกษา ล้วนแล้วแต่ถูกจัดวางไว้เป็นบทเรียน/แบบประเมินเหมือนกันทั้งหมด ทั้งที่ไม่จำเป็นและสิ้นเปลืองงบประมาณที่ไม่คุ้มค่า นี่คือตัวอย่างทางการศึกษาไทยบางส่วนที่ไม่ปล่อยให้ประชาชนมีความคิดเป็นอิสระของตัวเอง
การเติมเม็ดเงินลงไปให้กับเรื่องการศึกษาจากรัฐบาลนั้น ก็ทำคล้ายหัวคะแนนที่หวังให้เกิดหนี้บุญคุณที่หวังผลทางการเมือง แนวคิดดีๆมากมายในด้านการศึกษาที่สังคมเสนอมักถูกคัดออกเพราะไม่มีผลทางการเมือง และการลงเม็ดเงินเพียงเพื่อสร้างฐานการเมืองในระดับต่างๆ ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ซึ่งเป็นภาพเก่าที่น่าจะเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างการศึกษาของไทย
ครูผู้สอนในโรงเรียนมีมากมายตามวิชาที่กำหนด เพราะวางมาตรฐานว่าครูหนึ่งคนต่อสาระหนึ่งวิชา ซึ่งเป็นการใช้บุคลากรที่สิ้นเปลืองและไม่สอดคล้องกับการพัฒนา กล่าวคือ ครูไม่ได้พัฒนาการสอนของตัวเองและไม่ได้พัฒนาตัวเองในด้านวิชาการ คำถามหนึ่งคือ ทำไม่ครูต้องสอนหนึ่งวิชาต่อหนึ่งคน ทำไมไม่สอนหลากหลายวิชาต่อครูหนึ่งคน ครูที่สอนหนึ่งวิชาต่อหนึ่งคนไม่ได้พัฒนาการเรียนการสอนตามแนวบูรณาการณ์ แต่สอนเพียงวิชาเดียว ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เนื้อหาของสาระวิชาที่สอนนั้นก็ไม่ได้ยากหรือมากมายนัก โดยเฉพาะในระดับประถมฯ มัธยมฯ ที่น่าจะให้ครูคนเดียวสอนในหลายวิชาได้ เพราะตัวครูเองก่อนจะมาเป็นครูก็ได้เรียนสาระวิชาต่างๆที่กำหนดไว้ทุกวิชาอยู่แล้ว
การสอนเพียงวิชาเดียวต่อครูหนึ่งคน ทำให้ครูวนเวียนเบื่อหน่ายอยู่กับการสอนแบบแยกส่วน โดยเฉพาะสาระวิชาที่กระทรวงฯกำหนดให้ทางสถานศึกษานั้น เป็นองค์ความรู้ที่ไม่สมควรแยกออกจากกัน (หมายถึงระดับประถมฯ/มัธยมฯ) ซึ่งทั้งแปดสาระวิชานั้นควรจะเป็นองค์ความรู้เดียวกันเมื่อนำมาใช้ในชีวิตจริง การจัดการบริหารการศึกษาโดยให้ครูสอนหนึ่งวิชาต่อครูหนึ่งคน เป็นวิธีการที่ใช้จำนวนเป็นตัวกำหนดคุณภาพมาตรฐานการศึกษา ซึ่งจะได้เพียงการผลิตหลักสูตรใหม่ๆ ขึ้นมากมาย แต่ไม่ได้พัฒนาคุณภาพมาตรฐานของผู้สอนและสิ่งที่นักเรียนควรจะได้รับ เพราะไม่ได้คำนึงถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพของครูและนักเรียนได้อย่างที่ควรจะเป็น แต่คิดถึงแต่จำนวนที่จะกำหนดเป็นงบประมาณ และแม้จะคิดถึงการเพิ่มครูสายตรงให้มากขึ้น โดยหวังผลิตครูที่มีคุณภาพจริงๆ แต่สุดท้ายก็ได้ไม่กี่คนและน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนครูที่ต้องดูแลการสอนนักเรียนทั่วประเทศ
การเน้นจำนวนจึงไม่ใช่เป้าหมายของคุณภาพที่แท้จริง หากจะลองนึกถึงอดีตที่ครูคนเดียวแต่สามารถสอนนักเรียนได้ทั้งโรงเรียน หรือครูหนึ่งเดียวสอนนักเรียนได้หลายคนและสอนได้หลายวิชา นั่นอาจเป็นเพราะครูในอดีตมีความน่าเคารพนับถือและมีเกียรติที่สูงส่ง การศึกษาไม่ใช่การเรียนผ่านตัวอักษรในหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่คือการซึมซับพฤติกรรมที่ดีงามของครูผู้สอนไปในตัวด้วย ร่างกาย/จิตวิญญาณของครูเป็นสิ่งมีค่าทั้งหมดในชีวิตความเป็นครูที่ผู้เรียนควรศึกษาและซึมซับ ไม่ว่าจะความรู้ คำพูด ความคิด การเสนอแนะ รวมถึงพฤติกรรม นิสัย บุคลิกภาพของตัวครู ล้วนมีผลต่อกระบวนการจัดการศึกษาทั้งสิ้น
คุณค่าของครูไม่ใช่เพียงมีค่าเพียงหนังสือหรือตำราที่ครูถือหรือที่ครูสอน ครูในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบอย่างให้นักเรียนอีกต่อไป นักเรียนสมัยใหม่จึงไม่มีแต่ความรู้มากมายไว้เพียงแค่จดจำสอบให้ผ่านในกระดาษ แต่ไม่มีสำนึกบุญคุณและการให้เกียรติต่อครูในชีวิตจริงเหมือนดั่งครูในอดีตอีกต่อไป นี่เป็นปัญหาของครูสมัยใหม่ในปัจจุบันที่สอนหนังสือเด็กได้แต่ทำให้เป็นคนดีไม่ได้ ซึ่งนั่นหมายความว่า การจัดการศึกษาทำให้เสียเวลาเสียงบประมาณที่ไม่คุ้มค่าอย่างที่ควรจะได้รับ
คงไม่ต้องซ้ำเติมการศึกษาไทยในกลุ่มประเทศอาเซียนที่เป็นประจักษ์ว่า กำลังถอยหลังหรือเดินอยู่กับที่ จนกำลังถูกแซงหน้า คงจะโทษใครไม่ได้อีกแล้ว ต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อปัญหานี้ร่วมกัน ต้องกลับมาทบทวนและโทษตัวเอง ยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่าอยู่เสมอ