hundred foot journey ปรุงชีวิต…ลิขิตฝัน เปิดใจให้กว้าง แล้วเดินทางให้ไกลสัก…100 ฟุต

ในบรรดา ปัจจัยสี่ทั้งเสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ก็มีเพียงอาหารนี่แหละที่ผู้เขียนมองว่ามีศักยภาพมากกว่าเป็นอะไรที่ร่างกาย เราต้องการ เพราะในขณะที่เสื้อผ้าให้ความอบอุ่นแก่ผู้สวมใส่ บ้านให้ความปลอดภัยแก่ผู้อาศัยและยาช่วยบรรเทาเยียวยาคนที่ป่วยไข้ ทั้งสามอย่างล้วนส่งผลเป็นรายบุคคลเท่านั้น แต่กับอาหาร นอกจากจะทำให้เราอิ่มท้อง มันยังทำให้ใครก็ตามที่มาร่วมแบ่งปันอาหารกับเราได้อิ่มท้องด้วย แถมยังสามารถใช้สื่อถึงความรัก ความห่วงไย ช่วยปรับสภาพอารมณ์ของเราให้ดีขึ้นหรือแม้กระทั่งบางคนยังใช้การกินเพื่อ เยียวยาความเครียดในชีวิต เรียกว่าในบรรดาปัจจัยสี่มีเพียงอาหารเท่านั้นที่มีศักยภาพส่งผลในระดับ สังคม

และแล้วเวลาก็ผ่านไป เมื่อประวัติศาสตร์อาหารยาวนานกว่าพันปี บัดนี้คงถึงเวลาแล้วที่อาหารจะเป็นมากกว่าอาหาร เพราะมันจะเป็นตัวเชื่อมวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของโลกทั้งใบให้รวมกันเป็น หนึ่ง และในบรรดาภาพยนตร์เกี่ยวกับอาหาร ผู้เขียนเห็นว่าภาพยนตร์เรื่อง hundred foot journey(ชื่อไทย  ปรุงชีวิต ลิขิตฝัน)มีความน่าสนใจในหลายแง่ จนรู้สึกว่าคงน่าเสียดายหากมันจะเข้าฉายและหายไปแบบเงียบๆ

ซึ่งหากมองตามหน้าหนัง แล้ว ผู้ที่มักจะเสพย์ภาพยนตร์จากฝั่งฮอลลีวู้ดจะเข้าใจว่า  hundred foot journey คือหนังที่ว่าด้วยการเดินทางของครอบครัวคาดัมจากประเทศอินเดียสู่ แซงต์ แอนโทนิน ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส จนในที่สุดก็พบกับทำเลที่เหมาะจะเปิดร้านอาหารอินเดีย เมซอง มุมไบ เป็นอย่างยิ่ง และมันอาจจะเป็นเช่นนั้นจริงๆหากไม่ใช่ว่าฝั่งตรงข้ามของทำเลนั้นเป็นที่ ตั้งของ เลอ ซอล เปรอเรอร์ ภัตตาคารอาหารฝรั่งเศสระดับมิชลินสตาร์ โดยระยะทางของสองร้านคู่แข่งนั้นห่างกันเพียง 100 ฟุต! ในที่สุดจึงบังเกิดสงครามเล็กๆระหว่างร้านอาหารอินเดียพลัดถิ่นกับร้านอาหาร ฝรั่งเศสเจ้าถิ่น ส่งผลให้เกิดการหักเหลี่ยมเฉือนคม ฉากรักกุ๊กกิ๊ก และฉากการผสานอาหารสองสัญชาติ ก่อนจะจบลงอย่างมีความสุขและโลกของเราก็ได้ภาพยนตร์โรแมนติกน่ารักๆ ที่มาพร้อมฉากหลังในบรรยากาศสวยๆมาประดับวงการอีกหนึ่งเรื่อง…

ซึ่งทั้งหมดนั้นมันจะไม่ใช่อย่างที่ผู้เขียนเพิ่งพิมพ์ไปด้านบน…

เนื่องจากผู้กำกับ แลส   ฮาสตรอม เป็นชาวสวีเดน ดังนั้นผลงานของพี่แกจึงออกมาในสไตล์ยุโรปขนานแท้ สังเกตจากผลงานเรื่องก่อนๆทั้ง Chocolat, Hachiหรือ Dear John เราจะพบสไตล์การเล่าเรื่องที่คล้ายกันทั้งสิ้น   ซึ่งหากถามว่าสไตล์ภาพยนตร์ยุโรปนั้นต่างจากฮอลลีวู้ดยังไง สำหรับแฟนภาพยนตร์ตัวยงคงพอจะสังเกตว่าในขณะที่ภาพยนตร์ฝั่งฮอลลีวู้ดนั้น สนุกกับการใส่อารมณ์ ขับเน้นเหตุการณ์บีบคั้นหัวใจ และพยายามเร้าอารมณ์ผู้ชมแบบสุดๆ ภาพยนตร์ทางฝั่งยุโรปกลับทำตรงกันข้ามนั่นคือการพยายามไม่เร่งเร้า ไม่ฟูมฟาย การเล่าเรื่อง ลำดับภาพจะง่ายไม่ซับซ้อน เฉกเช่นอาหารของอเมริกันที่จะเน้นปริมาณ เน้นรสชาติแบบใส่ไม่ยั้ง กับอาหารฝรั่งเศสที่เน้นความเรียบง่ายแต่ก็พิถีพิถันอย่างมีศิลป อาหารจะมีลักษณะเป็นคำเล็กๆเพื่อไม่ให้อิ่มเร็วเกินไปจนพลาดการละเลียด รสชาติของวัตถุดิบ เป็นต้น

และ hundred foot journey ก็เป็นเช่นดังอาหารยุโรป กล่าวคือตัวหนังใช้การเล่าเรื่องแบบ 1 2 3 4 เรียบง่าย ชัดเจน ไม่ต้องคาดเดาใดๆทั้งสิ้น ไม่มีเหตุการณ์หักมุมอะไรทั้งนั้น   และแม้จะใช้การหักเหลี่ยมเฉือนคมของร้านอาหารทั้งสองและความรักของตัวละคร หลักมาเป็นจุดขาย แต่หนังกลับไม่ขับเน้นในส่วนดังกล่าว แถมหลายครั้งยังมีการสร้างสถานการณ์ที่น่าสนใจชนิดที่จับมาแยกเป็นหนังอีก เรื่องได้เลย แต่ผู้กำกับก็เลือกที่จะทิ้งมันไป(อีกครั้งและอีกครั้งจนน่าเสียดายพลอตรอง ดีๆเหล่านี้เสียเหลือเกิน)เช่น ตัวละคร ฌอง ปิแอร์ ที่เหมือนจะเป็นตัวละครสำคัญของเรื่อง แต่หนังกลับตัดบทตัวละครนี้ทิ้งกลางคันจนเกิดคำถามในใจว่าถ้าจะให้มีบทแค่ นี้จะต้องใช้นักแสดงหน้าตาดีขนาดนี้ด้วยหรือ!!!

หรือกระทั่งปมในใจ มากาเร็ต ซึ่งเป็นตัวเอกฝ่ายหญิงที่อยู่ๆก็เกิดนอยด์ขึ้นมาว่า ฮัสซัน พระเอกของเรื่องจะมาแข่งและแย่งตำแหน่งในสายงานตัวเองไป คิดดูสิว่าจากคู่รักกุ๊กกิ๊กกลับกลายมาเป็นคู่แข่งมันน่าสนใจขนาดไหน และแน่นอนหนังเลือกที่จะทิ้งประเด็นนี้อย่างไม่ไยดีอีกเช่นกัน

ซึ่งประเด็นน่าสนุกที่ ถูกมองข้ามเหล่านี้เองที่อาจจะขัดใจคนดูไม่น้อย โดยเฉพาะประชาชนคนไทยที่ชอบอะไรแซบๆ พอมาชิมหนังยุโรปที่ถูกปรุงมาแบบกลางๆเน้นการใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการ ละเลียดเนื้อหาที่ละเมียดละไม พร้อมฉากหลังอันสวยงามตระการตาของฝรั่งเศส ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงดูจืดและไร้รสชาติผิดจริตชาวไทยไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม เมื่อฉากหนึ่งในเรื่องเกิดเหตุการณ์ที่ ฮัสซัน กำลังปรุงซอสฝรั่งเศสโดยใช้เครื่องเทศอินเดีย มาดามมัลลอรี เข้ามาถามฮัสซันว่าทำไมเขาถึงกล้าเปลี่ยนสูตรอาหารที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 200 ปี ฮัสซันหันมาตอบกลับหน้านิ่งๆว่าเพราะเวลา 200 ปีมันนานเกินพอแล้ว…ซึ่งแทนที่มาดามมัลลอรีจะตบฮัสซันหัวทิ่มหม้อซอส เธอกลับยอมรับความคิดแหกคอกนั้นอย่างคนใจกว้างที่เปิดใจพร้อมส่งรอยยิ้มบางๆ ให้ฮัสซัน…

เช่นกัน หากเราใจกว้างพอที่จะรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างเปิดใจ พยายามเข้าใจธรรมชาติของการเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์ฝั่งยุโรปโดยไม่เอา ภาพยนตร์จากฝั่งฮอลลีวู้ดมาเปรียบเทียบ เราจะพบว่าการเล่าเรื่องแบบเรียบๆนี่ส่งผลต่อความผูกพันกับตัวละครอย่างเข้า ถึง อีกทั้งจังหวะจะโคนในการใส่มุกตลกเข้ามาช่างลงตัวกับสถานการณ์ทำให้ตัว เนื้อหาเองก็ไม่ได้น่าเบื่อถึงขนาดชวนง่วง ทีมนักแสดงเองแม้ไม่ได้ฝากฝีมือไว้ในระดับที่น่าจดจำแต่เคมีของตัวละครแต่ละ ตัวในเรื่องดูเข้ากันอย่างลงตัวจนต้องให้เครดิตทีมคัดเลือกนักแสดง อีกทั้งหนังยังมาพร้อมดนตรีประกอบที่ส่งเสริมอารมณ์ในแต่ละฉากแต่ละ เหตุการณ์ได้อย่างเนียนสนิท

สุดท้ายในความ ต้องการของนักดูหนัง จะมีอะไรเยี่ยมไปกว่าเนื้อหาที่สร้างความบันเทิง การแสดงที่ลื่นไหล ดนตรีปะกอบที่ลงตัว นี่คือภาพยนตร์ที่มีคุณสมบัติเป็นภาพยนตร์ที่ดีอย่างครบถ้วน เพียงแค่มันไม่ฉูดฉาด และปฏิเสธการปรุงแต่งจนเกินงาม ผู้เขียนพอจะมองออกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้คงไม่ประสบความสำเร็จด้านรายรับตลอด โปรแกรมฉายในเมืองไทยมากนัก เพียงแค่หลังจากนี้ไม่นาน หากคุณเดินผ่านร้าน DVD แล้วพบแผ่น hundred foot journeyวางขายอยู่ ผู้เขียนหวังว่าจะมีคนอยากลองเปิดใจชิมหนังยุโรปจืดๆแต่เปี่ยมไปด้วยคุณค่า ทางอาหารเรื่องนี้บ้างสักนิดก็ยังดี