“อเลปโป” จากเมืองอารยธรรมเก่าแก่…สู่ดินแดนมิคสัญญี

ป้อมปราการอเลปโป (Citadel of Aleppo) ที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก เมื่อ ปี ค.ศ. 1986 (ภาพจาก wmf.org)

อเลปโป (Aleppo) หรือฮะลับ (Halab) ในภาษาอาหรับ เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศซีเรีย (หรือเมืองชามในอดีต) ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานหลายพันปี

นักโบราณคดีประเมินกันว่าทั่วทั้งประเทศซีเรียมีโบราณสถานที่มีคุณค่าในยุคต่างๆ อยู่มากมาย ตัวอย่างเช่น ในเมืองพัลไมรา (Palmyra) ซึ่งเป็นเมืองโรมันเก่า ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก เมื่อ ปี .. 1980 ถือเป็นเมืองหน้าด่านระหว่างโรมันและเปอร์เซีย เป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าและกองคาราวาน หรือ เมืองดามัสกัส (Damascus) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศซีเรีย ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก เมื่อ ปี .. 1979 ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นเมืองหลวงทางวัฒนธรรมของอาหรับ) นอกจากนั้นในเมืองอเลปโปเองยังมีป้อมปราการอเลปโป (Citadel of Aleppo) ที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก เมื่อ ปี ค.ศ. 1986  ซึ่งมีความสมบูรณ์ด้านสถาปัตยกรรมเป็นอย่างยิ่ง  

จึงกล่าวได้ว่าการที่กลุ่มชนชาติต่างๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามามีอำนาจและดำรงชีวิตอยู่อย่างต่อเนื่อง ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานและภูมิศาสตร์ที่ตั้ง ดินแดนบริเวณนี้จึงเปรียบเสมือนเป็นจุดยุทธศาสตร์ เป็นจุดกึ่งกลางระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับดินแดนเมโสโปเตเมีย โดยเป็นจุดสิ้นสุดของเส้นทางสายไหมที่เป็นเส้นทางผ่านเอเชียกลางและเมโสโปเตเมีย  ในปี ค.ศ. 1517 อเลปโปได้รวมอยู่ในจักรวรรดิออตโตมัน  เมื่อมีการสร้างคลองสุเอซในประเทศอียิปต์ขึ้นในปี ค.ศ. 1869  ซึ่งถือเป็นเส้นทางเชื่อมสำคัญในเรื่องการค้าระดับโลก  เนื่องจากเป็นเส้นทางลัดระหว่างยุโรปและเอเชีย เพื่อที่จะไม่ต้องเดินทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮปในทวีปแอฟริกา  เมืองอเลปโปจึงค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง 

ประเทศซีเรีย (Syria) หรือสาธารณรัฐอาหรับซีเรีย (Syrian Arab Republic) มีเขตแดนเชื่อมต่อกับประเทศเลบานอน อิสราเอล จอร์แดน อิรัก และตุรกี  หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซีเรียตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส  ต่อมาเมื่อวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1946  กองทัพฝรั่งเศสถอนกำลังทหารออกจากซีเรีย ทำให้ซีเรียได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการ  ในปี ค.ศ.1963 พรรคจารีตสังคมนิยมแห่งชาติอาหรับ (The Arab Socialist Resurrection Party) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “พรรคบาธ” ได้ยึดอำนาจและก่อตั้งสภาปฏิวัติแห่งชาติขึ้นมา แต่สถานการณ์บ้านเมืองก็ยังไม่สงบ  จนกระทั่งในปี ค.ศ.1970 พันเอก ฮาเฟซ อัล-อัสซาด (Hafez al-Assad) ได้ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศ  และในปีถัดมาได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของซีเรีย ทำให้ปัญหาการเมืองคลี่คลายลงไปได้ และปกครองต่อเนื่องมา 30 ปี จนกระทั่งเสียชีวิตลง จากนั้นบาชาร์ อัล-อัสซาด (Bashar al-Assad) บุตรชายของเขาจึงได้สืบอำนาจต่อในปีค.ศ.2000

เหตุการณ์ความขัดแย้งในซีเรียเริ่มปะทุขึ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2011 ซึ่งเป็นผลพวงจากกระแสของอาหรับสปริง “Arab Spring” (อาหรับสปริงเกิดขึ้นในประเทศตูนิเซียเป็นประเทศแรกและขยายวงกว้างออกไปสู่กลุ่มประเทศอาหรับอื่นๆ) มีการประท้วงของประชาชน โดยประชาชนบางส่วนจับอาวุธขึ้นต่อสู้เพื่อโค่นล้มรัฐบาลบาชาร์ อัล-อัสซาด  ขณะที่รัฐบาลก็ต่อสู้และปราบปรามกลุ่มกบฎ พอประชาชนเกิดการสูญเสีย ก็กลายมาเป็นชนวนให้เกิดเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอัสซาดขึ้นมาอย่างจริงจัง (หรือเรียกว่ากลุ่ม Rebel) ทหารบางส่วนของประธานาธิบดีอัสซาดก็แยกตัวออกมาเพราะไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเขา จนเกิดเป็นกลุ่มที่รู้จักกันในนาม FSA (Free Syrian Army)  ที่เริ่มทำการต่อสู้กับทหารของฝั่งรัฐบาลอัสซาด จนกลายเป็นสงครามกลางเมือง  ต่อมาพวกกลุ่มหัวรุนแรงรอบๆ ประเทศซีเรีย (Jihadists) ก็เข้ามาสมทบกับกลุ่ม Rebel เพื่อร่วมกันรบกับฝ่ายรัฐบาล 

ในเวลาต่อมาเกิดกลุ่มที่แยกตัวออกมาจากกลุ่มอัลเคด้า (Al Qaeda)ในอิรัก กลุ่มนี้เดิมทีเรียกตัวเองว่า Islamic State of Iraq หรือ ISI ซึ่งต่อมาได้ขยายอิทธิพลข้ามชายแดนเข้าไปในซีเรีย จึงเรียกตัวเองใหม่ว่า Islamic State of Iraq and Syria (ที่มาของคำว่า ISIS) กลุ่ม ISIS ต้องการสร้างอาณาเขตและมีรัฐเป็นของตัวเอง  เรียกว่ารัฐอิสลาม (Islamic State) โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการรวบรวมชาวมุสลิมให้เป็นหนึ่งเดียวโดยไม่แบ่งแยกออกเป็นประเทศต่างๆ  และนำการปกครองแบบระบบคอลิฟะฮ์ดั้งเดิมกลับมาใช้ โดยมีระบบเศรษฐกิจเดียว   

อีกตัวแสดงหนึ่งที่มีบทบาทอยู่ท่ามกลางสงครามกลางเมืองในซีเรียคือชาวเคิร์ด (Kurd) เนื่องจากชาวเคิร์ดมีวัตถุประสงค์ที่จะแยกตัวเป็นประเทศอิสระ โดยมีฐานหลักอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าเคอร์ดิสถาน (Kurdistan) ตั้งอยู่บนตะเข็บรอยต่อของสี่ประเทศ คือ อิหร่าน อิรัก ซีเรีย ตุรกี  ซึ่งเป็นเขตปฏิบัติการของขบวนการแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ด (หรือกลุ่ม PKK Partiya Karkeren Kurdistan ที่ถูกหมายหัวจากประเทศมหาอำนาจตะวันตกและองค์การสนธิสัญญานาโต้ว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย) ในปัจจุบันชาวเคิร์ดมีประชากรประมาณ 30 กว่าล้านคน  ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ชาวเคิร์ดอาศัยอยู่คือในภาคใต้และภาคตะวันออกของตุรกี  (โดยประเด็นของชาวเคิร์ดก็เป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจที่รัฐบาลตุรกีต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับสงครามในซีเรีย นอกเหนือจากสาเหตุหลักที่รัฐบาลตุรกีต้องการสร้างบทบาทของตนเองในภูมิภาคตะวันออกกลาง และความต้องการของประธานาธิบดีเออร์ดูกันที่จะฟื้นฟูอาณาจักรออตโตมันขึ้นมาใหม่อีกครั้ง) 

ต่อมาในเดือนกันยายน 2013  มีข่าวว่าประธานาธิบดีอัสซาดใช้อาวุธเคมีสังหารประชาชน รัฐบาลอเมริกาจึงออกถ้อยแถลงถึงความจำเป็นในการเข้าไปปราบปรามรัฐบาลอัสซาดที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนอย่างจริงจัง (ซึ่งในความเป็นจริงทางรัฐบาลอเมริกาก็มีการมอบหมายภารกิจส่งซีไอเอให้เข้าไปฝึกการรบให้กับฝ่ายกบฎที่ต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลซีเรียอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว)  เพราะสหรัฐอเมริกาเห็นว่ารัฐบาลซีเรียไร้ความชอบธรรมมาตั้งแต่ต้น  อันเนื่องมาจากเป็นรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ (แม้เวลาจะผ่านมาจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูกแล้วก็ตาม) และเพื่อเป็นการรับประกันความปลอดภัยของอิสราเอลพันธมิตรสำคัญของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย (อิสราเอลได้ยึดดินแดนที่ราบสูงโกลันของซีเรียเป็นของตัวเองภายหลังจากสงคราม 6 วัน ในปี ค.ศ. 1967 ในสงครามครั้งนี้อิสราเอลยึดดินแดนอาหรับได้มากมาย เช่น ฉนวนกาซา คาบสมุทรไซนายฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน (หรือเขตเวสต์แบงก์) ยึดเยรูซาเลมกลับมาได้ นอกจากนี้ยังยึดที่ราบสูงโกลันของซีเรียได้อีกด้วย ทำให้ดินแดนของอิสราเอลขยายตัวออกไปอีกถึง 4 เท่า  โดยที่ราบสูงโกลันนับว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งต่อการดำรงอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลางของอิสราเอล (อิสราเอลทำการผนวกดินแดนที่ราบสูงโกลันเป็นของตนเองอย่างผิดกฎหมายในปี 1981 การผนวกดังกล่าวถูกปฏิเสธโดยคณะมนตรีความมั่นคงอย่างเป็นเอกฉันท์ในปีเดียวกัน) ซึ่งหากฝ่ายรัฐบาลอัสซาดเป็นฝ่ายชนะ อิสราเอลมองว่าอาจสูญเสียดินแดนนี้คืนให้กับซีเรีย

ในขณะที่ฝ่ายที่ยืนอยู่ข้างรัฐบาลประธานาธิบดีอัสซาด คือ รัสเซีย จีน และ อิหร่าน ซึ่งเห็นว่ารัฐบาลซีเรียมีความชอบธรรมในการปกครองประเทศ  ซีเรียเป็นประเทศหนึ่งที่ประกาศตัวว่าเป็นพันธมิตรกับอิหร่าน  ซึ่งเหมือนเป็นการหยามรัฐบาลอเมริกาเป็นอย่างมาก เพราะสหรัฐอเมริกาสูญเสียผลประโยชน์ในอิหร่านหลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีค.ศ.1979  ต่อมามีความพยายามของรัฐบาลอเมริกาที่จะทำให้อิหร่านอ่อนแอลง โดยให้การสนับสนุนประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนของอิรักในการทำสงคราม 8 ปีกับอิหร่าน แต่ก็ไม่สามารถโค่นล้มรัฐบาลของอิหร่านลงได้  และการที่อิหร่านไม่ยอมอ่อนข้อให้สหรัฐอเมริกาล้วนสร้างบาดแผลให้กับรัฐบาลอเมริกามาจนถึงปัจจุบัน  การให้การสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอัสซาดก็ถือเป็นหนึ่งในบรรดาเหตุผลของสหรัฐอเมริกา เพราะซีเรียเป็นเพื่อนสนิทกับอิหร่าน และซีเรียเองก็ให้ความช่วยเหลือกลุ่มฮิชบุลลอฮ์ในเลบานอน(ที่ต่อไปจะเป็นอันตรายต่ออิสราเอลพันธมิตรสำคัญของสหรัฐอเมริกามาก)  อีกทั้งอิหร่านยังไม่ลงรอยกับซาอุดิอาระเบียพันธมิตรของสหรัฐอเมริกามาแต่เดิมในเรื่องของดุลอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทำให้ซาอุดิอาระเบียไม่ลังเลที่จะให้การสนับสนุนฝ่ายกบฎในซีเรีย เพื่อต้านทานมิให้ฝ่ายรัฐบาลซีเรียที่มีอิหร่านให้การสนับสนุนเป็นฝ่ายชนะ (เพราะหากฝ่ายรัฐบาลซีเรียเป็นฝ่ายชนะ นั่นหมายถึงดุลอำนาจในภูมิภาคนี้จะกลายเป็นประเทศอิหร่านที่จะเป็นฝ่ายได้เปรียบทันที  ดังนั้นถ้าหากจัดการกับซีเรียได้ก็เท่ากับว่าซาอุดิอาระเบียจะสามารถลดบทบาทของอิหร่านในภูมิภาคตะวันออกกลางลงได้เช่นกัน)

นอกจากมีรัสเซีย จีน  อิหร่านให้การสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลอยู่แล้ว ยังมีกลุ่มฮิชบุลลอฮ์เข้าร่วมในกองทัพด้วย (กลุ่มนี้มาจากประเทศเลบานอน พันธมิตรใกล้บ้านของซีเรียและเป็นคู่ปรับสำคัญของอิสราเอล) ฮิชบุลลอฮ์ (Hezbollah) เป็นองค์กรและพรรคการเมืองของชาวมุสลิมชีอะฮ์ในประเทศเลบานอนซึ่งมีกองทัพของตนเอง   กลุ่มฮิชบุลเลาะฮ์ได้รับแรงบันดาลใจจากความสำเร็จในการปฏิวัติในประเทศอิหร่านของอะยาตุลลอฮ์ โคไมนี( Ayatollah  Khomeini )ในปีค.ศ.1979  โดยวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งก็เพื่อปกป้องอนาธิปไตยของชาวมุสลิม และปกป้องมาตุภูมิเลบานอนให้พ้นจากการรุกรานของอิสราเอล  ฮิชบุลลอฮ์ก่อตั้งในปี ค.ศ.1982  ซึ่งเป็นปีที่อิสราเอลบุกรุกเลบานอน  และทำการต่อสู้จนสามารถขับไล่กองทัพอิสราเอลออกจากเลบานอนได้ในปี ค.ศ.2000  ในช่วงแรกของการก่อตั้งฮิซบุลลอฮ์เป็นเพียงขบวนการใต้ดิน จนกระทั่งในปี ค.ศ.1985  จึงมีการประกาศสถานภาพของกลุ่มอย่างเป็นทางการต่อสาธารณชน พรรคฮิซบุลลอฮ์เน้นนโยบายอิสลามที่สนับสนุนความปรองดองระหว่างชาวเลบานอน เคารพสิทธิเสรีภาพของทุกศาสนาและลัทธิ และต่อสู้การรุกรานของอิสราเอล ฮิชบุลลอฮ์จึงเป็นที่ยอมรับของชาวเลบานอน  ฮิชบุลลอฮ์ก่อตั้งโดยกลุ่มอุละมาอ์ในพรรคอัลอะมัล (Al-armal) ที่ได้แยกตัวออกมาตั้งพรรคการเมืองต่างหาก  พรรคอัลอะมัลเป็นพรรคการเมืองของมุสลิมชีอะฮ์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลซีเรีย  เมื่อพรรคฮิซบุลลอฮ์มีสมาชิกและฐานเสียงมากขึ้น ซีเรียก็ให้การสนับสนุนเทียบเท่ากับพรรคอัลอะมัล  เลขาธิการใหญ่คนปัจจุบันของพรรคฮิซบุลลอฮ์คือ ซัยยิด ฮะซัน นัศรุลลอฮ์ (Sayyid Hassan Nasrallah) ซึ่งในสายตาของรัฐบาลอเมริกันและอิสราเอลมองว่า กลุ่มฮิชบุลลอฮ์เป็นกลุ่มก่อการร้าย ไม่แตกต่างจากกลุ่มฮามาสของชาวปาเลสไตน์แต่อย่างใดแม้จะมีที่นั่งในสภาและเป็นพรรคร่วมรัฐบาลของประเทศเลบานอนอยู่ก็ตาม

ปลายเดือนกันยายน 2015 ภายใต้การร้องขอจากประธานาธิบดีอัสซาด รัฐบาลปูตินตัดสินใจตั้งฐานทัพในซีเรีย เปิดปฏิบัติการโจมตีผู้ก่อการร้ายทางอากาศ ให้อาวุธทันสมัยแก่กองทัพซีเรีย  (รัสเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคบาธในซีเรียมายาวนาน ผนวกกับความต้องการที่จะกลับเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคตะวันกลางอีกครั้งหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายลงในปีค.ศ.1991 ) ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของรัสเซียกลายเป็นจุดพลิกผันครั้งสำคัญ  ที่ทำให้กลุ่มกบฎและผู้ให้การสนับสนุนเสียหายอย่างหนัก ปฏิบัติการร่วมระหว่างกองทัพอัสซาดกับรัสเซียในช่วงที่ผ่านมาทำให้กองทัพรัฐบาลและฝ่ายที่สนับสนุนรุกคืบยึดพื้นที่สำคัญๆ กลับคืนได้หลายจุด  จนกระทั่งล่าสุดสามารถยึดเมืองอเลปโปซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดและถือเป็นที่มั่นสำคัญของฝ่ายกบฎลงได้  จนในที่สุดได้เกิดข้อตกลงระหว่างรัฐบาลซีเรียกับฝ่ายกบฎในการอพยพประชาชนและกลุ่มกบฎออกจากเมืองอเลปโปดังภาพข่าวที่นำเสนอตามสื่อต่างๆในเวลานี้

จะเห็นได้ว่าสงครามกลางเมืองในซีเรียมิได้มีเพียงแค่ฝ่ายรัฐบาลซีเรียที่ต่อสู้อยู่กับกลุ่มที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลในประเทศเท่านั้น ยังมีตัวแสดงอื่นๆ ภายนอกประเทศที่เข้าไปมีบทบาทโยงใยพัวพันกันซับซ้อนไปหมด  ข้างฝ่ายนึงมี สหรัฐอเมริกา ซาอุดิอาระเบีย อิสราเอล ตุรกี กาตาร์  อีกฝ่ายนึงมี รัสเซีย อิหร่าน กลุ่มฮิชบุลลอฮ์ในเลบานอน ที่ต่างก็ล้วนมีบทบาทอย่างสำคัญ  ยังมิต้องกล่าวถึงว่ามีกลุ่มขบวนการต่างๆที่มีฐานปฏิบัติการในภูมิภาคตะวันออกกลางดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ที่ล้วนแล้วแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อยอดผลประโยชน์ของกลุ่มตนจากสถานการณ์สงครามกลางเมืองในซีเรียทั้งสิ้น

ความยิ่งใหญ่ของเมืองอเลปโป ดามัสกัส และเมืองอื่นๆของประเทศซีเรียในอดีตได้ถูกลบเลือนออกไปจากความทรงจำ  ซีเรียในวันนี้จึงเหลือเพียงภาพจำที่มีแต่สงครามและความรุนแรง ไร้ร่องรอยความงดงามของสิ่งก่อสร้าง โบราณสถานและสิ่งล้ำค่าทางสถาปัตยกรรมที่มีอายุหลายร้อยหลายพันปี  สภาพบ้านเมืองที่มีแต่ซากปรักหักพังถูกทำลายไปเพราะพิษของสงครามกลางเมือง  (จะด้วยความหวังดีของชาติมหาอำนาจที่ต่างก็ต้องการเข้าไปให้ความช่วยเหลือต่อสถานการณ์การเมืองในซีเรีย ??) ทำให้ซีเรียในเวลานี้และต่อไปในวันข้างหน้าอาจจะประสบกับชะตากรรมไม่ต่างจากประเทศอัฟกานิสถานหลังสหรัฐอเมริกากับชาติพันธมิตรส่งทหารเข้าไปโค่นล้มระบอบตาลีบันและจัดตั้งรัฐบาลใหม่  , ประเทศลิเบียที่กลายเป็นรัฐล้มเหลวภายหลังเหตุการณ์อาหรับสปริงโค่นล้มผู้นำเผด็จการกัดดาฟี  หรือประเทศอิรักที่ในอนาคตอาจจะถูกแยกออกเป็นหลายส่วน หลังการโค่นล้มประธานาธิบดีซัดดัม ที่สหรัฐอเมริกากล่าวอ้างว่ามีขีปนาวุธอันตรายไว้ในครอบครอง(ปัจจุบันยังไม่พบ)  ที่หลงเหลืออยู่คือมรดกที่ถูกทิ้งไว้ภายหลังสงครามกลางเมืองของประเทศเหล่านี้คือ ความเป็นรัฐที่ไม่มีเสถียรภาพ , เป็นฐานปฏิบัติการของกลุ่มก่อการร้าย และซากปรักหักพังของบ้านเมือง !!!

จากปี 2011 ถึง ปี 2016  เป็นระยะเวลา 5 ปี แห่งความสูญเสียของประชาชนชาวซีเรีย  การต้องพลัดพรากจากครอบครัว  ต้องทิ้งบ้านเรือนกลายเป็นผู้อพยพ ต้องประสบกับชะตากรรมถูกเหยียดหยามจากชนชาติอื่นว่าสร้างปัญหาโดยเฉพาะกับชาติต่างๆในทวีปยุโรป  และยังไม่รู้อนาคตว่าจะไปเดินต่อไปในทิศทางใด  อำนาจและผลประโยชน์ของชาติมหาอำนาจที่ต้องจ่ายด้วยความสูญเสียอันมหาศาลของประชาชนในภูมิภาคตะวันออกกลางจะจบสิ้นลงเมื่อใด ??? (ในห้วงเวลาเดียวกันนี้เอง ยังมีสถานการณ์ความรุนแรงในเยเมนอันเนื่องมาจากการปฏิบัติการทางทหารของซาอุดิอาระเบีย ที่สื่อต่างๆและชาติมหาอำนาจตะวันตกไม่ค่อยจะกล่าวถึง (เสียงเรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชนในอเลปโปในขณะนี้ ดูจะกลบเสียงเรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชนในเยเมนเสียจนสนิท  เหมือนที่เสียงเรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชนของชาวปาเลสไตน์ดูจะไร้ค่า ถ้าเปรียบเทียบความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชีวิตของชาวตะวันตกที่สื่อหลักต่างช่วยกันประโคมข่าวอย่างต่อเนื่อง)  

จากอัฟกานิสถานถึงซีเรีย  ซีเรียจะเป็นประเทศสุดท้ายหรือไม่???  หรือยังจะมีประเทศใดอีกที่จะตกเป็นเหยื่อของความหวังดีที่แฝงไปด้วยผลประโยชน์ของชาติมหาอำนาจในอนาคต ???? …..