ภูมิภาคเอเชียใต้เป็นดินแดนที่ประกอบไปด้วยกลุ่มศาสนาต่างๆ จำนวนมาก โดยหากจะเจาะจงเป็นรายประเทศก็จะพบว่า อินเดียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางศาสนามากที่สุด แต่ถ้าถามคนทั่วไปว่าเวลานึกถึงอินเดีย แล้วจะนึกถึงศาสนาอะไร หลายคนคงจะตอบว่านึกถึงศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นศาสนาที่ประชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 นับถือ หรือสำหรับพุทธศาสนิกชนในไทย ก็มักจะนึกถึงศาสนาพุทธ ซึ่งแม้จะมีจำนวนไม่มากนักในอินเดียยุคปัจจุบัน แต่ก็ถือว่ายังถือว่ามีความเกี่ยวข้องกับอินเดียอยู่มากพอสมควร อย่างไรก็ดี จะมีใครทราบไหมว่า ศาสนาอิสลาม ซึ่งอาจจะไม่โดดเด่นในฐานะเป็นตัวแทนภาพลักษณ์ความเป็นอินเดียในสายตาคนทั่วไป แต่ด้วยจำนวนชาวมุสลิมในประเทศนี้ที่มีอยู่ถึงกว่าร้อยละ 13.4 ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณกว่า 160 ล้านคน และหากนับรวมทั้งภูมิภาคเอเชียใต้แล้ว ก็จะพบว่ามีจำนวนมากกว่าชาวมุสลิมในตะวันออกกลาง อันเป็นดินแดนกำเนิดศาสนาอิสลามเสียอีก (สถิติทำไว้เมื่อเดือนตุลาคมปี 2009 สำรวจโดย The Few Forum on Religion & Public Life) ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมองข้ามอิทธิพลของวัฒนธรรมอิสลามและบทบาทของชาวมุสลิมดินแดนชมพูทวีปอันเก่าแก่แห่งนี้
ศาสนาอิสลามเข้ามาในอินเดียจากสองเส้นทาง คือ ทางชายฝั่งด้านทิศตะวันตก ซึ่งติดต่อกับทะเลอาหรับ โดยจุดที่ตั้งแห่งแรกของศาสนาอิสลามก็คือชายฝั่งมาลาบาร์ (Malabar) ในรัฐเกราละ (Kerala) ทางตอนใต้ของอินเดียนั้นเอง โดยอาศัยเส้นทางนี้พ่อค้าชาวอาหรับมุสลิมได้นำศาสนาอิสลามเข้ามาตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 ซึ่งเป็นเวลาที่ท่านนบีมูฮัมหมัดยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่และเป็นเวลาช่วงต้นของการขยายอิทธิพลของศาสนาอิสลาม ในครั้งนี้เองชุมชนมุสลิมแห่งแรกของอินเดียก็ได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งเรียกกันว่า ชุมชนมัปปิลา (Mappila Muslim Community)โดยคนในชุมชนนี้เป็นเลือดผสมระหว่างชาวมุสลิมอาหรับกับชนพื้นเมืองที่ได้เข้ารีตเป็นอิสลาม อย่างไรก็ตาม ศาสนาอิสลามของชุมชนมัปปิลานี้จำกัดตัวอยู่ชายฝั่งมาลาบาร์ในบริเวณรัฐเกราลาเท่านั้น โดยทั้งนี้ก็เนื่องจากศาสนาอิสลามไม่ได้เป็นศาสนาที่ผู้ปกครองเจระนับถืออย่างเป็นทางการ ทำให้ผู้ปกครองไม่ได้สนใจที่จะเผยแพร่ศาสนาอิสลามเป็นพิเศษ อีกทั้งประชากรในชุมชนมัปปิลาส่วนใหญ่ก็เป็นพ่อค้าที่ไม่ได้มุ่งหมายจะขยายนิคมการค้าเข้าไปทางตอนในของชมพูทวีป หากแต่ต้องการเพียงตั้งสถานีการค้าที่มั่นคงบนชายฝั่งชมพูทวีปไว้สำหรับส่งสินค้าไปยังเมืองมท่าในคาบสมุทรอาระเบียเท่านั้น
เส้นทางที่สองที่นำศาสนาอิสลามเข้ามาในอินเดียก็คือ เส้นทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเต็มไปด้วยเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนและภูมิประเทศบางส่วน โดยเฉพาะทางใต้ ก็แห้งแล้งจนเป็นทะเลทราย ทำให้ยากแก่การเดินทางผ่านเป็นอย่างมาก เส้นทางนี้ประกอบด้วยสองช่องทางหลัก คือ ช่องเขาไคเบอร์ (Khyber Pass) ซึ่งเชื่อมพื้นที่หุบเขาสูงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอัฟกานิสถานเข้ากับที่ราบหุบเขาลุ่มแม่น้ำสินธุของปากีสถานและอินเดีย เคยเป็นเส้นทางที่อเล็กซานเดอร์มหาราชและชนเผ่าจากเอเชียกลาง ใช้ในการบุกชมพูทวีปในช่วงหลายทศวรรษก่อนหน้านั้น และอีกช่องทางก็คือ เส้นทางเลียบชายฝั่งมากรานทางตอนใต้ของปากีสถาน โดยในบรรดาสองช่องทางที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ศาสนาอิสลามจะเข้ามาจากเส้นทางหลังก่อน กล่าวคือ ในปี ค.ศ. 711 อัล ฮัจจาจ บิน ยูซูฟ (Al-Hajjaj bin Yusuf) ผู้ปกครองแคว้นบาสราของจักรวรรดิกาหลิบอุมัยยาด (Umayyad Caliphate) ได้สั่งการให้มูฮัมหมัด บิน กอซิม (Muhammad bin Qasim) ยกทัพมายึดครองแคว้นสินธ์ เพื่อที่จะควบคุมเส้นทางการค้าทางใต้ของเส้นทางสายไหม ซึ่งการเข้ายึดครองสินธ์นี้ช่วยทำให้ศาสนาอิสลามสามารถปักหลักได้อย่างมั่นคง อีกทั้งสามารถเผยแผ่ศาสนาได้อย่างสะดวกด้วย เนื่องจากได้มีการตั้งนำหลักการทางศาสนาอิสลามมาบริหารจัดการบ้านเมือง จึงทำให้ต้องนำเอาบุคคลากรที่มีความรู้ทางศาสตร์อิสลามเข้ามาจากตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่จักรวรรดิกาหลีบอุมัยยาดไม่ได้สนใจที่จะขยายอิทธิพลไปไกลเกินกว่าสินธ์และบางส่วนของปัญจาบในปากีสถาน จึงทำให้อิทธิพลของศาสนาอิสลามจำกัดอยู่แค่บริเวณดังกล่าว
จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าการกระจายตัวศาสนาอิสลามถูกจำกัดด้วยปัจจัยเรื่องขอบเขตอำนาจรัฐ โดยพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในการเผยแพร่ศาสนาอิสลามมากที่สุดก็คือพื้นที่ที่อยู่ในเขตอิทธิพลของผู้ปกครอง อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดดังกล่าวก็ถูกลบล้างไปสิ้น เมื่อเหล่าขุนศึกเติร์กและอัฟกันมุสลิมจากเอเชียกลางได้ลัดเลาะช่องเขาไคเบอร์เข้ามารุกรานอาณาจักรในอินเดียเหนือระลอกแล้วระลอกเล่าจนกระทั้งสามารถสถาปนารัฐสุลต่านแห่งเดลีในปี 1206 โดยมีสุลต่านพระองค์แรกนามว่า กุตบุดดิน ไอบัก (Qutbuddin Aibak) ซึ่งเป็นอดีตขุนศึกทาสชาวเติร์กของสุลต่านมูฮัมหมัดแห่งกอร์ (Muhammad of Ghor โดยที่กอร์เป็นดินแดนที่ตั้งอยู่ตอนกลางค่อนไปทางตะวันตกของอัฟกานิสถาน) หรือ มูอิสซุดดิน มูฮัมหมัด บิน ซาม (Mu’izzuddin Muhammad bin Sam) ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มในการสร้างอาณาจักรถาวรในอินเดีย ซึ่งแตกแตกจากขุนศึกเติร์กก่อนหน้านั้นที่เข้ามารุกรานเพียงเพื่อจะปล้นเอาความมั่งคั่งของอินเดียไปสร้างอาณาจักรของตนเองในเอเชียกลางเท่านั้น แม้รัฐสุลต่านเดลีจะเน้นคงฐานที่มั่นไว้ในภาคเหนือของอินเดียเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่สุลต่านองค์ต่อๆ มา ไม่ว่าจะเป็นสุลต่านแห่งราชวงศ์คาลจี (Khalji Dynasty) โดยเฉพาะอะลาอุดดิน (Alauddin)หรือราชวงศ์ตุกลัก (Tughlaq Dynasty) โดยเฉพาะมูฮัมหมัด ต่างก็มุ่งที่จะขยายอำนาจลงไปทางใต้ และเมื่อราชวงศ์โมกุลเข้ามามีอำนาจ ก็ได้ขยายอำนาจออกไปทั่วทุกสารทิศของอนุทวีปจนมีอาณาเขตเหนือสุดจดแคชเมียร์ ใต้สุดจดราบลุ่มแม่น้ำกาเวรีในรัฐทมิฬนาฑู ตะวันออกสุดจดบังคลาเทศ และตะวันตกสุดจดคาบูลในอัฟกานิสถาน การขยายอำนาจของกษัตริย์มุสลิมเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมสถาบันทางศาสนาอิสลามให้แพร่หลายไปตามส่วนต่างๆ ของอนุทวีปรวมถึงได้เข้าไปเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมโดยรวมของภูมิภาคนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม การเข้ามาปกครองอนุทวีปอันกว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นมุสลิมและมีความหลากหลายเป็นอย่างมาก นั้น ทำให้ผู้ปกครองมุสลิมเหล่านี้ตระหนักถึงความเป็นจริงว่าไม่สามารถปกครองแผ่นดินนี้ตามหลักศาสนาอิสลามแบบเคร่งครัดได้เลย เพราะถ้าหากทำเช่นนั้นแล้วย่อมจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี โดยอาจจะทำให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านและดื้อแพ่งไม่ยอมจ่ายภาษีอาการ ซึ่งทำให้การปกครองดินแดนแห่งนี้ยากลำบากมากยิ่งขึ้นหลายเท่าตัว นอกจากนี้ อำนาจจากส่วนกลางของผู้ปกครองมุสลิมเหล่านี้ยังจำกัดอยู่เฉพาะศูนย์กลางของแต่ละเขตปกครองเท่านั้น ทำให้ส่วนกลางขาดความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับท้องถิ่น รวมถึงไม่สามารถจะควบคุมคนในท้องถิ่นได้ดีเท่ากับมูลนายท้องถิ่นด้วย ปัจจัยที่กล่าวมานี้ทำให้บรรดาผู้ปกครองเหล่านี้มุ่งโค่นล้มเฉพาะผู้นำระดับบนสุดเท่านั้น และก็ปล่อยให้พวกมูลนายท้องถิ่นปกครองกันต่อไป แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามควบคุมพวกนี้โดยผ่านการอุปถัมภ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ก็คือ การที่กษัตริย์มุสลิมรับเอาพวกมูลนายเหล่านี้เข้ามารับราชการในระบบทั้งในฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร นอกจากนี้แล้ว ผู้ปกครองมุสลิมยังไม่เข้าไปเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตรวมถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมของประชาชนทั่วไปอีกด้วย ดังจะเห็นจากการที่ประชาชนที่ไม่ใช่มุสลิมยังสามารถนับถือศาสนาเดิมของตนได้ตามปกติ และยังมีสถานะเป็นบุคคลผู้ได้รับการคุ้มครองจากรัฐมุสลิม (Dhimmi) อีกด้วย หากแต่ต้องจ่ายภาษีศาสนา (Jizya) ซึ่งก็ไม่ได้เรียกเก็บอย่างทั่วถึงนัก โดยมักเจาะจงเฉพาะในเขตตัวเมืองที่เป็นศูนย์กลางการปกครองของภูมิภาคต่างๆ อีกทั้งในบางราชวงศ์ เช่น ราชวงศ์โมกุลในรัชสมัยจักรพรรดิอักบาร์เป็นต้นไป ก็ไม่ได้มีการเรียกเก็บภาษีชนิดเลยเสียด้วยซ้ำ
ในบรรยากาศการขยายอำนาจทางการเมืองของรัฐมุสลิมเหล่านี้ อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจว่าสุลต่านเป็นผู้มีบาทสำคัญในการเผยแผ่ศาสนาอิสลามหรือศาสนาอิสลามเผยแพร่ออกไปโดยใช้ความรุนแรงหรือการบังคับขู่เข็ญ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่มีบทบาทสำคัญจริงๆในการเผยแพร่ศาสนาอิสลามในหมู่ประชาชนพื้นเมืองของอินเดียกลับเป็นพวกนักบุญซูฟีสำนักต่างๆ โดยเฉพาะสำนักชิสตี (Chisti Silsila) สำนักสุหระวาร์ดี (Suhrawardi Silsila) และสำนักนากช์บันดี (Naqshbandi Silsila) ที่เริ่มทยอยหลั่งไหลจากเอเชียตะวันตกและเอเชียกลางเข้ามาในอินเดียตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่เหล่าขุนศึกเติร์กได้เข้ามารุกรานชมพูทวีปแล้ว โดยการมาของนักบุญเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากความประสงค์ของขุนศึกเติร์กหรือผู้ปกครองมุสลิมแต่อย่างใด สาเหตุที่นักบุญซูฟีประสบความสำเร็จในการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม ก็เนื่องมาจากมีความคิดทางปรัชญา – ศาสนา รวมถึงวิถีการปฏิบัติ ที่สามารถเข้ากันได้ดีกับลัทธิภักติของศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นกระแสทางปรัชญา – ศาสนา ที่กำลังมีอิทธิพลในอินเดียขณะนั้น กล่าวคือ คำสอนเรื่องวะห์ดัต อัล วุจูด (Wahdat al – Wujud – เอกภาพแห่งสรรพสิ่ง) ในปรัชญาซูฟี กล่าวว่าพระเจ้าเท่านั้นที่เป็นความจริงสูงสุด สิ่งอื่นนอกจากนี้ไม่มีอยู่จริง หากแต่อิงอาศัยอยู่ในพระเป็นเจ้า เท่านั้น ดังนั้นจากหลักการนี้มนุษย์ทุกคน ซึ่งเป็นสิ่งที่พระเป็นเจ้าสร้างขึ้น จึงไม่ได้แตกต่างจากพระเป็นเจ้าเลยหากแต่เป็นส่วนหนึ่งของพระองค์นั่นเอง และมนุษย์ต้องมีความรักและอุทิศตนแก่พระองค์แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น จึงจะสามารถสลายอัตตาของตนเองเพื่อเข้าไปหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้สอดคล้องกับหลักการของลัทธิภักติที่เน้นความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างพรหมัณกับปรมาตมันโดยใช้ความรักและการอุทิศตัวแก่พระเจ้าในการบรรลุถึงความเป็นเอกภาพดังกล่าว มากกว่าจะใช้ปัญญาหรือพิธีกรรมตามแบบพระเวทที่เคยปฏิบัติมา
นอกจากนี้แล้ว พวกนักบุญซูฟียังมีวัตรปฏิบัติเหมือนกับฤษีของอินเดีย คือ ชอบบำเพ็ญจิตด้วยการเข้าฌาน ยังชีพด้วยการภิกขาจาร ใช้ชีวิตแบบสันโดษ สละโลก และว่ากันว่า สามารถสำแดงฤทธิ์ได้เหมือนโยคีอินเดียอีกด้วย แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ปรัชญาวะห์ดัต อัล วุจูด ทำให้นักบุญซูฟีมองคนทุกศาสนาและทุกชนชั้นเท่าเทียมกัน ในขณะเดียวกันก็ยังทำให้นักบุญเหล่านี้มองศาสนาอื่นว่ามีแก่นแท้เหมือนกับศาสนาอิสลามอีกด้วย กล่าวคือมีพระเจ้าองค์เดียวกันนั่นเอง และมุมมองเช่นนี้ก็ทำให้เหล่านักพรตซูฟีเลือกที่จะใช้ภาษาถิ่นในการเผยแผ่คำสอนอิสลามมากกว่าที่จะใช้ภาษาอาหรับ – เปอร์เซียดังที่ปราชญ์อิสลามหรือคนในราชสำนักใช้กัน ซึ่งจากที่กล่าวก็จะเห็นได้ว่าลักษณะดังกล่าวของลัทธิซูฟีทำให้ศาสนาอิสลามสามารถถึงผู้คนในชนชั้นล่างๆที่ไม่รู้หนังสือจำนวนมากได้ และยังทำให้ศาสนาอิสลามกลมกลืนกับสภาพสังคมของอินเดียได้
เมื่อศาสนาอิสลามได้แพร่ไปสู่มวลชนอันหลากหลายของชมพูทวีปแล้ว ก็เกิดการปรับตัวเข้ากับกระแสวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลอยู่ในยุคและท้องถิ่นนั้นๆ โดยสามารถเห็นได้ในหลายๆ สาขาด้วยกัน ซึ่งที่สำคัญได้แก่ ด้านปรัชญา – ศาสนา ซึ่งศาสนาอิสลามได้รับเอาหลักปฏิบัติและประเพณีของศาสนาฮินดูท้องถิ่น จนทำให้เกิดลัทธิผสมแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ลัทธิซูฟีนิกายฤษี (Rishi Sufi Order) ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในแคชเมียร์ เรียกท่านนบีมูฮัมหมัดว่า มหามุนี (Mahamuni)และเรียกองค์อัลเลาะห์ว่า ภัควัน (Bhagvan) ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกพระเป็นเจ้าหรือศาสดาในศาสนาฮินดู พุทธ และเชน อีกทั้งยังห้ามนักบวชในนิกายแต่งงานและฉันเนื้อสัตว์
ลัทธิผสมนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มนักบวชซูฟีเท่านั้นหากแต่เกิดขึ้นทั้งในหมู่ชนชั้นนำและสามัญชน โดยกลุ่มชนชั้นแรกจะประกอบไปด้วยชนชั้นปกครอง พ่อค้าหรือคหบดีผู้มั่งคั่ง นักปราชญ์ ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ จักรพรรดิอักบาร์ (Akbar – ค.ศ. 1542 – ค.ศ. 1605) แห่งราชวงศ์โมกุล (Mughal Dynasty) ซึ่งไม่ทรงเสวยเนื้อเสวยเนื้อสัตว์และไม่เสพเมถุน และมองว่าศาสนาอื่นมีความเท่าเทียมกับศาสนาอิสลาม ในส่วนของกลุ่มสามัญชนนั้น ก็จะพบว่า ประชาชนมุสลิมจำนวนมากในทุกภูมิภาคของอินเดียนิยมเข้าไปเคารพสักการะหลุมศพของนักบุญภักติของฮินดู ใช้วิหารร่วมกับศาสนิกของศาสนาอื่น นำพิธีกรรมของศาสนาอื่นมาใช้พิธีกรรมของศาสนาอิสลาม และเข้าร่วมงานเทศกาลหรือพิธีกรรมของศาสนาอื่น โดยตัวอย่างนั้นมีให้เห็นอยู่มากมาย เช่น พวกโคจา (Khoja) ซึ่งเป็นกลุ่มพ่อค้ามุสลิมที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐคุชราต ปัญจาบ และรัฐมหาราษฎร์ โดยเฉพาะในมุมไบ มองว่าท่านบีมูฮัมหมัดคือพระศิวะ ท่านอะลีคือพระวิษณุ อีกทั้งยอมรับทศาวตารของพระวิษณุว่าเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาอิสลาม โดยเชื่อว่าอวตารปางที่สิบจะมีขึ้นที่อาระเบีย นอกจากนี้แล้วยังมองว่าคัมภีร์อัลกุรอ่านก็คืออาถรรพเวทของฮินดู (Atharva Veda)
ในด้านสังคม มุสลิมในอินเดียก็ยอมรับระบบสังคมที่มีอยู่ก่อนนั้น โดยตัวอย่างที่แพร่หลายที่สุดก็คือ การแบ่งวรรณะในหมู่ชาวมุสลิมในอินเดีย กล่าวคือ มุสลิมกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า อัชรอฟ (Ashraf) ซึ่งอ้างว่าสืบเชื้อสายมาจากมุสลิมเปอร์เซียและอาหรับ จะมองว่าตนเองเหนือกว่าและไม่ยอมแต่งงาน รวมทั้งไม่ยอมรับประทานอาหารร่วมกับมุสลิมกลุ่มที่ตนเองเรียกว่า อัจลอฟ (Ajlaf) ซึ่งถูกมองว่าไม่ใช่มุสลิมแท้เนื่องจากมีบรรพบุรุษนับถือศาสนาฮินดู ในขณะเดียวกัน ในหมู่พวกอัจลอฟเองก็ยังแบ่งออกเป็นกลุ่มอาชีพย่อยๆ อีกนับไม่ถ้วน ซึ่งก็ไม่อนุญาตให้มีการแต่งงานข้ามกันเหมือนกัน ยิ่งไปกว่านั้นก็ยังมีมุสลิมจัณฑาล ซึ่งเรียกว่า อาร์ซาล (Arzal) อีกด้วย โดยพวกนี้จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประกอบพิธีกรรมในสุเหร่า หรือรับประทานอาหารร่วมกับมุสลิมสองกลุ่มข้างต้นด้วย
ด้วยเหตุที่ลัทธิซูฟีนิยมการใช้ภาษาถิ่นในการเผยแพร่คำสอนของศาสนาอิสลาม ทำให้งานเขียนทางด้านศาสนาอิสลามในอินเดียนิยมเขียนเป็นภาษาอินเดียทั้งที่เป็นภาษาถิ่นและภาษาปราชญ์อย่างภาษาสันสกฤต และในขณะเดียวกันเอกสารราชการของรัฐมุสลิมก็นิยมทำสำเนาเป็นภาษาท้องถิ่นจำนวนมากด้วย นอกจากนี้ประชาชนมุสลิมก็นิยมใช้ภาษาถิ่นในการสื่อสารมากกว่าจะใช้ภาษาเปอร์เซียหรืออาหรับ ซึ่งกลายเป็นภาษาของชนชั้นนำแล้ว
สำหรับในด้านงานศิลปกรรมนั้นจะเห็นว่าศิลปวัตถุต่างๆของศาสนาอิสลามซึมซับรูปแบบท้องถิ่นอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว เช่น มัสยิดเจระมาน จุมา ที่สร้างโดยยึดรูปแบบวิหารฮินดูของอินเดียใต้ กล่าวคือมีหลังคาลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ คล้ายรูปทรงพีระมิด และตรงทางเข้าสุเหร่าก็จะมีเฉลียงซึ่งจะมียอดทรงพีระมิด หรืออีกตัวอย่างหนึ่งก็คือมัสยิดชาห์ ฮัมดาน (Shah Hamdan Masjid)และมัสยิดจามา (Jami Masjid) ในเมืองศรีนคร (Srinagar) ของแคชเมียร์ ที่มียอดแหลมเหมือนเจดีย์และใช้เสาไม้รองรับ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการรับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมพุทธแบบธิเบตและฮินดูตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวเข้ากับสภาพท้องถิ่นของอินเดียนี้ แม้จะพบเห็นได้ทั่วทุกภูมิภาคของอินเดีย แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับชาวมุสลิมทุกกลุ่ม กล่าวคือ กลุ่มนักการศาสนาอิสลามมักจะไม่ค่อยยอมให้วัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ามาปะปนกับวิถีความเชื่อและการปฏิบัติตามหลักอิสลามในขณะที่กลุ่มชาวมุสลิมทั่วไป โดยเฉพาะชนชั้นล่าง ซึ่งไม่ได้เน้นเรื่องอัตลักษณ์ความแตกต่างทางศาสนามากนัก ก็จะยอมรับวัฒนธรรมท้องถิ่นมากกว่า
ในขณะที่วัฒนธรรมอิสลามปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นของอินเดีย วัฒนธรรมท้องถิ่นเองก็ได้รับอิทธิพลจากอิสลามไม่แพ้กัน กล่าวคือ เมื่อมีรัฐมุสลิมเกิดขึ้นในอินเดีย ก็ทำให้อินเดียถูกผนวกเข้าไปในเครือข่ายของโลกมุสลิม ส่งผลให้วัฒนธรรมอิสลามและวิทยาการที่เกิดขึ้นในโลกมุสลิม แพร่เข้ามาในดินแดนนี้ด้วย ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นในหลายด้านด้วยกัน เช่น ในด้านปรัชญาและศาสนานั้น คำศัพท์ทางศาสนาอิสลามก็เป็นที่ยอมรับของเหล่านักบุญภักติของฮินดู ดังจะเห็นจากการที่ท่านตุการาม (Tukaram) นักบุญภักติแห่งรัฐมหาราษฎร์ เรียกพระเป็นเจ้าว่า อัลเลาะห์ นอกจากนี้ ในเรื่องของการบูชานั้น ชาวฮินดูทั้งสามัญชนและชนชั้นนำต่างก็นิยมไปเคารพสักการะสุสานของนักบุญซูฟีในที่ต่าง เช่น สุสานชีราก อิ เดลี (Chirag – i – Delhi Dargah) ซึ่งเป็นที่ฝังศพของนักบุญซูฟีนามว่าฮัสรัต นาซีรุดดิน มะหมูด ชีราก เดหลาวี (Hazrat Nasiruddin Mahmud Chirag Dehlavi) จะมีทั้งศาสนิกชนฮินดูและมุสลิมเข้ามาสักการบูชาอย่างไม่ขาดสาย
อิทธิพลของวัฒนธรรมอิสลามในอินเดียนั้นยังสามารถพบได้ในศิลปกรรมแขนงต่างๆของอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษาและวรรณกรรม ซึ่งในช่วงที่กษัตริย์มุสลิมปกครองภูมิภาคต่างๆของอินเดียนี้ ภาษาอาหรับและโดยเฉพาะภาษาเปอร์เซีย ซึ่งเป็นภาษาราชการของรัฐมุสลิมและแม้แต่ในราชสำนักฮินดูราชปุต ได้เข้ามาอิทธิพลกับภาษาท้องถิ่นต่างๆ ของอินเดีย ดังจะเห็นได้จากการยืมคำภาษาเปอร์เซียมาใช้ในภาษาถิ่นจำนวนมาก โดยเฉพาะศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับด้านการบริหารราชการและด้านเศรษฐกิจ และผลผลิตที่ชัดเจนที่สุดของการพบกันระหว่างภาษาสองกลุ่มนี้ก็คือ ภาษาอูรดู (Urdu) ซึ่งเกิดจากการผสมกันระหว่างภาษาเปอร์เซียและภาษาท้องถิ่นของอินเดียเหนือ และภาษาดัขนี (Dakhni, Dakkhani, Deccani) ซึ่งเกิดจากการผสมกันระหว่างภาษาเปอร์เซียกับภาษาถิ่นของอินเดียใต้ โดยทั้งสองภาษานี้ได้เป็นกลายเป็นเครื่องมือสร้างสรรค์วรรณกรรมด้านต่างๆจำนวนมากให้กับภูมิภาคเอเชียใต้ นอกจากนี้แล้ว ยังพบว่างานวรรณกรรมภาษาเปอร์เซียที่เขียนขึ้นในอินเดียนั้นมีมากกว่าที่มีอยู่ในอิหร่านในช่วงเวลาเดียวกันเสียอีก
วัฒนธรรมอิสลามได้นำเอารูปแบบทางสถาปัตยกรรมหลายอย่างทั้งจากตะวันออกกลางเอง ยุโรป อิหร่าน และเอเชียกลาง มาสู่อินเดีย เช่น ซุ้มประตูโค้ง หลังคารูปโดม หออะซาน (Minaret) เพดานโค้งแบบครึ่งทรงกลม และอาคารที่เน้นความกว้างของพื้นที่ภายในและความโอ่อ่าของรูปลักษณ์ภายนอก งานโมเสก การจัดส่วนหย่อม โดยเฉพาะแบบชะฮาร์บาค (Chaharbagh) ของราชวงศ์โมกุลที่เน้นการแบ่งพื้นที่สวนออกเป็นสี่ส่วนเท่าๆกัน การจัดลานภายในบริเวณบ้านหรือเซฮาน (Sehan) การประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ ลวดลายดอกไม้หรืออะราเบสก์ (Arabesque) และลวดลายเรขาคณิต โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ประสาทของเหล่ามหาราชาในรัฐราชสถานและโบสถ์ฮินดูที่สร้างในสมัยปัจจุบัน นอกจากนี้แล้ว วัฒนธรรมอิสลามยังช่วยทำให้จุลจิตรกรรม (Miniature) ซึ่งมีต้นกำเนิดในอิหร่าน เป็นที่แพร่หลายในอินเดียอย่างมากทั้งในหมู่ศิลปินมุสลิมและฮินดู โดยสกุลช่างที่มีชื่อเสียงที่สุดของอินเดียก็คือสกุลโมกุลและสกุลราชสถาน
นอกจากนี้แล้ว อาหารอินเดียยอดนิยมหลายอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นผลของการเข้ามาของศาสนาอิสลามในอินเดียเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นบีร์ยานี (Biryani – ไทยเราเรียกกันว่าข้าวหมก) ปุลาว (Pulao – ข้าวหุงด้วยน้ำแกงและเครื่องเทศ) คอร์มา (korma – แกงกะหรี่ที่น้ำแกงทำจากโยเกิร์ต ใส่เครื่องเทศ และโรยหน้าด้วยครีม) หรือชุดอาหารมุกไล (Mughlai – ประกอบด้วยอาหารจำพวกข้าวหมก เนื้อย่าง (Kabab – กะบาบ) คอร์มา และขนมหวาน) โดยอาหารชนิดนี้จะมาจากครัวราชสำนักโมกุล ยิ่งไปกว่านั้น วัฒนธรรมอิสลามยังนำวิธีการประกอบอาหารที่เรียกว่า ดุมปุคต์ มาสู่อินเดียด้วย โดยวิธีดังกล่าวจะเป็นการเอาเนื้อไปอบในหม้อตั้งไฟและปิดปากหม้อด้วยแผ่นแป้งและวางก้อนเส้าไว้บนแผนแป้งดังกล่าวอีกที
จากที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นแค่เพียงบางส่วนของคุณูปการอันมหาศาลที่วัฒนธรรมอิสลามนำมาสู่อินเดียเท่านั้น และประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าวัฒนธรรมอิสลามนั้นไม่ได้เป็นสิ่งแปลกแยกหรือเป็นวัฒนธรรมส่วนน้อยที่ไม่มีบทบาท ในอารยธรรมอินเดียแต่อย่างใด หากแต่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างมากของวัฒนธรรมอินเดียที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้นั่นเอง
————–
เขียนโดย : ปวินท์ มินทอง / กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา
ที่มา http://sameaf.mfa.go.th/th/muslim_world/detail.php?ID=2253
อ้างอิง
หนังสือ
Asher, Catherine B. and Cynthia Talbot. India Before Europe. New York : Cambridge University Press, 2006.
Chandra, Satish. A History of Medieval India. New Delhi : Orient Longman, 2007.
Eaton, Richard M. (ed.) India’s Islamic Tradition, 711 – 1750. New Delhi : Oxford University Press, 2003.
Habib, Irfan. Medieval India : The Study of a Civilization. New Delhi: National Book Trust, 2008.
Pew Forum on Religion & Public Life. Mapping Global Muslim Population: A Report on the Size and Distribution of World’s Muslim Population. Washington D.C: Pew Research Center, 2009.
Roy Burman, J.J. “Hindu – Muslim Syncretism in India.” Economic and Political Weekly, 31.20 (1996): 1211 – 15
เว็บไซต์
http://en.wikipedia.org/wiki/Islam_in_India
http://www.indianetzone.com
http://adaniel.tripod.com/Islam.htm
http://ccrtindia.gov.in/indoislamicarchitecture.html
ภาพ
www.google.co.in