เหตุผล “แท้จริง” ของความขัดแย้ง “ซาอุ-กาตาร์”

ซาอุดิอาระเบียและชาติอาหรับพันธมิตร ประกาศยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศกาตาร์ โดยที่กาตาร์ถูกกล่าวหาว่า ให้การสนับสนุน “กลุ่มก่อการร้าย” ทั้ง กลุ่ม“ไอซิส”  และขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามระหว่างประเทศอย่าง “ภราดรภาพมุสลิม” (Muslim Brotherhood) รวมทั้ง “ฮามาส” ขบวนการต่อสู้ของปาเลสไตน์

วิกฤติปัจจุบันไม่ใช่ครั้งแรกในความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างฝ่ายหนึ่งที่นำโดยซาอุดีอาระเบียและชาติพันธมิตร กับ “กาตาร์”  อีกฝ่ายหนึ่ง

ในเดือนมีนาคม ปี 2014 ซาอุฯ และชาติพันธมิตรอาหรับเคยเรียกทูตกลับออกจากกาตาร์ เอกอัครราชทูตเหล่านั้นกลับมายังกาตาร์อีกครั้งใน 8 เดือนถัดมา หลังจากกาตาร์ดำเนินการให้สมาชิกภราดรภาพมุสลิมบางส่วนเดินทางออกจากประเทศ และส่วนที่เหลือให้อยู่อย่างเงียบๆ และหยุดการเคลื่อนไหว

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งในปี 2014 ก็ถือว่ารุนแรงน้อยกว่าที่เกิดขึ้นในตอนนี้ เนื่องจากไม่มีการปิดล้อมทางบกและทางอากาศ หรือการขับไล่ชาวกาตาร์ให้ออกจากดินแดนคู่ขัดแย้ง

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีกองกำลังติดอาวุธหลายฝ่ายกระจัดกระจายอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง และการที่สหรัฐฯ ถือหางซาอุฯ และอิสราเอลอย่างชัดเจน สำหรับกาตาร์แล้วความขัดแย้งครั้งนี้อาจส่งผล “ร้ายแรง” ได้

ชนวนความขัดแย้ง

วิกฤติปัจจุบันเป็นความสืบเนื่องของ “สงครามคำพูด” ที่เกิดขึ้นโดยทันที ระหว่างซาอุดิอาระเบียและพันธมิตรอาหรับฝ่ายหนึ่ง กับ “กาตาร์” อีกฝ่ายหนึ่ง หลังการมาเยือนกรุงริยาดของ “นายโดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในระหว่างวันที่ 20-21 พฤษภาคม พ.ศ.2560

เพียงไม่นานหลังกลับจากเมืองหลวงของซาอุฯ ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด ผู้นำอาหรับและชาติมุสลิมกับทรัมป์ ประมุขของกาตาร์ “เชค ตามีม บิน ฮามัด บินคอลีฟาห์ อาลิซานี” ได้กล่าวกับผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนทหาร โดยเขาวิพากษ์วิจารณ์จุดยืนของสหรัฐฯ และคัดค้านการโดดเดี่ยวอิหร่าน พร้อมประกาศว่า โดนัลด์ ทรัมป์อาจจะหลุดจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในเร็วๆ นี้อันเนื่องจากปัญหาภายในที่เขากำลังถูกสอบสวน ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลสมควรที่จะไปเดิมพันข้างเขา

ถ้อยคำที่เปล่งออกมาจากประมุขกาตาร์บ่งชี้อย่างมีนัยสำคัญถึงความขัดแย้งระหว่างกาตาร์และสหรัฐฯ และทั้งสะท้อนให้เห็นว่า “มีภัยคุกคาม” จากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งพาดพิงไปยังซาอุฯ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ต่อมาหลังจากสื่อทางการของกาตาร์เผยแพร่ข้อมูลนี้ออกไป ก็ได้รับการตอบสนองอย่างแข็งกร้าวจากประเทศอ่าวเปอร์เซียและอียิปต์  โดยที่ซาอุดิอาระเบีย ยูเออี อียิปต์ และบาห์เรน ได้สั่งระงับการเข้าถึงหน้าเว็บไซต์ของสื่อกาตาร์หลายสำนัก ในจำนวนนี้รวมถึงสถานีโทรทัศน์อัลจาซีรา จากนั้นสื่อในการควบคุมของรัฐบาลซาอุฯ และยูเออีก็ได้เปิดฉากทำสงครามข้อมูลกับประมุขกาตาร์

ทางการกาตาร์ได้ออกมาปฏิเสธความถูกต้องของรายงานที่เผยแพร่โดยสื่อของตน โดยระบุว่าเป็นการโจมตีของแฮ็กเกอร์ต่อสำนักข่าวของรัฐและปลอมแปลงคำพูดของประมุข แต่ริยาดและพันธมิตรยังคงทำสงครามข้อมูลต่อโดฮา โดยอ้างว่าคำชี้แจ้งของทางการกาตาร์ขัดแย้งกับข้อเท็จจริง  สะท้อนถึงการรับไม่ได้ต่อจุดยืนของกาตาร์ในหลายประเด็น

เหตุผลแห่งการวิวาท

ประเด็นสำคัญประการหนึ่งในความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอยระหว่างกาตาร์กับชาติอื่นๆ ในอ่าวเปอร์เซีย ก็คือ การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ “กลุ่มภราดรภาพมุสลิม”

ในปี 2014 ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เคยเรียกเอกอัครราชทูตของตนกลับจากกาตาร์ ซึ่งเป็นการประท้วงต่อต้านการสนับสนุนของโดฮาต่อขบวนการนี้ กรณีนี้ยังอธิบายถึงสถานะการต่อต้านกาตาร์ของอียิปต์ด้วยเช่นกัน เพราะรัฐบาลปัจจุบันของ “พลเอกอับดุลฟัตตาห์ อัล-ซีซี” ได้เข้ามามีอำนาจก็ด้วยการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ “นายโมฮัมเหม็ด มูร์ซี” ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่ลงรอยกัน ก็คือ “ความแตกต่างด้านทัศนคติต่ออิหร่าน”

กาตาร์นับตั้งแต่ปี 2015 แม้จะมีการเผชิญหน้ากับอิหร่านในซีเรียและเยเมน แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการโดดเดี่ยวอิหร่านตามความต้องการสหรัฐฯ ที่ซาอุและชาติอ่าวเปอร์เซียบางส่วนขานรับ นั่นเป็นเหตุผลมาจากกาตาร์-อิหร่านมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน ทั้งสองชาติต่างใช้ก๊าซธรรมชาติแหล่งเดียวกันในอ่าวเปอร์เซีย

วันที่มีการประชุมสุดยอดในกรุงริยาดที่อิหร่านถูกขนานนามว่าเป็นศัตรูหลักของมนุษยชาติและเป็นรัฐสนุบสนุนก่อการร้ายนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศของกาตาร์ได้พูดสนับสนุนต่อการร่วมมือกับประเทศนี้ ซึ่งเท่ากับไม่เห็นด้วยอย่างเปิดเผย ที่ไม่ใช่แค่อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับซาอุฯ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผ่ายบริหารของทรัมป์ด้วย

การเปลี่ยนแปลงในสมดุลแห่งผลประโยชน์

โดยทั่วไป ความแตกต่างระหว่างกาตาร์และซาอุดิอาระเบียสะท้อนถึง “การต่อสู้และแข่งขัน” ของกษัตริย์เหล่านี้ในการแผ่อิทธิพลในตะวันออกกลาง

ประเทศเหล่านี้อาจกำลังร่วมมือกันในกรณีเยเมนและซีเรีย แต่พวกเขาก็เผชิญหน้ากันในอียิปต์ ซึ่งแต่ละฝ่ายสนับสนุนคนละขั้วที่เป็นปฏิปักษ์กัน และในลิเบียก็เช่นกัน โดฮาสนับสนุนกลุ่มอิสลามิสต์แห่งตริโปลีขณะที่ริยาดสนับสนุนนายพลฮัฟตาร์

ในเวลาเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อกาตาร์จนนำมาสู่การตัดสัมพันธ์นั้น กาตาร์ก็ยังไม่เคยเปลี่ยนนโยบายอย่างมีนัยสำคัญอะไร ดังนั้นจึงบ่งชี้ได้ว่ามีการไม่ลงรอยมาระยะหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่ถึงการลดระดับขอบเขตที่ประเทศนี้และซาอุดีอาระเบียเคยร่วมมือกัน

ขณะเดียวกัน ในเยเมนวันนี้ การต่อต้านกบฏฮูซีของพวกเขานั้นกลายเป็นหายนะ เดิมพันสงครามในวันนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของชัยชนะอีกต่อไป แต่อยู่ที่จะถอนตัวออกจากสงครามอย่างไรมากกว่า

ส่วนในซีเรียนั้น โดยพฤตินัยทั้งสองชาติถูกกันออกกลายเป็นผู้เล่นที่ปราศจากอิทธิพลในการแบ่งแยกดินแดนประเทศนี้ อำนาจที่แท้จริงที่จะตัดสินชะตากรรมทางภาคเหนือซีเรียด้านหนึ่งอยู่ในมือของสามชาติ รัสเซีย อิหร่าน และตุรกี  กับอีกด้านหนึ่งคือชาวเคิร์ดที่โปรอเมริกันและโปรอิสราเอลในพื้นที่นี้ ส่วนทางภาคใต้ กลุ่มโปรซาอุดีอาระเบียและโปรกาตาร์นั้นพบว่าเป็นการยากที่จะแสดงให้เห็นถึงบทบาทที่ชัดเจนในภาวะแวดล้อมที่มีอยู่ของสหรัฐฯ อังกฤษ จอร์แดน และอิหร่าน

ปัจจัยเหล่านี้จึงเปิดโอกาสในการเป็นพันธมิตรชั่วคราวระหว่างโดฮาและเตหะรานในการต่อต้านริยาด ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สำหรับกาตาร์ที่จะแอบสนับสนุนอิหร่านเพื่อต่อต้านคู่แข่งอย่างซาอุดีอาระเบีย

นอกจากนั้น ชาวมุสลิมชีอะห์ที่มีจำนวนมากและถูกนับเป็นปัญหาร้ายแรงสำหรับประเทศบาห์เรนและซาอุดีอาระเบีย แต่ไม่ใช่สำหรับกาตาร์ซึ่งเกือบจะไม่มีมุสลิมชีอะห์เลย ดังนั้นหากอิหร่านจะใช้ปัจจัยของชาวชีอะห์ในการต่อสู้กับซาอุดีอาระเบียและประเทศบริวารอย่างบาห์เรน จึงไม่เป็นอันตรายใดๆ ต่อกาตาร์เลย

การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของสหรัฐฯ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบอ่าวอาหรับและกาตาร์สะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่าง 2 กระบวนทัศน์ของนโยบายสหรัฐฯ เกี่ยวกับตะวันออกกลาง

กาตาร์เป็น “กระบวนทัศน์เก่า” ของ บารัก โอบามา และ ฮิลลารี คลินตัน ขณะที่ซาอุดิอาระเบีย คือกระบวนทัศน์ใหม่อันเป็นอิทธิพลของ “อนุรักษนิยมใหม่” (neocons) อย่างเห็นได้ชัด

กาตาร์และกลุ่มภราดรภาพมุสลิม คือกลุ่มที่สหรัฐฯ เลือกที่จะสนับสนุนในช่วง “อาหรับสปริง” (เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการระบายความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และอิสราเอลให้เย็นลง – กาตาร์เป็นผู้สนับสนุนหลักของฮามาส)

นอกจากนั้นทิศทางการสร้างสายสัมพันธ์กับอิหร่าน (ค่อนไปทางฝ่ายปฏิรูปอิหร่าน) ของสหรัฐฯ ในยุคโอบามาค่อนข้างสอดคล้องกับตรรกะของอิหร่าน

ทว่าการเยือนซาอุดีอาระเบียและอิสราเอลของโดนัล ทรัมป์ ยืนยันต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งสุดท้ายของกระบวนทัศน์นี้

ตอนนี้สหรัฐอเมริกากำลังวางเงินเดิมพันกับอิสราเอลและซาอุดีอาระเบีย ซึ่งก็จะไม่มีที่ให้กาตาร์ รวมทั้งกองกำลังปฏิวัติของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมอีกต่อไป

ซึ่งนี่เป็นสิ่งสำคัญที่บ่งบอกว่า ราชสำนักกาตาร์ไม่มีเครดิตอะไรอีกแล้วสำหรับสหรัฐฯ ในยุค “โดนัล ทรัมป์” อีกยังจะถูกลงโทษอย่างหนัก ในฐานะประเทศในสังกัดเสรีนิยมอเมริกันจากค่ายโอบามาและฮิลลารี

 

อ้างอิง

  • https://www.geopolitica.ru/en