คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย เดินหน้าตามแผนการดำเนินงานฮัจย์ปี 58

ภายหลังที่คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย ได้ประกาศการใช้แผนการดำเนินงานกิจการฮัจย์ประจำปี 2558 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2558  ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  โดยเฉพาะกรมการศาสนา ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย  ก็ขับเคลื่อนตามแผนดังกล่าวทันที

สำหรับแผนนี้ ประกอบด้วย 5 เรื่องหลักที่สำคัญ คือ  1. จำนวนผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์  2. การจัดเที่ยวบินขนส่งผู้ไปประกอบพิธีฮัจย์  3. การจัดที่พักสำหรับผู้ประกอบพิธีฮัจย์ 4. การยื่นวีซ่าสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์  5. การประชาสัมพันธ์กิจการฮัจย์

หากจะถามว่า  แต่ละเรื่องมีแนวทางอย่างไรบ้าง  มีความแตกต่างจากการดำเนินงานจากปีที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง  สามารถตอบโจทย์พี่น้องมุสลิมได้มากแค่ไหน โดยเฉพาะการที่ประเทศซาอุดีอาระเบียได้มีการนำระบบ E-TRACK มาใช้ดำเนินงานกิจการฮัจย์ของทุกประเทศ  ทำให้การดำเนินงานทุกเรื่อง  เช่น  เรื่อง  จำนวน  ผู้แสวงบุญ  ที่พัก  เที่ยวบิน  การยื่นวีซ่า ฯลฯ ต้องชัดเจน  แล้วทางการมีแผนรองรับในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง  เรามีข้อมูลมาเล่าให้ท่านฟังพอสังเขป ได้ดังนี้

1. จำนวนผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์

เรื่องนี้จัดเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น  เพราะสิ่งแรกที่อยู่ในความสนใจของพี่น้องชาวไทยมุสลิม   ด้วยเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางการซาอุดีอาระเบีย  นั่นคือ  พื้นที่ประกอบศาสนกิจมีจำกัด   จึงจำเป็นต้องกำหนดโควตาจำนวนผู้แสวงบุญของแต่ละประเทศไว้  ประเทศไทยก็เช่นเดียวกันทุกปี  พี่น้องชาวไทยมุสลิมล้วนรอด้วยความหวัง  ที่จะเป็นหนึ่งในรายชื่อของผู้ที่ได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์  ณ  ประเทศซาอุดีอาระเบีย

คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทยเองก็คำนึงถึงเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ทำอย่างไรที่จะทำให้พี่น้องมุสลิมได้ทราบข้อมูลล่วงหน้า  มีเวลาสำหรับการเตรียมตัว  ทำอย่างไรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเตรียมการและบริหารจัดการทั้งของฝ่ายไทยและฝ่ายซาอุดีอาระเบียไว้เป็นการล่วงหน้า   เพื่อพี่น้องมุสลิมจะได้รับความสะดวก  สามารถเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ได้อย่างมั่นใจและมีหลักประกัน

ในปี 2558 ทุกฝ่ายคาดการณ์ว่าทางการซาอุดีอาระเบีย  จะจัดสรรจำนวนผู้ไปประกอบ  พิธีฮัจย์ ในประเทศไทย  จำนวน 10,400 คน  เท่ากับปีที่ผ่านมา   ดังนั้นในแผนการดำเนินงานกิจการฮัจย์  ในปี 2558   จึงได้มีการกำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินงานจัดสรรจำนวนผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ไว้อย่างชัดเจนและเป็นขั้นตอน  เช่น  การจัดสรรจำนวนที่คาดว่าจะได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ การประกาศรายชื่อผู้ลงทะเบียนที่คาดว่าจะได้สิทธิเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์  จำนวน  8,320  คน  สำหรับส่วนอีก  2,080  คน  เป็นจำนวนของทีมงานผู้ให้บริการผู้แสวงบุญและผู้ไปประกอบพิธีฮัจย์ในกรณีพิเศษเพื่อประโยชน์ของชาติ   การตรวจสอบรายชื่อผู้ลงทะเบียนในระบบออนไลน์   การใช้บัญชีสำรองของผู้ที่ลงทะเบียนระบบออนไลน์ ฯลฯ  ซึ่งกรมการศาสนาได้มีการติดตามการดำเนินงานในขั้นตอนนี้ตลอดเวลา  เมื่อเกิดเหตุขัดข้องประการใด   ก็จะประชุมคณะทำงาน รวมทั้งเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ร่วมปรึกษาหารือ  เพื่อให้การดำเนินการนี้  เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด   จะเรียกว่าขั้นตอนนี้   เป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงานก็เป็นได้    เพราะหากไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับจำนวนหรือรายชื่อผู้เดินทาง   ก็จะส่งผลต่อการเตรียมการและการบริหารกิจการฮัจย์ในภาพรวมทันที   และปีนี้นับเป็นนิมิตหมาย ที่ดี เนื่องจากคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทยได้ประกาศรายชื่อผู้ที่คาดว่าจะได้สิทธิเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ประจำปี  2558  จำนวน  8,320  คน  ตั้งแต่วันที่  28  มกราคม  2558  แม้ว่ายังไม่ทราบผลการจัดสรรจำนวนผู้ไปประกอบพิธีฮัจย์จากทางการซาอุดีอาระเบียก็ตาม  ทั้งนี้  หากผู้ที่คาดว่าจะได้สิทธิเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ดังกล่าวพร้อมเดินทาง ก็จะต้องชำระเงินประกันการเดินทางในระบบออนไลน์  37,000  บาท  หรือ   เลื่อนการเดินทางหรือยกเลิกการเดินทาง ภายในวันที่  17  กุมภาพันธ์  2558  และกรมการศาสนาก็จะเรียกผู้แสวงบุญ ในระดับออนไลน์ในบัญชีสำรองที่มีความพร้อมเดินทางมาใช้สิทธิดังกล่าวตามลำดับคิวต่อไป   ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวในปีนี้คาดว่าตามแผนจะทำให้มีรายชื่อผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ภายในเดือนมีนาคม  และจะสามารถดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ทั้งในเรื่องบัตรโดยสารเครื่องบิน ตลอดจนค่าเช่าที่พักภายในเดือนเมษายนตามที่ทางการซาอุดีอาระเบียกำหนดต่อไป

2.การจัดเที่ยวบินขนส่งผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์

หากย้อนมองกลับไปอดีต  ในการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ของพี่น้องมุสลิม  เริ่มต้นจากโดยสารทางเรือ  จนกระทั่งมีการพัฒนามาโดยสารผ่านเครื่องบิน  โดยได้มีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นกับพี่น้องมุสลิมผู้เดินทาง  ทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง   ซึ่งภาครัฐก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ  มีความห่วงใยและตระหนักในความสำคัญของการเดินทางไปประกอบศาสนกิจดังกล่าว จนเป็นที่มาของมติคณะรัฐมนตรี  เมื่อวันที่  24  พฤษภาคม  2548   ที่กำหนดให้บริษัทการบินไทยจำกัด (มหาชน)   เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดเที่ยวบินเหมาลำขนส่งให้กับผู้แสวงบุญจากภาคใต้ ซึ่งปีที่ผ่านมา  การบินไทยได้จัดเที่ยวบินพิเศษเหมาลำ  จำนวน  10  เที่ยวบิน โดยบินจากสนามบินนราธิวาส  2  เที่ยวบิน  และสนามบินหาดใหญ่  8  เที่ยวบิน  บินตรงไปยังเมืองมะดีนะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย

สำหรับปีนี้คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทยถือว่าเรื่องการเดินทางของพี่น้องมุสลิมเป็นเรื่องสำคัญ  จึงให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี  เมื่อวันที่  24  พฤษภาคม 2548  โดยขอความร่วมมือกระทรวงคมนาคม  โดยการบินไทยจัดเที่ยวบินเหมาลำรองรับการเดินทางของพี่น้องมุสลิมในจังหวัดภาคใต้ที่ท่าอากาศยานหาดใหญ่และนราธิวาสเพิ่มขึ้น  ให้เพียงพอกับจำนวนผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ในภาคใต้   โดยขอให้ไปประชุมหารือในเรื่องดังกล่าวร่วมกับผู้ประกอบกิจการฮัจย์   ส่วนเที่ยวบินปกติสามารถใช้บริการของสายการบินฮัจย์ที่มีการเดินทางไปยังประเทศซาอุดีอาระเบียผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานภูเก็ต

3. การจัดเช่าที่พักสำหรับผู้ไปประกอบพิธีฮัจย์

เรื่องที่พัก เป็นเรื่องหนึ่งที่ทางการมีความเป็นห่วงใยในพี่น้องมุสลิมเช่นเดียวกัน   ด้วยการไปใช้ชีวิตในต่างแดนไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก  โดยเฉพาะเรื่องที่พัก   หากไม่ได้มาตรฐาน   ก็จะสร้างความลำบากให้กับพี่น้องมุสลิมไม่ใช่น้อย   ดังนั้น คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย   จึงมีมติให้ผู้ประกอบกิจการฮัจย์จัดเช่าที่พักให้เป็นไปตามประกาศเงื่อนไขคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย  เรื่องการจัดเช่าที่พัก  สำหรับผู้ประกอบพิธีฮัจย์   โดยให้ผู้ประกอบกิจการฮัจย์เป็นผู้จัดหาที่พัก  และทางการจะจัดส่งคณะอนุกรรมการไปช่วยพิจารณาความเหมาะสม ที่พัก ช่วยตรวจสัญญาเช่าและอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ รวมทั้งการจัดทำสัญญาเช่าฉบับกระทรวง   และในช่วงที่คณะอนุกรรมการไม่ได้ดำเนินการ ทางสถานกงสุลใหญ่  ณ  เมืองเจดดาห์  จะเป็นผู้ดูแลเรื่องดังกล่าวให้  เพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ผู้ประกอบกิจการฮัจย์ในการจัดเช่าที่พัก   นอกจากนั้นผู้ประกอบกิจการฮัจย์ที่ยังเรียกเก็บเงินจากผู้แสวงบุญไม่ได้   ก็สามารถยืมเงินกองทุนสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ไปจัดเช่าที่พักล่วงหน้าได้   ทั้งนี้ในปี  2558  กระทรวงฮัจย์   ได้นำระบบออนไลน์ (E-TRACK)  มาใช้  ซึ่งการดำเนินการจะต้องเป็นไปตามกรอบเวลา  ที่ทางการซาอุดีอาระเบียกำหนดและเร็วขึ้นกว่าเดิม นอกจากนั้น  ทางการซาอุดีอาระเบียได้มีการออกข้อกำหนดใหม่  คือ  ผู้ประกอบกิจการฮัจย์ จะต้องทำสัญญาบริการอาหารกับครัวที่ได้รับอนุญาต  ทั้งที่เมืองมักกะห์และเมืองมะดีนะห์  การเช่าที่พักจึงต้องสอดคล้องกับการบริการอาหารดังกล่าว  คือ  ต้องมีพื้นที่สำหรับการจัดให้บริการอาหารด้วยเช่นกัน

4. การยื่นขอวีซ่าสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์

การยื่นขอวีซ่าถือเป็น  ขั้นตอนสำคัญในการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์และเป็นขั้นตอนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การดำเนินการของฝ่ายไทย   โดยเฉพาะหากเรามองไปยังจุดเริ่มต้น  คือ จำนวนและรายชื่อผู้แสวงบุญ   ซึ่งหากตัวเลขนี้ไม่นิ่งแล้ว   จะส่งผลกระทบเรื่องอื่นๆ ต่อไปเป็นลูกโซ่  จนถึงเรื่องการยื่นวีซ่า  ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะตอบคำถามได้ว่า  พี่น้องมุสลิมจะได้เดินทางหรือไม่   ซึ่งทางคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย   โดยเฉพาะกรมการศาสนา  ได้เตรียมแผนรองรับเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างดี  มีการรวบรวมปัญหาและอุปสรรคต่างๆ   พร้อมประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายคณะมาอย่างต่อเนื่อง  จนเป็นที่มาของการกำหนดเรื่องดังกล่าว   ในแผนการดำเนินงานกิจการฮัจย์ ประจำปี 2558 โดยเฉพาะปีนี้ เป็นปีแรกที่กรมการศาสนาจะเป็นผู้บันทึกข้อมูลผู้แสวงบุญในระบบวีซ่าออนไลน์ของประเทศซาอุดีอาระเบีย  เพื่อขอรหัสผู้แสวงบุญทุกคน  เพื่อป้องกันปัญหาวีซ่านอกระบบ รวมถึงการกำหนดกรอบระยะเวลา ดำเนินการเรื่องเอกสารของผู้ประกอบกิจการฮัจย์ที่จะต้องให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้  ซึ่งเรื่องนี้กรมการศาสนาได้ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบกิจการฮัจย์ ร่วมดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับระบบ E-TRACK ของทางการซาอุดีอาระเบียเพื่อให้เป็นไปตามแผน อันจะเกิดประโยชน์แก่ พี่น้องมุสลิมผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ต่อไป

5. การประชาสัมพันธ์กิจการฮัจย์

จากการดำเนินงานกิจการฮัจย์ที่ผ่านมา  พบว่า  ยังมีประชาชน  พี่น้องชาวไทยมุสลิมและผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ส่วนหนึ่ง  ได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร  ความรู้  ความเข้าใจ ในการเตรียมความพร้อมในการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์อย่างทั่วถึง  เนื่องจากที่ผ่านมา  การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการส่งเสริมการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ของทางราชการยังทำได้ไม่กว้างขวาง

ดังนั้น  ในปี  2558  ทางคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย  และกรมการศาสนา  จึงมีแผนการประชาสัมพันธ์ในเชิงรุก  เพื่อให้พี่น้องมุสลิมได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย  โดยเฉพาะกิจกรรมที่สำคัญ  คือ  การจัดพิธีอำนวยพรและพบปะผู้แสวงบุญ  ณ  ภูมิลำเนา  โดยกรมการศาสนาได้ร่วมกับสำนักจุฬาราชมนตรี  คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด  วัฒนธรรมจังหวัด  ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้  สภาวัฒนธรรมจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในเรื่องดังกล่าว  โดยจัดส่งผู้ทรงคุณวุฒิ  บรรยายให้ความรู้แก่พี่น้องมุสลิม  เพื่อเตรียมตัวไปประกอบพิธีฮัจย์ให้แก่ผู้เดินทางเป็นการล่วงหน้า  เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน  รวมทั้งการส่งเสริมบทบาทของเครือข่าย  เพื่อร่วมให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการส่งเสริมกิจการฮัจย์และการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์  กับประชาชนในพื้นที่  ตั้งแต่การเตรียมตัว  การเดินทาง  ความเป็นอยู่ในประเทศซาอุดีอาระเบียจนกระทั่งเดินทางกลับ  รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง  ทั้งสื่อทีวี  สื่อวิทยุ  สื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้งเครือข่ายต่างๆ  เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่พี่น้องชาวไทยมุสลิมมากที่สุด

เหล่านี้  เป็นเพียงบางส่วนของการขับเคลื่อนตามแผนการดำเนินงานกิจการฮัจย์  โดยมีกรมการศาสนาที่เปรียบเสมือนกลไกหลักสำคัญ   ได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมาย  ซึ่งจะสำเร็จได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน   ในขณะเดียวกัน   กรมการศาสนาก็พร้อมน้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากฝ่ายต่างๆ เพื่อพัฒนางานกิจการฮัจย์ให้ดียิ่งขี้นไป เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย   โดยที่ให้การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ของชาวไทยมุสลิมเป็นไปอย่างราบรื่น   สะดวก   และปลอดภัย   ภายใต้ธงชาติไทยที่พัดโบกไสวอย่างสง่างามในนามของ   “ไทยแลนด์”