พบพิรุธ! ธ.อิสลามฯ ขาดทุนยับ 100 สาขา “ชัยวัฒน์” เดินหน้าฟื้นฟู เน้นเข้าถึงมุสลิม

ธ.อิสลามอ่วม พบขาดทุน 100 สาขา จาก 130 สาขาทั่วประเทศ เหตุเช่าแพง ใหญ่เกินความจำเป็น ทำเลไม่เหมาะ ส่อแววผิดปรกติ ด้าน “ชัยวัฒน์” ประธานใหม่ ธ.อิสลามฯ เร่งเดินหน้าฟื้นฟู ย้ายทำเลสาขา แก้ปัญหาหนี้เสีย เน้นเข้าถึงมุสลิมมากขึ้น

นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ที่แม้เพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้เพียง 6 เดือน แต่ก็เร่งเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูที่เสนอต่อ Supper Board ตามพันธกิจที่วางไว้ในฐานะธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เผยสำรวจพบขาดทุน 100 สาขา จาก 130 สาขาไอแบงก์ทั่วประเทศ เหุตทำเลที่ตั้งเจาะเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายชาวมุสลิมได้ไม่เท่าที่ควร อีกทั้งพบความไม่ปรกติที่มีการเช่าพื้นที่ราคาสูงและใหญ่เกินความเหมาะสม

“ต้องเรียนกันอย่างตรงไปตรงมาเลยว่า ณ วันนี้ มีเพียง 30 สาขาที่ไม่ขาดทุน ส่วนอีก 100 สาขาก็คงต้องมาทบทวน ต้องมาดูแล” ประธานกรรมการธนาคารอิสลาม กล่าวระหว่างงานแถลงข่าวกับสื่อมวลชนมุสลิม ว่าด้วยเรื่อง แนวทางการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ฟื้นฟู และแผนธุรกิจธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ณ สำนักงานใหญ่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย  เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558

โดยนายชัยวัฒน์ได้อธิบายว่า “ก่อนหน้านี้ธนาคารเติบโตและขยายสาขาอย่างรวดเร็วมาก ตั้งแต่ปี 2553 ถึงปี 2557 จากที่มีเพียง 28 สาขาในเบื้องต้น เติบโตขึ้นกว่า 102 สาขา เป็น 130 สาขาในปัจจุบัน แต่กลับเป็นที่น่าเสียใจยิ่งที่หลายสาขาไม่ได้อยู่ใกล้กับชาวมุสลิมอย่างที่ควรจะเป็น”

ตามที่ได้มีการตรวจพบบางสาขามีการใช้พื้นที่มากกว่าจำนวนลูกค้าที่สามารถเข้าถึงได้จริง เพราะไม่มีลูกค้าชาวมุสลิมเข้ามาใช้บริการ ตัวอย่างเช่น สาขาเซ็นทรัลพระราม9 ที่มีค่าเช่าสูงถึง 858,329 บาท /เดือน และด้วยขนาดพื้นที่ถึง 269.75 ตรม. ซึ่งใหญ่ที่สุดกว่าทุกๆ ธนาคารในศูนย์การค้า หรือ สาขาเซ็นทรัลเวิลดิ์พลาซ่าในขนาดพื้นที่ 196.53 ตรม. ด้วยราคาค่าเช่าอยู่ที่ 697,946 บาท/เดือน โดยที่ไม่มีลูกค้าเช่นเดียวกัน

“ทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหา โอนสิทธิ์ได้ไหม โยกย้ายทำเลที่ตั้งได้ไหม จะลดขนาดได้ไหม  หรือในศูนย์การค้าที่มีตั้ง 3 ห้อง 3 คูหา เอาเหลือ 2 คูหา ลดค่าใช้จ่ายเป็น 1 ใน 3 ได้ไหม หรือลดเหลือเพียงคูหาเดียวก็พอแล้ว เพราะลูกค้าเราตรงนั้นไม่เยอะ ลดค่าใช้จ่ายไป 2 ใน 3 ได้ไหม หรือในรูปแบบอื่นๆ เช่น มีรถโมไบล์ วิ่งไปอยู่ตามมัสยิด หรือมี คีออสไปอยู่มุมหนึ่งตามมัสยิด เหล่านี้คือสิ่งที่กำลังคิดดำเนินการอยู่” นายชัยวัฒน์ กล่าวถึงกลยุทธ์ที่อาจจะนำไปปรับใช้เพื่อลดค่าใช้จ่าย และให้สามารถเข้าถึงลูกค้าชาวมุสลิมได้มากขึ้น

“ซึ่งคาดไว้ว่า การบริหารจัดการในลักษณะนี้น่าจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณร้อยกว่าล้านบาทต่อปี” นายชัยวัฒน์ กล่าว

iBank_Press Conference 014

เร่งแก้หนี้เสีย จ่อฟ้องผู้ทำความเสียหาย

นายชัยวัฒน์ เปิดเผยถึงแนวทางการฟื้นฟูและแก้ปัญหาหนี้เสียของธนาคาร โดยได้ยึดให้การแก้ปัญหาหนี้ NPF เป็นยุทธศาสตร์หลัก ที่ต้องเร่งดำเนินการเป็นอันดับแรก ตามทิศทางที่วางไว้ ด้วยการแบ่งหนี้ดังกล่าวออกเป็น 4 ประเภท ตามศักยภาพลูกค้า และระดับความเสียหาย คือ 1) ลูกหนี้ที่มีศักยภาพในการทำธุรกิจ แต่มีหลักประกันไม่คุ้ม จำนวนเงินต้น 4,933 ล้านบาท 2) ลูกหนี้ดำเนินกิจการฟื้นตัวได้ แต่มีปัญหา over-finance หรือธนาคารอำนวยสินเชื่อให้มากเกินกว่าศักยภาพของลูกค้า จำนวนเงินต้น 10,445 ล้านบาท 3) ลูกหนี้ดำเนินกิจการ แต่ไม่มีศักยภาพฟื้นตัวได้  จำนวนเงินต้น 4,616 ล้านบาท และ 4) เป็นกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ มีบางรายที่หยุดกิจการไปแล้ว มีจำนวนเงินต้น 19,101 ล้านบาท

ซึ่งจากการตรวจสอบ พบโอกาสในการแก้ปัญหา จากลูกค้า NPF จำนวน 48 รายรวมกันจาก 2 กลุ่มแรก ขณะที่ต้องใช้เวลามากกว่าเพื่อดำเนินการกับลูกค้า 25 รายจากกลุ่มที่ 3 และขอพึ่งกฎหมายในจำนวนลูกค้าอีกกว่า 108 ราย สำหรับกลุ่มที่ 4

ประเด็นที่สำคัญอีกอย่างคือ ไอแบงก์ยังคงยืนยันสิทธิ์ที่จะให้มีการตรวจสอบและฟ้องดำเนินคดีอย่างจริงจังกับผู้ที่ได้กระทำความเสียหายต่อธนาคาร ตามคำสั่งตรงจากซุปเปอร์บอร์ด ที่นายชัยวัฒน์ได้กล่าวว่า “เราต้องรักษาสิทธิ์ที่จะเอาผู้ที่ทำให้หน่วยงานของรัฐ ก็คือธนาคารเสียหายมารับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย นั่นคือคำสั่งของซุปเปอร์บอร์ด”

ปรับแผน เน้นเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามุสลิม ตอกย้ำความเป็นธนาคารอิสลาม

ขณะเดียวกันนายชัยวัฒน์ได้ชี้แจง ถึงแนวทางยุทธศาสตร์ควบคุมมิติอื่นๆ ที่จะใช้ฟื้นฟูศักยภาพให้แก่รัฐวิสาหกิจไอแบงก์ ทั้งด้านเศรษฐกิจ และภาพพจน์ เพื่อเร่งสร้างความน่าเชื่อถือ ให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยสามารถกลับมายืนหยัดเป็นสถาบันการเงินหลักของชาวมุสลิมได้อย่างต่อไป

ทั้งนี้ได้มุ่งพัฒนาแนวทางอันนำไปสู่การสำนึกถึงคุณค่าที่แท้จริงของไอแบงก์ ในบริบทของความเป็น ‘สถาบันการเงินตามกฎชารีอะฮ์หลักและแห่งเดียวของประเทศไทย’ โดยทิศทางหลักที่มีคือ การสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ระหว่าง ภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนามาตรฐานสินค้าฮาลาลไทยไปสู่ตลาดโลกมุสลิมรวมกว่า 57 ประเทศทั่วโลก

ตามที่นายชัยวัฒน์ ได้ชี้แจงให้เห็นถึง “ความคืบหน้าที่จับต้องได้ อย่างมีนัยยะสำคัญ” อันสอดคล้องกับแนวทางที่ซุปเปอร์บอร์ดได้ชี้แนะกลับมา นับจากวันที่ 6 ม.ค. จนถึงปัจจุบัน ซึ่งส่วนหนึ่งได้ตอกย้ำความเป็นธนาคารอิสลามมากขึ้น อาทิเช่น การเข้าพบปะท่านจุฬาราชมนตรีเป็นครั้งแรก ตั้งแต่เปิดธนาคารมากว่า 11 ปีของไอแบงก์, การเดินสายสัญจรเข้าหารือกับคณะกรรมกลางอิสลามในจังหวัดต่างๆ และการเข้าเยี่ยมเยียน ผู้ประกอบการสินค้าฮาลาล และโครงการเรียนรู้อิสลามิคแบงก์ เป็นต้น

นอกจากนี้ นายชัยวัฒน์ ได้แสดงความเป็นห่วงลูกค้าต่อความน่าเชื่อถือที่มีให้กับไอแบงก์ ในฐานะที่เป็นธนาคารภายใต้ความคุ้มครองของรัฐบาล หลังจากที่มีการประโคมข่าวความเสียหายของไอแบงก์อย่างเป็นระยะๆ จากสื่อมวลชนก่อนหน้านี้ ซึ่งจำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูให้เป็นที่ไว้วางใจได้ของประชาชน