สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่าง ปี2531-2533 ผู้ก่อความไม่สงบมักจะพุ่งเป้าต่อครูซึ่งเป็นบุคคลากรทางการศึกษาของชาติเป็นหลักและเป็นกลุ่มเป้าหมายที่อ่อนแอ
ครูจะเป็นบุคคลที่ถูกกระทำหรือถูกตอบโต้ทุกครั้งเมื่อผู้ก่อความไม่สงบระบายความแค้นเมื่อกลุ่มหรือสมาชิกของกลุ่มถูกทหารหรือตำรวจปราบปรามอย่างหนักหน่วง ทั้งนี้เพราะครูเป็นข้าราชการตัวแทนของรัฐและมีสถานที่ทำงานอยู่ในหมู่บ้านต่างๆ คือโรงเรียน ครูจึงกลายเป็นชิ้นเหยื่อน้อยๆ ที่ผู้ก่อความไม่สงบจะตะปบเอาเมื่อใดก็ได้และเมื่อกระทำต่อครูแล้วจะเป็นข่าวใหญ่ทางหน้าสื่อต่างๆ ดังไปทั่วประเทศส่งผลกระทบต่อรัฐบาลทางด้านการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างใหญ่หลวง ดังจะเห็นได้จาก เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2531 ผู้ก่อความไม่สงบใช้อาวุธปืนยิงครูโรงเรียนบ้านปาหนัน อ. ศรีสาคร จ. นราธิวาสเสียชีวิตหน้าเสาธงโรงเรียน 3 ศพ และเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2532 กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจับตัวครูฟอง เพ็ชรบุญครูสตรีโรงเรียนบ้านกือลอง อ. บันนังสตาร์ จ. ยะลา ไปเป็นตัวประกัน 7 วันเพื่อแลกเปลี่ยนให้ตำรวจปล่อยเมียสมาชิกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ถูกจับกุมและอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
และเมื่อวันที่5 พฤษภาคม 2533 ผู้ก่อความไม่สงบได้จับตัวครูปรีชา แซ่ลิ่มสอนอยู่โรงเรียนบ้าน ไอสะเตียร์ ต.บูกิตอ.ระแงะ (ปัจจุบันอยู่ในอ.เจาะไอร้อง) เป็นตัวประกันขังอยู่บนเขาเพื่อแลกกับเงินไถ่ถอนในวงเงิน 200,000 บาทแต่เนื่องจากทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจสองฝ่ายต้องการชิงดีชิงเด่นเพื่อหวังผลงานทำให้การแก้ปัญหาไม่เป็นเอกภาพเดียวกัน มีผลทำให้ผู้ก่อความไม่สงบตัดสินใจปลิดชีพครูปรีชาฯ ทิ้งศพไว้บนเขาและหลบหนีการไล่ล่าของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปยังประเทศเพื่อนบ้านสุดชายแดนใต้ของประเทศไทย
เหตุการณ์ผู้ก่อความไม่สงบจับครูปรีชาฯ ครั้งนี้สร้างความปั่นป่วน ให้กับการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างใหญ่หลวง การชุมนุมประท้วงของชมรมครูจังหวัดชายแดนภาคใต้สร้างความหนักใจและเดือดร้อนให้กับผู้ปกครองเด็กนักเรียนในพื้นที่เป็นอย่างมากเพราะโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดนราธิวาสได้ปิดทำการสอนทุกโรงเพื่อกดดันให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน มิฉะนั้นแล้วการปิดทำการสอนจะขยายลามออกไปยังโรงเรียนในจังหวัดยะลา ปัตตานีสงขลา และ สตูล
ในส่วนของด้านรัฐสภา ส.ส. มุสลิมในพื้นที่สังกัดพรรคเอกภาพซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดขณะนั้นได้ยื่นญัตติด่วนต่อประธานสภา ผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2533 เพื่อนำเข้าพิจารณาในสภาฯโดย นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ นายปริญญา เจตาภิวัฒน์ นายเสนีย์ มะดากะกุล ส.ส.จังหวัดนราธิวาส นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส. จังหวัดยะลา และ นายสุธรรม แสงประทุม ส.ส. จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้ยื่นญัตติด่วนโดยมีเนื้อหาใจความในญัตติดังนี้
“เนื่องจากเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2533 มีโจรกลุ่มหนึ่งได้จับครูปรีชาแซ่ลิ่มซึ่งเป็นครูการประถมศึกษาจังหวัดนราธิวาสสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติและได้เรียกค่าไถ่ถอนเป็นเงิน 200,000 บาท จนกระทั่งบัดนี้ยังไม่ทราบชะตากรรมว่าเป็นอย่างไรทางชมรมครูจังหวัดนราธิวาสได้ทำการประท้วงโดยหยุดสอนตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม2533 จำนวน 300 กว่าโรงเรียนแล้วและมีแนวโน้มจะขยายออกไปสู่จังหวัดยะลา ปัตตานี และสตูล หากรัฐบาลปล่อยให้เหตุการณ์ดำเนินไปโดยไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจังและเร่งด่วนแล้วผลกระทบย่อมเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนนับเป็นจำนวนแสนคนตลอดจนการศึกษาของชาติด้วยฉะนั้นกระผมและคณะจึงขอเสนอญัตติด่วนตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อ 34 เพื่อให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยด่วนรายละเอียดต่างๆกระผมและคณะจะชี้แจงในที่ประชุมสภาฯต่อไป ….”
เมื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรได้รับญัตติด่วนนี้แล้วจึงได้บรรจุเข้าในระเบียบวาระการประชุมด่วนภายในวันเดียวกันและได้รวมพิจารณาคราวเดียวกันกับญัตติด่วนเรื่องครูปรีชาฯ ที่เสนอโดยนายเจริญภักดีวนิชย์ พรรคชาติไทยกับพวกญัตติเรื่องขอให้สภาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนายเด่น โต๊ะมีนา กับพวก และญัตติเรื่องความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในจังหวัดภาคใต้ โดย นายสมบูรณ์ สิทธิมนต์กับพวก ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายปัญจะ เกสรทอง ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมอนุญาตให้เจ้าของญัตติด่วนได้อภิปรายตามลำดับของผู้เสนอญัตติ โดย นายอารีเพ็ญอุตรสินธุ์ เป็นผู้อภิปรายเป็นคนแรกดังนี้
“ท่านประธานที่เคารพกระผมนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาสพรรคเอกภาพ พร้อมกับพวกได้แก่ นายเสนีย์ มะดากะกุล นายปริญญา เจตาภิวัฒน์ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และนายสุธรรม แสงประทุม
ก่อนอื่นกระผมต้องขอขอบคุณท่านประธานที่ได้อนุญาตหยิบยกปัญหาครูปรีชา แซ่ลิ่ม ขึ้นมาพิจารณาเป็นญัตติด่วนก่อนญัตติด่วนอื่นๆที่อยู่ในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้
ท่านประธานครับเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยของประชาชนเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต้องรับผิดชอบ แต่ปรากฎว่าขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หายตัวไปใหน ทำไมไม่นั่งฟังการอภิปรายในสภาอีกทั้งคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้อยู่ในห้องประชุมในฐานะที่เป็นผู้บริหารหัวหน้ารัฐบาล ควรมาฟังการอภิปรายเพื่อรับทราบปัญหาต่างๆเกี่ยวกับสวัสดิภาพของครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันนี้
ท่านประธานที่เคารพเรื่องครูปรีชา แซ่ลิ่ม ผมใคร่ขอเรียนท่านประธานทราบว่าสำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎในจังหวัดอื่นๆ ที่ไม่ใช่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วอาจ มองว่าเรื่องนี้เป็นคดีอาชญากรรมธรรมดาทั่วๆ ไปแต่ความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่คดีอาชญากรรมทั่วๆ ไปหากเป็นคดีที่มีความลึกลับซับซ้อนและคดีทำนองเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นหลายครั้งหลายหนในหลายๆ ปีที่ผ่านมาครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกและจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่นอน
ท่านประธานที่เคารพ ถ้าท่านยังไม่ลืม เมื่อปี 2531 ที่โรงเรียนบ้านปาหนัน อ. ศรีสาคร จ. นราธิวาสได้มีกลุ่มคนร้ายใช้อาวุธปืนสงครามยิงครู 3 คนตายหน้าเสาธงโรงเรียนหลังจากนั้นกระผมได้ยื่นญัตติต่อคณะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้พิจารณาเรื่องนี้ส่งให้รัฐบาลนำไปหาทางแก้ไขปัญหาสวัสดิภาพของครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่คณะกรรมาธิการในยุคนั้นยังพิจารณไม่ทันเสร็จสิ้นมีการยุบสภาเสียก่อนและในวันเลือกตั้งในวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 ตอนเช้ามืดมีการลอบวางเพลิงโรงเรียน 12 แห่งและที่ทำการอนามัย 1 แห่งกลายเป็นข่าวดังอยู่ในหน้าสื่อต่างๆ หลังจากเปิดสภาผมได้ยื่นญัตติต่อคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่งนับตั้งแต่ยื่นญัตติจนถึงบัดนี้เวลาล่วงเลยมาหนึ่งปีกับเจ็ดเดือนก็ยังมิได้มีการหยิบญัตตินี้ขึ้นมาพิจารณาแต่อย่างใด และเมื่อสามเดือนที่แล้วที่จังหวัดยะลากลุ่มคนร้ายได้จับตัวครูฟอง เพชรบุญ ครูสตรีโรงเรียนบ้านกือลอง อ. บันนังสะตาร์ เพื่อเป็นการต่อรองให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยเมียของพวกตนเหตุการณ์ก็ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย เท่าที่ทราบมาทางเจ้าหน้าที่ยอมเสียหน้าปล่อยเมียคนร้ายไปหลังจากเหตุการณ์นั้นผ่านพ้นไปทราบว่ารัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณจำนวนหนึ่งประมาณ 20 ล้านบาทเพื่อให้เจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดำเนินการป้องกันและปราบปรามกลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุและสร้างหลักประกันในสวัสดิภาพของครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ท่านประธานที่เคารพปัญหาความปลอดภัยในชีวิตครูและทรัพย์สินอันเป็นโรงเรียนของรัฐนั้นรัฐบาลในยุคก่อนๆ เคยแก้ปัญหานี้ตั้งแต่ปี 2517 จนถึงปัจจุบันนี้ปี 2533 คำนวณเวลาแล้วประมาณ 17 ปีแต่ผลที่ได้รับมานั้นส่อแสดงว่ารัฐบาลยังแก้ปัญหาอย่างไม่มีประสิทธิภาพเพราะเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันนี้ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกพอเกิดเหตุการณ์ครั้งหนึ่งก็จัดงบประมาณลงไปทุกครั้งแต่ละครั้งใช้งบประมาณไม่ใช่น้อยๆ สุดท้ายครูยังเป็นผู้ถูกกระทำเหมือนเดิม ถูกเรียกค่าคุ้มครองถูกเรียกค่าไถ่ ถูกฆ่าอีกทั้งโรงเรียนยังถูกลอบวางเพลิงเสียหายวายวอดนับสิบๆ โรง ผมมีความเห็นว่ากลไกของรัฐและรัฐบาลยังทำงานขาดประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง
ท่านประธานที่เคารพเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2533 คนร้ายจำนวนหนึ่งได้จับครูปรีชา แซ่ลิ่ม เป็นครูโรงเรียนบ้านไอสะเตียร์ต. บูกิต อ. ระแงะ จ. นราธิวาส จนกระทั่งวันนี้เรายังไม่ทราบชะตากรรมของครูปรีชาว่าเป็นอย่างไร จะยังมีชีวิตรอดอยู่หรือไม่ แต่เท่าที่กระผมได้ฟังคำให้สัมภาษณ์ของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองแล้ว รู้สึกเศร้าใจเพราะคนระดับรัฐมนตรียังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของโจรผู้ร้ายธรรมดาๆ เป็นเรื่องของโจรขี้ยาซึ่งคำให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีดังกล่าวนี้มันฟ้องถึงความไร้ประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองในเมื่อเป็นผู้ร้ายธรรมดาๆแล้วเหตุใดรัฐบาลถึงแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้
ท่านประธานที่เคารพปัญหาสวัสดิภาพครูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของเด็กๆ นักเรียนในพื้นที่เป็นอย่างมากการหยุดสอนของครูเพื่อประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลเอาใจใส่อย่างจริงจังของปัญหานี้ในอำเภอระแงะโรงเรียนได้ปิดหยุดทำการสอนแล้ว 55 โรงและจะขยายไปยังอำเภอต่างๆในจังหวัดนราธิวาสอีก 12 อำเภอ ประมาณ 365 โรง
อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยของจังหวัดนราธิวาส, ปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ และปริญญาโทสาขาบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์